ประชุม สปท.ร้อนอีก “อลงกรณ์” โต้ “เสรี” ปัดครอบงำสมาชิก 200 คน เจ้าตัวโวยนั่งเป็นประธานมากล่าวหาสมาชิกให้เสียหาย ที่สุด “รองฯ จ้อน” ต้องยอมถอนคำพูด
ที่รัฐสภา วันนี้ (8 ม.ค.) มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. เป็นประธานในที่ประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระการพิจารณาแผนปฏิรูปของคณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านกีฬาและด้านสื่อสารมวลชน ประธานแจ้งต่อที่ประชุมว่า ตนได้เสนอแผนปฏิรูป 1 ปีครึ่ง และแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องการให้เสนอ เพื่อเป็นตุ๊กตาในการทำงานของ สปท. อย่างไรก็ตาม แผนดังกล่าวก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ รายงานของ กมธ.แต่ละคณะสามารถส่งให้ ครม.พิจารณาได้เลยหากได้จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนผ่านการพิจารณาความเห็นของที่ประชุม สปท.มีมาตรการในการแก้ปัญหา และมีร่างกฎหมายที่ผ่านที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 แจ้งว่า ตนกังวลว่าสมาชิกจะเข้าใจว่าการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) ไม่รอบคอบ และไม่ได้รับฟังความเห็นที่แตกต่างของสมาชิก อยากให้เข้าใจว่าประเด็นแผนการปฏิรูปของ สปท.นั้น เป็นอีกส่วนจากแผนปฏิรูปของ กมธ.แต่ละด้าน ซึ่งมีโครงสร้างเป็นลักษณะแผนแผ่นเดียว คือ กรอบเวลาของแต่ละ กมธ.ว่าจะปฏิรูปเรื่องใดบ้างใน 1 ปีครึ่ง และนำแผนการปฏิรูปของ กมธ.แต่ละคณะมารวมกันเป็นแผนของ สปท.
นอกจากนั้น แต่ละคณะจะต้องมีการวางแผนทุกระยะ 5 ปี จนครบ 20 ปี ว่าจะมีแผนอะไรบ้างในการปฏิรูปประเทศ แต่ที่ได้พูดคุยกันในวิป สปท. พบว่าขณะนี้มีเพียง 2 คณะที่สามารถทำได้ตามที่ได้วางไว้ คือ กมธ.ปฏิรูปด้านกีฬา และ กมธ.ปฏิรูปสื่อสารมวลชน ส่วนคณะอื่นๆ ขอนำแผนกลับไปทำให้สมบูรณ์แล้วนำกลับมาเสนอที่ประชุมในวันจันทร์ที่ 11 ม.ค.
จากนั้นนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปท.เสนอให้แต่ละ กมธ.ไปประชุมกันเพื่อหาข้อสรุปโดยไม่ต้องเร่งรีบ พร้อมเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งทำหน้าที่รวบรวมความเห็นทั้งหมดก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของ สปท. เพื่อไม่ให้เป็นความเห็นของ กมธ.ชุดใดชุดหนึ่ง
ขณะที่นายอลงกรณ์ชี้แจงว่า ข้อเสนอการปฏิรูป 4 ข้อ เมื่อวานนี้ไม่ใช่เป็นการลักไก่ และประธาน กมธ.ทุกคณะก็ร่วมประชุมวิป สปท.อยู่ด้วย แต่ทำไมตอนประชุมจึงไม่ทักท้วงหรือแสดงความเห็นว่าเป็นมติของวิป สปท.ซึ่งเห็นควรแล้วว่าควรจะอภิปรายตามแนวทาง 4 ข้อที่นำมาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ทางด้านนายเสรีลุกขึ้นแย้งว่า การที่นายอลงกรณ์กล่าวเช่นนี้ ทำให้ที่ประชุมเข้าใจว่าตนไม่เข้าใจขั้นตอนการประชุม นายอลงกรณ์ชี้แจงด้วยเสียงไม่พอใจว่า การที่บอกว่าการประชุมวิป สปท. หรือการประชุม สปท.อยู่ภายใต้การครอบงำของตนนั้นเป็นการดูถูกตน เพราะวิป สปท.มีสมาชิกกว่า 20 คน ตนจึงไม่สามารถครอบงำได้ แต่ยอมรับว่าในที่ประชุมมีความเห็นที่แตกต่างกัน โปรดอย่าเข้าใจว่าตนเป็นคนกำกับ เพราะในการประชุมแต่ละครั้งมีประธานสปท.เป็นประธาน และมีรองประธาน สปท.คนที่ 2 เป็นรองประธาน อย่าสร้างภาพว่าสมาชิก 200 คนจะถูกครอบงำจากตนเพียงคนเดียว แค่ประชุมวิป 20 คนตนยังครอบงำไม่ได้เลย ทำให้นายเสรีลุกขึ้นโต้ทันทีว่า ตนขอประท้วงเพราะนายอลงกรณ์ใช้ถ้อยคำและวาทกรรมเสียดสีตนหลายครั้ง กล่าวหาว่าตนบอกว่ารองประธาน สปท.พยายามครอบงำที่ประชุมซึ่งไม่ได้เป็นเช่นนั้น สิ่งที่คุยกันในที่ประชุมวิป สปท.ต้องการพูดความจริงในสิ่งที่ทุกคนไม่กล้าพูดเพราะเกรงใจ แต่ตนกล้าพูดเพราะเป็นห่วงสภาฯว่าจะทำหน้าที่วนไปวนมา ทั้งนี้ นายอลงกรณ์กล่าวหาตนอย่างเสียหาย เพราะนั่งทำหน้าที่เป็นประธานแล้วมากล่าวหาสมาชิก ตนยอมไม่ได้ เพราะควรใช้เหตุผลคุยกัน ดังนั้นขอให้นายอลงกรณ์ถอนคำพูดด้วย ในที่สุดนายอลงกรณ์ก็ยอมถอนคำพูดในทุกประเด็น พร้อมกล่าวว่าเรายังรักกันเหมือนเดิม เราตั้งใจทำงานปฏิรูปร่วมกัน จากนั้นก็เข้าสู่วาระปกติ
อย่างไรก็ตาม การที่นายอลงกรณ์ถูกต่อว่าจากสมาชิกในที่ประชุมถือเป็นครั้งที่ 2 เพราะเมื่อวานก็ถูกนายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท.ขอให้ลงมาจากบัลลังก์เพื่อมาอยู่ด้วยกันด้านล่างไม่ต้องขึ้นไปนั่งเป็นรองประธาน