ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
รัฐสมัยใหม่เชิดชูและให้คุณค่ากับสิ่งที่เรียกว่า “ความมีเหตุผล” มาก และยึดความมีเหตุผลเป็นหลักในการดำเนินการต่างๆของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย การกำหนโยบาย และโครงการก็ตาม กล่าวได้ว่าความมีเหตุผลได้กลายเป็นแหล่งที่สร้างความชอบธรรมแก่การดำรงอยู่ของรัฐ หากรัฐใดที่ถูกมองว่ามีการกระทำที่ “ไร้เหตุผล” รัฐนั้นก็จะประสบปัญหาความชอบธรรมตามมา
คนส่วนใหญ่เข้าใจความมีเหตุผลในฐานะที่เป็น “เหตุผลเชิงเครื่องมือ” มากกว่า “เหตุผลเชิงเป้าหมาย” เหตุผลเชิงเครื่องมือหมายถึง ความสอดคล้องระหว่างเป้าประสงค์หรือความปรารถนา กับแนวทางหรือยุทธศาสตร์หรือวิธีการที่บุคคล องค์การ หรือรัฐตัดสินใจเลือกใช้ ด้วยมีความเชื่อว่าแนวทางเหล่านั้นจะมีศักยภาพและความสามารถในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด และสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมน้อยที่สุด
คำถามสำคัญที่มักเกิดขึ้นเสมอคือ อะไรคือความสอดคล้องระหว่างเป้าประสงค์กับแนวทางที่เลือกใช้ หรือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าแนวทางนี้หรือวิธีการนี้จะนำไปสู่เป้าประสงค์ได้จริง หรือ แนวทางใดแนวทางหนึ่งจะมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และสร้างผลกระทบทางลบน้อยกว่าแนวทางอื่นๆ
โดยทั่วไปการเลือกแนวทางใดแนวหนึ่งมาใช้ มนุษย์มักจะนำประสบการณ์ในอดีตของตนเองหรือผู้อื่นมาเป็นฐานในการเลือก เช่น การเลือกใช้นโยบายกองทุนหมู่บ้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล บางกรณีก็ใช้การวิจัยมาเป็นฐานในการเลือก เช่น การเลือกออกกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างการขับรถยนต์ เพราะมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงการเกิดอุบัติเหตุจำนวนมากมีสาเหตุจากการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างการขับรถ
ปัญหาคือมนุษย์มีแนวโน้มยึดติดกับการเลือกใช้แนวทางตามความเคยชิน โดยมีความเชื่อว่าแนวทางที่ตนเคยใช้เป็นเครื่องมือและประสบความสำเร็จในอดีต ยังสามารถใช้ได้ดีเหมือนเดิมในปัจจุบัน ความเชื่อดังกล่าวจึงทำให้มนุษย์ละเลยการพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม และทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะล้มเหลวมากขึ้น
เช่นเดียวกันกับการเลือกแนวทางที่อยู่บนฐานของงานวิจัย งานวิจัยบางอย่างเกิดในสภาพการทดลองที่มีการควบควบปัจจัยที่เข้ามารบกวนอย่างเข้มงวด จึงทำให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ปรารถนา แต่หากมีการนำมาใช้ในสถานการณ์จริงซึ่งไม่อาจควบคุมปัจจัยต่างๆได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่เป็นไปตามความปรารถนาก็ได้
หรืองานวิจัยบางอย่างเกิดขึ้นในบริบทสังคมหนึ่ง เมื่อนำมาใช้ในอีกสังคมหนึ่งซึ่งมีบริบทแตกต่างออกไป ก็อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันได้ ตัวอย่างเช่น การประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีการวิจัยในบางประเทศว่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคุณภาพการศึกษา แต่เมื่อนำใช้ในประเทศอื่นๆที่มีบริบทสังคมต่างกัน การประกันคุณภาพการศึกษาอาจทำให้คุณภาพการศึกษาแย่ลงก็ได้
แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ในหลายกรณี มนุษย์จำนวนมากกลับเลือกใช้วิธีการต่างๆอย่างงมงาย ไม่ทราบแม้กระทั่งว่าแนวทางที่ตนเองเลือกใช้จะนำไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์หรือไม่ หรือมีมายาคติที่งมงายว่าแนวทางบางอย่างนำไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์ ทั้งที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์มากมายอยู่ตรงหน้าที่บ่งชี้ว่า แนวทางนั้นล้มเหลว มนุษย์จำพวกนี้กลับปิดการรับรู้ของตนเอง ปฏิเสธข้อมูลข่าวสารที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตนเอง ทั้งยังพยายามแสวงหา เลือกสรรและตีความข้อมูลข่าวสาร เพื่อมายืนยันความเชื่อของตนเอง โดยเลือกเอาเหตุบังเอิญหรือเหตุการณ์อันเป็นข้อยกเว้นบางอย่างมาสนับสนุนความเชื่อ และยังคงเลือกแนวทางที่ไร้ประสิทธิผลอย่างสิ้นเชิงนั้นปฏิบัติต่อไป
การกระทำลักษณะกล่าวของมนุษย์จำพวกนี้เราเรียกว่า “เป็นการกระทำที่ไร้เหตุผล” การกระทำที่ไร้เหตุผลมักเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในสังคมที่ผู้คนขาดสติปัญญา หรือสังคมที่ปัญญาถูกกดทับด้วยอำนาจรัฐและอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติ
การกระทำที่ไร้เหตุผลในบางสังคมเกิดขึ้นในแทบทุกระดับชั้นและการศึกษา ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีการศึกษาต่ำเท่านั้นที่กระทำสิ่งที่ไร้เหตุผล หากแต่คนที่มีการศึกษาสูงจำนวนมากก็กระทำสิ่งที่ไร้เหตุผลด้วยเฉกเช่นเดียวกัน หากการกระทำที่ไร้เหตุผลเกิดขึ้นในปัจเจกบุคคลที่ไม่มีอิทธิพลใดๆในสังคม ผลกระทบที่ตามมาก็ไม่มากนัก แต่หากว่าการกระทำที่ไร้เหตุผลเกิดขึ้นจากปัจเจกบุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางสังคม หรือเกิดจากหน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทเอกชนที่มีขนาดใหญ่ก็จะทำให้การกระทำที่ไร้เหตุผลนั้นๆ เป็นที่ยอมรับและแพร่ระบาดออกไปอย่างกว้างขวาง สิ่งที่ตามมาคือพัฒนาการทางปัญญาของสังคมนั้นจะตกต่ำลง
เราพบการกระทำที่ถือได้ว่า “ไร้เหตุผล” จำนวนมากในระบบสังคมไทย ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ เรามีความปรารถนาที่จะให้คุณภาพการศึกษาสูงขึ้น แต่แนวทางต่างๆที่เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือประกันคุณภาพการศึกษา หรือ การสร้างเครื่องมือที่เรียกว่ามาตรฐานการศึกษา ซึ่งผู้มีอำนาจทางการศึกษาเชื่อว่าจะทำให้คุณภาพการศึกษาสูงขึ้น กลับส่งผลในทางตรงกันข้าม นั่นคือทำให้การศึกษากลับแย่ลง และยังส่งผลกระทบทางลบต่อเนื่องไปสู่มิติอื่นๆของสังคมในวงกว้าง แต่ผู้มีอำนาจทางการศึกษากลับยังดันทุรังให้ใช้ต่อไปโดยไม่ฟังเสียงท้วงติงของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแต่อย่างใด
นอกจากตัวอย่างดังกล่าวแล้ว เรายังพบการกระทำที่ไร้เหตุผลเกิดขึ้นไม่น้อยในหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งมีโครงการจำนวนมากที่ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังคงนำโครงการเหล่านั้นไปทำกันอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการอบรมอาชีพของหน่วยต่างๆ โครงการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาล เป็นต้น
การกระทำที่ไร้เหตุผลเหล่านี้ในบางกรณีแอบแผงอยู่ภายใต้สิ่งที่ “ดูเสมือนเป็นเหตุผล” โดยมีการว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาหรือสถาบันการศึกษาทำการวิเคราะห์วิจัยเพื่อสร้างความมีเหตุผลขึ้นมา แต่กลับมีการกำหนดผลลัพธ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าการวิจัยจะต้องมีข้อค้นพบที่สนับสนุนให้โครงการสามารถดำเนินการได้เท่านั้น กระบวนการสร้างความมีเหตุผลจึงเป็นการสร้าง ”ความชอบธรรมแบบเทียมๆ” ขึ้นมา และมักจะถูกวิจารณ์และท้าทายจากกลุ่มต่างๆในสังคมเสมอ
นอกจากนั้นปมปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมคือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “เหตุผลเชิงเป้าหมาย” ซึ่งเป็นสิ่งที่แต่ละกลุ่มในสังคมกำหนดขึ้นมาแตกต่างกัน กล่าวอย่างชาวบ้านคือ เหตุผลเชิงเป้าหมายเป็น “ความปรารถนา” ของมนุษย์ที่จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออยากให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นไปตามความต้องการของตนเอง เหตุผลเชิงเป้าหมายจึงเป็นเรื่องของค่านิยมของแต่ละกลุ่มที่ชอบสภาวะแบบหนึ่ง มากกว่าสภาวะอีกแบบหนึ่ง เช่น ชอบความมั่นคงของชาติ มากกว่าเสรีภาพ หรือ ชอบเสรีภาพมากกว่าความมั่นคงของชาติเป็นต้น
เมื่อแต่ละกลุ่มมี “เหตุผลเชิงเป้าหมาย” แตกต่างกัน และเลือกใช้ “เหตุผลเชิงเครื่องมือ” ที่กลุ่มตนคิดว่าจะนำไปสู่เป้าหมายต่างกัน ซึ่งเรามิอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มที่ใช้เหตุผลเชิงเครื่องมือต่างกันในกรณีนี้เป็นกลุ่มที่ไร้เหตุผล เพราะว่าพวกเขามีเหตุผลทั้งคู่ แต่เป็น “ระบบเหตุผล” คนละชุดกัน
การมีเหตุผลคนละชุดกันมักนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมได้ง่าย เพราะว่าการบรรลุความปรารถนาของกลุ่มหนึ่ง อาจไปทำลายความปรารถนาของอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ สังคมไทยมีเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้มาก ในที่นี้ขอหยิบยกเหตุการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดของบริษัทเอกชนบางแห่งเป็นตัวอย่าง
บริษัทเอกชนบางแห่งที่ผลิตอาหารสัตว์มีความปรารถนาได้กำไรสูงสุดอย่างต่อเนื่อง พวกเขาก็พยายามลดต้นทุนลง โดยเฉพาะต้นทุนด้านวัตถุดิบซึ่งได้แก่ข้าวโพด ดังนั้นแทนที่เขาจะซื้อที่ดินและปลูกข้าวโพดเองซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ต้นทุนสูง เขาค้นพบวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากว่าในการได้มาซึ่งวัตถุดิบราคาถูก นั่นคือการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดและรับซื้อในราคาถูก พวกเขาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและนำไปให้ชาวบ้านปลูกโดยบอกชาวบ้านว่าปลูกเท่าไรรับซื้อหมด
ชาวบ้านมีความปรารถนาที่จะมีเงินไว้ใช้จ่ายในการดำรงชีพของตนเอง ก็รับเมล็ดข้าวโพดมาปลูก แต่ไม่มีเงินไปซื้อที่ดิน หรือมีก็ไม่ซื้อเพราะจะทำให้ต้นทุนสูง ชาวบ้านจึงหาวิธีการที่เขาคิดว่ามีเหตุผลสำหรับพวกเขาคือ การหาที่ดินโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ปรากฏว่าวิธีที่พวกเขาค้นพบคือ “การบุกรุกป่าสงวน” ดังนั้นพวกเขาจึงถางป่าและลงมือปลูกข้าวโพดกันอย่างขนานใหญ่ ครั้นเมื่อเก็บเกี่ยวการผลิตแล้วและจะต้องจัดการที่ดินสำหรับปลูกข้าวโพดในฤดูถัดไป วิธีการที่ชาวบ้านค้นพบว่ามีเหตุผลสำหรับพวกเขาคือ “การเผาซังข้าวโพด”
ระบบเหตุผลของบริษัทเอกชนและชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพด อาจขัดแย้งกับระบบเหตุผลของหน่วยงานรัฐหลายแห่งและประชาชนกลุ่มอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารสัตว์และปลูกข้าวโพดด้วย สมมติว่า ระบบเหตุผลของประชาชนคือ ประชาชนต้องการอากาศที่บริสุทธิ์ในการหายใจ เหตุผลเชิงเครื่องมือคือ จะต้องมีการสร้างป่าไม้ในปริมาณที่พอเพียง และไม่มีฝุ่นละอองที่เกิดจากเผาไหม้ป่าหรือซังข้าวโพด ในกรณีนี้ระบบเหตุผลของประชาชนทั้งเหตุผลในเชิงเป้าหมาย และเหตุผลเชิงเครื่องมือ จึงขัดแย้งกับระบบเหตุผลของบริษัทเอกชนและชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพด
การทำให้สังคมมี “เหตุผลเชิงเป้าหมายร่วมกัน” และ บูรณาการระบบเหตุผลเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับในสิ่งที่ตนเองต้องการ เป็นเรื่องที่ยากและเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับ ผู้บริหารรัฐสมัยใหม่ครับ
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
รัฐสมัยใหม่เชิดชูและให้คุณค่ากับสิ่งที่เรียกว่า “ความมีเหตุผล” มาก และยึดความมีเหตุผลเป็นหลักในการดำเนินการต่างๆของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย การกำหนโยบาย และโครงการก็ตาม กล่าวได้ว่าความมีเหตุผลได้กลายเป็นแหล่งที่สร้างความชอบธรรมแก่การดำรงอยู่ของรัฐ หากรัฐใดที่ถูกมองว่ามีการกระทำที่ “ไร้เหตุผล” รัฐนั้นก็จะประสบปัญหาความชอบธรรมตามมา
คนส่วนใหญ่เข้าใจความมีเหตุผลในฐานะที่เป็น “เหตุผลเชิงเครื่องมือ” มากกว่า “เหตุผลเชิงเป้าหมาย” เหตุผลเชิงเครื่องมือหมายถึง ความสอดคล้องระหว่างเป้าประสงค์หรือความปรารถนา กับแนวทางหรือยุทธศาสตร์หรือวิธีการที่บุคคล องค์การ หรือรัฐตัดสินใจเลือกใช้ ด้วยมีความเชื่อว่าแนวทางเหล่านั้นจะมีศักยภาพและความสามารถในการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด และสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมน้อยที่สุด
คำถามสำคัญที่มักเกิดขึ้นเสมอคือ อะไรคือความสอดคล้องระหว่างเป้าประสงค์กับแนวทางที่เลือกใช้ หรือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าแนวทางนี้หรือวิธีการนี้จะนำไปสู่เป้าประสงค์ได้จริง หรือ แนวทางใดแนวทางหนึ่งจะมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และสร้างผลกระทบทางลบน้อยกว่าแนวทางอื่นๆ
โดยทั่วไปการเลือกแนวทางใดแนวหนึ่งมาใช้ มนุษย์มักจะนำประสบการณ์ในอดีตของตนเองหรือผู้อื่นมาเป็นฐานในการเลือก เช่น การเลือกใช้นโยบายกองทุนหมู่บ้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล บางกรณีก็ใช้การวิจัยมาเป็นฐานในการเลือก เช่น การเลือกออกกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างการขับรถยนต์ เพราะมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงการเกิดอุบัติเหตุจำนวนมากมีสาเหตุจากการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างการขับรถ
ปัญหาคือมนุษย์มีแนวโน้มยึดติดกับการเลือกใช้แนวทางตามความเคยชิน โดยมีความเชื่อว่าแนวทางที่ตนเคยใช้เป็นเครื่องมือและประสบความสำเร็จในอดีต ยังสามารถใช้ได้ดีเหมือนเดิมในปัจจุบัน ความเชื่อดังกล่าวจึงทำให้มนุษย์ละเลยการพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม และทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะล้มเหลวมากขึ้น
เช่นเดียวกันกับการเลือกแนวทางที่อยู่บนฐานของงานวิจัย งานวิจัยบางอย่างเกิดในสภาพการทดลองที่มีการควบควบปัจจัยที่เข้ามารบกวนอย่างเข้มงวด จึงทำให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ปรารถนา แต่หากมีการนำมาใช้ในสถานการณ์จริงซึ่งไม่อาจควบคุมปัจจัยต่างๆได้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่เป็นไปตามความปรารถนาก็ได้
หรืองานวิจัยบางอย่างเกิดขึ้นในบริบทสังคมหนึ่ง เมื่อนำมาใช้ในอีกสังคมหนึ่งซึ่งมีบริบทแตกต่างออกไป ก็อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันได้ ตัวอย่างเช่น การประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งมีการวิจัยในบางประเทศว่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับคุณภาพการศึกษา แต่เมื่อนำใช้ในประเทศอื่นๆที่มีบริบทสังคมต่างกัน การประกันคุณภาพการศึกษาอาจทำให้คุณภาพการศึกษาแย่ลงก็ได้
แต่ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ในหลายกรณี มนุษย์จำนวนมากกลับเลือกใช้วิธีการต่างๆอย่างงมงาย ไม่ทราบแม้กระทั่งว่าแนวทางที่ตนเองเลือกใช้จะนำไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์หรือไม่ หรือมีมายาคติที่งมงายว่าแนวทางบางอย่างนำไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์ ทั้งที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์มากมายอยู่ตรงหน้าที่บ่งชี้ว่า แนวทางนั้นล้มเหลว มนุษย์จำพวกนี้กลับปิดการรับรู้ของตนเอง ปฏิเสธข้อมูลข่าวสารที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตนเอง ทั้งยังพยายามแสวงหา เลือกสรรและตีความข้อมูลข่าวสาร เพื่อมายืนยันความเชื่อของตนเอง โดยเลือกเอาเหตุบังเอิญหรือเหตุการณ์อันเป็นข้อยกเว้นบางอย่างมาสนับสนุนความเชื่อ และยังคงเลือกแนวทางที่ไร้ประสิทธิผลอย่างสิ้นเชิงนั้นปฏิบัติต่อไป
การกระทำลักษณะกล่าวของมนุษย์จำพวกนี้เราเรียกว่า “เป็นการกระทำที่ไร้เหตุผล” การกระทำที่ไร้เหตุผลมักเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในสังคมที่ผู้คนขาดสติปัญญา หรือสังคมที่ปัญญาถูกกดทับด้วยอำนาจรัฐและอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติ
การกระทำที่ไร้เหตุผลในบางสังคมเกิดขึ้นในแทบทุกระดับชั้นและการศึกษา ไม่ใช่เฉพาะคนที่มีการศึกษาต่ำเท่านั้นที่กระทำสิ่งที่ไร้เหตุผล หากแต่คนที่มีการศึกษาสูงจำนวนมากก็กระทำสิ่งที่ไร้เหตุผลด้วยเฉกเช่นเดียวกัน หากการกระทำที่ไร้เหตุผลเกิดขึ้นในปัจเจกบุคคลที่ไม่มีอิทธิพลใดๆในสังคม ผลกระทบที่ตามมาก็ไม่มากนัก แต่หากว่าการกระทำที่ไร้เหตุผลเกิดขึ้นจากปัจเจกบุคคลผู้ทรงอิทธิพลทางสังคม หรือเกิดจากหน่วยงานของรัฐ หรือบริษัทเอกชนที่มีขนาดใหญ่ก็จะทำให้การกระทำที่ไร้เหตุผลนั้นๆ เป็นที่ยอมรับและแพร่ระบาดออกไปอย่างกว้างขวาง สิ่งที่ตามมาคือพัฒนาการทางปัญญาของสังคมนั้นจะตกต่ำลง
เราพบการกระทำที่ถือได้ว่า “ไร้เหตุผล” จำนวนมากในระบบสังคมไทย ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ เรามีความปรารถนาที่จะให้คุณภาพการศึกษาสูงขึ้น แต่แนวทางต่างๆที่เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือประกันคุณภาพการศึกษา หรือ การสร้างเครื่องมือที่เรียกว่ามาตรฐานการศึกษา ซึ่งผู้มีอำนาจทางการศึกษาเชื่อว่าจะทำให้คุณภาพการศึกษาสูงขึ้น กลับส่งผลในทางตรงกันข้าม นั่นคือทำให้การศึกษากลับแย่ลง และยังส่งผลกระทบทางลบต่อเนื่องไปสู่มิติอื่นๆของสังคมในวงกว้าง แต่ผู้มีอำนาจทางการศึกษากลับยังดันทุรังให้ใช้ต่อไปโดยไม่ฟังเสียงท้วงติงของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแต่อย่างใด
นอกจากตัวอย่างดังกล่าวแล้ว เรายังพบการกระทำที่ไร้เหตุผลเกิดขึ้นไม่น้อยในหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่งมีโครงการจำนวนมากที่ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังคงนำโครงการเหล่านั้นไปทำกันอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการอบรมอาชีพของหน่วยต่างๆ โครงการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาล เป็นต้น
การกระทำที่ไร้เหตุผลเหล่านี้ในบางกรณีแอบแผงอยู่ภายใต้สิ่งที่ “ดูเสมือนเป็นเหตุผล” โดยมีการว่าจ้างให้บริษัทที่ปรึกษาหรือสถาบันการศึกษาทำการวิเคราะห์วิจัยเพื่อสร้างความมีเหตุผลขึ้นมา แต่กลับมีการกำหนดผลลัพธ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าการวิจัยจะต้องมีข้อค้นพบที่สนับสนุนให้โครงการสามารถดำเนินการได้เท่านั้น กระบวนการสร้างความมีเหตุผลจึงเป็นการสร้าง ”ความชอบธรรมแบบเทียมๆ” ขึ้นมา และมักจะถูกวิจารณ์และท้าทายจากกลุ่มต่างๆในสังคมเสมอ
นอกจากนั้นปมปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมคือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “เหตุผลเชิงเป้าหมาย” ซึ่งเป็นสิ่งที่แต่ละกลุ่มในสังคมกำหนดขึ้นมาแตกต่างกัน กล่าวอย่างชาวบ้านคือ เหตุผลเชิงเป้าหมายเป็น “ความปรารถนา” ของมนุษย์ที่จะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออยากให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นไปตามความต้องการของตนเอง เหตุผลเชิงเป้าหมายจึงเป็นเรื่องของค่านิยมของแต่ละกลุ่มที่ชอบสภาวะแบบหนึ่ง มากกว่าสภาวะอีกแบบหนึ่ง เช่น ชอบความมั่นคงของชาติ มากกว่าเสรีภาพ หรือ ชอบเสรีภาพมากกว่าความมั่นคงของชาติเป็นต้น
เมื่อแต่ละกลุ่มมี “เหตุผลเชิงเป้าหมาย” แตกต่างกัน และเลือกใช้ “เหตุผลเชิงเครื่องมือ” ที่กลุ่มตนคิดว่าจะนำไปสู่เป้าหมายต่างกัน ซึ่งเรามิอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มที่ใช้เหตุผลเชิงเครื่องมือต่างกันในกรณีนี้เป็นกลุ่มที่ไร้เหตุผล เพราะว่าพวกเขามีเหตุผลทั้งคู่ แต่เป็น “ระบบเหตุผล” คนละชุดกัน
การมีเหตุผลคนละชุดกันมักนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมได้ง่าย เพราะว่าการบรรลุความปรารถนาของกลุ่มหนึ่ง อาจไปทำลายความปรารถนาของอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้ สังคมไทยมีเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้มาก ในที่นี้ขอหยิบยกเหตุการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดของบริษัทเอกชนบางแห่งเป็นตัวอย่าง
บริษัทเอกชนบางแห่งที่ผลิตอาหารสัตว์มีความปรารถนาได้กำไรสูงสุดอย่างต่อเนื่อง พวกเขาก็พยายามลดต้นทุนลง โดยเฉพาะต้นทุนด้านวัตถุดิบซึ่งได้แก่ข้าวโพด ดังนั้นแทนที่เขาจะซื้อที่ดินและปลูกข้าวโพดเองซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้ต้นทุนสูง เขาค้นพบวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากว่าในการได้มาซึ่งวัตถุดิบราคาถูก นั่นคือการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดและรับซื้อในราคาถูก พวกเขาผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและนำไปให้ชาวบ้านปลูกโดยบอกชาวบ้านว่าปลูกเท่าไรรับซื้อหมด
ชาวบ้านมีความปรารถนาที่จะมีเงินไว้ใช้จ่ายในการดำรงชีพของตนเอง ก็รับเมล็ดข้าวโพดมาปลูก แต่ไม่มีเงินไปซื้อที่ดิน หรือมีก็ไม่ซื้อเพราะจะทำให้ต้นทุนสูง ชาวบ้านจึงหาวิธีการที่เขาคิดว่ามีเหตุผลสำหรับพวกเขาคือ การหาที่ดินโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ปรากฏว่าวิธีที่พวกเขาค้นพบคือ “การบุกรุกป่าสงวน” ดังนั้นพวกเขาจึงถางป่าและลงมือปลูกข้าวโพดกันอย่างขนานใหญ่ ครั้นเมื่อเก็บเกี่ยวการผลิตแล้วและจะต้องจัดการที่ดินสำหรับปลูกข้าวโพดในฤดูถัดไป วิธีการที่ชาวบ้านค้นพบว่ามีเหตุผลสำหรับพวกเขาคือ “การเผาซังข้าวโพด”
ระบบเหตุผลของบริษัทเอกชนและชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพด อาจขัดแย้งกับระบบเหตุผลของหน่วยงานรัฐหลายแห่งและประชาชนกลุ่มอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารสัตว์และปลูกข้าวโพดด้วย สมมติว่า ระบบเหตุผลของประชาชนคือ ประชาชนต้องการอากาศที่บริสุทธิ์ในการหายใจ เหตุผลเชิงเครื่องมือคือ จะต้องมีการสร้างป่าไม้ในปริมาณที่พอเพียง และไม่มีฝุ่นละอองที่เกิดจากเผาไหม้ป่าหรือซังข้าวโพด ในกรณีนี้ระบบเหตุผลของประชาชนทั้งเหตุผลในเชิงเป้าหมาย และเหตุผลเชิงเครื่องมือ จึงขัดแย้งกับระบบเหตุผลของบริษัทเอกชนและชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพด
การทำให้สังคมมี “เหตุผลเชิงเป้าหมายร่วมกัน” และ บูรณาการระบบเหตุผลเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับในสิ่งที่ตนเองต้องการ เป็นเรื่องที่ยากและเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับ ผู้บริหารรัฐสมัยใหม่ครับ