xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง“มาร์ค-เทือก”สลายแดง วัดใจอัยการฎีกาหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 53 เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงภายใต้การนำของเครือข่ายบริวารของนายทักษิณ ชินวัตร ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 นั้น นำมาซึ่งการสูญเสียชีวิตของประชาชน เจ้าหน้าที่ และสื่อมวลชนต่างชาติ รวมจำนวนเกือบ 100 คน บาดเจ็บอีกหลายพันคน และเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ความรุนแรงอันนำไปสู่ความสูญเสียนั้น เริ่มต้นขึ้นจากฝ่ายผู้ชุมนุมเอง

การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 นั้น เป็นการปรับยุทธวิธีจากการชุมนุมช่วง “สงกรานต์เลือด” ในปี 2552 ซึ่งฝ่ายบริวารของนายทักษิณชูประเด็นเรื่อง “อำมาตย์-ไพร่” และพ่ายแพ้อย่างราบคาบ หลังจากชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ก่อเหตุเผารถเมล์กลางกรุง ส่งอันธพาลไปล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-เอเชียตะวันออก ที่พัทยา ยึดรถแก๊สไปขู่ระเบิดแฟลตดินแดง รุมทุบรถนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่กำลังไปประชุมเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่กระทรวงมหาดไทย แต่สุดท้ายม็อบเสื้อแดงก็ถูกสลายลงอย่างราบคาบ โดย นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำระดับหัวโจก ถึงกับแสดงความผิดหวัง เมื่อคนเสื้อแดงที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีเพียงแค่บาดเจ็บไม่ถึงกับเสียชีวิต

การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2552 จึงเป็นความพ่ายแพ้ทางการเมืองของนายทักษิณโดยสิ้นเชิง เพราะนอกจากจะโค่นล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ไม่ได้แล้ว ยังทำให้ตัวเองประสบความเสียหายด้านภาพลักษณ์อย่างยับเยิน

การชุมนุมในปี 2553 จึงเป็นการแก้ตัวใหม่ โดยหยิบยกเอาคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สั่งยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาทของนายทักษิณที่ได้มาจากการทุจริตระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไปบิดเบือนว่าเป็นการกลั่นแกล้งจากฝ่ายอำมาตย์ และปลุกระดมให้คนเสื้อแดงออกมาชุมนุม ยื่นคำขาดให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาเพื่อจัดเลือกตั้งใหม่ทันที ซึ่งฝ่ายทักษิณมั่นใจอยู่ลึกๆ ว่า ฝ่ายตนเองต้องชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน แต่หากนายอภิสิทธิ์ไม่ยอมทำตาม ก็จะเข้าแผนที่สอง นั่นคือสร้างความรุนแรงระหว่างการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และนายอภิสิทธิ์ก็จะกลายเป็น “นายกฯ ฆาตกร” หรือ “นายกฯ มือเปื้อนเลือด”อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

หากย้อนไปดูการชุมนุมที่เริ่มต้นขึ้นช่วงกลางเดือนมีนาคม 2553 โดยเข้ายึดตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางต่อเนื่องถนนราชดำเนินนอกไปจนเกือบถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ก็จะเห็นว่าฝ่ายแกนนำคนเสื้อแดงได้พยายามยั่วยุให้เกิดความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ต้น ด้วยหลากหลายวิธีการ ทั้งการเทเลือดใส่ประตูทำเนียบรัฐบาล เทเลือดใส่หน้าบ้านนายอภิสิทธิ์ ออกไปยั่วยุทหารที่มาตั้งหน่วยดูแลความปลอดภัยรอบๆ บริเวณชุมนุม จนนายอภิสิทธิ์ต้องแก้เกมด้วยการเชิญแกนนำไปเจรจาปรองดองกันออกทีวี ซึ่งก็ไม่สามารถตกลงกันได้

หลังจากนั้น แกนนำคนเสื้อแดงได้ยกระดับการกดดันรัฐบาลนายอภสิทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการแยกผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ไปปักหลักที่สี่แยกราชประสงค์ ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ส่งคนบุกเข้าไปในรัฐสภา และในที่สุดวันที่ 7 เมษายน 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แต่คนเสื้อแดงก็ตอบโต้ด้วยการส่งคนไปยึดสถานีดาวเทียมไทคมที่นนทบุรีและปทุมธานี ไล่ยึดอาวุธทหาร ตามด้วยการส่งคนเข้าไปยั่วยุทหารในกองทัพภาคที่ 1 บีบให้ทหารต้องออกปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณแยกคอกวัว ในช่วงเย็นวันที่้ 10 เมษายน 2553 และสถานการณ์ก็เข้าทางฝ่ายทักษิณ เมื่อมีกลุ่มชายชุดดำออกมาใช้อาวุธสงครามต่อสู้กับทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 คน เป็นประชาชน 16 คน ทหาร 5 คน รวมทั้ง พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ จากนั้น ก็มีการปะทะกันระหว่างฝ่ายผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ทหารอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งยุติลงในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 หลังจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้ายึดคืนพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งฝ่ายคนเสื้อแดงก็ได้เผาห้างสรรพสินค้าและโรงหนังใกล้สถานที่ชุมนุม เป็นการส่งท้าย พร้อมๆ กับการเผาศาลากลางหลายแห่งของผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงในต่างจังหวัด

แม้จะถูกสลายลงอย่างราบคาบเช่นเดียวกับการชุมนุมปี 2552 แต่การชุมนุมครั้งนี้ ฝ่ายทักษิณได้วัตถุดิบไว้เล่นเกมการเมืองต่ออีกเพียบ โดยเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างการชุมนุม ซึ่งก็มีทั้งเจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไปที่โดนลูกหลง แต่ฝ่ายเสื้อแดงก็นับรวม ๆ เข้าไปจนถึง 99 คน และพยายามจะบอกว่านี่คือยอดของผู้ชุมนุมที่ถูกนายอภิสิทธิ์ทำให้ตาย

เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาทำหน้าที่นายกฯ นอมีนี ให้นายทักษิณผู้เป็นพี่ชาย ตั้งแต่กลางปี 2554 การหยิบเอากรณีคนตายระหว่างการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 มาเล่นงานนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงเริ่มเดินหน้าทันที โดยมีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธีบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะนั้น ผู้ซึ่งเปลี่ยนสีได้เร็วกว่าจิ้งจกหลายเท่า เป็นผู้เดินเกมและชงเรื่องให้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การร้องศาลให้ไต่สวนการตายของคนเสื้อแดงระหว่างการชุมนุม ในขณะที่การตายของฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณแยกคอกวัวกลับไม่ได้ยื่นร้องศาลให้ไต่สวนแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน

ผลการไต่สวนในบางกรณี ศาลได้ชี้ว่าเป็นการตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้ผลการไต่สวนออกมาเช่นนี้ นั่นเพราะตำรวจผู้เบิกความต่อศาลก็ได้ฉายาตำรวจมะเขือเทศอยู่แล้ว เมื่อได้คำวินิจฉัยของศาลว่า มีคนเสื้อแดงตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉิน นายธาริตจึงดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ด้วยข้อหาที่ฟังแล้วเข้าใจยากว่า “ร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84, 90”

คดีนี้อัยการสูงสุดได้ส่งฟ้องนายอภสิทธิ์ต่อศาลอาญาเมื่อปลายปี 2556 และส่งฟ้องนายสุเทพเมื่อต้นปี 2557 ก่อนที่จะรวมทั้งสองสำนวนเป็นคดีเดียวกัน หลังจากนั้น ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558 ยกฟ้องคดีดังกล่าว โดยเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของจำเลยนั้นก็เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วย เป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 66 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (1) และประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ที่ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ จึงพิพากษายกฟ้อง ญาติผู้ตายที่เป็นเสียหายไม่อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมได้

ต่อมาโจทก์ซื้อก็คืออัยการและญาติผู้เสียชีวิตได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 พิพากษายืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้น

อย่างไรก็ตาม นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของญาติผู้เสียชีวิต กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่าจะหารือกับพนักงานอัยการในยื่นฎีกาต่อไป เนื่องจากคดีนี้ตนเห็นว่าเป็นการกระทำที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ราชการ เป็นความผิดทางอาญาซึ่งก่อนหน้านี้อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ได้ปรากฏอยู่ในสำนวนดังกล่าวด้วย

ขณะที่นายอดุลย์ เฉตวงษ์ อัยการพิเศษสำนักงานคดีพิเศษ 1 กล่าวว่า จะต้องรอคัดคำพิพากษาฉบับเต็มก่อน เพื่อให้คณะทำงานอัยการร่วมกันพิจารณาก่อนจะมีความเห็นในทางคดี ซึ่งกรณีศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งสองศาลมีความเห็นให้ยกฟ้อง การที่จะยื่นฎีกาได้นั้นจะต้องส่งให้อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาต่อไป

คดีนี้จึงเป็นอีกคดีหนึ่ง ที่จะชี้วัดมาตรฐานการสั่งคดีของอัยการว่าจะเที่ยงตรงหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้ว หากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกัน จะไม่มีการยื่นฎีกา แต่ในกรณีนี้ กลับมีการเตรียมการที่จะยื่นฎีกา ตรงกันข้ามกับคดีแกนนำพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง ที่ศาลอุทธรณ์เห็นไม่ตรงกับศาลชั้นต้น และยกฟ้องจำเลยที่เป็นแกนนำพรรคไทยรักไทย อัยการกลับไม่ยื่นฎีกา



กำลังโหลดความคิดเห็น