ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 นอกจากสะท้อนความล้มเหลวของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธาน ยังมีนัยถึงความไม่ลงตัวในสมการอำนาจของการเมืองไทย การยื้อยุดระหว่างกลุ่มพลังอำนาจยังคงหาจุดที่เหมาะสมไม่ได้ การถกเถียงต่อสู้ทางความคิดและการจัดสรรผลประโยชน์ยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น
กล่าวอย่างรวบยอดร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธานเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับกลุ่มทหาร ข้าราชการ ศาล และภาคประชาสังคม ขณะเดียวกันก็พยายามลดอำนาจกลุ่มนักการเมือง มีการกำหนดมาตรการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเข้มข้น และเปิดประตูให้กับการบริหารพัฒนาที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพิ่มขึ้น
คำถามคือทำไมกลุ่มทหารที่เป็นสมาชิก สปช. เกือบทั้งหมดจึงมีมติในทิศทางเดียวกันเพื่อคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น หรือว่าอำนาจที่ให้ไปยังไม่เพียงพอ หรือเห็นว่าให้อำนาจ ประชาชนมากเกินไป หรือเห็นว่าไปตัดอำนาจของนักการเมืองมากเกินไป
คำอธิบายที่สาธารณะได้รับฟังจากผู้ที่เป็นเสมือนปากเสียงแทนทหารกลุ่มที่เป็นสมาชิก สปช.คือ หากปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านไป และเข้าสู่กระบวนการลงประชามติ ได้มีการประเมินว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นคงไม่ผ่านประชามติแน่ เพราะว่าพรรคการเมืองหลักอย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ไม่เอา และหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติก็จะส่งผลกระทบต่อสถานภาพและความชอบธรรมในการปกครองของรัฐบาลและ คสช. อย่างรุนแรง
ประเด็นหลักที่นำไปสู่การคัดค้านของนักการเมืองที่ปรากฏต่อสาธารณะคือ การได้มาของสมาชิกวุฒิสภา ระบบการเลือกตั้ง และ การจัดตั้งองค์การที่เรียกว่า คปป. ซึ่งถูกตีความเป็นการสืบทอดอำนาจและสามารถแทรกแซงการบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งได้
การได้มาของสมาชิกวุฒิสภาเป็นปมปัญหามาโดยตลอดในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา นักการเมืองอยากได้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะว่าพวกเขามีเครือข่ายการจัดตั้งในระดับจังหวัดที่สามารถกำหนดได้ว่าจะให้ใครได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ขณะที่อดีตวุฒิสมาชิกที่เคยมาจากการสรรหาบางส่วนเห็นว่า สมาชิกวุฒิสภาควรมาจากการสรรหาทั้งหมด เพราะว่าจะทำให้ได้สมาชิกวุฒิสภาที่มีความหลากหลายกลุ่มและอาชีพมากกว่าการเลือกตั้ง รวมทั้งจากข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ของการปฏิบัติงานในช่วงสิบปีที่ผ่านมา สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหามีแนวโน้มปฏิบัติหน้าที่ได้มีประสิทธิผลในฐานะที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชาติมากกว่าสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญพยายามประนีประนอมโดยกำหนดให้มีวุฒิสมาชิกทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและสรรหา ซึ่งเป็นโครงสร้างเดียวกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่แนวทางและวิธีการสรรหาแตกต่างกันในรายละเอียด
สำหรับประเด็นระบบการเลือกตั้ง สิ่งที่พรรคการเมืองต้องการคือระบบเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวทั้งหมด หรือกรณีที่มีระบบบัญชีรายชื่อก็ให้มีแต่จำนวนน้อย และในการนับคะแนนนั้นจะต้องนับแยกกันระหว่างการเลือกตั้งแบบเขต กับการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งในการกำหนดว่าใครจะได้รับเลือกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นจะต้องเรียงลำดับตามหมายเลขที่พรรคการเมืองนั้นๆกำหนดมา มิใช่ให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดดังที่คณะกรรมการยกร่างเสนอ กล่าวอย่างง่ายๆคือ พรรคการเมืองอยากได้ระบบการเลือกตั้งแบบเดิมที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นั่นเอง
ด้านประเด็น คปป. ที่มีชื่อเต็มว่า คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เป็นเรื่องที่นักการเมืองวิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นการสืบทอดอำนาจ เป็นการสร้างรัฐซ้อนรัฐเพราะมีอำนาจทั้งทางบริหารและนิติบัญญัติ เรื่องนี้สามารถเข้าใจได้เพราะไม่มีใครหรือกลุ่มใดที่จะยินยอมแบ่งอำนาจให้กลุ่มอื่น ที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรเลย บรรดานักการเมืองมีความคิดว่าพวกเขาลงทุน ลงแรงและเหน็ดเหนื่อยสาหัสกว่าจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามา แล้วทำไมจึงต้องแบ่งปันอำนาจให้กลุ่มอื่นๆที่ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น
ถ้าหากกลุ่มทหารที่ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เกรงว่านักการเมืองจะรณรงค์ให้มวลชน ใน สังกัดของตนเองไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยประเด็นดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็มีนัยต่อไปว่าคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน จะต้องร่างรัฐธรรมนูญที่นักการเมืองยอมรับ เพื่อลดกระแสต่อต้านจากนักการเมือง และบรรเทาความหวั่นเกรงของกลุ่มอำนาจรัฐในปัจจุบัน
แต่การร่างแบบนั้นก็หมายความว่านักการเมืองยังคงเป็นกลุ่มที่มีอำนาจหลักเช่นเดิมดังที่เคยเป็นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งก็เท่ากับย้อนกลับไปสู่วังวนของปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานอยู่ร่วมสองทศวรรษ
วิธีคิดที่ว่าการให้อำนาจแก่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เท่ากับการให้อำนาจประชาชนนั้นดูเหมือนสมเหตุสมผลในเชิงหลักการ หากผู้นั้นมีฐานคติว่านักการเมืองเป็นตัวแทนประชาชนอย่างสัมบูรณ์ หรือนักการเมืองตัดสินใจและกระทำทางการเมืองสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติโดยรวม
แต่หลักคิดที่ดูเหมือนสมเหตุสมผลนี้กลับไม่มี “ความสมจริง” เลยแม้แต่น้อยในบริบทของสังคมไทย เพราะว่าการตัดสินใจของนักการเมืองเกือบทั้งหมดมีแนวโน้มไม่ขึ้นต่อและเป็นอิสระจากเจตจำนงของประชาชนและผลประโยชน์ของชาติโดยรวม พูดง่ายๆคือนักการเมืองตัดสินใจเพี่อดำรงอำนาจ สถานภาพ และผลประโยชน์ของกลุ่มตนเองเป็นหลักเท่านั้น
การออกแบบรัฐธรรมนูญโดยให้อำนาจกับนักการเมืองมาก แต่มีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลจากกลุ่มอื่นๆในสังคมน้อย จึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และยังสะท้อนถึงการไม่เรียนรู้และสรุปบทเรียนความผิดพลาดในอดีต
ขณะเดียวกันการออกแบบให้อำนาจแก่กลุ่มทหารและข้าราชการมากดังที่ปรากฏในร่างที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณเป็นประธาน ก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการย้อนยุคและดูเหมือนจะไม่เป็นยอมรับจากสาธารณะ โดยเฉพาะประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาและ คปป.
ส่วนการออกแบบให้ประชาชนมีอำนาจมาก และมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจโดยตรงกับกลุ่มผู้ใช้อำนาจรัฐมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักการเมืองหรือข้าราชการก็ตาม แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดี มีความเหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตย แต่ก็อาจได้รับการต่อต้านจากกลุ่มข้าราชการและกลุ่มนักการเมือง รวมทั้งยังอาจมีปัญหากับวุฒิภาวะทางการเมืองของประชาชนบางกลุ่มที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย และในท้ายที่สุดก็กลายเป็นว่ามีกลุ่มประชาชนจำนวนไม่น้อยกลายเป็นตัวแทนหรือ “หุ่นเชิด” ของนักการเมือง หรือ อาจมีการเล่นการเมืองเสียยิ่งกว่านักการเมืองก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามการเปิดกว้าง เปิดโอกาสให้กลุ่มพลังต่างๆในสังคมสามารถเข้าถึงและใช้อำนาจรัฐได้อย่างเท่าเทียมกันเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง การออกแบบให้อำนาจรัฐผูกขาดอยู่เฉพาะกลุ่มนักการเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นนายทุน และกลุ่มข้าราชการซึ่งส่วนใหญ่มีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม นอกจากมิใช่ทางออกของสังคมแล้ว ยังกลายเป็นเงื่อนไขที่สะสมความขัดแย้งให้รุนแรงยิ่งขึ้นในวันข้างหน้า
แต่สิ่งที่ผมเห็นและเป็นอยู่ของการจัดการบริหารบ้านเมือง การเลือกบุคคลและกลุ่มที่มาใช้อำนาจรัฐในองค์การต่างๆที่มีบทบาทนำในสังคม รวมทั้งการเลือกกลุ่มคนมาออกแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคมหรือมาร่างรัฐธรรมนูญนั้น ผมมีความกังวลอย่างลึกๆว่า วังวนเดิมกำลังอุบัติขึ้นมาอีก และผลกระทบที่เกิดขึ้นในอนาคตอาจมากกว่าเดิมเป็นทวีคูณ