xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เสือติดปีก คอนเทนต์ใหม่ของแกรมมี่ท่ามกลางวิกฤตทีวีดิจิตอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้ว่าวงการทีวีในประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกสู่ระบบทีวีดิจิตอลนั้นจะยังไม่สมบูรณ์เท่าใดนัก แต่การต่อสู้ฟาดฟันกันบนจอแก้วกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นและดุเดือด ภายใต้เงื่อนไขแรกที่เป็นเม็ดเงินซึ่งก็นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างเสถียรภาพความมั่นคงในการทำธุรกิจทีวี หรือเงื่อนไขด้านคอนเทนต์เนื้อหาสาระของรายการที่จะผลิตออกมานำเสนอต่อผู้ชม

กระนั้นหนึ่งในผู้ผลิตที่ถือใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอลถึงสองช่องอย่าง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) มีความพยายามครั้งใหม่ในการสร้างรายการทีวีที่อุดมไปด้วยคอนเทนต์ที่น่าจะแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องได้มากกว่าเดิมที่เน้นหนักไปที่รายการเพลง ซีรีส์ และละคร

แต่การสร้างคอนเทนต์ใหม่ในครั้งนี้ไม่ได้ใช้เพียงความชำนาญที่แกรมมี่มีอยู่เท่านั้น หากแต่ยังจับมือกับนักธุรกิจที่หลายคนให้การยอมรับว่าเป็นบุคคลที่มีสไตล์ของตัวเองอย่าง ตัน ภาสกรนที ด้วยการนำดีเอ็นเอของผู้บริหารอิชิตันเข้ามาใส่ในรายการที่มีชื่อว่า “เสือติดปีก”

ทั้งนี้คอนเซ็ปต์ของรายการจะเป็นการเฟ้นหานักธุรกิจสตาร์ทอัพเข้ามานำเสนอธุรกิจเพื่อพิชิตเงินลงทุนร่วมจากรายการ ซึ่งธุรกิจสตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จต้องอาศัยแรงหนุนด้านเงินทุนจากกลุ่ม Venture Capital หรือนักลงทุนที่มีประสบการณ์และวิสัยทัศน์

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และ ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท ไพบูลย์ แอนด์ ตัน จำกัด โดยตั้งเป้าให้เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งมีจุดประสงค์หลักในการเฟ้นหาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อร่วมลงทุนและพัฒนาจนประสบความสำเร็จ ผ่านบริษัท จุดตั้งต้น จำกัด

บริษัท จุดตั้งต้น จำกัด ก่อตั้งในนามมูลนิธิดำรงชัยธรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อมองหาโอกาสในการลงทุนกับธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม (Social Enterprise) ดังนั้นผู้เข้าแข่งขันมีโอกาสที่จะคว้าเงินรางวัล ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อสร้างธุรกิจให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นได้เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังต้องสร้างแรงกระเพื่อมเชิงบวกให้กับสังคมไทยด้วย

การนำความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจของตัน ภาสกรนที มาสร้างเป็นคอนเทนต์หลักของรายการ น่าจะทำให้รายการเสือติดปีกเป็นเกมโชว์ทางธุรกิจที่จะสร้างธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ให้เกิดและประสบความสำเร็จขึ้นได้จริง แตกต่างจากรายการธุรกิจอื่นๆ ที่เคยมี

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนรายการเสือติดปีกจะร่วมสร้างธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ได้อย่างน้อยก็เพียง 13 ธุรกิจเท่านั้น เมื่อตัน ภาสกรนที และ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ควักกระเป๋าตัวเองคนละ 13 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 26 ล้านบาท โดย 13 ล้านบาทจะเป็นเงินสำหรับร่วมทุนกับธุรกิจใหม่ที่เข้ามาแข่งขันในรายการ ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการทั้ง 13 เทปนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 13 ล้านบาท แม้ว่ารายการจะมีสปอนต์เซอร์บิ๊กเนมอย่าง บุญรอดบริวเวอรี่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เอไอเอส และบริษัท อิชิตันก็ตาม

“Start Up Business เป็น Platform ใหม่ทางธุรกิจที่น่าสนใจ เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียเป็นของตัวเอง ชำนาญการใช้เทคโนโลยี และต้องการออกจากระบบองค์กรแบบเดิม หากธุรกิจสตาร์ทอัพประสบความสำเร็จแล้ว จะมีศักยภาพในการพัฒนาประเทศอย่างมาก เพราะเงินลงทุนขั้นต้นน้อย แต่จะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้มหาศาลในระยะเวลาไม่นาน เช่น Grab Taxi และ Ookbee ก็เริ่มต้นด้วยการเป็นสตาร์ทอัพมาก่อน และในฐานะที่ทำธุรกิจมาพอสมควร ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เป็นพนักงานระดับเล็กๆ กระทั่งถึงวันนี้ อยากจะนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ รายการเสือติดปีกจึงเป็นสนามเคี่ยวฝีมือที่จะใช้ความเป็นนักธุรกิจตัวเองให้เป็นประโยชน์สูงสุด” ตัน ภาสกรนที กล่าว

หลังจากออกอากาศไปสองเทปดูเหมือนว่าความน่าสนใจของสตาร์ทอัพที่เข้ามานำเสนอธุรกิจต่อกรรมการผู้คัดสรรและตัน ภาสกรนที ในรายการยังขาดความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ซึ่งนั่นหมายถึงว่าธุรกิจนั้นๆ จะไม่ได้รับการร่วมทุนจากทางรายการ หากมองในทางกลับกัน อาจเป็นการตัดโอกาสกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีความน่าสนใจและมีโอกาสเติบโตให้เข้ามานำเสนอธุรกิจหรือไม่

ทั้งนี้การตัดสินใจของไพบูลย์ หัวเรือใหญ่ของแกรมมี่ในการดึงนักธุรกิจมือฉมังอย่างตัน ภาสกรนที เข้ามาสร้างคอนเทนต์รายการใหม่ที่ต่างไปจากเดิมนั้น ย่อมต้องคาดหวังความนิยมที่จะส่งผลให้เรตติ้งของช่องสูงขึ้นด้วย ซึ่งความเชื่อมั่นในตัวของตัน ภาสกรนที ที่จะช่วยให้รายการมีสีสันมากกว่าผังรายการปัจจุบัน

โดยกลุ่มเป้าหมายของช่อง ONE 31 จะเน้นไปที่กลุ่มแมส มากกว่าช่อง GMM 25 มีกลุ่มผู้ชมเป็นวัยรุ่น และคนรุ่นใหม่ “ทีวีดิจิตอลทั้งสองช่องมีเรตติ้งที่ดี ซึ่งตัวเลขเรตติ้งจะอยู่ตำแหน่งไหนไม่สำคัญ ในเมื่อบริษัทสามารถขายโฆษณาได้สูงกว่าเรตติ้งที่ได้ ซึ่งมีช่องทางการออกอากาศที่หลากหลายไม่จำกัดอยู่เพียงทีวีอีกต่อไป แต่รวมไปถึงช่องทางออนไลน์ด้วย ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกพื้นที่จะลงโฆษณาได้ เพื่อให้ได้ช่วงเวลาที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของสินค้านั้นๆ”

หากจะดูจากการขยับและการปลุกปั้นคอนเทนต์ใหม่ๆ ขึ้นมาเสิร์ฟคนดู ทำให้เข้าใจได้ว่าแกรมมี่น่าจะยังปักธงอยู่บนธุรกิจทีวีดิจิตอล ด้วยเป้าหมายที่วางไว้คือการเป็นผู้ประกอบการสื่อ ในขณะที่ยังเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์โพรไวเดอร์ การสร้างรายการรูปแบบใหม่ๆ โดยธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักนั้นจะขายหุ้นเพื่อนำเงินมาลงทุนเพิ่มในธุรกิจหลักได้แก่ ธุรกิจทีวีดิจิตอล ซึ่งถกลเกียรติ วีรวรรณ รับผิดชอบช่อง ONE 31 และสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ดูแลช่อง GMM 25 และธุรกิจเพลง ที่มอบหมายให้กริช ทอมมัส เป็นผู้ดูแล

ในมิติของการสร้างสรรค์คอนเทนต์เพื่อป้อนเข้าสู่ผังรายการทีวีดิจิตอลยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยไพบูลย์ ดำรงชัยธรรมให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ทีวีดิจิตอลนั้นยังมีโอกาสเติบโตได้ดี โดยเฉพาะช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมานั้นมีอัตราการเติบโตสูงถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แม้จะมีปัญหาที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้

แม้อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลจะยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง หากแต่สำหรับสองช่องของแกรมมี่ทั้ง GMM 25 และ ONE 31 ยังอยู่ในสภาวะขาดทุน ไพบูลย์ก็ยังมั่นใจว่าจะคุ้มทุนภายในระยะเวลา 5-7 ปี

หากปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข ธุรกิจทีวีดิจิตอลอาจจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่จะดำเนินธุรกิจได้ดีมี 15 ราย โดย 10 ช่อง จะเป็นช่องที่พออยู่ได้ ในขณะที่อีก 5 ช่องคือช่องที่สามารถดำเนินธุรกิจได้ดี

ปัญหาที่สั่งสมมาตั้งแต่ กสทช. เปิดประมูลใบอนุญาตผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเมื่อปี 2556 และเริ่มทดลองออกอากาศเมื่อปี 2557 ยังไม่ได้ถูกทำให้กระจ่างนั้น ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลหลายรายตัดสินใจยื่นฟ้อง กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กสทช.ปฏิบัติตามกฎหมายในการพัฒนาโครงข่ายทีวีดิจิตอลก่อนที่จะครบกำหนดชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลงวดที่ 3 ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 นี้

ซึ่งเนื้อหาสำคัญที่บรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลต่างยื่นหนังสือเรียกร้องให้ กสทช. แก้ปัญหาในเรื่อง 1. การแจกคูปองแลกซื้อกล่องรับสัญญาญทีวีดิจิตอลให้ครบ 22 ล้านครัวเรือน ภายในระยะเวลาที่กำหนด 2. การเรียงช่องฟรีทีวีดิจิตอล โดยเรียงเลขช่องเหมือนกันทุกแพลตฟอร์ม 3. ราคาค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลที่สูงเกินไปในปัจจุบัน รวมไปถึงการขยายเวลาใบอนุญาตโดยให้เริ่มนับหนึ่งเมื่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอลเสร็จสิ้นในปี 2561

ในห้วงเวลาที่ไทยที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคดิจิตอลทีวี และกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องปรับตัว แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลอย่างบริษัทไทยทีวีกลับไม่สามารถยืนหยัดอยู่ในยุคดิจิตอลทีวีต่อไปได้ เมื่อประสบกับปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถจ่ายเงินค่าประมูลได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด ทำให้บอร์ด กสทช. มีมติระงับใบอนุญาตออกอากาศของบริษัทไทยทีวีทั้ง 2 ใบ ได้แก่ช่องไทยทีวี (เลข 17) และช่องโลก้า (เลข 15) ตามกฎมัสต์ แคร์รี่ ยุติออกอากาศ

นับเป็นการปิดฉากทีวีดิจิตอลของบริษัท ไทยทีวี จำกัด ก่อนที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคทีวีดิจิตอลจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ในปัจจุบันจะเหลือทีวีดิจิตอลที่ยังออกอากาศอยู่เพียง 22 ช่องเท่านั้น

อย่างไรก็ดี มติที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ได้รับทราบถึงปัญหาการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล โดยบอร์ด กสทช. ได้รับทราบถึงปัญหาทีวีดิจิตอลที่บรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเสนอมา

โดยเฉพาะเรื่องการแจกคูปองแลกซื้อกล่องรับสัญญาณ ที่ควรจะต้องครอบคลุมทั้ง 22.9 ล้านครัวเรือน การใช้เงินสำนักงาน กสทช. สนับสนุนโครงการวัดเรตติ้งของสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ หรือเพื่อการประชาสัมพันธ์ทีวีดิจิตอล ทั้งนี้ประเด็นที่สำคัญ กสทช. จะนำไปศึกษาอย่างละเอียดโดยใจความสำคัญอยู่ที่ว่ารัฐจะต้องไม่เสียหาย และช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลให้ดำเนินธุรกิจไปได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ที่ประชุม กสท. ยังได้พิจารณากรณีบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แซท จำกัด ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการให้บริการแพ็กเกจ Z Pay TV ทางกล่องรับสัญญาณดาวเทียม GMMZ โดยไม่แจ้งหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 30 วัน ซึ่งเป็นการกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์

โดยที่ประชุม กสท. มีคำสั่งทางปกครองให้บริษัท จีเอ็มเจ็ม แซท จำกัด และบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนดังกล่าว และหากไม่ปฏิบัติตามจะใช้มาตรการปรับทางปกครองแก่บริษัททั้ง 2 จำนวน 2,000,000 บาท และปรับอีกวันละ 100,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง พร้อมทั้งให้บริษัททั้งสองดำเนินการจัดส่งแผนเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมให้ครบถ้วนภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

อย่างไรก็ดี หลังจากที่บริษัทไทยทีวีถูกระงับการออกอากาศตามกฎมัสต์ แคร์รี่ ยังมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีผู้ประกอบการอย่างน้อยอีก 5 ช่องที่จะยื่นหนังสือขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอล ซึ่งหากเรื่องดังกล่าวเป็นจริงหมายความว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลของไทยไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่มั่นคงเท่าใดนัก

เมื่อมีทางเลือกมากขึ้นทั้งสำหรับผู้บริโภคและธุรกิจ (สินค้า) ซึ่งทำให้การโฆษณาสินค้าไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงจอแก้วเท่านั้น หากแต่ยังกระจายออกไปยังสื่อโซเชียลต่างๆ ที่ง่ายต่อการเข้าถึง แน่นอนว่าหากจะมองในมุมของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลแล้ว รายได้จากการขายพื้นที่ให้แก่โฆษณาจะทำให้ธุรกิจอยู่รอด

ทั้งนี้บริษัทนีลเส็น เปิดเผยการคาดการณ์งบโฆษณาในปี 2559 โดยแบ่งเป็นทีวีอนาล็อก 40 เปอร์เซ็นต์ ทีวีดิจิตอล 16 เปอร์เซ็นต์ สื่อสิ่งพิมพ์ 14 เปอร์เซ็นต์ สื่อดิจิตอล 10 เปอร์เซ็นต์ ทีวีดาวเทียม/ทรูวิชั่นส์ 6 เปอร์เซ็นต์ วิทยุ 4 เปอร์เซ็นต์ และสื่ออื่นๆ 10 เปอร์เซ็นต์

จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าบรรดาบริษัทโฆษณายังคงให้ความสำคัญกับทีวีอนาล็อกมากกว่า นั่นอาจจะเป็นเพราะความไม่พร้อมของการเปลี่ยนผ่านของระบบทีวีดิจิตอลของไทย แต่ในขณะเดียวกันบรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลใส่เม็ดเงินเข้าไปในระบบเพื่อผลิตรายการทีวีออกมาแล้ว นี่นับเป็นเหตุผลประการสำคัญที่ผู้ประกอบการยังไม่ถึงจุดที่คุ้มทุน

คำถามที่ว่าความสำคัญระหว่างความอยู่รอดของบริษัทผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลกับเนื้อหาสาระที่ควรนำมาเป็นคอนเทนต์ของรายการเพื่อนำเสนอให้ผู้ชม คำตอบคงจะชัดเจนอยู่แล้วเมื่อรายการส่วนใหญ่ของไทยดูจะมุ่งเน้นการสร้างเนื้อหาที่มุ่งเน้นไปในด้านการให้ความบันเทิงเป็นส่วนใหญ่ เพราะการขายช่วงเวลาดังกล่าวจะสามารถขายโฆษณาได้ดีกว่า รายการที่นำเสนอคอนเทนต์ที่อุดมไปด้วยความรู้เพื่อประเทืองปัญญา

กระนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่าคณะทำงานของ กสทช. ต่อกรณีทีวีดิจิตอล ตามข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการที่ยื่นไปก่อนหน้านี้นั้น จะได้ผลสรุปออกมาเป็นที่น่าพอใจต่อทุกฝ่ายโดยเฉพาะเรื่องของราคาค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลที่อาจจะปรับให้ถูกลง

ซึ่งหากภาครัฐมองผลประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่จะต้องเป็นผู้รับสารที่ปลายน้ำนั้น จะได้เสพความรู้จากรายการที่เต็มไปด้วยสาระมากขึ้น หากผู้ประกอบการไม่ต้องมุ่งแต่จะสร้างรายการที่ดึงดูดแต่โฆษณาเพื่อความอยู่รอดเพียงอย่างเดียว หากแต่จะปันกำไรมาสร้างรายการสารคดี หรือรายการที่เสิร์ฟความรู้ให้แก่ผู้ชมอย่างเช่นประเทศที่เจริญแล้วทำกันบ้าง

อย่างน้อยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลอาจได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสริมสติปัญญาให้แก่ผู้ชม มากกว่าที่จะบั่นทอนปัญญาด้วยเรื่องน้ำเน่าเคล้าน้ำตาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น