ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ใจกล้า หน้าด้าน จริยธรรมเสื่อมทราม หลากหลายนิยามจากโลกออนไลน์สำหรับ “กรรมโกงข่าว” นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวหลายรายการทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่ยังคงนั่งเล่าข่าวต่อไปอย่างไม่สะทกสะท้านราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นหลังจากคดีโกงเวลาโฆษณา 138 ล้านบาท ถูกศาลอาญาตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในความผิดฐานสนับสนุนพนักงานในองค์กรของรัฐ (อสมท) ให้กระทำการโดยมิชอบจนเกิดความเสียหายแก่องค์กรของรัฐ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา
ที่น่าประหลาดใจคือท่าทีของผู้บริหารช่อง 3 ที่ทำตัวราวกับสมคบคิดหรือสมรู้ร่วมคิดกับนักจัดรายการตัวทำเงินทำทองให้กับสถานี แม้ศาลตัดสินให้นายสรยุทธ ติดคุก แต่ผู้บริหารและบอร์ดช่อง 3 ยังอุ้มกะเตงไม่หวั่นเกรงต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั่วบ้านทั่วเมือง เป็นท่าทีของผีเน่ากับโลงผุ เพราะเราคู่กัน เพราะเรามีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่แค่เราคือคนใน “ครอบครัวเดียวกัน” แต่เพียงอย่างเดียว
ท่าทีไม่สะทกสะท้านจุดกระแสในสังคมออนไลน์ ไม่ใช่แค่การรณรงค์ต่อต้านอย่าปล่อยให้กรรมโกงข่าวลอยนวล แต่ลามไปยังสถานี อย่าปล่อยให้ทีวีช่อง 3 ลอยนวล ด้วยการชักชวน “งดดูทีวีช่อง 3 ฐานสนับสนุนคนขี้โกง” อีกด้วย
เหตุผล 3 ข้อ ของบอร์ดช่อง 3 ที่ให้กรรมโกงข่าวทำหน้าที่ต่อไปโดยไม่สั่งพักรายการหรือสั่งถอดนายสรยุทธพ้นจอ ซึ่งแถลงโดยนายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ปฏิบัติการแทนรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเมนท์ หรือสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่ว่ากรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนร่วมงานกัน, คดียังไม่สิ้นสุด อยู่ระหว่างการพิสูจน์ในชั้นศาล และทางบริษัทกับนายสรยุทธทำงานเป็นครอบครัวเดียวกัน นั้น ไม่มีอะไรมากไปกว่าการรักษาหม้อข้าวปกปักรักษาตัวทำเงินทำทองของช่องเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าคำว่าจริยธรรมที่ช่อง 3 ในฐานะสื่อมวลชนพึงมี
“นับจากนี้ช่อง 3 ต้องน้อมรับคำวิจารณ์และประเมินท่าทีของสังคมต่อไป แต่มติบอร์ดขณะนี้ ถือเป็นที่สิ้นสุดและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากสังคมคิดว่า สุดโต่งก็ต้องน้อมรับ เพราะที่ผ่านมาถือว่า ทำงานเป็นครอบครัวเดียวกัน ต่อจากนี้ความสัมพันธ์ยังเป็นไปตามปกติ” นายสุรินทร์ กล่าวยืนยันท่าทีของช่อง 3 ต่อสาธารณชน
ขณะที่นายสรยุทธที่นั่งอ่านข่าวคำพิพากษาคดีบริษัทไร่ส้มของตัวเองในรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ประเดิมรายการเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 ยืนยันว่า “... เคารพในคำพิพากษานะครับ แต่ขั้นตอนกระบวนการ ผมกับบริษัทก็จะใช้สิทธิ์ตามกระบวนการยุติธรรมในการต่อสู้คดีในขั้นตอนต่อไป นั่นคือในชั้นอุทธรณ์นะครับ”
แต่สุดท้ายด้วยกระแสสังคมที่โหมกระหน่ำกดดันเข้ามาในทุกทิศทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ให้เลิกดูรายการของนายสรยุทธและเลิกดูช่อง 3 ไล่เรื่อยไปจนถึงการกดดันให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการถอนโฆษณา จึงทำให้นักเล่าข่าวพันล้านจะ “จำใจ” ประกาศขอยุติการทำหน้าที่ในวันที่ 3 มีนาคม 2559 เพราะเห็นได้ชัดว่าหากยังขืน “ด้านหน้า” อยู่ต่อไป ความพินาศฉิบหายจะมาเยือนองค์กรทั้งองค์กรมิใช่เฉพาะแค่ตัวนายสรยุทธแต่เพียงคนเดียว
รุมจวกต่อมจริยธรรม “ช่อง 3-สรยุทธ”
ก่อนหน้าที่นายสรยุทธจะยอมจำนนเพราะ “จำใจ” ท่าทีของช่อง 3 และนายสรยุทธ ถูกตั้งคำถามมากมายในฐานะนักสื่อสารมวลชนที่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี
นักสื่อสารมวลชน อย่างเช่น “ธาม เชื้อสถาปนศิริ” ผู้จัดการฝ่ายวิจัย ประเมินผล และพัฒนา สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ถึงกับบอกว่านี่มันตบหน้ากันชัดๆ
“นักเล่าข่าวคนดัง "ตบหน้า" ใครบ้าง ผมคิดว่าการที่คุณสรยุทธ ยังคงได้รับโอกาสมานั่งเล่าข่าวอ่านข่าวตามปกติเสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นนั้น เป็นการตบหน้าสังคมไทยแรงๆ อีกครั้งหนึ่ง มันเท่ากับเป็นการพิสูจน์ว่า จริยธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญอีกต่อไปในสังคมไทย กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่า ล่องลอยอยู่ในอากาศ และ ช่อง 3 ก็ลดระดับการเป็นองค์กรสื่อ ลงไปอยู่ในระดับเดียวกับนักเล่าข่าว คือ ขาดธรรมาภิบาลองค์กรอย่างรุนแรง พวกเขาดำเนินธุรกิจสื่อสารมวลชนได้อย่างไร? ทั้งๆ ที่จิตวิญญาณของวิชาชีพนี้ คือ จริยธรรมและความรับผิดรับชอบต่อสังคม เหตุการณ์นี้ เป็นการ “ตบหน้า” หลายๆ คนในสังคมไทย “เป็นการยืนยันว่าผลประโยชน์อยู่เหนือจริยธรรม” หน้าชากันไหมครับ คนไทยทั้งหลาย!”
กรณีคดีของ “กรรมโกงข่าว” ที่ถูกศาลอาญาตัดสินลงโทษหนักครั้งนี้ กระตุกต่อมจริยธรรมของสื่อเข้าเต็มเปา หนึ่งคือ “จริยธรรมในการทำธุรกิจ” ของผู้ที่เรียกตัวเองว่า “สื่อสารมวลชน” แน่นอน กรณีนี้นายสรยุทธ ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทไร่ส้ม จำกัด ไม่มีจริยธรรมในการทำธุรกิจ มีความผิดชัดเจนตามคำตัดสินของศาล ที่ว่า
“..... นายสรยุทธ จำเลยที่ 3 เป็นผู้มีอำนาจจัดการและเป็นพิธีกรจัดรายการมาโดยตลอด ดังนั้นจำเลยที่ 3 น่าจะทราบเนื้อหางานเป็นอย่างดี การใช้เงินแม้จะให้โดยเสน่หา แต่ไม่รายงานให้ทราบก็เป็นการสนับสนุน ในทางนำสืบศาลเห็นด้วยกับ ป.ป.ช.ว่าจำเลยจ่ายเช็คเพื่อจูงใจให้กระทำหรือไม่กระทำการใด ทำให้หน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2-4 นำเช็คไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ถือเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายเพราะการไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์ จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1...”
สอง คือ “จริยธรรมของสื่อสารมวลชน” ซึ่งส่งผลกระทบไม่แต่เฉพาะนายสรยุทธ และช่อง 3 เท่านั้น แต่กระเทือนถึงความน่าเชื่อถือโดยรวมของวงการสื่อสารมวลชนที่ตกอยู่ในภาวะถูกสังคมตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบและจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักหน่วงอยู่ในเวลานี้ด้วย ดังนั้น 2 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงออกโรงออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ช่อง 3 ทบทวนการทำหน้าที่ของนายสรยุทธ เสียใหม่
“....ถึงแม้กรณีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์ แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นการพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรมว่ามีหลักฐานเพียงพอว่า นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความผิดทั้งทางด้านอาญาและด้านจริยธรรม เพราะฉะนั้นสังคมจึงมีความคาดหวังว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จะแสดงความรับผิดชอบและเป็นตัวอย่างในการวางมาตรฐานจริยธรรมด้วยการให้ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ยุติบทบาทหน้าจอ อย่างน้อยเป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะสิ้นสุด
“สื่อมวลชนไทยได้ยึดมั่นในหลักการของการกำกับและดูแลกันเองเพื่อสร้างหลักประกันสำหรับเสรีภาพในการรายงานข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นมาตลอด แต่จุดยืนของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ต่อกรณี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ทำให้หลักการของการกำกับดูแลกันเองของสื่อถูกตั้งคำถามมากขึ้น และเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับความพยายามของกลุ่มคนที่ต้องการให้มีกลไกที่มีอำนาจทางกฎหมายในการควบคุมและลงโทษสื่อที่ละเมิดจริยธรรมจึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหารของ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ทบทวนการทำหน้าที่ของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เพื่อเป็นแบบอย่างในการสร้างบรรทัดฐานด้านจริยธรรมให้กับวงการสื่อมวลชนไทย”
งานนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ต้องขยับมีการประชุมเพื่อพิจารณาด้านกฎหมายและด้านจริยธรรมว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยในวันที่ 7 มีนาคม 2559 ในช่วงบ่าย กสทช. จะเชิญผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ในฐานะผู้ถือใบอนุญาตเข้าร่วมประชุมหารือในแง่กฎหมาย และการกำกับดูแลผู้ผลิตรายการของสถานีให้เป็นไปตามจริยธรรมและความเหมาะสม ก่อนนำข้อสรุปเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) อีกครั้ง
การ “ตบหน้า” ท่านผู้ชมของกรรมโกงข่าวและช่อง 3 โดยไม่ยี่หระ ยังลอยหน้าออกอากาศเหมือนเดิม ทว่า ยิ่งเนิ่นนานวันกระแสต่อต้านยิ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ และดูเหมือนจะลุกลามบานปลาย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ก็ออกแถลงการณ์ “ขอความร่วมมือในการรักษาบรรษัทภิบาลในกรณีสรยุทธ-ช่อง3 เพื่อยกมาตรฐานจริยธรรมสังคม”
แต่ที่ออกมาส่งเสียงอย่างดุดัน คือ นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. ที่ชักทนไม่ไหว เห็นว่า นี่เป็นความอัปยศครั้งใหญ่ของธุรกิจสื่อยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย ทีวีช่อง 3 กำลังท้าทายพลังจริยธรรมของคนไทย เท่ากับดูถูกผู้ดูทีวีทั้งหมดที่จะต้องอดทนให้สื่อมวลชนฉ้อฉลคนหนึ่งออกมาลอยหน้าลอยตาหยามหยันถึงทุกบ้านช่องเรือนชานอยู่ทุกวัน ทีวีช่อง 3 เห็นกำไรที่เป็นตัวเงินมีราคามากกว่าตราบาปที่จะติดตรึงองค์กรไปตราบนานเท่านาน
อดีต ส.ว.ประสาร เรียกร้องให้สังคมคว่ำบาตรช่อง 3 แสดงออกถึงพลังทางจริยธรรมร่วมกัน “ให้มันรู้ไปว่าทีวีช่อง 3 จะทนทานกับเสียงก่นด่า สาปแช่งของคนทั้งประเทศไปได้แค่ไหน”
ขณะเดียวกัน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็ขยับระดมพลยื่นญัติตรวจสอบกรณีดังกล่าวในเรื่องจริยธรรมและจรรยาบรรณด้วยเช่นกัน เป็นการทดสอบการขับเคลื่อนปฏิรูปสื่อโดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีกฎหมายออกมาก่อน และที่แน่ๆ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ โฆษก สปท. ยืนยันว่าจะไม่ขอรับเชิญไปออกรายการของนายสรยุทธ อย่างแน่นอนในทุกกรณี
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ยังไม่มีใครทำอะไรนายสรยุทธ และช่อง 3 ได้ เพราะต่อมจริยธรรมของทั้งคู่น่าจะอยู่ก้นเหว !!
ขาด “สรยุทธ” ตัวทำเงินทำทอง ช่อง 3” เหมือนจะขาดใจ?
ทีนี้มาถึงคำถามสำคัญว่า ทำไมช่อง 3 ถึงยังดำรงความเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” กับ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
เหตุผลมีเพียงประการเดียวคือ “สรยุทธคือตัวทำเงินทำทอง” อันมหาศาลให้กับสื่อค่ายนี้ ถึงขนาดอาจกล่าวได้ว่า “ขาดสรยุทธ ช่อง 3 เหมือนจะขาดใจ” เลยก็คงได้
เพราะเมื่อไล่นับ “โฆษณาสินค้า” คร่าวๆ ก็พบว่ามีจำนวนถึงมากมายมหาศาลถึงกว่า 120 ตัว เรียกว่าแทบจะครอบคลุมสินค้าทุกชนิดที่วางขายในประเทศไทยกันเลยทีเดียว และเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็ต้องยอมรับว่า นั่นเป็นเพราะสรยุทธคือแม่เหล็กในการดูดเม็ดเงินโฆษณาชั้นดี กระทั่งสามารถทำรายได้แซงหน้า “ละครหลังข่าว” ที่ผู้คนติดกันงอมแงมทั้งบ้านทั้งเมือง
ด้วยเหตุนี้ การที่ช่อง 3 ยังคงหนุนให้สรยุทธจัดรายการต่อไป เป็นเพราะถ้าหากไม่มีสรยุทธ หรือให้พิธีกรคนอื่นๆ ดำเนินรายการแทน รายการก็จะไม่ได้รับความนิยม และจะกระทบต่อเรตติ้งและรายได้ของช่อง 3 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่นที่ โศรดา ศรประสิทธิ์ Managing Director บริษัท Brillian & Million จำกัด มองว่า ตัวรายการยังคงมีศักยภาพสูง รวมทั้งตัวของสรยุทธเองที่มีอิทธิพล เพราะได้เข้ามาเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของการเล่าข่าว ทำให้มีเสน่ห์และมีสีสัน ดึงดูดให้ลูกค้ามาซื้อสื่อโฆษณาก็เพราะเสน่ห์ตรงนี้ ดังนั้นหากมีเปลี่ยนตัวพิธีกร นำคนอื่นมาจัดรายการแทนสรยุทธ ก็อาจจะกระทบต่อคุณภาพรายการด้วย ทำให้ขาดสีสัน ขาดเสน่ห์บางอย่างไปที่คนอื่นทำไม่ได้ และส่งกระทบถึงเรตติ้ง รายได้ ค่าโฆษณาด้วย เพราะสรยุทธได้กลายเป็นพรีเซ็นเตอร์ เป็นโลโกของรายการไปแล้ว
หรือสรุปได้ว่า การเพิกเฉยต่อกระแสเรียกร้องของสังคม เท่ากับว่างานนี้ ช่อง 3 ได้เลือกแล้ว คือเลือกที่จะรักษาตัวทำเงินทำทองให้กับช่อง แทนที่จะเป็นแบบอย่างในการสร้างบรรทัดฐานด้านจริยธรรม ซึ่งเรื่องในลักษณะเช่นเดียวกันนี้หากเกิดขึ้นกับสื่อต่างประเทศ พิธีกรหรือเจ้าของรายการไม่ว่าจะดังแค่ไหนก็ถูกสั่งพักห้ามออกอากาศ ไม่มีทางที่จะมาลอยหน้าลอยตาและอุ้มกันสุดฤทธิ์สุดเดชเช่นนี้
นิตยสาร Positioning ได้เคยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาเฉพาะรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” เอาไว้เมื่อปี 2555 ซึ่งก็พอจะทำให้เห็นภาพรางๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้พอสมควร
กล่าวคือ รายการเรื่องเล่าเช้านี้มีรูปแบบรายการที่ผสมผสานสื่อโฆษณาไว้ในเนื้อหารายการได้เนียนพอ ๆ กับละคร ภาพยนตร์ และมีส่วนผสมที่สร้างรายได้จากโฆษณาและรายได้อื่นอยู่ในทุกช่วงข่าว
เริ่มจาก Product placement อาทิ ถ้วยกาแฟ โน้ตบุ๊ก ฯลฯ และพัฒนามาสู่การ Tie-in หรือการนำสินค้าและบริการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหารายการ เป็นรูปแบบที่หาดูไม่ค่อยได้ในรายการข่าวที่ไหนในโลก แต่เป็นรูปแบบที่คนไทยจำนวนไม่น้อยยอมรับได้ โดยมีผลตอบรับจากเรตติ้งรายการที่สูงและเป็นการสร้างช่วงไพร์มไทม์ใหม่ให้กับวงการโทรทัศน์มาหลายปี
จากนั้นในปี 2559 นิตยสาร Positioning ก็ได้วิเคราะห์ข้อมูลหลังคำพิพากษาถึงการเป็นตัวทำเงินทำทองของนายสรยุทธเอาไว้อีกครั้งว่า รายการข่าวที่สรยุทธจัดในช่อง 3 ประกอบไปด้วย 1. เรื่องเล่าเช้านี้ 2. เจาะข่าวเด่น และ3. เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ โดยทั้ง 3 รายการมีรายได้จากค่าสปอตโฆษณาจาก 3 รายการ เฉลี่ย 2.2-2.9 แสนบาท/นาที ทำรายได้ให้กับช่อง 3 ตกประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้โดยรวม (ข้อมูลจากอมรินทร์ทีวี และโนมูระ พัฒนสิน)
นอกจากรายได้จากโฆษณาสปอตโฆษณาแล้ว ยังมีรูปแบบรายการผสมผสานสื่อโฆษณาไว้ในเนื้อหารายการได้เนียนพอๆ กับละคร ภาพยนตร์ และมีส่วนผสมที่สร้างรายได้จากโฆษณาและรายได้อื่นๆ อยู่ในทุกช่วงข่าว ได้รับการตอบรับอย่างดีจากสินค้าและโฆษณา ตั้งแต่การทำ Product Placement ในรายการ และพัฒนามาสู่การ Tie-in หรือการนำสินค้าและบริการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหารายการ
ทั้งนี้ ค่าแพ็กเกจโฆษณาสำหรับสินค้าที่ต้องการ Tie-in หรือพูดเป็นเหมือนการเล่าหรือแจ้งข่าวเป็นส่วนหนึ่งในรายการ ราคาปัจจุบันขึ้นไปถึง 3.5 แสนบาท แต่หากเป็นแบรนด์ที่ผูกปิ่นโต หรือที่ซื้อเหมาติดต่อกันมาหลายปี อาจจะลดลงเหลือ 2.4 แสนบาท ส่วนแบรนด์ไหนต้องการนำผลิตภัณฑ์เข้ามาร่วมหรือจัดดิสเพลย์ในรายการ จะคิดในอัตรา 500,000 บาท
และนี่เป็นสาเหตุที่ทำไมช่อง 3 ยังคงเลือกให้สรยุทธยังคงอยู่หน้าจอ ท่ามกลางกระแสกดดันอย่างหนักจากสังคมรอบด้านก็ตาม
และหากยิ่งมาดูผลกำไรของบริษัทบีอีซี เวิลด์ เจ้าของช่อง 3 ในปี 2558 ก็ไม่ดีนัก ทำได้ 2,982 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 ถึง 31.2 % เพราะต้องอยู่ในช่วงที่ต้องลงทุนทีวีดิจิตอล 3 ช่อง แต่รายได้ค่าโฆษณาก็กลับลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา ส่วนช่องข่าวเช้าก็ต้องเจอคู่แข่งอย่างช่อง 7 ที่กำลังมาแรงทำท่าว่าแซงหน้าไปแล้วด้วย ก็ยิ่งเป็นคำตอบว่า ทำไมช่อง 3 ถึงเลือก “สรยุทธ” มากกว่าการกระแสของสังคม
ประกอบกับในเวลานี้ ผลสำรวจเรตติ้งของสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ออกมาแล้วว่า ช่อง 3 หลุดจากแชมป์อันดับหนึ่ง ไปอยู่อันดับสอง เจอแชมป์เก่าช่อง 7 สี ที่ดีวันดีคืนโค่นบัลลังก์เสียแล้ว ก็ยิ่งทำให้ช่อง 3 ดูเบากับพลังของผู้ชม
แต่สุดท้ายหลังกระแสกดดันที่ถาโถมเข้ามาทุกทิศทุกทาง ในที่สุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 นายสรยุทธก็ “จำใจ” ยุติการปฏิบัติหน้าที่นักเล่าข่าวทางช่อง 3 โดยออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัว @sorrayuth9111
“ตั้งแต่เย็นนี้ ผมขอยุติการทำหน้าที่พิธีกร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับช่อง 3 เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ขอบคุณครอบครัวช่อง 3 ขอบคุณแฟนข่าว ขอบคุณทุกกำลังใจ จนกว่าเราจะพบกันใหม่ครับ”
แน่นอน นั่นย่อมไม่ใช่ “ต่อมสำนึก” หรือ “ต่อมจริยธรรม-คุณธรรม” ของนายสรยุทธเกิดทำงานขึ้นมาอย่างกะทันหัน แต่นั่นเป็นเพราะแรงกดดันที่ถาโถมเข้ามาอย่างมืดฟ้ามัวดิน แม้กระทั่งแฟนคลับและระบอบทักษิณที่หน้ามืดตามัวให้การสนับสนุนการทำหน้าที่ต่อไปมากเพียงใด ก็ไม่อาจหยุดยั้งแรงกดดันของ “คนส่วนใหญ่” ของบ้านนี้เมืองนี้ได้
เพราะถ้านายสรยุทธและช่อง 3 สำนึกได้คงไม่รอให้เหตุการณ์ล่วงเลยมาเป็นเวลาหลายวัน และในความเป็นจริงต่อมจริยธรรมควรจะทำงานตั้งแต่เมื่อครั้ง ป.ป.ช.ชี้มูลเสียด้วยซ้ำไป
และแน่นอนว่า แรงกดดันสำคัญยิ่งก็คือการออกมารณรงค์ให้คน “เลิกดูรายการของนายสรยุทธ” และ “เลิกดูช่อง 3” รวมกระทั่งถึงการออกมาเรียกร้องให้บริษัทห้างร้านเลิกสนับสนุนรายการของนายสรยุทธและรวมไปถึงช่อง 3 ด้วยการ “ยุติการซื้อโฆษณา” ซึ่งเป็นแรงกดดันที่ได้ผลยิ่งเพราะทำให้บรรดาสปอนเซอร์ทั้งหลายหวั่นไหวกับภาพลักษณ์ของการเป็นผู้สนับสนุนคนคดโกง ดังที่ปรากฏเป็นข่าวว่าโตโยต้า ออมสิน โนเบิล ฯลฯ ตัดสินใจถอดโฆษณาไปก่อนหน้าที่นายสรยุทธจะขอยุติการทำหน้าที่และกำลังขยายวงกว้างออกไปทุกที ดังที่นักเล่าข่าวพันล้านคนนี้ให้เหตุผลเอาไว้ชัดเจนว่า “เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับช่อง 3”
นี่เป็นเหตุผลเรื่องเงินที่ชัดเจนยิ่ง
นอกจากนี้ เมื่อย้อนไปดูราคาหุ้น บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ปิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 ก็จเพบว่าปรับร่วงลง 3.88% มาที่ 31 บาท ขณะที่ บล.ธนชาต แนะนำ “ขาย” หุ้น BEC ให้ราคาเป้าหมายที่ 30.50 บาท โดยมองว่ากรณีศาลฯ ตัดสินจำคุกนายสรยุทธ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อรายได้ค่าโฆษณาของ BEC ซึ่งราว 12% ของรายได้มาจากรายการนายสรยุทธ
นี่คือสัญญาณอันตรายที่ช่อง 3 สามารถรับรู้ได้และนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ในที่สุด นายสรยุทธก็ต้องยอมจำนนและช่อง 3 ก็ต้องยอมจำใจ “สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต”โดยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 ก็ออกประกาศขอยุติการทำหน้าที่ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนยุติเป็นการชั่วคราวหรือถาวร คงต้องติดตามกันต่อไป
นั่นละฮะท่านผู้ชม