xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สลายม็อบแดงปี 53 ชี้อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง คดี “อภิสิทธิ์-สุเทพ” สั่งสลายการชุมนุม นปช.ปี 53 ชี้จำเลยลงนามคำสั่งด้วยตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ใช่ในนามส่วนตัว อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช.ที่ต้องไต่สวน ด้านทนายเสื้อแดงเตรียมหารืออัยการยื่นฎีกาต่อ

วันนี้ (17 ก.พ.) ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 09.30 น. ศาลนัดฟังคำสั่งการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายของศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.4552/2556 และ อ.1375/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อายุ 52 ปี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อายุ 66 ปี อดีตเลขาธิการ กปปส. อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ อดีตผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84 สืบเนื่องจากการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่ม นปช.ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย. - 19 พ.ค. 2553 กระทั่งนายพัน คำกอง ชาวจังหวัดยโสธร อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา อายุ 14 ปี เสียชีวิตบริเวณใกล้สถานีรถไฟแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค. 2553 และนายสมร ไหมทอง คนขับรถตู้ ถูกกระสุนยิงมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ที่รักษาการณ์ในพื้นที่ย่านราชปรารภที่มีการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส

โดยวันนี้นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสุเทพ เดินทางมาศาลตามนัด พร้อมนายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความ นายถาวร เสนเนียม กลุ่มอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์และคณะมาร่วมฟังคำสั่ง และให้กำลังใจทั้งสองด้วย นอกจากนี้ก็มีญาติผู้เสียชีวิตประมาณ 10 คนมาร่วมฟังคำสั่งด้วย

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าแม้อัยการโจทก์จะกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่ง ศอฉ.ให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนในการผลักดันผู้ชุมนุม หรือกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค. 2553 โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวนั้นก็เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วยซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 66 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (1) และประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ที่ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลนี้ ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษากันแล้วเห็นว่า คดีนี้สืบเนื่องจากปลายปี 2551 นายอภิสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นมีประชาชนบางส่วนที่เรียกว่ากลุ่ม นปช. ชุมนุมทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภาหรือให้ลาออก และได้ออกประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุกระทบกระเทือนความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.รักษาความมั่นคง พ.ศ. 2551 และได้มีคำสั่งจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการรักษาความเรียบร้อยในราชอาญาจักร (ศอฉ.) มีมอบหมายให้นายสุเทพเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ศอฉ. เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ต่อมาการชุมนุมของกลุ่ม นปช.มีความต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น รัฐบาลจึงได้ปรากาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม.และปริมณฑล โดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2553 จำเลยทั้งสองได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ของ ศอฉ.สามารถใช้อาวุธปืนและกระสุนปืนจริงในการปฏิบัติหน้าที่ได้ ต่อจากนั้นได้มีคำสั่งมาตรการปิดล้อมสกัดกั้นขอคืนพื้นที่บริเวณสวนลุมพินีและพื้นที่ต่อเนื่อง เห็นว่าการดำเนินการของจำเลยทั้งสองระหว่างวันที่ 7 เม.ย. - 19 พ.ค. 2553 นั้นทั้งสองดำเนินการในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เป็นเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 การออกคำสั่งต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันชีวิตทรัพย์สินของประชาชนทั้งเพื่อป้องกันตนเองของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมาย ผลจากการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่เป็นเหตุให้ต่อมาปรากฏว่าประชาชนผู้ร่วมชุมนุมถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บอันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้กรณีจึงฟังไมได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะส่วนตัว แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การสอบสวนเพื่อเอาโทษแก่จำเลยทั้งสองจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 19 ประกอบมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 มาตรา 250 (2) ประกอบมาตรา 275 การที่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอาศัยสำนวนการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งไม่มีอำนาจในการสอบสวนดังกล่าวการฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลอาญาจึงมิใช่ศาลที่มีเขตอำนาจในการชำระคดีทั้งสองสำนวน อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องชอบด้วย ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย

นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของญาติผู้เสียชีวิต กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาว่าจะไปศึกษาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องก่อนจะปรึกษาหารือกันในข้อกฎหมาย และนำประเด็นนี้เข้าหารือกับพนักงานอัยการในยื่นฎีกาต่อไป เนื่องจากคดีนี้ตนเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ เป็นความผิดทางอาญาซึ่งก่อนหน้านี้อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ทำความเห็นแย้งไว้ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ได้ปรากฏอยู่ในสำนวนดังกล่าวด้วย

ด้านนายภานุพงษ์ โชติสิน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวว่า เพิ่งได้รับทราบข่าวคำสั่งของศาลอุทธรณ์ต้องดูในรายละเอียดก่อนว่าจะยื่นฎีกาหรือไม่

นายอดุลย์ เฉตวงษ์ อัยการพิเศษสำนักงานคดีพิเศษ 1 กล่าวว่า เบื้องต้นจะต้องรอคัดคำพิพากษาฉบับเต็มก่อน เพื่อให้คณะทำงานอัยการร่วมกันพิจารณาก่อนจะมีความเห็นในทางคดีซึ่งกรณีศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งสองศาลมีความเห็นให้ยกฟ้อง การที่จะยื่นฎีกาได้นั้นจะต้องส่งให้อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาต่อไป

นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คดีนี้เป็นไปตามแนวทางที่ได้ต่อสู้คดีมาโดยตลอดว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจสอบสวนของดีเอสไอ แต่อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าคดีนี้ไม่ถึงที่สิ้นสุด ต้องรอว่าอัยการและโจทก์ร่วมจะยื่นฎีกาหรือไม่ คิดว่าคดีความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในช่วงสลายการชุมนุมไม่มีอีกแล้ว หรืออาจจะมีคดีอยู่บ้างเพียงเล็กน้อย

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญว่า ได้ทำความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงรับร่างธรรมนูญดังกล่าวต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.แล้ว ความเห็นที่ส่งไปมีประเด็นสำคัญ 3 ส่วนว่าจะทำอย่างไรให้การปราบการทุจริตคอร์รัปชันเห็นผลเป็นจริง ไม่ลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่ให้เกิดการถอยหลังของระบบประชาธิปไตยซึ่งอาจเป็นปมความขัดแย้งต่อไปในอนาคต โดยวันนี้อยากให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการยอมรับจากประชาชนและสามารถผ่านประชามติได้ ถ้าหากไม่ผ่านประชามติก็เชื่อว่าจะมีปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้นในอนาคต แต่ถ้าผ่านประชามติโดยคนรู้สึกกลัวว่าจะได้สิ่งที่แย่กว่า ก็คิดว่าจะเกิดวิกฤตการเมืองอีกเช่นกัน ฉะนั้นต้องมาร่วมกันทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ดีและผ่านประชามติเพื่อให้ประเทศเดินหน้า

เมื่อถามถึงการที่สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องควรทบทวนให้ดี เนื่องจากอาจทำให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งเกิดความขัดแย้งในอนาคต เพราะองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์นั้นอาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้โดยที่รัฐธรรมนูญยังไม่มีความชัดเจนก็อาจจะไม่สอดคล้องกันด้วย ทั้งนี้ตนยังเห็นว่าควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในยุทธศาสตร์ชาติ แต่ต้องเขียนให้มีความชัดเจน เช่น กำหนดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กไทยทุกคนได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่ากี่ปี หรือกำหนดเป้าหมายว่าจะใช้เวลากี่ปีเพื่อจะให้ได้ตามเป้าหมายนั้น

“ถ้าลึกลงไปถึงขั้นว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรนั้น คิดว่าน่าจะให้เป็นเรื่องของรัฐบาลแต่ละยุคสมัย ถ้าทำไม่ได้รัฐบาลนั้นก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน แต่การมีคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของประชาชน แล้วสามารถที่จะมากำหนดทิศทางของรัฐบาลตลอดระยะเวลา 20 ปีได้นั้น ผมเห็นว่าจะเกิดปัญหาเยอะ”

ขณะที่นายสุเทพกล่าวก่อนเข้าฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ว่า ไม่รู้สึกกังวลอะไร คดีนี้ ป.ป.ช.ได้มีมติว่าการกระทำของตนกับนายอภิสิทธิ์ในการสลายการชุมนุม เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยตอนนี้ตนไม่ได้ยุ่งเกี่ยวการเมืองแล้ว เป็นเอ็นจีโอทำงานอยู่มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย หากเรียกว่าเป็นการเมืองก็เป็นการเมืองภาคประชาชน ที่ผ่านมาได้ติดตามการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดไม่รู้สึกเป็นห่วงอะไรเพราะร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนมานั้นย่อมมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถ้าเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมก็ไม่มีปัญหา คนที่มีปัญหาก็จะมีเฉพาะคนที่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว เชื่อว่าเรื่องนี้ประชาชนจะตัดสินใจเองได้






















กำลังโหลดความคิดเห็น