xs
xsm
sm
md
lg

กระเช้าภูกระดึง... “พาหนะ” หรือ “หายนะ” การท่องเที่ยว!!? [ชมคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กระเช้า” จะเปิดโอกาสให้เด็ก/คนแก่/คนพิการ ได้พิชิตยอดเขา เปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าถึงเพื่อสร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำมากกว่าเดิมหลายเท่า โดยไม่มีการตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว คือคำโฆษณาที่ชวนให้ใครหลายคนเชื่อไปแล้วว่าสวรรค์อยู่ไม่ไกล
ซึ่งช่างขัดแย้งกับคำเตือนจากนักวิชาการที่ช่วยฟันธงไว้ว่า กระเช้าจะไม่ได้เป็นเพียง “พาหนะ” จูงใจให้คนมาเที่ยว แต่จะยังเป็นตัวปัญหาเชื้อเชิญ “หายนะ” เข้ามาในอุทยานแห่งนี้แบบไม่จบไม่สิ้นอย่างแน่นอน!!





“เด็ก/คนแก่/คนพิการ” ข้ออ้างเพื่อโกยกำไร!!?

(เด็กๆ ก็ขึ้นได้ด้วยสองขาของตัวเอง)
“กระเช้าจะอยู่ห่างจากจุดบริการนักท่องเที่ยวของอุทยานฯ เพียง 3 กม. ใช้เสาเพียง 7 ต้น ยืนยันไม่ตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว”
คือคำประกาศที่ “องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)” ให้ไว้ หลังศึกษาผลกระทบและแนวทางการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ยืนยันว่าด้วยงบ 600 ล้านบาท จะช่วยเนรมิตให้พื้นดินแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เอื้อประโยชน์ต่อคนทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้พิการที่อาจอยากขึ้นไปพิชิตยอดภูกระดึงให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต


“ได้ศึกษาการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงไว้ 5 แนวทาง แต่คณะทำงานได้เลือกแนวทาง B เนื่องจากกระเช้าจะอยู่ห่างจากจุดบริการนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูกระดึงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เพียง 3 กม. และอยู่ใกล้บ้านห้วยเดื่อ ซึ่งอยู่ในจุดที่ชุมชนสามารถเข้ามาสร้างรายได้ทั้งจากการขายสินค้าและที่พักอาศัย

ส่วนการสร้าง ตัวกระเช้าจะเป็นแบบโมโนเคเบิล หรือเคเบิลแบบสายเดียว สามารถขนส่งผู้โดยสารได้ครั้งละ 4-15 คน หรือประมาณ 4,000 คนต่อชั่วโมง ส่วนวิธีการก่อสร้าง จะใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงเสาไปวางตามจุดที่ได้ก่อสร้างฐานไว้ ยืนยันว่าไม่ต้องตัดต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว



“อย่ามาอ้าง!!” น่าจะเป็นถ้อยคำที่แทนทุกความในใจจาก “ศศิน เฉลิมลาภ” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร หนึ่งในแนวร่วมสนับสนุนแนวความคิด “ภูกระดึง เดินเองได้ ไม่เอากระเช้า” อาจารย์บอกเล่าจากประสบการณ์การขึ้นอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมาแล้วถึง 3 ครั้ง และครั้งล่าสุดเพิ่งไปลงพื้นที่สำรวจเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เอง บอกเลย พอจะดูออกว่าอะไรคือเหตุผลผลักดันอยู่เบื้องหลังการสร้างกระเช้า มันคือเม็ดเงินรายได้ของลูกหาบนั่นเอง

ถ้าคิดจากข้อมูลดิบจริงๆ หลังจากที่ผมได้ขึ้นไปและคำนวณจากรายได้ของเขา ผมคิดว่ามีเม็ดเงินหมุนเวียนตรงนั้นอยู่ที่ 30-50 ล้านที่เกิดจากลูกหาบ ให้ได้หมุนเวียนใช้อยู่ในท้องถิ่น อ.ภูกระดึง ตัวเลขมหาศาลมากนะสำหรับแต่ละปีที่เกษตรกรรมทำไม่ได้ เป็นรายได้ที่ถึงรากหญ้าโดยตรง เขาได้ไปจับจ่ายใช้สอยกันในระดับพื้นฐาน

(อ.ศศิน พูดในฐานะนักอนุรักษ์ผู้เคยพิชิตภูกระดึงมาแล้ว)

แต่ถ้ามาทำกระเช้า มันก็จะย้ายรายได้ส่วนนี้ไปสู่นายทุน ไปสู่นักการเมืองท้องถิ่น และอีกชนชั้นนึง คนที่ไปลงทุนกระเช้าเขาก็เอาเงินตรงนี้ไปออกนอกท้องถิ่น ซึ่งน่าเสียดาย เพราะระบบเศรษฐกิจที่หมุนเวียนในท้องถิ่นกันเองแบบนี้หาที่ไหนไม่ได้แล้ว และถ้ามีกระเช้าเกิดขึ้นจริงๆ แน่นอนว่าจะไม่เหลือลูกหาบอีกต่อไป มันไม่มีใครจ้างหาบแล้วล่ะครับ



(มีกระเช้า ไม่มีลูกหาบอีกต่อไป)

ส่วนที่พูดกันว่ากระเช้าช่วยให้คนพิการมีโอกาสได้ขึ้นไปได้ ผมก็ขอถามหน่อยว่ากระเช้าภูกระดึงมันทำขึ้นมาเพื่อให้คนพิการนั่งจริงๆ เหรอ ถ้าทำกระเช้าขึ้นมาสำหรับคนพิการ สำหรับการขนขยะ สำหรับอุบัติเหตุ-อุบัติภัยที่ทำโดยอุทยานแห่งชาติ เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติ เพื่อบังคับให้คนลงมาแล้วไม่ต้องนอนค้าง เช่น กำหนดไม่ให้ภูกระดึงค้างคืนไม่เกิน 2,000 คน พอกดปุ่มยิงจำนวนคนจองได้ 2,000 คนพอดี คุณไล่คนลงกระเช้าให้หมด ถ้าทำแบบนี้ มันก็จะเป็นวัตถุประสงค์ของกระเช้าอีกแบบนึง แต่กระเช้าที่กำลังจะมีเนี่ย มันทำกระเช้าเพื่อต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.เลย และ อ.ภูกระดึง ทำเม็ดเงินเพื่อให้ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่คุณเอาเหตุผลพวกนี้มาอ้าง ผมโคตรเบื่อเลย! คนชอบเอาข้ออ้างปลีกย่อยมาคุยกัน แต่ไม่ยอมมองไปที่ประเด็นหลัก



(เสน่ห์ของการเดินเท้า)

ประเด็นมันอยู่ที่คุณจะใช้ภูกระดึงสำหรับทำอะไร? สำหรับผมเนี่ย ผมเสนอให้ใช้ภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์สำหรับการเปิดให้เข้าไปสัมผัสธรรมชาติ และลงมาอย่างมีความสุขจากการได้ซึมซับ ภูกระดึงเส้นทางทัศนศึกษาขึ้นภูเขาโดยวิธีการเดินเท้าที่ดีที่สุดของประเทศไทย มีเสน่ห์เย้ายวนให้คนไปสัมผัสที่ดีที่สุดแล้วที่คนทั่วไปสามารถสัมผัสมันได้ ทั้งชื่อเสียงและความงดงาม และมันมีอยู่ที่เดียวที่เด็ก คนมีอายุ หรือแม้แต่คนพิการระดับหนึ่งก็ขึ้นไปได้เป็นส่วนใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นนักเดินทางมืออาชีพ ใครๆ ก็ขึ้นได้ ไม่ได้มีอันตรายอะไร พอขึ้นไปข้างบน มันจะมีความงดงามที่จะได้เห็นมันที่คุ้ม เมื่อเทียบกับเส้นทางอื่นๆ ที่เดินแล้วอาจจะเหนื่อยกว่าแต่ขึ้นไปแล้วรู้สึกว่ามันไม่คุ้ม หรือที่อื่นๆ อาจจะต้องใช้เวลา 4-5 วัน

ถ้าไปเขาโมโกจู (อุทยานแห่งชาติแม่วงก์), ดอยเชียงดาว, พะเนินทุ่ง ฯลฯ มันก็จะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง แต่แบบภูกระดึง ถ้าอยากขึ้นจริงๆ 80-90 เปอร์เซ็นต์ของคนส่วนใหญ่ก็ไปได้หมด พอขึ้นไปแล้วก็มีความรู้สึกว่าได้จิตใจที่สัมผัสกับธรรมชาติกลับมาโดยอัตโนมัติ มันคือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ถ้ามีกระเช้าแล้ว มันจะลดความเย้ายวนตรงนี้ลงทันที อันนี้คือสิ่งที่ผมเสียดาย สิ่งที่ทำให้รุ่นปู่ย่าตายาย ประมาณเกือบร้อยปีที่ทำหน้าที่ตรงนี้มาและทำได้เป็นอย่างดีมาตลอด กำลังจะหมดลง คนที่อยากเดินขึ้นภูกระดึงก็จะกลายเป็นคนอีกประเภทหนึ่ง เป็นพวกนักเดินทางจริงๆ จังๆ ไม่ใช่ที่ที่คนทั่วไปจะได้สัมผัสธรรมชาติกันอีกแล้ว”




ยิ่งไปถึงง่าย ยิ่งทำลายมาก!

(รูปแบบกระเช้าแบบ “Ocean Park” ฮ่องกง จุคนได้ 6 คน ใกล้เคียงกับรูปแบบที่จะเกิดที่ภูกระดึงที่สุด)
“เห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงค่ะ เพราะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวบางคนที่เดินขึ้นไม่ไหว คนพิการ ผู้สูงอายุ ที่ครั้งนึงอยากจะขึ้นไปสัมผัสบรรยากาศบนภูกระดึง อีกอย่าง จะได้ช่วยประหยัดเวลาสำหรับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาน้อยด้วยค่ะ แต่ถ้ามีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจริง ก็ต้องมีการบริหารจัดการที่ดีนะคะ ต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด” รัตนกมล วงศ์เครือศร แสดงความคิดเห็นจากมุมมองของคนที่ยังไม่เคยพิชิตภูกระดึงและคิดว่าอาจจะมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนถ้ามีกระเช้าขึ้นมาจริงๆ



“การเดินขึ้นภูกระดึงก็ถือเป็นจุดขายของการมาเที่ยวที่นี่ มันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวที่หลายคนมองว่ามันเป็นความท้าทาย มันยังกลายเป็นกิจกรรมที่สานสัมพันธ์ของกลุ่มเพื่อน ครอบครัว มันยังเป็นบทพิสูจน์อะไรบางอย่าง เวลาขึ้นไปแล้วได้ชื่อว่าเป็นผู้พิชิตภูกระดึง มันยังพอจะมีความขลังในความรู้สึกของใครหลายๆ คนครับ

อธิเจต มงคลโสฬศ พูดในฐานะนักท่องเที่ยวผู้พิชิตยอดภูกระดึงแห่งนี้มาถึง 2 ครั้งแล้ว เขามองว่าหากการสร้างกระเช้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมมากนัก ก็อาจส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวภูกระดึง ถือเป็นการเปิดโอกาสให้คนได้มีทางเลือก รวมถึงได้รับประสบการณ์ในการท่องเที่ยวที่แตกต่างไปจากเดิม

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังชื่นชอบบรรยากาศการเดินขึ้นภูกระดึง “ผมก็ไม่ถึงสนับสนุนให้มีหรือต่อต้านให้ไม่มีนะ แต่ถ้ามันมีแล้ว มันอยู่ร่วมกันได้ก็จะดีมาก แล้วมันพัฒนาไปได้ มีกระเช้าให้บริการสำหรับคนที่อยากขึ้น ขณะที่ก็ยังคงความเป็นธรรมชาติให้คนได้เดินขึ้นไปได้อีกด้วย ข้างบนก็อาจมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มันดีขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายว่าคนที่นั่น อยากให้จะภูกระดึงมันเปลี่ยนไปในรูปแบบไหน”



(กลุ่มต่อต้าน มีจำนวนไม่น้อย)
ต่างจาก “คมสัน เพ่งพิศ” นักท่องเที่ยวผู้มาเที่ยวภูกระดึงในช่วงปีใหม่หลายครั้งโดยสิ้นเชิง ที่ยืนยันหนักแน่นว่า “ถ้าสร้าง ผมก็คงไม่กลับมาอีก... ข้างบนช่วงปีใหม่ตอนนี้คนก็เยอะมากแล้ว ถ้าสร้างกระเช้าคนมันก็ยิ่งเยอะขึ้นไปอีก คนมาเที่ยวก็คงลำบากที่จะต้องมาแย่งกันกินแย่งกันใช้เพิ่มขึ้นไปอีก ผมว่าความหยุดนิ่งบางอย่างมันก็มีเสน่ห์และมีคุณค่าในตัวของมันเองอยู่แล้ว ถ้ามันเปลี่ยนไป มันคงหมดเสน่ห์ ผมก็คงไปเที่ยวที่อื่นแทน

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมนึกถึงผลกระทบที่จะตามมาเป็นพรวนจากการสร้างกระเช้าด้วย ซึ่งประเด็นนี้ อาจารย์ศศินจึงอยากให้มองอีกมุมด้วยว่า “ภูกระดึงเป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งมายาวนาน สัตว์ป่ารอบๆ มันโดนทำลายหมด ดังนั้น แหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่าคือบริเวณทางขึ้นเขารอบภูกระดึง พื้นที่ก่อนถึงตัวยอดน่ะครับ และภูกระดึงเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์หลายชนิดขึ้นมาหากินด้วย ดังนั้น ถ้าเอานักท่องเที่ยวขึ้นไปในปริมาณเยอะแบบที่จะเอากระเช้าขึ้นไปและขึ้นไปได้เกือบทุกฤดูกาลเนี่ย มันจะกระทบเยอะ พอคนขึ้นไปเยอะก็ต้องไปพัฒนาถนนหนทาง ทำให้สัตว์ป่ามาใช้พื้นที่ตรงนั้นไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย”


ส่วนคนที่สนับสนุนให้มีกระเช้าเพราะอยากถึงยอดภูโดยไม่ลำบากนั้น ระวังว่าจะได้เพียงความผิดหวังกลับไป จากการท่องเที่ยวผิดรูปแบบ “คนที่อยากขึ้นกระเช้าหรือคิดว่าติดมานานละ ฉันอยากมาเห็นภูกระดึง มากระเช้าละ ไม่มาซะที พอขึ้นไปถึงปั๊บ มันจะให้ความรู้สึกว่าไม่มีอะไร เพราะเขาไม่ได้เห็นความงดงามระหว่างทางที่ได้เดินไปเห็น เลยรู้สึกว่าข้างบนไม่สวยเพราะมันเป็นความรู้สึกที่สัมพันธ์กัน จะกลายเป็นว่าขึ้นมาดูอะไรเนี่ย

ถามว่าจะเดินไปดูกันยังไงสำหรับการขึ้นกระเช้ามา 10 นาที ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกัน คุณจะเดินทางแค่ 10 นาทีบนนั้น แล้วมานั่งรออีกตั้งนานเพื่อจะชมพระอาทิตย์ขึ้นอีกทีตอนตี 4 เหรอ มันก็จะลดคุณค่าไป แต่ถ้าคุณเดินขึ้นไป ไปนอนสักวันนึง ตอนเช้าตื่นตี 4 แล้วก็ได้เดินเที่ยวทั้งวัน มันก็จะเป็นทริปที่คุ้มค่า





สร้างเมื่อไหร่ หายนะเมื่อนั้น!

(เส้นทางกระเช้าที่จะเกิดขึ้น!)
“มโน...โปรเจกต์” คือชื่อที่ “เต็งพ้ง เพียรพัฒน์” ตัวแทน ชมรม "OK Nature" แกนนำต่อต้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงกล่าวเอาไว้ชัดเจนในงานเสวนา "กระเช้าภูกระดึง มโน.. โปรเจกต์?" ที่เพิ่งจัดขึ้น ออกปากเตือนเอาไว้เลยว่า ตอนที่โครงการยังไม่สร้าง ทุกอย่างยังคงดูสวยหรู โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ที่หวังว่าจะมีรายได้จากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในครั้งนี้ แต่ถ้าสร้างเสร็จจริงๆ เมื่อไหร่ รับรองได้ว่า “หายนะ” ได้มาเยือนแน่!!

“สำหรับคนในพื้นที่ ผมยอมรับว่าผมเป็นคนนอกพื้นที่จริงๆ ครับ แต่ผมก็รักพื้นที่ไม่ต่างจากที่ท่านรัก และอยากบอกว่าทุกสถานีกระเช้า พอสร้างเสร็จแล้ว น้อยมากที่เขาจะให้ผลประโยชน์กับชาวบ้านจริงๆ ให้ใช้พื้นที่ในการทำธุรกิจ ผมมั่นใจว่าท่านจะเปลี่ยนสถานภาพทันที จากเจ้าของพื้นที่ไปเป็นอย่างอื่น แล้วแต่ว่าจะเปลี่ยนไปเป็นอะไร ท่านมั่นใจเหรอครับว่าเศรษฐกิจมันจะดีและจะถึงท่านจริงๆ พอกระเช้าเสร็จแล้ว



ในงานวิจัยเรื่องทำกระเช้า เขาไม่ได้ลงลึกถึงรายละเอียด บอกเพียงแค่ว่าใช้เสาเพียงไม่กี่ต้น ลงเสาแล้วก็ตัดไม้น้อย ทำ EIA ก็ทำแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำอย่างครอบคลุมทั้งป่า ซึ่งงานวิจัยผมก็ไม่แน่ใจว่าทำเองหรือมโนขึ้นมา ถ้าดูจากบริเวณรอบๆ ข้างล่างเป็นพื้นที่ถูกล้อมด้วยชุมชนไปหมดแล้ว สัตว์ก็เคยเดินทางข้ามไปข้ามมาอยู่ เรียกว่าชุมชนจะอยู่ก็อยู่ไป สัตว์จะลงมากลางค่ำกลางคืนก็ลงไม่ได้ แล้วต่อไปเวลากลางค่ำกลางคืนจะอยู่สบายๆ คนดันขึ้นไปอีก

ย้อนกลับไปปี 2551 มีพื้นที่อุทยานที่เป็นอุทยานอันดับหนึ่งซึ่งอยู่ในแถบอันดามัน เขาเอาพื้นที่ไปให้เอกชนเช่าทำโรงแรม ตอนนั้นที่ออกมาต่อต้านกันก็ตั้งชื่อแรงเหมือนกันนะ ผมตั้งชื่อกันว่า “เอาป่ามาเผา เอาอุทยานมาขาย” แต่ถ้าสัมปทานที่นี่เกิดขึ้น มันก็จะเข้าคอนเซ็ปต์เดิมอีกแล้วครับ ในประเทศไทยมีอุทยาน 148 แห่ง มีวนอุทยาน 122 แห่ง ไหนจะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก



(ตัวแทน ชมรม "OK Nature" แกนนำต่อต้านการสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง)
จริงๆ แล้ว ผมอยากจะขยับสถานีของคนภูกระดึงเท่าที่เหลือ จาก “อุทยานแห่งชาติ” ให้เป็น “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า” การเข้าถึงอะไรๆ จะได้ทำยากขึ้น ถามว่าทำไมต้องเปลี่ยนให้เข้ายากขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้ทางอุทยานลืมวัตถุประสงค์ 3 ข้อหลักไปแล้วว่า 1.เพื่อศึกษาวิจัย 2.เพื่อรักษาป่า และ 3.เพื่อการสันทนาการ แต่การสันทนาการนั้นก็ต้องมีข้อจำกัด มันไม่มีข้อไหนเลยที่บอกว่าเพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อันนี้ต้องฝากทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และรายงานที่ได้มา มันไม่มีส่วนไหนเลยที่บอกว่าจะช่วยทำให้มันคืนฟื้นกลับมาได้ยังไงบ้าง

ส่วนเรื่องกระเช้าที่บอกว่าสร้างขึ้นเพื่อความเท่าเทียม ให้เด็กและคนแก่ขึ้นไปได้ด้วย อันนี้เราเจอทุกครั้งที่เราไป เราเจอเด็ก เจอผู้สูงอายุ เจอคนพิการ ดังนั้น การเรียกร้องว่าครั้งหนึ่งในชีวิตขอพวกเขาเหล่านี้พิชิตภูกระดึง ผมคิดว่าถ้าครั้งหนึ่งของท่านขึ้นไปแล้วทำลายป่า ขอเถอะครับ ท่านหาที่อื่นไป ยืนยันครับว่าบางที่ไม่เหมาะกับบางคน อันนี้ไม่ได้พูดถึงนิสัยนะครับ แต่พูดถึงศักยภาพในการใช้พื้นที่ บางคนขึ้นไม่ไหว ผมมองว่าอย่าไปเอาภูกระดึงเป็นตัวตัดสินครับ เพราะในโลกนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายที่ทั้งต่างประเทศและในประเทศ ท่านก็ไม่เคยไปแม้แต่ครั้งเดียวในชีวิต ดังนั้น อย่าเอาจุดนี้มาเป็นเงื่อนไขในการสร้างกระเช้า



(ความภาคภูมิใจเมื่อได้พิชิตด้วยขาของตัวเอง)
ผมมั่นใจครับว่ากระเช้ามันทำได้แหละครับ รบกวนน้อยก็จริง สร้างแล้วขึ้นไปได้จริง แต่คิดดูสิครับว่าเดินขึ้นยังเดินกันไม่ได้ แล้วจะเดินเที่ยวได้ยังไง จากที่ทำการไปผาหล่มสักประมาณ 10 กม. 700 ม. ไปดูพระอาทิตย์ตก เดินกลับมาอีก แล้วเดินไหวมั้ยครับ ถ้าเดินขึ้นไม่ได้จะเดินไหวมั้ยครับ อันนี้แค่เดินเส้นทางหน้าผาไปหน้าผานะ แล้วถ้าเดินรอบใหญ่ล่ะ เดินทางน้ำตก ไปออกหน้าผาแล้วกลับมาทางหน้าผา 20 กม.กว่าๆ ถามว่าไหวมั้ยครับ? ถ้าไม่ไหวทำยังไงต่อ เดี๋ยวมีถนน เดี๋ยวมีที่พัก เดี๋ยวมีร้านสะดวกซื้อ เดี๋ยวมีเครื่องจักรอะไรต่อมิอะไรเข้าไปเต็มไปหมด

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าถ้าเมื่อไหร่ที่เรามีกระเช้า มันเป็นการนำหายนะขึ้นไป ตัวกระเช้ามันไม่ผิดหรอกครับ มันเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ขึ้นไปง่าย อะไรที่เป็นของง่าย มันหมดคุณค่าเร็วเหมือนกัน

ทุกวันนี้ป่าปิดช่วง มิ.ย.-ก.ย. เป็นเวลา 4 เดือน ป่ายังฟื้นไม่ทันเลยครับ แล้วกระเช้า ถ้าขนคนขึ้นไป ด้วยเงินลงทุนเกือบพันล้าน คิดว่าคนลงทุนไปแล้วจะกล้าหยุดกระเช้า 3-4 เดือนมั้ยล่ะครับ อีกอย่าง กระเช้าแค่หยุดวิ่งแค่เดือนเดียว ปัญหาทางเทคนิคมันก็เกิดแล้ว แล้วถ้าเอาคนขึ้นไปอยู่ช่วงฤดูฝนด้วยล่ะ... บรรลัยแน่ครับ"

(คุณค่าที่งดงามเมื่อถึงเบื้องบน)




ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754




ข่าวที่เกี่ยวข้อง (คลิก)
- อพท.เอาจริง ปักหมุดเตรียมสร้างกระเช้าภูกระดึง
กำลังโหลดความคิดเห็น