เมืองไทย 360 องศา
ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่า กรณีคำพิพากษาของศาลอาญาจำคุก 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” นักเล่าข่าวชื่อดังทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และเจ้าของบริษัท ไร่ส้ม เมื่อวันจันทร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นจนคาดว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมตามมาอย่างรุนแรงแน่นอน
แรงกระเพื่อมที่ว่านั้นก็คือ คดีดังกล่าวจะมีผลต่อความตื่นตัวทางมาตรฐานทางจริยธรรมของสื่อมวลชนที่จะต้องถูกบังคับจากสังคมมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
คดีดังกล่าว สรยุทธ กับพวกถูกฟ้องในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 8 และ 11
คดีดังกล่าวอัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 58 กล่าวหาจำเลยจำนวน 4 คน ได้ร่วมกันสร้างความเสียหายแก่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เสียหาย 138,790,000 บาท
ทั้งนี้ นอกจาก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กับพวกซึ่งพนักงานบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญาแล้ว พนักงานของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่ถูกจำคุกถึง 20 ปี ถือว่าเป็นกรณีศึกษาเป็นอย่างยิ่ง และยังเหนือความคาดหมายว่าคดีดังกล่าวได้ถูกศาลลงโทษจำคุกสูงถึง 13-20 ปี หลังจากก่อนหน้านี้หลายคนคงคิดว่าคงมีการจำคุกไม่กี่ปีและรอลงอาญา
อย่างไรก็ดี หากมีการพิจารณากันอีกมุมหนึ่ง นี่คือมาตรฐานทางจริยธรรมทางวิชาชีพสื่อ ที่สามารถสร้างอิทธิพลทางสังคม สามารถชี้นำความคิดทางสังคมไปอีกทางหนึ่งได้ และที่สำคัญ นี่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต การติดสินบน
อย่างที่มีการระบุเอาไว้ว่ากรณีความผิดของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา บริษัท ไร่ส้ม รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 จะเป็นตัวชี้วัดมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กร แน่นอนว่าหลังมีคำพิพากษาของศาลออกมาแล้ว ทางผู้บริหารของช่อง 3 ก็ออกแถลงการณ์สนับสนุนการทำงานของสรยุทธต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง โดยอ้างว่าคดียังไม่ถึงที่สุด ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับเจ้าตัวซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องแปลก และพอคาดเดาได้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าต้องออกมาแบบนี้
อย่างไรก็ดี สำหรับวงการวิชาชีพสื่อ มีการตั้งคำถามว่าต้องมีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงกว่าหรือไม่ และต้องสูงมาตรฐานทางกฎหมายหรือไม่ กรณีที่เกิดขึ้นสมควรหรือไม่ที่ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ หากพวกเขายังดึงดันทำหน้าที่ สังคมควรที่จะต้องมีมาตรการกดดันลงโทษด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะกับหน่วยงานอย่างไทยทีวีสีช่อง 3
ขณะเดียวกัน สังคมกำลังจับตามองว่าจะมีบริษัท ห้างร้านต่างๆ ยังสนับสนุนทางด้านโฆษณากับคนพวกนี้ต่อไปอีกหรือไม่ และหากยังทำเป็นทองไม่รู้ร้อน สังคมก็จะมีการตื่นตัว หรือมีบทลงโทษกับบรรดาบริษัทเหล่านี้อย่างไร แต่แน่นอนว่าด้วยบรรยากาศ และการตื่นตัวของสังคมที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน คงจะมีความเข้มข้นขึ้นไปอีก
นอกเหนือจากนี้ ยังเชื่อว่าสังคมยังต้องจับตาบทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อว่าจะมีน้ำยาในการจัดการในเรื่องนี้อย่างไร หรือว่าจะออกเพียงแค่ “แถลงการณ์” ไม่กี่บรรทัดแล้วก็เงียบหายกันไปเท่านั้น อย่างไรก็ดี นาทีนี้เริ่มเห็นปรากฏการณ์บางอย่างเกิดขึ้นแล้ว เริ่มกลายเป็น “กระแสต่อต้าน” ที่หลายฝ่ายเริ่มมีการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกโซเชียล
ดังนั้น การที่อ้างว่าคดียังไม่ถึงที่สุดและล่าสุดศาลให้ประกันตัวออกมาโดยมีหลักประกันคนละ 2 ล้านบาท เพื่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ และทางผู้บริหารของช่อง 3 ที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนการทำงานของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ต่อไป มันก็เหมือนมีเจตนาท้าทายสังคมว่าพวกเขาไม่แคร์ และที่สำคัญคงคิดว่า “ทำอะไรพวกเขาไม่ได้” และยังเชื่อว่าอีกไม่นานทุกอย่างก็จะลืมเลือนกันไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หากมองอีกด้านหนึ่ง ก็น่าจะเป็นไปอีกทางนั่นคือ กระแสต่อต้านเริ่มแรง และรับรองว่าจะต้องสร้างความสั่นสะเทือนให้กับองค์กรที่ยังอุ้มคนโกง และท้าทายความรู้สึก ขณะเดียวกันกรณีที่เกิดขึ้นจะเป็นบทพิสูจน์น้ำยาขององค์กรสื่อว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง!!