xs
xsm
sm
md
lg

สปท.อภิปรายไม่ยึดร่างเดิม “คำนูณ” ชี้ปฏิรูปต้องมีกลไกพิเศษ กมธ.ปรับแก้ส่ง 11 ม.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประชุม สปท.ถกด่วนเสนอประเด็นปฏิรูป สมาชิกค้านนำข้อเสนอร่างที่ถูกคว่ำเป็นหลัก “อลงกรณ์” แจงหน้าที่ สปท.ให้ความเห็น รธน.น้อยมากเทียบ สปช.ขออย่าสับสน “วันชัย” สวนพูดครอบงำสมาชิก ก่อนสรุปเปิดให้อภิปรายปฏิรูปอย่างกว้างขวาง “คำนูณ” แนะปฏิรูปสำเร็จต้องมีกลไกพิเศษ ไม่เกี่ยวยับยั้งวิกฤตชาติ สปท.มอบหน้าที่ กมธ.12 คณะปรับแก้ตามความเหมาะสมก่อนส่ง ปธ.สปท.11 ม.ค.

วันนี้ (7 ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยมี ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท.เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระเร่งด่วนเพื่อหารือเกี่ยวกับการเสนอประเด็นปฏิรูปที่ควรบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ส่งหนังสือมายังประธาน สปท. โดย ร.อ.ทินพันธุ์แจ้งต่อที่ประชุมว่า ให้สมาชิก สปท.อภิปรายเห็นชอบข้อเสนอตามหลัก 4 ข้อที่นำมาจากบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในหมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและความปรองดอง ส่วนที่ 2 การปฏิรูปด้านต่างๆ ได้แก่ 1. ให้มีการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารท้องถิ่น และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ 2. ให้มีการปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุข สังคม ศิลปวัฒนธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค 3. การปฏิรูปเศรษฐกิจ และ 4. ให้มีการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการผังเมือง การปฏิรูปด้านพลังงาน และการปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ต่อมาสมาชิก สปท.เช่น นายเสรี สุวรรณภานนท์ นายคำนูณ สิทธิสมาน นายนิกร จำนง และนายวันชัย สอนศิริ ลุกขึ้นเสนอความคิดเห็นโดยไม่เห็นด้วยต่อการนำข้อเสนอของอดีต สปช.ที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำไปแล้วในอดีตมาเป็นหลักเกณฑ์ เพราะถือเป็นหลักการที่ไม่ควรบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์ของ กรธ. จึงไม่เห็นด้วยที่จะนำ 4 ข้อข้างต้นมาเป็นกรอบ เพราะหากใช้ข้อเสนอเดิมอาจเป็นการมองข้ามศักยภาพของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สปท.ทั้ง 12 คณะ

ขณะที่นายอลงกรณ์กล่าวชี้แจงว่า สปท.มีหน้าที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญน้อยมากถ้าเทียบกับหน้าที่ของอดีต สปช. ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุให้ สปท.หยิบยกเรื่องการปฏิรูปเร่งด่วนมาขับเคลื่อนให้สำเร็จ จึงขอให้สมาชิก สปท.อย่าสับสน ทั้งนี้ ในตอนที่เป็น สปช.ที่มีหน้าที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์นั้น เกิดเหตุการณ์ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากสมาชิก สปช.ในขณะนั้นมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมาก ตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งจนถึงวาระสุดท้ายของการเห็นชอบร่าง จึงทำให้ สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ ชุดนายบวรศักดิ์ ตกตายเป็นแฝดอิน-จัน และเมื่อเกิดการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ก็ได้ให้มีการแต่งตั้ง สปท.จึงตัดหน้าที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ เป็นการออกแบบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวอีก ทำให้นายวันชัย ลุกขึ้นกล่าวตอบว่า กรณีดังกล่าวนายอลงกรณ์พูดมากและเยอะเกินไป ถ้าต้องการจะพูดมากขนาดนี้ อยากให้ลงมาจากบัลลังก์แล้วลงมาอยู่ด้วยกันข้างล่าง ไม่ต้องขึ้นไปนั่งเป็นรองประธานก็ได้ เพราะการเป็นรองประธานแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะมาพูดครอบงำให้สมาชิกเดินตามสิ่งที่นายอลงกรณ์พูดได้ทั้งหมด เราทุกคนมีความรู้เท่ากัน

ทั้งนี้ ภายหลังจากการอภิปรายหาข้อสรุปดังกล่าวนานกว่า 3 ชั่วโมง ในที่สุดที่ประชุมก็ได้ข้อสรุปว่าจะเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวางโดยไม่มีกรอบหรือหลักเกณฑ์ แต่ต้องอยู่ในสาระสำคัญของการปฏิรูปประเทศ

จากนั้นจึงเข้าสู่การอภิปรายเพื่อส่งข้อเสนอประเด็นปฏิรูปไปยัง กรธ. โดยนายคำนูณอภิปรายว่า การปฏิรูปจะสำเร็จต้องมีกลไกพิเศษแยกออกมาจากระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งอาจบรรจุในรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูก โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ และในกรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับองค์กรที่จะเข้ามาทำ เรื่องปฏิรูปในอนาคต เราจะต้องมีกลไกแก้ความขัดแย้ง ซึ่งอาจจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ หรือจะต้องมีการทำประชามติเพื่อให้ข้อเสนอการปฏิรูปนั้นสำเร็จ แต่การออกแบบกลไกพิเศษนี้จะต้องไม่ครอบงำการบริหารราชการปกติของรัฐบาลที่มา จากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ตนสนับสนุนให้ กรธ.บัญญัติกลไกพิเศษ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดในเรื่องการปฏิรูป ซึ่งกลไกนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการระงับยับยั้งวิกฤติประเทศในอนาคต แต่จะเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเท่านั้น ยืนยันว่าควรมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องการปฏิรูป ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นสิทธิของ กรธ.ที่จะพิจารณาต่อไป

ด้านนายเสรีกล่าวว่า ที่ผ่านมา กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ได้นำข้อเสนอการปฏิรูปด้านการเมืองส่งไปให้ กรธ.แล้ว ซึ่งวันนี้ถ้าเราจะให้ความสำคัญกับข้อเสนอเพื่อเป็นมรรคผล ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ทำหนังสือขอความคิดเห็นจาก สปท.เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็อยากให้ กมธ. ทั้ง 12 คณะ ส่งความคิดเห็นผ่านสภาแห่งนี้แบบอย่างเป็นทางการไปยัง กรธ.

ต่อมานายอลงกรณ์ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ขอมอบหน้าที่ให้ กมธ.ทั้ง 12 คณะ ไปปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาตัวร่างข้อเสนอประเด็นปฏิรูปเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ที่สมาชิกได้อภิปรายไปตามความเหมาะสม และให้นำมาส่งแก่ ร.อ.ทินพันธุ์ ภายในเวลา 12.00 น.ของวันที่ 11 ม.ค.นี้ เพื่อจะได้นำข้อสรุปส่งให้ กรธ.ต่อไป โดยนายอลงกรณ์ได้สั่งปิดประชุมในเวลา 13.32 น.










กำลังโหลดความคิดเห็น