xs
xsm
sm
md
lg

ดันคปป.ในร่างใหม่ ผ่าทางตันประเทศ วาง9กรอบร่างรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ประวิตร" เชื่อมี คปป. ในรัฐธรรมนูญใหม่ จะช่วยประเทศไม่ถึงทางตัน ส่วนจะทำได้หรือไม่ ต้องรอดู "มีชัย" ยัน "บิ๊กตู่ บิ๊กป้อม" ไม่เล่นการเมืองอีก ย้ำ คสช. เดินตามโรดแมป จะอยู่อย่างช้าสุดอีกแค่ 20 เดือน ด้าน กรธ. วางกรอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เน้น 9 โครงสร้าง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จำเป็นต้องมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เพื่อแก้ปัญหาความแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ว่า ต้องรอดูนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร ซึ่ง คปป.จะมีหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ แต่มองว่าต้องมีกลไกที่ทำให้ไม่ถึงทางตัน และต้องเดินต่อไปในอนาคตได้ เพราะไม่อยากให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก อยากให้ทุกเรื่องจบสักที และอยู่กันอย่างเป็นสุขดีกว่า ไม่มีใครอยากเป็นใหญ่ทั้งนั้น รวมถึงตนด้วย

ส่วนที่ คสช. และรัฐบาลเข้ามา ก็เพื่อแก้ไขปัญหา เนื่องจากอยากให้ประชาชนมีความสุข และขอให้เลิกขัดแย้งกัน ดังนั้นทางการเมือง เราต้องคิดดูให้ดีว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้ ขอให้ทุกคนช่วยกันคิด และอย่าให้มีทางตัน

"ผมขอพูดตรงๆ ว่า ขอให้จบเสียทีเรื่องการปฏิวัติต่างๆ น่าจะพอกันได้แล้ว ต่อไปปัญหาทางการเมือง ก็ต้องแก้ไขกันเอง ตามความคิดของผม อยากให้เป็นแบบนั้น คิดว่าทุกคน ก็คงคิดแบบผมเหมือนกัน และเป็นเจตนาของ คสช. ที่ไม่อยากเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้น คนแพ้ ก็ต้องยอมรับว่าแพ้ คนชนะ ก็ว่ากันไป ไม่ใช่ว่าแพ้แล้ว ก็ออกมา เพราะประชาชนที่ไม่รู้เรื่อง ก็จะเสียหายด้วย"พล.อ.ประวิตร กล่าว

***ยัน"บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม"ไม่ลงเล่นการเมือง

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการพูดถึงเรื่องนายกฯ คนนอก มองอย่างไร พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับประชาชน หลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็ต้องทำประชามติว่าประชาชนจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ส่วนจะเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ และตอบไม่ได้ เพราะต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า อาจจะเป็นคนใน คสช. เข้ามาเป็นนายกฯ คนกลางนั้น ตนยืนยันว่าไม่มีคนใน คสช. เล่นการเมืองอย่างแน่นอน รวมถึงนายกฯ และตนด้วย แต่ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร อย่าลืมว่านายกฯ คนนอก คนที่เลือกมา คือ ส.ส.ไม่ใช่ใครจะเชิญเข้ามาก็ได้ ตนมองว่าถ้าเป็นปกติแล้ว เขาจะเลือก คสช. เข้ามาหรือไม่ เรื่องนี้ทำไว้เพื่อป้องกัน หากเกิดวิกฤติขึ้นมาอีก เพราะไม่อยากให้มีปัญหาอีกในอนาคต

***ย้ำ คสช. จะอยู่อีกแค่ 20 เดือน

เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับการทำงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในขณะนี้ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เราต้องดำเนินตามโรดแมปให้ได้ เพราะ คสช.ได้กำหนดชัดเจนแล้ว จะดีหรือไม่ดีอย่างไร ผมตอบไม่ได้ แต่ทุกหน่วยงานและแม่น้ำทุกสายต้องเดินตามโรดแมป คสช. ให้ได้ โดย คสช. จะอยู่อีก 20 เดือนอย่างช้าที่สุด ถ้าเร็วขึ้น ก็ต้องว่ากันไป อยู่ไปก็ไม่รู้จะอยู่อย่างไร ขอพอแล้ว คสช. แก้ไขปัญหาทุกอย่างที่มีมากมาย เพราะเราเข้ามาแล้วก็ต้องทำงาน เราเหนื่อยกันทุกคน ทั้งนายกฯ และผม แต่เราพยายามทำให้ดีที่สุด และโปร่งใส ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องใดๆ เพราะขนาดไม่ยุ่งยังโดนใส่ทุกวัน เขียนข้อความกันมาในไลน์ อะไรกันหนักหนา ทุกเรื่อง ผมดูแล้วไม่เห็นจะมีเรื่องจริง ไม่เชื่อไปอ่านในไลน์ดู

ส่วนกองทัพไม่มีอะไร ไม่ห่วง แต่ห่วงเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่พูดกันไปเรื่อยเปื่อย ไม่มีความจริงสักเรื่อง เขียนกันไปได้ว่า คนนั้นไปทะเลาะกัน เป็นพวกคนนั้น ผมไม่เข้าใจ ผมอยู่ตรงนี้ไม่เห็นมีอะไร แต่เอาผมเข้าไปเป็นตัวละครมากมาย ขนาดอยู่เฉยๆ ทำงานอย่างเดียว ก็จะตายอยู่แล้ว

***ยอมรับยังมีการก่อกวนอยู่บ้าง

เมื่อถามว่าในขณะนี้ ยังมีการก่อกวนอยู่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ก็อาจจะมีอยู่บ้าง แต่จะพยายามชี้แจงทำความเข้าใจ ที่ผ่านมา ทุกคนก็เข้าใจดี เพราะอยากให้ประเทศสงบ และเดินหน้าต่อไปได้ แต่เรื่องความขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ ยังมีอยู่ ก็ไม่ว่าอะไร เราก็ดำเนินการกันต่อไป แต่อย่าไปก่อให้เกิดความไม่สงบเกิดขึ้น

เมื่อถามย้ำว่า ยังมีคนก่อกวนไปตัดไฟบ้าน นายมีชัย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดทีมงานของตนไปดูเรื่องดังกล่าวแล้ว และกำลังพิจารณาว่า เกิดจากสาเหตุใด ตอนนี้ให้ฟันธงนั้น ยังไม่ได้ แต่ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดทีมงานลงไป จะเป็นการข่มขู่หรือไม่ ตนไม่ทราบและยังตอบไม่ได้ หากตอบไปจะผิดพลาด ขอเวลาในการตรวจสอบก่อน

***กรธ.วาง9โครงสร้างร่างรัฐธรรมนูญ

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงถึงความคืบหน้าการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญว่า ในส่วนของการร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา คณะอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้พิจารณาไปแล้ว แต่จะยังไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาใดๆ จนกว่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งนายมีชัย เห็นว่าหากไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาออกมาบ้าง จะทำให้การทำงานของ กรธ. เจอศึกหนักได้ ที่ประชุม จึงมีมติว่าเรื่องใดที่ไม่ใช่เรื่องละเอียดอ่อน ก็จะสามารถนำมาเปิดเผยต่อสาธารณชนได้

ทั้งนี้ ล่าสุดคณะอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญแล้วจำนวน 25 มาตรา โดยในหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์ ทางคณะอนุกรรมการฯ ไม่มีการแก้ไข โดยให้คงไว้ตามเดิม

ส่วนในหมวดที่ 1 บททั่วไป มีการตัด มาตรา6 พร้อมกับให้นำเนื้อหา มาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา นำมาไว้ในมาตรา 6 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวินิจฉัยช่องว่างทางปกครองที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติไว้ ให้ใช้ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่เบื้องต้นทาง กรธ. ก็มีความเห็นให้บัญญัติเปิดช่องแก่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัย ใช้หลักการอุดช่องว่างแห่งกฎหมายได้ ซึ่งคล้ายกับมาตรา4 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ ที่ประชุมจึงให้มีการแขวนมาตราดังกล่าวไว้ก่อน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาโครงสร้างการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ 9 เรื่อง คือ 1.รูปแบบของรัฐและสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 3.แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ 4.องคาพยพทางการเมือง (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ) 5.ความสัมพันธ์ขององคาพยพทางการเมือง 6.องค์กรอิสระ 7.องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 8.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 9.บทเฉพาะกาล

***เพื่อไทยแถลงจุดยื่นแก้รัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (14 ต.ค.) เว็ปไซต์พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่แถลงการณ์แสดงจุดยืนและข้อเสนอต่อ กรธ. โดยมีใจความสรุปว่า การร่างรัฐธรรมนูญ ควรมีปรัชญาและเป้าหมายที่ชัดเจน ให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เป็นการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเมืองอย่างยั่งยืน , ขอให้ กรธ. เร่งรัดร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เนื่องจากเป็นการร่างครั้งที่ 2 , ขอให้ กรธ. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ตั้งแต่เริ่มต้นยกร่าง และไม่ควรปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น , โครงสร้างไม่ควรใหญ่โต เทอะทะ , เงื่อนไขในการร่างรัฐธรรมนูญ หรือกรอบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ซึ่งมีอยู่ 10 ประการ ถือเป็นอุปสรรค กรธ. ต้องตีความให้เป็นคุณ ยึดหลักนิติธรรมและหลักการประชาธิปไตย , ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือปี 2550 มาใช้ชั่วคราว และให้มีการเลือกตั้งภายใน 120 วัน โดยให้มีบทเฉพาะกาลให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่ยกร่างฉบับถาวรต่อไป และพรรคเพื่อไทย ขอยืนยันข้อคิดเห็นและข้อเสนอของพรรค ที่เคยเสนอต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2558

สำหรับสาระสำคัญที่เสนอต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ มี 10 ข้อ ได้แก่ 1.ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย 2.วางกลไกการบริหารจัดการประเทศ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล 3.สร้างดุลและระบบตรวจสอบที่เหมาะสมต่อทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย โดยประชาชนมีส่วนร่วม 4.ไม่ออกแบบให้ฝ่ายบริหารเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ วางกลไกการบริหารจัดการประเทศ ที่รังแต่จะนำไปสู่ความล้มเหลวและความขัดแย้ง ไม่สามารถแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ 5.มุ่งสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สร้างโอกาสให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่สร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นใหม่

6.ต้องไม่มีวาระซ่อนเร้น เพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใด 7.ต้องกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง และผู้นำฝ่ายบริหารต้องมาจากตัวแทนที่ประชาชนเลือกเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งที่สังคมไทยคุ้นเคย เข้าใจดีและไม่มีปัญหา มีแต่จะยิ่งสร้างความยุ่งยาก มีปัญหา และไร้ประสิทธิภาพ 8.ต้องเปิดโอกาสให้บุคคลมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวาง ไม่สร้างข้อจำกัดที่ไร้เหตุผล ข้อจำกัดอันเกิดจากกลไกที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพียงเพื่อต้องการกำจัดพรรคการเมืองบางพรรคและนักการเมืองบางฝ่าย 9.ต้องมีระบบกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่างๆ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม 10.รัฐธรรมนูญต้องอยู่บนพื้นฐานที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ไม่ควรกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากจนเกินไป

***ซัดนายกฯ คนนอก-ลากตั้ง สว. ถอยหลัง

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายมีชัย ระบุถึงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในเรื่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ กับให้มี ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดว่า เรื่องนี้ทางพรรคเพื่อไทยได้มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ คือ อำนาจอธิปไตยจะต้องเป็นของปวงชนชาวไทย ดังนั้น โดยหลักการแล้ว นายกฯ จะต้องมาจากการเลือกตั้ง ส่วนเรื่องการสรรหา ส.ว. ก็ต้องยึดโยงกับประชาชนเช่นกัน เพราะปัจจุบันนี้โลกประชาธิปไตยได้พัฒนาไปไกลมาก เราจะอยู่บนโลกคนเดียวไม่ได้ ที่ผ่านมาเราผ่านการต่อสู้ทางความคิดในเรื่องเหล่านี้มามาก จนทราบดีว่าควรทำอย่างไร หากทำอย่างที่นายมีชัยระบุ ก็เป็นการถอยหลังเข้าคลอง
กำลังโหลดความคิดเห็น