xs
xsm
sm
md
lg

ปาหี่ถาม-ตอบรธน.ฉลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360-"มีชัย"นำ กรธ. แจง สนช. สปท. ที่มารัฐธรรมนูญ ยันมุ่งแก้ปัญหาหลัก 3 ประการ "ทุจริต-ขาดวินัย-การใช้กฎหมาย" ยันสิทธิเสรีภาพยังมีอยู่เต็ม ปัดให้ศาลรัฐธรรมนูญใหญ่สุด สุดท้ายจบปาหี่ถาม-ตอบแบบราบรื่น ไร้ปัญหา ส่วนปมแม่น้ำ 4 สาย ลาออกก่อนลง ส.ส.-ส.ว. ไร้คำตอบ "บิ๊กหมู"ดอดพบ "บิ๊กตู่" คาดคุยปัญหาต้านรัฐธรรมนูญ ด้านรัฐบาลผุดรายการ "แกะกล่องรัฐธรรมนูญใหม่" แจงประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00น.วานนี้ (3ก.พ.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เปิดการประชุมร่วมกันระหว่าง สนช. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เพื่อรับฟังเนื้อหา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวสรุปภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ คณะกรธ.ได้มองย้อนดูกลับไปถึงปัญหาในอดีต ที่ทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าได้ ซึ่งกรธ.ได้มุ่งขจัดปัญหาเหล่านั้น หรือปิดช่องว่างที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเดิมๆ ให้หมดสิ้นไป

สำหรับปัญหาที่ทำให้บ้านเมืองไปไหนไม่ได้ มีปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ 1.การทุจริต และประพฤติมิชอบ นับวันจะมีมากขึ้นทุกวัน และทำท่าจะกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ ในบางส่วนของสังคม 2.การย่อหย่อนในเรื่องวินัยของบุคคล ทำให้ไม่ว่าจะออกกฎหมายมาบังคับอย่างไร แต่การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและการไม่ตระหนักถึงภาระที่มีต่อสังคมโดยส่วนรวมนับวันจะมากขึ้น และ 3.การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด กลไกกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นยังมีความย่อหย่อนอยู่

"ถ้าจะทำรัฐธรรมนูญให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง จะต้องแก้ปัญหาทั้ง 3 เรื่องนั้นให้ได้ กรธ.จึงได้มุ่งประเด็นไปที่ 3 เรื่องดังกล่าว"นายมีชัยกล่าว

นายมีชัยยืนยันต่อว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่ได้หายไป คนไทยมีสิทธิเสรีภาพทั้งปวงในทุกเรื่อง ยกเว้นเฉพาะที่จะจำกัดไว้ในกฎหมาย แต่ถ้าเขียนแบบเดิม แล้วใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็จะกลายเป็นว่าสิ่งที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ประชาชนถึงจะมีสิทธิ ส่วนข้อสงสัย ฝ่ายบริหารจะมาออกกฎหมายจำกัดสิทธิ ก็เขียนไว้ว่าการออกกฎหมาย ต้องไม่เกิดกว่าเหตุ เท่าที่จำเป็น และยังระบุอีกว่า การใช้สิทธิเสรีภาพ จะต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น

ส่วนหมวดหน้าที่ของรัฐ ระบุว่า รัฐต้องทำอะไรให้ประชาชนบ้าง ถ้ารัฐไม่ดำเนินการจะถือว่าเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. โดยประชาชนสามารถยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบได้ และมีโทษร้ายแรงถึงขั้นให้ออกจากตำแหน่ง

นายมีชัยกล่าวว่า ยังได้มีการปรับเปลี่ยนองคาพยพทางการเมืองของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อย่างที่มาของ ส.ส. กำหนดให้มี 500 คน เป็น ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน และการให้ลงคะแนนด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว จะทำให้ประชาชนมีกำลังใจในการออกมาลงคะแนนมากขึ้น เพราะคะแนนทุกคะแนนที่มาลง ไม่ว่าจะเลือกใคร ก็จะมีผลในทางการเมือง และที่มาของนายกรัฐมนตรี ก็กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 คนต่อ กกต. ก่อนปิดรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นการเปิดโอกาสนายกรัฐมนตรีคนนอก เพราะพรรคการเมืองสามารถกำหนดในข้อบังคับได้ว่าคนที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. แต่ที่ กรธ. ไม่เขียนไว้ เพราะวันที่ให้ประกาศรายชื่อ ยังไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะไปประกาศชื่อคนที่เป็น ส.ส. ได้อย่างไร รวมทั้งยังกำหนดอีกว่า สภาผู้แทนราษฎร จะต้องเลือกนายกฯ จากพรรคการเมืองที่มีส.ส.ในสภาฯ ไม่น้อยกว่า 5% หรือ 25 คน

สำหรับที่มาขอวุฒิสภาและองค์กรอิสระ นายมีชัย สรุปว่า ในส่วนของ ส.ว. ให้ประชาชนแบ่งกลุ่มกันสมัคร และเลือกกันเอง ภายใต้กลไกที่ กกต. จะกำหนดขึ้น หากให้มีการเลือกตั้ง ก็จะมีพรรคการเมืองมาช่วยหาเสียง ทำให้เกิดความผูกพันกัน ส่วนองค์กรอิสระ กรธ. ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาใหม่ แต่ทำให้คนเชื่อมั่นองค์กรอิสระมากขึ้น โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีอำนาจตามเดิม แต่เปิดช่องให้กว้างขึ้นสำหรับกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นในบ้านเมือง เพื่อให้สามารถหาข้อยุติได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้น ตัวแทน สนช. จำนวน 7 คน อาทิ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายสมชาย แสวงการ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนใหญ่ถามในประเด็นการให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว การแยกศาลรัฐธรรมนูญ ออกจากหมวดศาล รวมถึงอายุของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดเพิ่มขึ้นเป็น 75 ปีบริบูรณ์ ที่มานายกฯ และ ส.ว. ซึ่งในส่วนของส.ว. ที่ให้เลือกกันเองนั้น ประเทศไทยไม่ได้มีความโปร่งใสมากนัก จึงอาจเกิดปัญหาได้ อยากให้ ส.ว.มาจากการสรรหามากกว่าการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่า กรรมการสรรหาจะมีความเป็นกลางมากพอ และเหตุใด กรธ.ถึงกำหนดให้ สนช. สปท. ครม. และ คสช. ไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง หากไม่ลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วัน เพราะ สนช.ยังมีหน้าที่ต้องพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อไป

ต่อมา ตัวแทน สปท. จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ นางนินนาท ชลิตานนท์ และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ถามเกี่ยวกับการนับคะแนนเสียงไม่ตกน้ำแบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ยังมีวิธีอื่นที่สะท้อนเสียงประชาชนหรือไม่ และการใช้บัตรใบเดียว จะเปิดโอกาสให้เกิดการซื้อเสียงหนักขึ้นหรือไม่ การแบ่งเขต และประเภท ส.ส. จะแก้ปัญหาทุจริตการเลือกตั้งได้อย่างไร นายกฯ คนนอก และประเด็นสิทธิ เสรีภาพ ของปวงชนชาวไทย ที่เนื้อหาบางส่วนไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ

นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. ชี้แจงว่า การแยกศาลรัฐธรรมนูญออกจากหมวดศาล ทำให้มีอำนาจหน้าที่เด่นชัด และกระชับมากขึ้น แม้ไม่ได้สังกัดอยู่กับศาลยุติธรรม แต่การพิพากษาคดีต่างๆ จะเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ เช่นเดียวกับศาลยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ส่วนการกำหนดเพิ่มอายุตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากเดิม 70 ปี เป็น 75 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และศาลฎีกา เข้ามารับการสรรหาด้วย เพราะที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญทำงานภายใต้แรงกดดัน โดยไม่มีบทคุ้มครองตุลาการและเจ้าหน้าที่เลย ส่วนข้อสังเกตที่ว่า เหตุใดองค์ประกอบของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีตุลาการที่มาจากการเมือง ในความหมายดังกล่าว หากเป็นนักการเมือง จะไม่ตรงกับคุณสมบัติของตุลาการที่ต้องการความเป็นอิสระ

จากนั้น นายประพันธ์ นัยโกวิท กรธ. ชี้แจงต่อว่า ในส่วนของบัตรเลือกตั้งใบเดียว เจตนารมณ์ของกรธ. พยายามให้ทุกคะแนนที่ประชาชนได้ลงให้มีความหมาย และง่ายต่อการลงคะแนน ประชาชนไม่สับสน

ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. ชี้แจงว่า การแก้ปัญหาประชานิยม กรธ. กำหนดไว้ ระหว่างมาตรา 130-170 เพื่อควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณ ไม่ให้นักการเมืองครอบงำได้

หลังจากชี้แจงกันพอสมควร นายมีชัย กล่าวสรุปว่า หลายคำถามทำให้เราฉุกคิดอะไรบางอย่าง และพร้อมนำกลับไปพิจารณา สำหรับข้อสงสัยของ สปท. ในมาตรา 269 ส่วนที่เว้นไว้ ก็เพราะเรากำลังรอคำตอบจาก สปท. ว่า กำลังมุ่งเน้นประเด็นปฏิรูปอะไรให้บรรลุผล แล้วเราก็จะไปกำหนดไว้ให้ เพื่อรัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการต่อไป

จากนั้น นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ในฐานะประธานการประชุม ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า หากสมาชิก สนช. และ สปท. ยังมีข้อสงสัย หรืออยากเสนอแนะต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งให้ กรธ. พิจารณาเพิ่มเติมได้ ก่อนจะสั่งปิดการประชุมเวลา15.10 น. รวมแม่น้ำ 3 สาย ใช้เวลาซักถามชี้แจง 2 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการตั้งคำถามและชี้แจงเนื้อหาร่างแรกรัฐธรรมนูญของแม่น้ำ 3 สาย เป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย คำถามใดที่ กรธ. ไม่ชี้แจง ก็ไม่มีสมาชิก สนช. หรือ สมาชิก สปท. ติดใจ เช่น คำถามสำคัญที่ กรธ. ไม่ยอมชี้แจง คือ ในบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้แม่น้ำ 4 สาย ต้องลาออกภายใน 90 วัน นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ หากอยากลงสมัคร ส.ส. และส.ว. เพราะหากแม่น้ำ 4 สาย ไม่ลาออกตามกำหนด ก็หมายความว่า ต้องเว้นวรรคทางการเมืองหนึ่งสมัย เป็นเวลา 4 -5 ปี แต่ทำไมกรธ. จึงเว้นวรรคเพียง 2 ปี

วันเดียวกันนี้ ช่วงเช้า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผบ.ทบ. ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะเดินทางกลับในเวลา 10.10 น. ซึ่งคาดว่า จะเป็นการรับทราบนโยบายให้ทหารลงพื้นที่ ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงรายงานสถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีการจับตาการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ และโจมตีรัฐบาล และ คสช. ซึ่งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา มีการเชิญ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. มาพูดคุยทำความเข้าใจ และคาดว่าจะมีการเชิญกลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองอื่นๆ มาทำความเข้าใจเพิ่มเติม

ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดทำรายการ "แกะกล่องรัฐธรรมนูญใหม่" เผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ทุกวันจันทร์-วันศุกร์ แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ หลังเวลา 08.00 น. และก่อนรายการเดินหน้าประเทศไทย ในเวลา 18.00 น. ความยาวประมาณ 3-5 นาที โดยวันศุกร์ จะมีเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น เพื่อชี้แจงและอธิบายให้สังคมเข้าใจเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

สำหรับความคิดเห็นของบุคคลต่างๆ เช่น นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. และอดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า จุดอ่อนของระบบเลือกตั้งแบบบัตรเดียวกาได้ทั้ง ส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นการตัดหนทางพรรคทางเลือกใหม่ และพรรคทุนน้อยโดยสิ้นเชิง ส่วนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับที่มาของ ส.ว. เพราะการเลือกกันเองจะบล็อกโหวตได้ คนทั่วไปจะไม่ได้รับเลือก ต้องมีชื่อเสียง และมีพลังบางอย่างเท่านั้น และยังไม่มีเหตุผลอธิบายว่าแม่น้ำสายที่ยึดอำนาจ ทำไมไม่ถูกตัดสิทธิ
กำลังโหลดความคิดเห็น