xs
xsm
sm
md
lg

หลักคิดที่ผิดพลาดของระบบเลือกตั้งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ผมคิดว่าหลักคิดสำคัญบางอย่างเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เขียนในร่างรัฐธรรมนูญเป็นหลักคิดที่ผิดพลาด ซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยในอนาคต

ความผิดพลาดดังกล่าวคือฐานคิดที่มองว่า “ส.ส. เป็นเพียงผู้แทนเขตเลือกตั้ง” ซึ่งเห็นได้จากการที่กรธ.กำหนดให้นำคะแนนเสียงของ ส.ส. แต่ละเขตมารวมเป็นคะแนนทั้งหมดของพรรคการเมือง และนำมากำหนดเป็นจำนวน ส.ส.ทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นพึงได้รับ

การนำหลักคิดเช่นนี้ไปปฏิบัติจะทำให้ผู้สมัครส.ส. มีอิทธิพลในการต่อรองกับพรรคสูงมาก ซึ่งก่อให้เกิดความเป็นอิสระอย่างสุดขั้วของผู้สมัคร และผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งก็จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อหวังรักษาคะแนนนิยมในเขตเลือกตั้งของตนเองให้ดำรงอยู่และเพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึง “ความเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม” และการพัฒนาพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัด

นโยบายของพรรคที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงก็ไร้ความหมายและถูกละเลย การพัฒนาพรรคการเมืองให้กลายเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์และพันธกิจเพื่อประเทศชาติก็ยากจะเกิดขึ้นได้ การเมืองก็จะตกอยู่ในวังวนของการเล่นเกมระหว่างตัวบุคคลเป็นหลักเช่นเดิมและอาจหนักขึ้นกว่าเดิม

ผู้ที่คิดให้ความสำคัญกับ ส.ส.เขตมักอ้างว่า ประชาชนไทยต้องพึ่งพา ส.ส. ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ใช้มากว่า 80 ปีแล้ว พวกเขาอาจมิได้คิดว่าประชาชนมีพัฒนาการความคิดทางการเมืองที่แตกต่างจากเดิมไปมาก ยังคงเข้าใจอย่างผิดๆว่า คนส่วนใหญ่พึ่งพา ส.ส. เหมือนดังในอดีต ทั้งที่ความเป็นจริงในปัจจุบันประชาชนพึ่งพา ส.ส. มีสัดส่วนน้อยอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับประชานทั้งหมด เพราะว่าระบบการบริหารภาครัฐในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่นต่างก็ทำงานในทิศทางที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากกว่าอดีตอย่างเทียบกันไม่ได้ อีกทั้งภาคประชาชนจำนวนมากก็มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มและสมาคม ซึ่งทำให้มีพลังความสามารถเข้าถึงและต่อรองกับฝ่ายบริหารในส่วนกลางได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องกระทำผ่าน ส.ส.ดังในอดีตแล้ว

ดังนั้นการอ้างว่าประชาชนต้องพึ่งพา ส.ส.ในเขตเลือกตั้งจึงเป็นข้ออ้างที่ทำตามกันมาโดยมิได้วิเคราะห์พัฒนาการของสังคมอย่างรอบด้าน เป็นข้ออ้างเพื่อคงความสำคัญของตนเอง และเป็นข้ออ้างเพื่อละเลยภาระหน้าที่หลักของ ส.ส. ในฐานะที่เป็นตัวแทนของปวงชนทั้งประเทศในการออกกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ แก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ล้าหลัง และตรวจสอบและควบคุมการทำงานของฝ่ายบริหารอย่างเข้มข้น

ฐานคิดที่ผมคิดว่ามีทิศทางในการส่งเสริมการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศโดยรวมคือ ฐานคิดที่เราต้องมอง ส.ส.เป็นตัวแทนผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ ซึ่งจะต้องตัดสินใจเลือกแนวทางออกกฎหมายอย่างรอบคอบและชาญฉลาดในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ และเอื้อต่อการพัฒนาสังคมไปสู่ความสันติสุขและความรุ่งเรือง

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ต้องทำให้พรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส.และสมาชิกพรรคหลอมรวมภายใต้อุดมการณ์และพันธกิจอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อสร้างนโยบายของพรรคให้เป็นนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน มีสมรรถนะในการแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างมีประสิทธิผล มีการกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศในอนาคตอย่างชัดเจน มีทางเลือกและแนวทางการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ และยังประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ของประเทศ
ระบบเลือกตั้งที่ส่งเสริมให้เกิดสถานการณ์เช่นนั้นได้คือ ระบบการเลือกตั้งที่เอื้อต่อการพัฒนาพรรคการเมืองให้มีความสำคัญและมีความหลากหลาย เพื่อให้ประชาชนกลุ่มต่างๆสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองเข้าไปแข่งขันในสนามเลือกตั้งได้อย่างอิสระ โดยมิถูกครอบงำจากนายทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งดังในปัจจุบัน

กลไกของระบบเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การพัฒนาการของพรรคการเมืองที่หลากหลายและเป็นตัวแทนของกลุ่มอุดมการณ์มีดังนี้

1.มี ส.ส. แบบระบบบัญชีรายชื่อ 2 แบบ แบบแรกคือ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน โดยระบุชื่อตามเขตเลือกตั้งให้ครบทุกเขต และแบบที่สองคือระบบบัญชีรายชื่อประเทศจำนวน 150 คน ในการเลือกตั้ง พรรคการเมืองต้องส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.สทั้งสองประเภทให้ครบทุกพรรค

2.การเลือกตั้งใช้บัตรใบเดียว โดยให้เลือกพรรคการเมือง แทนที่จะเลือก ส.ส. เขต

3.นำคะแนนของพรรคที่ได้ในแต่ละเขตมารวมกัน กลายเป็นคะแนนรวมของพรรคนั้นทั้งประเทศ แล้วมากำหนดเป็นจำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นพึงได้ตามสัดส่วน

4.เขตเลือกตั้งที่พรรคใดได้คะแนนเสียงสูงสุด ให้รายชื่อตามบัญชีผู้สมัครส.ส.ในเขตนั้นของพรรคได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทำเช่นนี้จนครบจำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นพึงมี แต่หาก ส.ส.ที่พึงมีตามคะแนนรวมมีมากกว่า ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อระดับเขตที่พรรค ก็ให้นำบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อระดับประเทศ มาเป็น ส.ส.ของพรรคตามลำดับ

5.ระบบนี้นอกจากพรรคการเมืองต้องหาผู้สมัครที่ดีที่สุดลงในบัญชีรายชื่อเขต เพราะมีผลต่อคะแนนรวมของพรรคแล้ว ยังทำให้ผู้สมัครระดับเขตจะคำนึงฐานเสียงของตนเองแล้ว ยังต้องตระหนักถึงภาพรวมของพรรคและนโยบายของพรรคด้วย เพราะหากพรรคมีนโยบายดีและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ก็จะทำให้ประชาชนเลือกพรรคมากขึ้น และเมื่อประชาชนเลือกพรรคมากขึ้นก็ย่อมส่งผลเชิงบวกต่อผู้สมัครบัญชีรายชื่อประจำเขตนั้นตามไปด้วย

6.เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่เกิดใหม่และพรรคการเมืองที่มีทุนจำนวนน้อย จึงควรยกเลิกค่าสมัครในการเลือกตั้ง หรือเก็บในอัตราต่ำ เช่น ไม่เกิน 1,000 บาทต่อรายชื่อ

ระบบการเลือกตั้งที่ผมนำเสนอนี้เป็นการพลิกกลับหลักคิดของ กรธ. แต่ใช้วิธีการคิดคะแนนแบบเดียวกัน ภายใต้หลักคิดใหม่จะช่วยให้กลุ่มประชาชน คนเล็กคนน้อย ผู้ด้อยโอกาส กลุ่มผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองและส่งบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งครบทุกเขตและมีโอกาสได้รับเลือกด้วย

แต่หากใช้ระบบการเลือกตั้งของ กรธ. ที่ให้ความสำคัญกับส.ส.เขต และนำคะแนน ส.ส.เขตมาคำนวณเป็นจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ก็จะเป็นการตัดโอกาสและกีดกันไม่ให้กลุ่มคนที่ไร้ทุนเข้าสู่เวทีการเมือง

ประชาธิปไตยหมายถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ต้องเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มในสังคมเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกันมิใช่หรือ แล้วไยเล่า กรธ.จึงต้องออกแบบระบบเลือกตั้งที่มีโครงสร้างกีดกัน (structural exclusion) การเข้าถึงอำนาจของผู้ที่ไร้ทุน ไร้เงินเล่า

ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้น ซึ่งเป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ผมคิดว่าควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มี 200 คน และจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง แต่ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งได้จะต้องเป็นผู้ที่เคยเสียภาษีเงินได้แก่ประเทศอย่างน้อย 2 ปี ส่วนผู้มีสิทธิสมัคร ส.ว.ได้ ต้องมีอายุ 40 ปี ขึ้นไป และต้องเคยเสียภาษีเงินได้ 10 ปี

ผมคิดว่าภายใต้ระบบการเลือกตั้งและการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร และผู้มีสิทธิเลือกตั้งแบบนี้จะทำให้เราได้ ส.ว.ที่มีคุณภาพขึ้น และไม่ได้เป็นการกีดกันกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป เพราะหากใครประสงค์จะมีสิทธิเลือกตั้ง ส.ว. ก็จะต้องดำเนินการเสียภาษีเงินได้แก่ประเทศให้ถูกต้อง และผมคิดว่าในแต่ละกลุ่มอาชีพมีคนรายได้สูงเพียงพอที่จะยื่นเสียภาษีเงินได้แก่แผ่นดินจำนวนไม่น้อย ระบบนี้จึงไม่เป็นการกีดกันอาชีพใดอาชีพหนึ่ง

ส่วนใครที่มีรายได้น้อย แต่ประสงค์จะมีสิทธิเลือก สว. ก็ต้องพัฒนาตนเองและแสวงหารายได้ให้มากขึ้น และต้องยื่นเสียภาษีเงินได้ ส่วนใครอยากสมัคร ส.ว. ก็ต้องพิสูจน์แล้วว่ามีความรับผิดชอบต่อประเทศโดยการเสียภาษีอย่างน้อย 10 ปี

เราจะได้ข้ามพ้นวังวนของการถกเถียงในประเด็นว่าจะเลือกตั้ง ส.ว.ดี หรือจะสรรหาดี และเราก็สามารถตอบโจทย์ของการวางรากฐานประชาธิปไตยและการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมสำหรับอนาคตได้ด้วย


In Pics :ชัยชนะของอเมริกันโปรเกรสซีฟ!! “เบอร์นี แซนเดอร์ส” กร้าวกลางเวที “ผลคะแนนตีเสมอฮิลลารี คลินตัน” เป็นสึนามิส่งถึง “การเมืองเอสแทบลิชเมนต์-วอลสตรีท-สื่อสหรัฐฯ”
In Pics :ชัยชนะของอเมริกันโปรเกรสซีฟ!! “เบอร์นี แซนเดอร์ส” กร้าวกลางเวที “ผลคะแนนตีเสมอฮิลลารี คลินตัน” เป็นสึนามิส่งถึง “การเมืองเอสแทบลิชเมนต์-วอลสตรีท-สื่อสหรัฐฯ”
ส.ว. สายอิสระ รัฐเวอร์มอนต์ “เบอร์นี แซนเดอร์ส” ก้าวขึ้นเวทีเปิดใจเป็นครั้งแรก ประกาศจุดเริ่มต้นในการปฏิวัติอำนาจการเมืองอเมริกา หลังจากที่ทุกสายตาทั่วโลกจับจ้องไปที่ผลคะแนนการเลือกตั้งรอบคอคัสในรัฐไอโอวาในฝั่งพรรคเดโมแครตที่ไม่น่าเชื่อว่า กระแสโซเชียลเดโมแครตจะทำให้คะแนนของแซนเดอร์ส เสมอกับ ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เป็นที่รู้จัก และตัวเต็งในกระแสหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น