ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ส่อเจตนาชัดว่า “ทหาร” ยังไม่ได้วางใจให้ “นักการเมือง” ไม่ว่าขั้วไหนกุมอำนาจเบ็ดเสร็จหลังการเลือกตั้ง หลังที่ประชุม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. .... ตามที่กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มี พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ ประธาน กมธ.เป็นผู้เสนอ
โดยมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 1 ชุด 25 คน เป็นคนกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ วาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี โดยวาระแรกเริ่มให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง แล้วให้มีผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคาดการณ์ว่า จะมี “ขุนทหาร-นักวิชาการ” ในซีกท็อปบูต 22 คน มานั่งให้ครบองค์ประกอบ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะต้องมีผลบังคับใช้ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ
ตามหลักการที่เสนอ เจตนาในการผลักดันเรื่องนี้ดู “วิลิศมาหรา” เพื่อเข้ามาสานต่องานปฏิรูป แต่ชำแหละโครงสร้างและอำนาจหน้าที่แต่ละอย่างแล้ว นี่คือการสถาปนาอีก 1 ขุมข่ายอำนาจใหม่ที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองไทยในอนาคตแน่ นอกเหนือจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถูกกำหนดเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อผ่าวิกฤติประเทศหากเจอ “ทางตัน”
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่ธรรมดา กล้ามโตพอจะล้มกระดานการเมืองได้สบาย
เพราะนอกจากทำหน้าที่จัดทำยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ยังสามารถตรวจสอบการไม่ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ หากหน่วยงานเหล่านี้ไม่ปฏิบัติตาม หรือทำให้เสียหายร้ายแรง หรือส่อไปในทางทุจริต ก็สามารถส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ฟันคอให้ขาดสะบั้นได้
คณะกรรมการชุดนี้แม้จะดู “แตกต่าง” กับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่มีอำนาจครอบจักรวาล ถึงขนาดล้มรัฐบาลได้ แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีเขี้ยวเล็บอะไรเลย เพียงแต่หนนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไม่ให้ดูน่ากลัวเกินไป แต่ยัง “ซ่อนอิทธิฤทธิ์” มากมายเอาไว้แบบเนียนๆ คือ เปลี่ยนจาก คปป.ที่ฟันฉับเองได้ มาเป็นหน่วยงาน “สังเกตการณ์” ทำหน้าที่ป่าวประกาศ หรือเอาเรื่องไปบอกหน่วยงานที่มีอำนาจฟันให้พิจารณา ดังนั้น เจตนารมณ์ของทั้งคู่จึงมีจุดหมายเดียวกันคือ “ถ่วงดุลอำนาจ” ไว้ ต่างกันแค่วิธีการเท่านั้น
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ๆ “ยงยุทธ” จะพรวดพราดขึ้นมาชงเพื่อหาเรื่องให้คนด่า แต่อย่างที่รับรู้กันตั้งแต่สมัยรับราชการเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วว่า เป็นจำพวกรับงานหรือพวกทำตามสั่ง หนนี้ก็เช่นกันต้องมีการส่งซิกให้ลุยแน่ ขณะที่มติที่ประชุม สปท.ก็ท่วมท้น ทุกอย่างยิ่งชัดว่ามีสัญญาณมา
นอกจากนี้ ยังมีเสียงกระซิบกระซาบกันว่า เรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติคือ ความต้องการของตัว “บิ๊กตู่” เอง ที่ต้องการสร้างกลไกหนึ่งเพื่อคอยถ่วงดุลพวกนักการเมืองให้เดินหน้าปฏิรูปและบริหารตามที่คสช.ตีกรอบเอาไว้ให้
ดูได้เลยว่ารัฐบาลตั้งใจเอาให้ได้ และพยายามทำครั้งนี้อย่างแยบยลที่สุด ไม่ให้ผิดพลาดเหมือนตอนลักไก่ยัดไส้ คปป. คราวนี้เลือกจะไม่เอากลไกพิเศษไปยัดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ซือแป๋มีชัย ฤชุพันธุ์ เพื่อไม่ให้เป็น “สายล่อฟ้า” จนทำให้ร่างรัฐธรรมนูญแท้งในชั้นประชามติ ซึ่งก็ไม่รู้ว่า จะผ่านหรือไม่ผ่าน แต่หากไม่ผ่าน นั่นหมายความว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่ได้เกิด
แต่การสร้างคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นในลักษณะของการออกเป็น พ.ร.บ.นั้นเป็นวิธีการที่สามารถคอนโทรลได้ แล้วทำกันเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่ให้ สปท.เสนอรายงานการปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน พ่วงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาให้ที่ประชุมเห็นชอบ เพื่อให้มองเห็นว่า ไม่ได้เป็นตัวตั้งตัวตีในเรื่องนี้ แต่เป็นองค์กรปฏิรูปที่เสนอขึ้นมา จากนั้นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เด้งรับลูก โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาปรับแก้ถ้อยคำตามที่ตัวเองประสงค์ เสร็จแล้วก็เสนอเข้าไปสู่กระบวนการนิติบัญญัติเพื่อออกเป็นกฎหมาย
ในชั้นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นี้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก เพราะกว่าค่อนสภาเป็นเหล่าท็อปบูตภายใต้สังกัด คสช.ทั้งสิ้น เพียงแค่มีบัญชามา จะเอาเร็วเอาช้าบอกได้เลย ซึ่งไม่มีปัญหา สามารถพิจารณา 3 วาระรวดยังได้ จากนั้นก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นอันจบกระบวนการ
ภายหลังโปรดเกล้าฯลงมา กฎหมายนี้บังคับใช้ คณะกรรมการชุดนี้ที่มีพละกำลังมหาศาลก็ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องชอบธรรม ไม่ต้องไปนั่งลุ้นให้เมื่อยตุ้มว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าจะบอกว่าเป็นการหักดิบของแป๊ะก็คงไม่ผิดนัก
อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นไอเดียของ “บิ๊กตู่” แต่ก็ไม่ใช่ว่าหลายคนจะเห็นด้วยเท่าไหร่ โดยเฉพาะกรธ. ที่แรกๆ มีการโต้แย้งเรื่องนี้กันอยู่ และกฎหมายตัวนี้แม้จะมีศักดิ์เป็น พ.ร.บ. แต่ก็ไม่ใช่ว่าใครนึกอยากจะแก้ก็แก้กันง่ายๆ เพราะมีการล้อกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “ซือแป๋มีชัย” ที่กำลังกำหนดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติไว้ในหมวดปฏิรูป
“บิ๊กตู่” ให้ความสำคัญกับกฎหมายฉบับนี้เพียงใด ให้ดูที่รายละเอียดในรายงานของ กมธ.บริหารราชการแผ่นดินของ สปท. ถึงขนาดให้มีการบังคับใช้ก่อนจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการซึ่งมี “บิ๊กตู่” เป็นโดยตำแหน่งภายใน 90 วันหลังประกาศใช้ เรียกว่า ทำกันอย่างลุกลี้ลุกลนให้เสร็จเร็วที่สุด
ซึ่งเอาเข้าจริงก็ถูกคนนินทาหมาดูถูกไม่น้อย เพราะมันย้อนแย้งกันสิ้นดี ในเมื่อร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่ยังไม่เสร็จ แต่กฎหมายลูกกลับแซงหน้าแบบนำลิ่ว ทั้งที่ความจริงการจะร่างกฎหมายลูกได้ต้องรอดูเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่เสียก่อน เพื่อเอามาทำรายละเอียดในกฎหมายลูก แต่นี่เล่นลัดสนามกันแบบดื้อเงียบ
นั่นแสดงให้เห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีธงมีพิมพ์เขียวกันมาตั้งแต่ต้นแล้ว จะสังเกตเห็นได้ว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับซือแป๋มีชัยส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อหากว้าง ไม่ได้ลงในรายละเอียดมากมาย จนหลายมาตราตกหล่นอย่างที่คนก่นด่ากันทุกวันนี้ ซึ่งเจตนาจริงๆ ของรัฐบาลก็คือ นำรายละเอียดที่ร้อนๆ สิ่งที่ต้องการ ไปไว้ในกฎหมายลูกทั้งหมด เพราะมันคอนโทรลได้ ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญที่ต้องผ่านด่านหินประชามติ
เป็นการถอดบทเรียนจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ “ดร.ปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในตอนนั้นที่โดนค้านหนัก เพราะใส่รายละเอียดยิบย่อยมากเกินไป แบบชนิดที่จะไม่ให้มีอะไรไว้ในกฎหมายลูกเลย รวมไปถึงเรื่อง “คปป.” จนสุดท้ายเอาตัวไม่รอด ต้องรีบทำแท้งกันเสียก่อน
ดังนั้น แม้ใครจะคิดว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ผู้มากคอนเนกชั่น จะกุมสถานการณ์ได้ต่อให้มีการเลือกตั้งแล้ว แต่สำหรับ “บิ๊กตู่” อย่างไรก็ต้องมีองค์กรขึ้นมาประกบในช่วงเปลี่ยนผ่าน
“อำนาจที่ 5” ก็ต้องมาตามนัด!