ASTVผู้จัดการรายวัน - ผ่าทางตัน “ซีทีเอช” ผนึกกำลัง “จีเอ็มเอ็ม แซท” สร้างแกร่ง ลดต้นทุน หวังฟื้นธุรกิจ “เพย์ทีวี” หลังเจ็บหนักทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะ “ซีทีเอช” ปีแรกคว้าน้ำเหลว เหตุ “พรีเมียร์ลีก” ปลุกไม่ขึ้น การลงทุนวางระบบเครือข่ายล่าช้า การตลาดคลุมเครือ ก้าวสู่ปีที่สองวางหมากปูเกมลุยศึกเพย์ทีวีใหม่หมด ดึงมือดี “เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์” นั่งแท่นกุมบังเหียนเบียด “กฤษณัน งามผาติพงศ์” ซึ่งนั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ให้หลุดจากเก้าอี้ออกไปได้ด้วยกลยุทธ์ “ไฮยีน่า” หวังล้ม “ช้าง” ด้าน “ทรูวิชั่นส์” ปรับแผนรุก ชู 4 กลยุทธ์หลัก พร้อมเตรียมอัดงบ 5,000 ล้านบาทซื้อคอนเทนต์ปีหน้า
นายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากเดิมที่ซีทีเอชได้เข้ามารุกธุรกิจเพย์ทีวีด้วยการลงทุนเองทั้งหมดนั้น ปีที่ผ่านมาเห็นแล้วว่ากลยุทธ์ที่ใช้ไม่ประสบความสำเร็จ ยอดรายได้ขาดทุนและยอดสมาชิกไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากการติดตั้งล่าช้า บุคลากรไม่เพียงพอ ดังนั้นหลังจากตนเข้ามาบริหารซีทีเอชจึงได้รื้อแนวทางการดำเนินธุรกิจใหม่ เน้นการจับมือกับพันธมิตรภายใต้กลยุทธ์ “ไฮยีน่า” คือกลยุทธ์การไปกันเป็นกลุ่มซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่จะล้มช้างให้ได้
“ซีทีเอชพร้อมผนึกกับพันธมิตรทุกรูปแบบเพื่อสร้างความแข็งแกร่งซึ่งมองว่าการรวมตัวกันไปกันเป็นกลุ่มจะเป็นกำลังสำคัญ คล้ายกับฝูงหมาป่าไฮยีน่าที่รวมกันสามารถล้มช้างได้ การที่ซีทีเอชเลือกใช้กลยุทธ์นี้ แน่นอนว่าการที่เบอร์สองและเบอร์สามในธุรกิจเพย์ทีวีนั่นคือ ซีทีเอชและจีเอ็มเอ็ม แซทรวมตัวกันจะแข็งแกร่งมากพอที่จะแข่งขันกับเบอร์หนึ่งซึ่งการสู้กันตรงๆ อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดี การผนึกกำลังแบบป่าล้อมเมืองจึงน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดของซีทีเอชและจีเอ็มเอ็ม แซท”
จากตัวหมากที่วางไว้ในวันนี้จึงได้เห็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญกับการที่ซีทีเอชและจีเอ็มเอ็ม แซท ผนึกกำลังกัน โดย นายวิชัย ทองแตง ประธานกรรมการ บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) และนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เป็นตัวแทนจาก 2 บริษัท ทำการลงนามในสัญญาข้อตกลง รวมบริษัท ซีทีเอช แอล ซี โอ จำกัด กับบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด ดำเนินธุรกิจเพย์ทีวี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โดย “ซีทีเอช แอล ซี โอ” จะเข้ามาถือหุ้นใน “จีเอ็มเอ็ม บี” 100% และ “แซท เทรดดิ้ง” จะเข้ามาถือหุ้นใน “ซีทีเอช” 10% ส่งผลให้ “ซีทีเอช” จะกลายมาเป็นบริษัทแม่ในการดำเนินธุรกิจเพย์ทีวีของทั้ง “ซีทีเอช แอล ซี โอ” และ “จีเอ็มเอ็ม บี”
ชูคอนเซ็ปต์ “มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์”
ผลจากการจับมือกันในครั้งนี้ นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า ซีทีเอชจะเข้ามาดูแลด้านการตลาดในธุรกิจเพย์ทีวีของ “จีเอ็มเอ็ม แซท” ทั้งหมด ส่งผลให้หลังจากนี้ “ซีทีเอช” จะก้าวสู่ความเป็น “มีเดีย แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” เต็มรูปแบบ ในขณะที่ “จีเอ็มเอ็ม แซท” ยังคงขายกล่องจีเอ็มเอ็ม แซท ต่อเนื่อง ที่สำคัญจะช่วยลดต้นทุน มีคอนเทนต์รวมกันมากที่สุดกว่า 150 ช่อง แม้บางช่องรายการจะทับซ้อนกัน แต่ละเลือกระบบสัญญาณจากเพียงรายเดียว เพื่อให้เหลือช่องทรานสปอนเดอร์ที่มีรวมกันกว่า 17ช่องสัญญาณมีเหลือไว้สำหรับคอนเทนต์อื่นๆ
“ซีทีเอช” มีฟุตบอลอังกฤษพรีเมียร์ลีก ส่วน “จีเอ็มเอ็ม แซท”มีคอนเท้นท์กีฬาครอบคลุมเกือบทุกประเภทกีฬาอีกหลายสิบรายการ เฉพาะฟุตบอลถือว่าครอบคลุมรายการฟุตบอลดังจากทั่วโลกแล้ว เช่น ฟุตบอลยูโร 2016 รอบ Qualifying ในปี2015 และฟุตบอล Euro รอบ 24 ทีมในปี 2016 อาจกล่าวได้ว่า 2 แพลมฟอร์มร่วมกัน ถือเป็น “คิงส์ ออฟ คอนเท้นท์” และ “คิง ออฟ ฟุตบอล” แม้ว่าอีกค่ายจะการันตีว่าเป็น “คิง ออฟ สปอร์ต” ก็ตาม
การดำเนินงานร่วมกันหลังจากนี้จะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ทั้งสองฝ่าย พร้อมทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นใน “ซีทีเอช” ปรับเปลี่ยนเป็น นายวิชัย ทองแตง 30% นางยิ่งลักษณ์ วัชรพล จากไทยรัฐ 30% แกรมมี่ 10% และผู้ประกอบการเคเบิลทีวี 10% โดยที่เหลืออีก 20% นั้นในช่วงหลังไตรมาสสามนี้น่าจะสรุปได้ โดยขณะนี้กำลังเจรจาอยู่ 4-5 ราย เน้นเป็นกลุ่มทุนต่างชาติที่มีธุรกิจต่อยอด หรือเอื้อต่อ “ซีทีเอช” จากปัจจุบัน “ซีทีเอช” เพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นมาเป็น 3,300 กว่าล้านบาทจากปีก่อนอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท
หลังจากนี้จะมีการจับมือกับพันธมิตรอีก 10 ราย ทั้งฟรีทีวี โมบายโฟน และดิสทริบิวเตอร์ ในการนำเสนอคอนเทนต์ของ “ซีทีเอช” ให้เข้าถึงผู้ชมให้ได้ 10 ล้านคนดู ส่วนในแง่ของยอดสมาชิกจากการขายกล่องนั้น ปัจจุบันมีฐานสมาชิกอยู่ราว 5แสนถึง 1 ล้านราย ครึ่งปีหลังจะมีการเปิดตัวกล่องรุ่นใหม่และแพกเกจการรับชมพรีเมียรืลีกออกมาอีก โดยตั้งเป้ายอดสมาชิกใหม่ที่จะเพิ่มเข้ามาอีก 2 ล้านราย หรือสิ้นปีนี้จะต้องมีสมาชิกทั้งหมด 3 ล้านราย พร้อมรายได้ที่กลับมาคุ้มทุนเป็นปีแรก หรือคาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 6,000-7,000 ล้านบาทได้
“แกรมมี่” เชื่อประโยชน์อยู่ที่ผู้ชม
ด้าน “แกรมมี่” โดย นายกริช ทอมมัส ผู้บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด กล่าวว่า การรวมกันของซีทีเอช และจีเอ็มเอ็ม บี จะช่วยในเรื่องการบริหารทรัพยากรและใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญถือเป็นการลดต้นทุนต่างๆ ได้เป็นอย่างดี สมาชิกจากทั้งสองฝ่ายสามารถดูรายการจากอีกฝ่ายเพิ่มได้ ส่งผลให้แต่ละฝ่ายมีพื้นที่คอนเทนต์เพิ่มขึ้น
แพกเกจใหม่ “Bundle Product” จาก “ซีทีเอช” และ “จีเอ็มเอ็ม แซท”
นายฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ หน่วยงานแพลตฟอร์ม บริษัท แซท เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวเสริมว่า บริษัทจะมีการจัดทำแพกเกจออกมาตอบโจทย์ผู้ชมทุกกลุ่มในราคาตั้งแต่ 199-999 บาท รวมไปถึงการเพิ่มแพกเกจ “Bundle Product” จากทาง “ซีทีเอช” และ “จีเอ็มเอ็ม แซท” เพย์ ทีวี อีก 5 แพกเกจคือ
1.กล่องจีเอ็มเอ็มแซท รุ่น เฮชดี ไลท์ พร้อมแพคเกจ CTHZ Premier League Plus HD 365 วัน
2.กล่อง จีเอ็มเอ็ม แซท รุ่น เฮชดี ไลท์ พร้อมแพคเกจ CTHZ Premier League Plus HD 120 วัน
3.กล่องจีเอ็มเอ็มแซท รุ่น เฮชดีไลท์ พร้อมแพคเกจสำหรับรับชมฟุตบอลพรีเมียร์ลีก BPL 270 วัน
4.กล่องจีเอ็มเอ็มแซท รุ่น เฮชดี ไลท์ พร้อมแพคเกจ Platinum HD 180 วัน
5.กล่องจีเอ็มเอ็มแซท รุ่น เฮชดี ไลท์ พร้อมแพคเกจ Gold 180 วัน
ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถหาซื้อกล่องเหล่านี้ได้จากจุดขายร่วม 10,000 จุดทั่วประเทศ โดยยอดขายต่อเดือนวางไว้ที่ 1 แสนกล่อง จากปัจจุบัน “จีเอ็มเอ็ม แซท” มีฐานสมาชิกอยู่กว่า 1.5-2 ล้านกล่อง
“ทรูวิชั่นส์” อัด “คอนเทนต์” สู้ศึก
อย่างไรก็ตาม ฟาก “ทรูวิชั่นส์” โดย นายอรรถพล ณ บางช้าง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายรายการ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มีการลงทุนในหลายๆ แพลทฟอร์มและมีการคาดการณ์กันว่าภายใน 2-3 ปีจะมีการรวมตัวกันของแต่ละผู้ประกอบการ เพราะเป็นธุรกิจที่ลงทุนสูงปีแรกแต่ว่ารายได้น้อย สุดท้ายจะหันมาจับมือกัน
“ทรูวิชั่นส์ปรับแผนรุกเช่นกัน โดยปรับเปลี่ยนแพกเกจการรับชมให้ตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิกได้ดียิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้สมาชิกหลุดไปสู่แพลทฟอร์มอื่น โดยชู 4 กลยุทธ์หลักคือ 1.แพกเกจคอนเทนต์ต้องครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย 2.ความเสถียรของกล่องรับสัญญาณ 3.คอนเทนต์และช่องรายการแบบHD และ 4.บริการหลังการขายรวมถึงระบบคอลเซนเตอร์ พร้อมกับเตรียมเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทเพื่อซื้อลิขสิทธิ์คอนเท้นต์ต่างๆในปีหน้า”
ทางด้านแหล่งข่าวในวงการเพย์ทีวี ได้วิเคราะห์ว่า การที่ “ซีทีเอช” และ”แกรมมี่” ผนึกกำลังกันครั้งนี้เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ หลังจากที่เพย์ทีวีบูมมากในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในแง่การลงทุน เกิดการแข่งขันที่รุนแรง แต่รายได้ที่คืนกลับมาไม่ประสบความสำเร็จ การรวมตัวกันจึงเกิดขึ้น พร้อมชูความแข็งแกร่ง หรือมุ่งดำเนินธุรกิจตามที่ตัวเองถนัด เช่นเดียวกับทาง “ซีทีเอช” หลังจากที่ลงทุนซื้อพรีเมียร์ลีกด้วยมูลค่าสูงถึง 10,000 กว่าล้านบาท แต่ในปีแรก หรือในปี2556 ตามตัวเลขที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2556 นั้นพบว่ามีรายได้เพียง 730.70 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 4,420.07 ล้านบาท และมีหนี้สินรวมกว่า 12,932.88 ล้านบาท ส่วนทาง “จีเอ็มเอ็ม บี” จากตัวเลขที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2556 พบว่าสถานะการเงิน มีรายได้รวม 103.61 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 1,122.70 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 3,243.24 ล้านบาท
ต้องถือว่าในเมื่อต่างฝ่ายต่างขาดทุนในธุรกิจเพย์ทีวีด้วยกันทั้งคู่ แผนการรวมตัวกันด้วยกลยุทธ์ “ไฮยีน่า” จะสามารถล้ม “ช้าง” ได้หรือไม่ ? หรือจะเป็นแค่ “ราคาคุย” เมื่อหลังพิงฝา ! ก็ต้องรอพิสูจน์และติดตามชมตอนต่อไป