“ซีทีเอช” ฮุบ “จีเอ็มเอ็มบี” 100% รุกตลาดเพย์ทีวีเต็มสตรีม หลัง “อากู๋” ตัดสินใจปล่อยเพย์ทีวีออกจากมือ แลกกับการนำ “แซท เทรดดิ้ง” ถือหุ้นใน “ซีทีเอช” 10% ด้าน “ซีทีเอช” แย้มพร้อมเฟ้นหาผู้ถือหุ้น 20% ภายในไตรมาสสามนี้เพิ่ม หลังเพิ่มทุนมาเป็น 3,000 กว่าล้านบาท
วันนี้ (23 ก.ค.) นายวิชัย ทองแตง ประธานกรรมการ บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) และนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนการลงนามในสัญญาข้อตกลงในการรวมบริษัท ซีทีเอช แอล ซี โอ จำกัด กับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด ดำเนินธุรกิจเพย์ทีวี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” โดย “ซีทีเอช แอล ซี โอ” จะเข้ามาถือหุ้นใน “จีเอ็มเอ็ม บี” 100% และ “แซท เทรดดิ้ง” จะเข้ามาถือหุ้นใน “ซีทีเอช” 10% ส่งผลให้ซีทีเอชจะกลายมาเป็นบริษัทแม่ในการดำเนินธุรกิจเพย์ทีวีของทั้ง “ซีทีเอช แอล ซี โอ” และ “จีเอ็มเอ็ม บี”
ทั้งนี้ ภายหลังพิธีการเซ็นสัญญาและแถลงข่าวจบลง นายวิชัย ทองแตง และนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ไม่ยอมให้มีการสัมภาษณ์ใดๆ และเลี่ยงออกไปจากงานก่อน โดยปล่อยให้ผู้บริหารจากทั้งสองบริษัททำหน้าที่ให้สัมภาษณ์ในรายละเอียดและชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ แทน
นายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนการลงนามสัญญาข้อตกลงกันในครั้งนี้ส่งผลให้ “แกรมมี่” เข้ามาถือหุ้นใน “ซีทีเอช” 10% ส่วนที่เหลือมาจากการถือหุ้นของนายวิชัย ทองแตง 30% นางยิ่งลักษณ์ วัชรพล จาก “ไทยรัฐ” 30% และผู้ประกอบการเคเบิลทีวี 10% โดยที่เหลืออีก 20% นั้น ในช่วงหลังไตรมาสสามนี้น่าจะสรุปได้ โดยขณะนี้กำลังเจรจาอยู่ 4-5 ราย เน้นเป็นกลุ่มทุนต่างชาติที่มีธุรกิจต่อยอดหรือเอื้อต่อซีทีเอช” จากปัจจุบันที่ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นมาเป็น 3,300 กว่าล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ “ซีทีเอช” จะเข้ามาดูแลด้านการตลาดในธุรกิจเพย์ทีวีของ “จีเอ็มเอ็ม แซท” ทั้งหมด ส่งผลให้หลังจากนี้ “ซีทีเอช” จะก้าวสู่ความเป็น“มีเดีย แอนด์ เอนเตอร์เทนเมนต์” เต็มรูปแบบ ซึ่งทาง“จีเอ็มเอ็ม แซท” ยังคงขายกล่อง“จีเอ็มเอ็ม แซท” ต่อเนื่อง หลังจากต่างเป็นเบอร์ 2 และเบอร์ 3 ในธุรกิจเพย์ทีวี
การดำเนินงานร่วมกันหลังจากนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ทั้งสองฝ่ายใน 4 เรื่องหลัก คือ 1.Advertising อำนาจในการหาโฆษณามีมากขึ้น 2.Box จากฐานสมาชิกของ “จีเอ็มเอ็ม แซท” 1.5-2 ล้านกล่อง จะเป็นฐานที่สำคัญของซีทีเอช 3.Content ทำให้มีคอนเทนต์มากที่สุด และ 4.Distribution การต่อรอง และการกระจายสินค้ามีมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ระบบโครงข่ายจากทั้งสองบริษัทรวมกันจะมีมากถึง 17 ทรานสปอนเดอร์ถือเป็นกลุ่มที่มีทรานสปอนเดอร์มากที่สุด การรวมกันครั้งนี้จะช่วยให้การใช้งานอย่างทรานสปอนเดอร์ที่มีอยู่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่องทับซ้อนจะลดลง บางแผนกอาจจะทับซ้อนกันบ้าง เช่น คอลเซ็นเตอร์ และทีมงานที่มีอยู่จากทั้งสองฝ่ายจะยังคงเดิมไว้ ไม่ได้ปรับลดพนักงานลง
หลังจากนี้บริษัทเตรียมจับมือกับพันธมิตรทุกรูปแบบอีกกว่า 10 ราย ทั้งฟรีทีวี กลุ่มโมบายล์โฟนและดิสทริบิวเตอร์ในการช่วยกระจายคอนเทนต์ของ “ซีทีเอช” และ “จีเอ็มเอ็ม แซท” ไปสู่กลุ่มผู้ชม โดยมั่นใจว่าถึงสิ้นปีจะเข้าถึงผู้ชมร่วม 10 ล้านคน ส่วนในแง่ของการขายกล่อง “ซีทีเอช” แล้ว จากปัจจุบันอยู่ที่ 500,000-1,000,000 กล่อง สิ้นปีนี้จะทำให้ได้อีก 2,000,000 กล่อง รวมเป็น 3 ล้านกล่อง พร้อมรายได้ที่น่าจะคุ้มทุน หรือมีรายได้ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทในสิ้นปีนี้
“การดำเนินงานของซีทีเอชหลังจากนี้จะเน้นหาพันธมิตรเป็นหลัก โครงสร้างการทำงานอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง โดยตนยังคงพร้อมทำหน้าที่ประธานกรรมการบริหารต่อไป ถึงแม้ว่าจะมีกระแสข่าวว่าตนจะลาออกก็ตาม ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 2 ปีจะนำ จีเอ็มเอ็ม บี เข้าตลาดหลักทรัพย์ต่อไป” นายเชิดศักดิ์ กล่าวสรุป
ทางด้าน นายชนวัฒน์ วาจานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารผังรายการและผลิตรายการ บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า การลงนามในสัญญาของทั้งสองบริษัทครั้งนี้ ในแง่การดำเนินงานไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ในแง่คอนเทนต์นั้นอาจจะมีการทับซ้อนกันบ้าง เช่น ช่องรายการของทางฟ็อกซ์ และยูนิเวอร์แซล เป็นต้น หลังจากนี้ก็จะเลือกรับสัญญาณเพียงทรานสปอนเดอร์เดียวเพื่อให้มีพื้นที่เหลือและอนาคตหากสัญญาหมดลงจะเลือกพิจารณาในการซื้อจากบริษัทเดียวเท่านั้น
“ทั้งสองฝ่ายยังต่างขายกล่องของตัวเองอยู่ ขณะที่ทีมบริหารเป็นชุดเดียวกัน โดยทางซีทีเอชในช่วงไตรมาสสามจะมีการเปิดตัวแพกเกจใหม่ รองรับกลุ่มลูกค้าพรีเมียร์ลีกและเปิดตัวกล่องรุ่นใหม่ออกมารองรับตลาดอีกอย่างน้อย 2 รุ่นสำหรับกลุ่มแมสและพรีเมียมในรูปแบบ ปลั๊ก แอนด์ เพย์ คือสามารถติดตั้งกับจานรับสัญญาณดาวเทียมแบรนด์ใดก็ได้ซึ่งจะมีราคาใกล้เคียงกับทางจีเอ็มเอ็ม แซท ภายใต้งบการตลาดที่ยังคงตามแผนเดิม”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันช่องรายการในรูปแบบเอ็นคลิปสัญญาณจาก “ซีทีเอช” มีอยู่กว่า 70 ช่อง และจาก “จีเอ็มเอ็ม แซท” มีอยู่ 40 ช่อง และเมื่อรวมกับช่องอื่นๆ ในรูปแบบฟรีทูแอร์แล้ว จะส่งผลให้ทั้ง 2 กลุ่มมีช่องรายการรวมกันกว่า 150 ช่อง ซึ่งทาง “ซีทีเอช” ยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายการเข้ามานำเสนอรายการอยู่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลิตรายการขึ้นมาใหม่เอง เช่น เรียลิตี ลูกทุ่งเงินล้าน เป็นต้น
นายกริช ทอมมัส ผู้บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด กล่าวว่า การรวมกันของซีทีเอช และจีเอ็มเอ็ม บี จะช่วยในเรื่องการบริหารทรัพยากรและใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญถือเป็นการลดต้นทุนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี สมาชิกจากทั้งสองฝ่ายสามารถดูรายการจากอีกฝ่ายเพิ่มได้ ส่งผลให้แต่ละฝ่ายมีพื้นที่คอนเทนต์เพิ่มขึ้น
นายฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ หน่วยงานแพลตฟอร์ม บริษัท แซท เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวเสริมว่า บริษัทจะมีการจัดทำแพกเกจออกมาตอบโจทย์ผู้ชมทุกกลุ่ม ในราคาตั้งแต่ 199-999 บาท รวมไปถึงการเพิ่มแพกเกจ Bundle Product จากทาง CTH และ จีเอ็มเอ็ม แซท เพย์ ทีวี อีก 5 แพกเกจ คือ 1. กล่องจีเอ็มเอ็มแซท รุ่นเฮชดี ไลต์ พร้อมแพกเกจ CTHZ Premier League Plus HD 365 วัน 2.กล่องจีเอ็มเอ็ม แซท รุ่นเฮชดี ไลต์ พร้อมแพกเกจ CTHZ Premier League Plus HD 120 วัน 3.กล่องจีเอ็มเอ็มแซท รุ่นเฮชดี ไลต์ พร้อมแพกเกจสำหรับรับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก BPL 270 วัน 4.กล่องจีเอ็มเอ็มแซท รุ่นเฮชดี ไลต์ พร้อมแพกเกจ Platinum HD 180 วัน และ 5.กล่องจีเอ็มเอ็มแซท รุ่นเฮชดี ไลต์ พร้อมแพกเกจ Gold 180 วัน โดยลูกค้าสามารถหาซื้อกล่องเหล่านี้ได้จากจุดขายร่วม 10,000 จุดทั่วประเทศ โดยยอดขายต่อเดือนวางไว้ที่ 1 แสนกล่อง