xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิชัย ทองแตง พลิกกลยุทธ์ ปรับฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิชัย ทองแตง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ วิชัย ทองแตง พลิกกลยุทธ์ปรับฐานการลงทุนครั้งใหญ่ เป็นก้าวจังหวะที่รวดเร็วฉับไว แต่ทุกเกมล้วนอยู่บนพื้นฐานการคิดคำนวณปัจจัยต่างๆ ซึ่งหวังผลทั้งระยะสั้นและการยึดกุมธุรกิจในระยะยาว

ดีลแรก วิชัย ทองแตง ในฐานะประธานกรรมการบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ผนึกเป็นพันธมิตรกับ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เพื่อเปิดแนวรบธุรกิจเพย์ทีวี โดยลงนามสัญญาข้อตกลงการรวมบริษัท ซีทีเอช แอล ซี โอ จำกัด กับบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจเพย์ทีวีในปัจจุบัน

ทั้งนี้ บริษัท ซีทีเอช แอล ซี โอ จำกัด จะเข้าถือหุ้น 100% ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด ส่วนบริษัท แซท เทรดดิ้ง จำกัด จะเข้าถือหุ้น 10% ในบริษัท ซีทีเอช ซึ่งจะทำให้บริษัท ซีทีเอช เป็นบริษัทแม่ในการดำเนินธุรกิจเพย์ทีวี ของทั้งซีทีเอช แอล ซี โอ จำกัด และบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด

สัดส่วนผู้ถือหุ้นในซีทีเอชปรับเปลี่ยนเป็นวิชัย ทองแตง 30% ยิ่งลักษณ์ วัชรพล จากไทยรัฐ 30% แกรมมี่ 10% และผู้ประกอบการเคเบิลทีวี 10% อีก 20% จะดึงพันธมิตรเข้าร่วมถือหุ้นโดยกำลังเจรจาอยู่ 4-5 ราย เน้นเป็น กลุ่มทุนต่างชาติ โดยปัจจุบันซีทีเอชเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 3,300 กว่าล้านบาท

ถือเป็นรายการ “วิน-วิน” ทั้งฝ่ายซีทีเอชและจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ เนื่องจากทั้งสองบริษัทกรำศึกในธุรกิจเพย์ทีวีที่มีความเสี่ยงในแง่ต้นทุนสูงมาก ทั้งเทคนิคอุปกรณ์และการลงทุนซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลดังๆ อย่างพรีเมียร์ลีก ซึ่งถือเป็นบทเรียนราคาแพงกว่าหมื่นล้านบาท รวมถึงการแข่งขันด้านแพ็กเกจต่างๆ ส่งผลให้ทั้งซีทีเอชและจีเอ็มเอ็ม บี อ่วมตัวแดง โดยซีทีเอชขาดทุน 4,000 ล้านบาท ส่วนจีเอ็มเอ็ม บี ขาดทุน 1,083 ล้านบาท

วิชัยมองเกมการผนึกกำลังกันจะทำให้ซีทีเอชล้างตัวแดงและสร้างรายได้คุ้มทุนเป็นปีแรก ประมาณ 6,000-7000 ล้านบาท พร้อมๆกับการมีกำไรในปีถัดไป และก้าวสู่การเป็น “มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์” เต็มรูปแบบตามเป้าหมาย ขณะที่ลดต้นทุนด้านคอนเทนต์ การเพิ่มความสามารถด้านเงินทุนและขยายฐานสมาชิกอย่างรวดเร็วตามจำนวนกล่องจีเอ็มเอ็มแซท ที่ปูพรมไปในทุกครัวเรือนทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน วางแผนนำบริษัท GMM B จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยตั้งเป้า GMM B จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10 เท่าจากปี 2556 ที่มีรายได้เพียง 700 ล้านบาท

หลายคนมองว่า ธุรกิจเพย์ทีวีจะเติบโตลดลงหลังจากทีวีดิจิตอลเกิด แต่วิชัยกลับมองตรงกันข้ามและเชื่อว่า เพย์ทีวีสามารถเติบโตในมูลค่ามหาศาลเหมือนในอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ ไต้หวัน เนื่องจากหัวใจสำคัญอยู่ที่ “คอนเทนต์”

ก่อนหน้านี้ วิชัยยังเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) ของบริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ จำนวน 1,040 ล้านหุ้น โดยมองว่า TWZ มีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต หลังการเปลี่ยนแปลงระบบการสื่อสารจากระบบ 2G เป็น 3G และยังถือเป็นพันธมิตรในการรุกเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอลร่วมกับจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ (GMM) รวมทั้ง TWZ ยังจับมือกับเอไอเอสขยายเข้าสู่ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ด้วย

ล่าสุด ทนายนักลงทุนพลิกสายฟ้าแลบ ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ยกเลิกการลงทุนในบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ทั้งๆ ที่ตงฮั้วเพิ่งเข้าลงทุนในสปริงนิวส์ทีวี 25% เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภายใต้เป้าหมายการเป็นช่องข่าวอันดับ 1 บนแพลตฟอร์มทีวีดิจิตอลภายใน 5 ปี

เหตุผลคือ วิชัยมีพันธมิตรเหนียวแน่นอย่างไทยรัฐและจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ซึ่งประมูลคว้าทีวีดิจิตอลมาอยู่ในมือและเริ่มออกอากาศแล้ว ที่สำคัญ ทั้งสองค่ายมีเงินทุนและเครือข่ายการตลาดเข้มแข็ง ขณะที่บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจสื่อทีวีดิจิตอล ต้องใช้ระยะเวลาสร้างรายได้ ส่งผลให้การรับรู้ผลตอบแทนอาจไม่เร็วตามที่คาดไว้

แผนขั้นต่อไป ตงฮั้วเตรียมเจรจาสรุปข้อตกลงการลงทุนในธุรกิจประเภทสื่ออื่น ที่ไม่ใช่สื่อทีวีดิจิตอล ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก

หากเป็นไปตามแผน วิชัย ทองแตง ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จะสามารถขยายเครือข่ายธุรกิจสื่อหลายแพลตฟอร์ม

ปัจจุบันในพอร์ตการลงทุนของวิชัยมีการถือครองหุ้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่รวม 5 บริษัท มูลค่ารวมกว่า 3,780 ล้านบาท ประกอบด้วยบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BGH เจ้าของเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ ถือครองหุ้น 154.99 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10.01%

บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ FORTH ผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคม 70 ล้านหุ้น คิดเป็น 7.29%

บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ RPC ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ค้าปลีกน้ำมัน และปิโตรเคมี 279 ล้านหุ้น คิดเป็น 21.4%

บริษัท ตงฮั้ว คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TH ธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ 60 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.84% และบริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือTWZ 510 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.8%

ทุกบริษัทเป็นการถือหุ้นใหญ่ตามสไตล์ของวิชัย ทองแตง ไม่ใช่แค่กำหนดทิศทางธุรกิจ แต่ยังหมายถึงเป้าหมายใหญ่ในอนาคตด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น