หัวหน้าพรรคคนไทยระบุ กรธ.แยกศาลรัฐธรรมนูญเป็นหมวดเฉพาะ หวังให้ความสำคัญมากเกิน อาจเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจ แนะล้างกระดานองค์กรอิสระแล้วสรรหาใหม่หลังเลือกตั้ง ฝากเน้นกระบวนการถ่วงดุล พร้อมให้บรดาอรหันต์เปิดบัญชีทรัพย์สินด้วย
นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ หมวด 11 ที่ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญว่า การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้แยกศาลรัฐธรรมนูญออกไปเป็นหมวดหนึ่งโดยเฉพาะ ทั้งที่ควรบรรจุอยู่ในหมวด 10 ที่ว่าด้วยศาลอื่นๆ ตรงนี้สะท้อนว่า กรธ.ค่อนข้างให้ความสำคัญกับศาลรัฐธรรมนูญ จนลืมนึกถึงความเป็นจริงว่า เสาหลักอำนาจประชาธิปไตยที่คานอำนาจกันมีอยู่ 3 เสาหลัก ได้แก่ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ การเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้เท่ากับต้องการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเสาหลักที่ 4
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการเพิ่มอำนาจให้มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ทำให้มองได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากจนอยู่เหนือเสาหลักอื่นๆ หรือการเพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระต่างๆ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งอาจเข้ามาก้าวก่ายการบริหารงาน การใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนเรื่องการตรากฎหมายต่างๆ ที่เป็นการจ้องจับผิดนักการเมือง โดยที่ไม่สนใจเลยว่าระบบราชการขณะนี้ย่ำแย่แค่ไหน
นายอุเทนกล่าวว่า ในความเป็นจริงถ้าจะมีศาลรัฐธรรมนูญ ก็ควรให้อำนาจตีความเฉพาะเรื่องการขัดกันระหว่างองค์กร และความไม่ชัดเจนบางประการในรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ กรธ.กลับให้อำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่สถานภาพของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตลอดจนไปถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเป็นอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา ใครเสนอหรือลงมติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะถูกข้อหาล้มล้างการปกครองทันที รวมไปถึงกรณีที่ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดทุกปัญหาที่เป็นวิกฤต ตรงนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาอีกว่า ใครเป็นผู้ตัดสินว่าวิกฤตแล้วหรือไม่ แล้วมีอะไรการันตีว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดแล้วจะไม่เกิดวิกฤต หรือปัญหาจะจบ ในอดีตหลายๆ กรณี คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงคณะกรรมการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ป.ป.ช. หรือ สตง.สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้แก่สังคม และสุมเชื้อความขัดแย้งมากว่าการแก้วิกฤตเสียอีก
“ทั้งการวางกฎเกณฑ์เงื่อนไขให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ยากแล้ว ยังมีการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้แบบครอบจักรวาล ใครเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน จนอาจพูดได้ว่า ปิดตายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือวางแผนสืบทอดอำนาจโดยผ่านกลไกของศาลรัฐธรรมนูญ”
นายอุเทนยังเสนอด้วยว่า หาก กรธ.เห็นว่าอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญมีความจำเป็น จนเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขไม่ได้ ก็ควรเพิ่มเนื้อหาในบทเฉพาะกาลให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระชุดปัจจุบันหมดวาระหลังการเลือกตั้งภายใน 90-180 วัน เพื่อเปิดทางให้มีการสรรหาบุคคลที่เหมาะสมใหม่ทั้งหมด เนื่องจากส่วนใหญ่ได้รับการแต่งตั้งในช่วงที่บ้านเมืองไม่ปกติ
อีกทั้งยังมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่ยาวนาน ดังนั้น ตำแหน่งสำคัญเหล่านี้ควรได้รับการกลั่นกรองจากตัวแทนของประชาชน ซึ่งจะถือเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจของทั้ง คสช. และ กรธ.ด้วย ถือเป็นการปฏิรูปองค์กรอิสระไปในตัว เนื่องจากผลการดำเนินงานขององค์กรอิสระต่างๆ ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรจะเป็น เวลาคดีความล่าช้าก็อ้างว่าขาดบุคลากร หรือผู้บริหารบางองค์กรที่ตรวจสอบการทุจริต กลับมีข้อกล่าวหาเกี่ยวการทุจริตเสียเอง
“อยากฝากให้ กรธ.พิจารณาทบทวนร่างรัฐธรรมนูญให้ประเทศชาติได้ประโยชน์จริงๆ ในส่วนองค์กรอิสระเมื่อมีอำนาจมากแล้ว ก็สมควรที่มีบรรทัดฐานทางจริยธรรมที่สูงกว่าคนทั่วไป ขอเสนอให้เน้นเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ตลอดจนไปถึงการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่างๆ ต่อสาธารณะ เพื่อสร้างบรรทัดฐานจริยธรรมก่อนที่จะมาตรวจสอบหรือตัดสินคนอื่น”