xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ท้า “บิ๊กตู่” เปิดชื่อผู้ถือหุ้นอุปการคุณ ปตท.ก่อนตอบคำถาม 4 ข้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ท้านายกฯ สั่งเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นผู้มีอุปการคุณ ปตท.ก่อนตอบคำถาม 4 ข้อ ชี้หากกล้าเผยชื่อจะเป็นบรรทัดฐานของรัฐบาลธรรมาภิบาล ประชาชนพร้อมหนุน แต่ถ้ายังไม่กล้า ถึงมียุทธศาสตร์-แผนปฏิรูปก็แค่ซุกขยะใต้พรม ให้มีรัฐบาลเลือกตั้งเสียยังจะดีกว่า

วันนี้ (31 พ.ค.) เมื่อเวลา 15.20 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อคามในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล หัวข้อเรื่อง “ตอบ 4 คำถามบิ๊กตู่ ด้วยธรรมาภิบาลพลังงาน” โดยมีรายละเอียดว่า

“คำถามทั้ง 4 ข้อของนายกฯ ตู่ มีหัวใจอยู่ที่เรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งรัฐธรรมนูญและกลไกต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนของกำนันสุเทพ ที่ต้องการให้ท่านนายกฯ คนปัจจุบันได้มีโอกาสเป็นตัวเลือกกลับมาเป็นนายกฯ คนต่อไปเพื่อสานต่อยุทธศาสตร์การปฏิรูปในอนาคต

ดังนั้น ก่อนท่านนายกฯ ปัจจุบันที่อาจจะมาเป็นนายกฯ ในอนาคต จึงต้องขอให้ท่านนายกฯ ตู่ลองตอบคำถาม 4 ข้อนี้เพื่อประเมินความมีธรรมาภิบาลของท่านที่จะมาเป็นนักการเมืองในอนาคตด้วยประเด็นธรรมาภิบาลเรื่องพลังงาน

หุ้นที่ ปตท.จัดสรรให้ “ผู้มีอุปการคุณ” เมื่อมีการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ยังไม่ยอมเปิดเผย

คปพ.ได้ทำหนังสือขอไป แต่ บมจ.ปตท.ก็ปฏิเสธ เมื่อวันจันทร์ที่ 29 พ.ค. 2560 คปพ.ได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานข้อมูลข่าวสารทางราชการให้พิจารณาสั่งให้มีการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะมีข้ออ้างโยกโย้ไม่เปิดเผยอีกหรือไม่

ท่านนายกรัฐมนตรีควรแสดงความมีธรรมาภิบาลในฐานะ “นักการเมืองปัจจุบัน” (ที่มาจากการรัฐประหาร) ว่ามีธรรมาภิบาลมากกว่านักการเมืองในอนาคต (ที่มาจากการเลือกตั้ง) ที่ท่านห่วงกังวลว่าจะไม่มีธรรมาภิบาล ด้วยการสั่งให้เปิดเผยรายชื่อของผู้มี “อุปการคุณ” ของ ปตท.ว่ามีใครบ้าง และได้รับจัดสรรหุ้นทั้งจำนวนเท่าไหร่และด้วยราคาใด

ถ้าท่านนายกฯ ในฐานะนักการเมืองปัจจุบันสั่งให้เปิดเผยหุ้นผู้มีอุปการคุณได้จริง ก็จะสามารถตอบคำถามที่ท่านถามได้ดังนี้

Q : ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่?
A : ถ้าท่านนายกฯ ปัจจุบันสามารถเปิดเผยหุ้นผู้มีอุปการคุณ ปตท.ได้ แสดงว่าเลือกตั้งครั้งต่อไป ย่อมมีบรรทัดฐานให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล สมคำสโลแกนของธรรมาภิบาลด้านข้อมูลข่าวสาร ที่ว่า 'เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นรอง' และ 'รัฐบาลรู้อะไร ประชาชนรู้อย่างนั้น' มิใช่ 'รัฐบาลไม่อยากให้รู้อะไร ประชาชนก็จงอย่าอยากรู้อย่างนั้น'

2) Q : หากไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลจะทำอย่างไร?
A : ประชาชนจะสนับสนุนทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่กล้าเป็นตัวแทนของประชาชนเปิดเผยชื่อหุ้นผู้มีอุปการคุณของปตท.ซึ่งเป็นทรัพย์สินของประชาชนอยู่แล้ว

3) Q : การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้นถูกต้องหรือไม่?
A : ถ้ารัฐบาลนายกฯ ตู่ยังไม่สามารถสั่งเปิดเผยชื่อหุ้นผู้มีอุปการคุณของ ปตท.ซึ่งเป็นธรรมาภิบาลง่ายๆ ที่รัฐบาล คสช.สามารถทำได้อยู่แล้ว ยุทธศาสตร์ชาติและโมเดลการปฏิรูปของรัฐบาลปัจจุบันก็อาจเป็นเพียงพรมที่ซุกขยะเน่าเหม็นไว้ข้างใต้ใช่หรือไม่

ดังนั้นจึงสมควรให้มีการเลือกตั้ง ดีกว่าปล่อยให้พวกที่ปากชูธงยุทธศาสตร์ชาติแต่สอบตกเรื่องธรรมาภิบาล เข้ามาเป็นรัฐบาลในอนาคตอีก

4) Q : คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร? นักการเมืองคนใดก็ตามที่กล้าเปิดเผยชื่อหุ้นผู้มีอุปการคุณของปตท.ย่อมสามารถเสนอตัวเข้ามาเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนได้

หากนักการเมืองขี้โกงเข้ามาได้อีก ประชาชนจะเป็นผู้แก้ไขเอง โดยใช้กลไกตรวจสอบทางรัฐธรรมนูญอย่างถึงที่สุด”
กำลังโหลดความคิดเห็น