ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ห้องพิจารณาคดี 912 ศาลอาญา ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.313/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ฟ้อง นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), บริษัทไร่ส้ม จำกัด โดย น.ส.อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม ในฐานะ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง และ กก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่ บจก.ไร่ส้ม เป็นจำเลย 1 - 4
ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร, เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่า ด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา6, 8 และ 11
คดีดังกล่าวอัยการโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 ระบุพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 - 28 เมษายน 2549 นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 พนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำคิวโฆษณารวมในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลา จาก บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 จำนวน 17 ครั้ง ทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาท จากจำเลยที่ 2 - 4 เพื่อเป็นการตอบแทนที่นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ไม่รายงานการโฆษณา จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การร่วมผลิตรายการ จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิต ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นพิธีกรจัดรายการทำสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษรระบุชัดว่าถ้ามีโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่ง จำเลยที่ 2 ต้องขอซื้อโฆษณาส่วนเกินย้อนหลังและชำระค่าโฆษณาเกินให้แก่บริษัท อสมท จำกัด โดยจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิ์แบ่งค่าโฆษณาส่วนเกินคนละเท่าๆ กับ บริษัท อสมท
นอกจากนี้ ศาลปกครองสูงสุด ยังมีคำพิพากษาถึงที่สุดวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 จะต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินและไม่มีสิทธิ์ได้รับส่วนลดทางการค้าปกติร้อยละ 30 จากค่าโฆษณาส่วนเกิน 138,790,000 บาท เพราะจำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ขณะที่ จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณา แต่ไม่รายงานการโฆษณาที่เกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เป็นเหตุให้ อสมท ได้รับความเสียหาย ตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบทั้งสองชุดที่ อสมท ตั้งขึ้น
นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังใช้น้ำยาลบคำผิดลบรายการโฆษณาที่เกินเวลาในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากใบคิวโฆษณารวม แสดงถึงการปกปิดข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่เป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการทรัพย์และรับเงินตามเช็ค เป็นการต้องห้าม จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 8, 11 ประกอบ ป.อาญา มาตรา 83
ส่วนนายสรยุทธ จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจจัดการและเป็นพิธีกรจัดรายการมาโดยตลอด ดังนั้นจำเลยที่ 3 น่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การใช้เงินแม้จะให้โดยเสน่หา แต่ไม่รายงานให้ทราบก็เป็นการสนับสนุน ในทางนำสืบศาลเห็นด้วยกับ ป.ป.ช.ว่า จำเลยจ่ายเช็คเพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการใด ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2-4 นำเช็คไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ถือเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายเพราะการไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 บริษัทไร่ส้มได้ชำระค่าโฆษณาส่วนเกิน จำนวน 138,790,000 บาท แก่ อสมท แล้ว จึงลงโทษสถานเบา
พิพากษาจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ มาตรา 6, 8, 11 จำเลยที่ 2 - 4 มีความผิดฐานสนับสนุนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การฯ มาตรา 6, 8, 11 การกระทำของจำเลยทั้งสี่ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษสุด รวม 6 กระทง ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 30 ปี ปรับจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 หมื่นบาท รวมปรับ 1.2 แสนบาท จำคุกจำเลยที่ 3 และ 4 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 3 และ 4 คนละ 20 ปี แต่ทางนำสืบเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 3และ 4 คนละ 13 ปี 4 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 8 หมื่นบาท ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 1, 3 และ 4
ภายหลังทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 2 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราวสู้คดีระหว่างอุทธรณ์ และศาลอาญาพิเคราะห์คำร้องและหลักทรัพย์แล้ว มีคำสั่งให้พวกจำเลยประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยตีราคาประกันคนละ 2 ล้านบาท และกำหนดเงื่อนไขห้ามพวกจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล รวมทั้งให้พวกจำเลยมารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน