xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติจริยธรรม ความท้าทายจากกรณีสรยุทธและผู้บริหารช่อง 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

สังคมไทยเผชิญกับวิกฤติทางจริยธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งในวงการการเมือง วงการศาสนา วงการการศึกษา และล่าสุดมาถึงวงการสื่อมวลชน เราจะจัดการกับสถานการณ์ปมปัญหาทางจริยธรรมที่เกิดขึ้นอย่างไร และเราจะสามารถสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมที่มีผลต่อการปฏิบัติจริงได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่ท้าทายสังคมไทยอยู่ไม่น้อย

หลังจากที่ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และปรับเงินอีก 8 หมื่นบาท ในความผิดฐานสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐให้กระทำความผิด ด้วยการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ บริษัท อสมท.จำกัด(มหาชน) เพื่อไม่ให้รายงานการโฆษณาเกินเวลาของบริษัทไร่ส้ม จำกัด แก่ผู้บริหาร บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน)ทราบ ซึ่งทำให้ อสมท.สูญเสียรายได้เป็นเงินกว่า 138 ล้านบาทแล้วได้มีกลุ่มต่างๆออกมาแสดงทัศนะซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนทางจริยธรรมต่อประเด็นนี้อย่างหลากหลาย

เริ่มจากกลุ่มผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ซึ่งต้องตัดสินใจว่าจะยังคงให้นายสรยุทธ สุทัศนะจินดาเป็นผู้ดำเนินรายการข่าวของช่อง 3 ต่อไปหรือไม่ ผลของการตัดสินใจคือ ผู้บริหารช่อง 3 ยังคงให้นายสรยุทธ ดำเนินรายการข่าวของช่อง 3 ต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆทั้งสิ้น

ผลสืบเนื่องตามมาคือผู้บริหารช่อง 3 ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับหลักจริยธรรมที่ใช้ในการตัดสินใจ และเกิดการรณรงค์ของประชาชนจำนวนมากผ่านสื่อสังคมออนไลน์ให้งดดูรายการของช่อง 3 และงดซื้อสินค้าที่โฆษณาในช่อง 3 และบรรดาผู้บริหารของบริษัทบางแห่งที่เคยลงโฆษณาในช่อง 3 ก็ได้พิจารณาว่าควรยกเลิกการโฆษณาในช่อง 3 หรือไม่

สำหรับคำถามว่านายสรยุทธ สุทัศนะจินดามีจริยธรรมหรือไม่ ดูเหมือนสังคมได้ตกผลึกเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วจากการพิจารณาพฤติกรรมในอดีตของเขา จึงไม่มีกระแสเรียกร้องให้เขาแสดงออกทางจริยธรรมแต่อย่างใด เพราะทำไปก็หาประโยชน์อะไรไม่ได้

ทีนี้ลองมาดูการตัดสินใจของผู้บริหารช่อง 3 พวกเขาตัดสินใจให้นายสรยุทธ เป็นผู้ดำเนินรายการดังเดิมด้วยหลักเหตุผลแบบใด ผมคิดว่าเกณฑ์ที่พวกเขาใช้น่าจะเป็นอรรถประโยชน์สูงสุดที่บริษัทจะได้รับ โดยประเมินผลที่เกิดขึ้นหากให้นายสรยุทธดำเนินรายการต่อไป กับการปลดนายสรยุทธออกจากรายการ ซึ่งผลการประเมินของพวกเขาก็ได้ข้อสรุปว่า การให้นายสรยุทธดำเนินรายการต่อไปจะทำให้ช่อง 3 ได้รับประโยชน์สูงกว่าการปลดนายสรยุทธ

ผมคิดว่าฐานการตัดสินใจของผู้บริหารช่อง3 มาจากการประเมินว่า มีคนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ติดตามรายการของนายสรยุทธชมชอบความบันเทิงที่ได้รับจากนายสรยุทธ มากกว่าปัญหาทางจริยธรรมที่เขาก่อขึ้นมา และคนเหล่านั้นก็ยังคงติดตามชมรายการที่นายสรยุทธจัดเหมือนเดิม ไม่ว่านายสรยุทธสร้างพฤติกรรมแบบใดไว้ก็ตาม ในทางกลับกันหากปลดนายสรยุทธออกจากการดำเนินรายการ พวกเขาคาดการณ์ว่าจะทำให้ผู้ชมชอบนายสรยุทธ เลิกติดตามรายการข่าวของช่อง 3 ซึ่งทำให้ช่อง 3 สูญเสียความนิยมและหมายถึงผลประโยชน์ที่ได้รับลดลงด้วย

อย่างไรก็ตามผมคิดว่าผู้บริหารช่อง 3 ได้สร้างข้อผิดพลาดอย่างน้อย 2 เรื่อง เรื่องแรก พวกเขาอาจประเมินสำนึกทางจริยธรรมของคนไทยต่ำเกินจริง และไม่คิดว่า จะมีการตอบโต้การตัดสินใจของพวกเขามากนัก พวกเขาคงคิดว่าหากจะมีการตอบโต้บ้างก็มีเพียงเล็กน้อยและจำกัดวง ซึ่งไม่ถึงกับสร้างผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อช่อง 3 แต่อย่างใด

แต่พวกเขาคิดผิด สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ของผู้บริหารช่อง 3 อย่างสิ้นเชิง กลุ่มต่างๆในสังคมได้ออกมาตอบโต้การตัดสินใจของผู้บริหารช่อง 3 อย่างกว้างขวางและรุนแรง ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีการณรงค์ในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางให้งดเปิดช่อง 3 เลิกซื้อสินค้าที่โฆษณาในช่อง 3 และไม่เป็นร่วมรายการใดๆของช่อง 3 ส่วนบริษัทเอกชนบางแห่งก็มีแนวโน้มถอนโฆษณาจากช่อง 3 ดังนั้นการที่ผู้บริหารช่อง 3 คาดว่าการให้นายสรยุทธ เป็นพิธีกรต่อไปแล้วช่อง 3 จะได้รับประโยชน์มากกว่าการถอดนายสรยุทธ ออกจากรายการจึงเป็นการประเมินสถานการณ์ผิดพลาดอย่างมหันต์

เรื่องที่สอง การตัดสินใจของผู้บริหารช่อง 3 ทำให้เราอนุมานได้ว่า ผู้บริหารช่อง 3 มีส่วนร่วมในการบั่นทอนจริยธรรมของสังคม เพราะสิ่งพวกเขาทำเป็นการสร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติที่ให้การทุจริตและการไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือการโกหกเป็นเรื่องปกติ ด้วยการสนับสนุนบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่รักษาสัญญา มีเจตนาฉ้อโกง และปกปิดความผิดของตนเองโดยการให้สินบนผู้อื่นดำเนินรายการต่อไปได้

การแสดงจุดยืนให้ท้ายนายสรยุทธอย่างเต็มที่ยังเกิดขึ้นจากนายสุขุม นวลสกุลอดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยบางแห่ง แต่ที่ร้ายก็คือ เกิดขึ้นในรายการหนึ่งของวิทยุคลื่น 100.5 ของอสมท. เองเสียด้วย นายสุขุมอ้างในทำนองว่า หากตนเองเป็นนายสรยุทธ จะไม่หยุดจัดรายการเพราะไม่คิดว่าตนเองโกง และคดียังไม่สิ้นสุด โดยเพิ่งผ่านไปเพียงศาลชั้นต้นเท่านั้น

ทัศนะเช่นนี้ของนายสุขุม ซึ่งเคยเป็นครูบาอาจารย์มาก่อนออกจะน่าประหลาดใจไม่น้อย เพราะว่าเรื่องนี้อันที่จริงไม่จำเป็นต้องให้ศาลพิพากษาถึงที่สุดก็ได้ เพียงแค่เรามีข้อเท็จจริงหรือหลักฐานเพียงพอก็สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ยกเว้นเสียแต่ว่าสามัญสำนึกในการตัดสินใจว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูกบกพร่องเท่านั้นเองที่ทำให้ความคิดเบี่ยงเบนไปจากครรลองของจริยธรรม

เรื่องที่น่าประหลาดอีกเรื่องคือ ท่าทีของสื่อมวลชนบางแห่งที่ตีความการเรียกร้องให้นายสรยุทธ และผู้บริหารช่อง 3 แสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรมว่าเป็น “การริษยาของชนชั้นกลาง” การตีความในลักษณะดังกล่าวเปี่ยมไปด้วยอคติและเข้าข่าย “บกพร่องทางจริยธรรม” อย่างรุนแรงของผู้ตีความเอง ทั้งยังเป็นการสร้างกระแสเบี่ยงเบนข้อเท็จจริงและปัญหาพฤติกรรมที่นายสรยุทธ กระทำอีกด้วย

แต่ผู้ที่ติดตามข่าวการเมืองอย่างใกล้ชิดอาจไม่รู้สึกแปลกใจกับท่าทีและจุดยืนของกลุ่มที่ผมกล่าวมาก็ได้ เพราะว่าพฤติกรรมในอดีตของพวกเขาสะท้อนค่านิยมและจุดยืนทางจริยธรรมของพวกเขาอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร แต่ที่น่ากังวลคือกลุ่มเหล่านี้มีบทบาทและอิทธิพลทางความคิดต่อคนจำนวนไม่น้อย หากกลุ่มเหล่านี้ยังคงดำรงบทบาทอยู่ในสังคม ก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างคุณค่าทางจริยธรรมที่ดีของสังคม

สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของปัญหาต่างๆในสังคมไทยคือ การขาดสามัญสำนึกระดับพื้นฐานของกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และสื่อมวลชน เมื่อบุคคลภายในกลุ่มอิทธิพลเหล่านี้ถูกตรวจสอบและจับได้ว่ากระทำละเมิดจริยธรรม พวกเขาก็ดาหน้าออกมาปกป้องและสนับสนุนพวกเดียวกันเองอย่างไม่ลืมหูลืมตา และพยายามทำให้พฤติกรรมละเมิดจริยธรรมที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ายินดีและพอจะเป็นความหวังของสังคมได้คือการที่กลุ่มต่างๆในสังคมจำนวนมากได้ร่วมกันแสดงจุดยืนและลงมือกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในขอบเขตที่พวกเขาสามารถทำได้ เพื่อกดดันผู้ละเมิดจริยธรรมมิให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งและสถานภาพที่สามารถสร้างอิทธิพลต่อผู้อื่นได้อีกต่อไป

ดังนั้นหลักการที่ว่า “ผู้ใดมีพฤติกรรมไร้จริยธรรม ผู้นั้นไม่ควรอยู่ในตำแหน่งที่มีบทบาททางสังคม” ควรเป็นหลักการสากลที่ทุกองค์การทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนต้องร่วมมือกันสร้างขึ้นมาให้เป็นบรรทัดฐาน เพราะหากผู้ไร้จริยธรรมยังคงสามารถดำรงตำแหน่งที่มีบทบาทสูงในสังคมต่อไปได้ พวกเขาก็จะเป็นแหล่งอ้างอิงให้การกระทำที่ไร้จริยธรรมได้รับการยอมรับ เช่นนั้นแล้วสังคมก็อาจจะล่มสลายได้

แม้ว่าระยะนี้สังคมไทยมีวิกฤติจริยธรรมซ้ำซาก ทั้งที่เกิดจากผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางศาสนา และนักธุรกิจเล่าข่าว แต่ท่ามกลางวิกฤติย่อมมีโอกาส ผมคิดว่าจังหวะนี้จึงเป็นโอกาสดีของสังคมไทยในการรสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมขึ้นมาให้ได้ โดยเฉพาะจริยธรรมสำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์การของรัฐทุกแห่ง องค์การศาสนา สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และอาจรวมไปถึงองค์การธุรกิจเอกชนด้วย หากสามารถทำได้จริง ผมคิดว่าปัญหาต่างๆที่กำลังเผชิญอยู่ก็คงจะบรรเทาลงไปบ้าง และอาจจะหมดไปในไม่ช้า


กำลังโหลดความคิดเห็น