xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กตู่คัดกรธ.-สปท.วันนี้ ห่วงแก้รธน.ตัดทิ้งประชามติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"บิ๊กตู่" นัดถกคสช. เคาะรายชื่อ กรธ.-สปท. ทั้งหมดวันนี้ "อุดม"ยอมรับมีการทาบทาม "สุริยะใส" ชี้ "มีชัย" นั่งประธาน กรธ. มีทั้งจุดอ่อน และจุดแข็ง แนะ คสช.เตรียมตอบคำถามสังคม เพราะ "มีชัย" นั่ง กก.คสช. อยู่แล้ว ห่วงแก้ รธน.ชั่วคราวตัดประเด็นลงประชามติออก ด้านรักษาการรองโฆษก พท. อ้างประชาชนให้ความสำคัญกับเนื้องหาร่าง รธน.มากกว่าตัวบุคคลที่จะมายกร่าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 ต.ค.)พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นประธานการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่บ้านเกษะโกมล คาดว่าจะมีการหารือ เรื่องรายชื่อ ประธาน และสมาชิกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เนื่องจากวันที่ 6 ต.ค.ก็จะครบกำหนดระยะเวลา 30 วัน ที่นายกรัฐมนตรี และคสช. ต้องประกาศรายชื่อบุคคลที่ได้รับเลือกเป็นกรธ. และสปท.ให้เสร็จ ตามที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1 ) กำหนดไว้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้โทรศัพท์พูดคุยกับบุคคลในรายชื่อว่าที่ กรธ. ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้คัดเลือกไว้ จำนวน 4 คน โดยระบุว่า หากเชิญให้เป็น กรธ.จะขัดข้องหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ขัดข้องแต่อย่างใด ส่วนจะได้รับการคัดเลือกเป็น กรธ. หรือไม่นั้น ต้องอยู่ที่การตัดสินใจของคสช. จึงไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อในขณะนี้ได้ ส่วนการพูดคุยระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ นายมีชัย ฤชุพันธ์ เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น ยังไม่ทราบถึงรายละเอียดว่า นายมีชัย จะตัดสินใจอย่างไร

ทั้งนี้ มีรายงานความคืบหน้าการตั้ง กรธ.ว่า มีบุคคลที่ได้รับการทาบทาม อาทิ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตทูตหลายประเทศ เป็นกมธ.ร่างรธน.ปี 50 หรือ นายกฤช ไกรจิตติ อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นกมธ.ยกร่างรธน.ในโควตา ครม.-คสช. เพื่อมาดูแลในส่วนที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีนักฎหมายมหาชน ที่มีความใกล้ชิดกับนายมีชัย เช่น นายอัชพร จารุจินดา กรรมการกฤษฏีกา และอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ที่เป็นอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 และยังเคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานยกร่างรธน.ฉบับชั่วคราวปี 2549 สมัยคมช.ทำรัฐประหาร ที่ไปร่วมยกร่างกับนายมีชัย

นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีธรรมศาสตร์ ที่จบด้านกฎหมายมหาชนจากประเทศฝรั่งเศส นอกจากนี้ มีกระแสข่าวว่ายังมีชื่อของ ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ นักวิชาการรัฐศาสตร์ อดีตรองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตบริหารศาสตร์ และเป็นอดีตสปช. ที่ได้ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 58 เมื่อวันที่ 6 ก.ย.

นอกจากนี้ อาจจะมีการทาบทามนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลับของรัฐอีกบางส่วนมาร่วมเป็น กรธ. ด้วยเช่นกัน แต่รายชื่อยังไม่เป็นที่เปิดเผย

ส่วนนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีนิด้า และอดีตแกนนำสปช. สายไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ พบว่า ไม่มีชื่อเป็นกรธ. แต่น่าจะได้รับการตั้งให้ไปเป็นสปท.

"อุดม" รับได้รับการทาบทามนั่ง กรธ.

นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง กระแสข่าวที่มีชื่อตนติดอยู่ 1 ใน 21 คน ของ กรธ. ว่า ขณะนี้ยังพูดอะไรมากไม่ได้ ต้องรอคำสั่งอย่างเป็นทางการเสียก่อน เพราะที่ผ่านมา ตนก็มีบทบาทหน้าที่ในการสอนหนังสือ และเคยเป็นลูกมือ หรืออนุกรรมการช่วยงานในการร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น

"ยอมรับว่าตอนที่มีทีวีเปิดเผยว่า ผมอยู่ในโผเป็นกรธ. ผมรู้สึกประหลาดใจมาก อาจจะเป็นเพราะผมให้ข้อคิดเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ จึงทำให้มีชื่อผมติดเข้าไปด้วย ซึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2 ต.ค.) มีคนมาทาบทามผมให้เป็นกรธ.จริงๆ แต่ตอนนี้ผมก็พูดอะไรมากไม่ได้" นายอุดม กล่าว

ส่วนกรณีที่มีการคาดกันว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิกคสช. จะเป็นประธาน กรธ.นั้น ตนก็ไม่ได้มีความคุ้นเคย หรือร่วมงานกับนายมีชัยอย่างใกล้ชิดมาก่อน แต่ตนก็เคยเชิญนายมีชัย มาบรรยายพิเศษกับนักศึกษา เพราะนายมีชัย เป็นอาจารย์ที่มีความอาวุโส และเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

ทั้งนี้ ตนไม่กังวลว่า ใครจะมาเป็น กรธ. และตนในฐานะที่เป็นข้าราชการ ก็พร้อมที่จะทำงานเพื่อบ้านเมือง มีอะไรที่ช่วยได้ก็ช่วยเหลือ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้

นปช.หนุน "แรมโบ้อีสาน" นั่งส ปท.

นายชินวัฒน์ หาบุญพาด อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "ชินวัฒน์ หาบุญพาด" ระบุว่า คงเป็นที่แน่นอนแล้วว่า คนที่จะมาเป็น ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ใหม่ คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สำหรับนายมีชัย ก็ไม่ใช่หน้าใหม่ที่ไหน จะเรียกว่าขาประจำก็คงไม่ผิด

นอกจากจะมี กรธ.21 คนแล้ว ยังมีสมาชิกสภาขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูปประเทศ (สปท.) อีก 200 คน หน้าที่ก็คงจะเหมือนกับ สปช. ที่สิ้นสภาพไปแล้ว แต่อยู่ในวาระ 5 ปี ในโอกาสต่อไป ถ้ามีการเลือกตั้งก็จะมีสมาชิกสภามากขึ้น เดิมมี 2 สภา คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา คราวนี้ก็จะมีเพิ่มอีก คือสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ

ก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแต่งตั้ง สปท.ครั้งนี้ ทราบมาว่า ได้เชิญพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และองค์กร เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิก สปท. มีข่าวว่าหลายพรรค ส่งสมาชิกของพรรคเข้าร่วมงาน ยกเว้นพรรคเพื่อไทย ซึ่งออกมาประกาศแล้วว่า ไม่ส่งสมาชิกเข้าร่วม

แต่มีข่าวว่าคนในซีก นปช.(เสื้อแดง) มีชื่อปรากฏในคณะ สปท. คือ นายสมพงษ์ สระกวี อดีตส.ว.สงขลา และก็ถือว่าเป็นส่วนของนปช.และอีกคนหนึ่ง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ (แรมโบ้อีสาน) พอมีชื่อแรมโบ้อีสาน ปรากฏเท่านั้นแหละ พรรคพวกที่เคยกอดคอกันมาตัดขาดจากสารบบมิตรเลยทีเดียว เรียกว่าชนิดผีไม่เผาเงาไม่เหยียบกันเลย

"ผมอยากให้พี่น้องตั้งสติกันหน่อยครับ การที่ไปเข้าร่วมเป็นสมาชิก สปท. ท่านอย่ามองว่าไปรับใช้ทหาร รับใช้เผด็จการ ให้ลองมองมุมกลับบ้างว่า เราเข้าไปเป็นปากเป็นเสียงให้ซีกประชาธิปไตย มีสิทธิ์คัดค้านได้ พูดได้ อภิปรายได้ ส่วนจะสู้เขาได้หรือไม่ ก็ยังได้ชื่อว่าสู้ แต่ถ้าอยู่ข้างนอกพูดไม่ได้ เดี๋ยวถูกตบปาก

การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย มิใช่หมายถึงการตั้งเวทีแล้วปราศรัยฟังมันสนุก การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยมีหลายรูปแบบ เช่น การเขียน การพูด การแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ แม้แต่นั่งอดข้าวเฉยๆ อย่างท่านฉลาด วรฉัตร จะอยู่ในประเทศ นอกประเทศก็ต่อสู้ได้ ไม่ใช่เพียงยืนปราศรัยบนเวทีแล้วคิดว่าเป็นพระเอก อย่าลืมว่าพระเอก ก็มีวันดับ ไม่มีใครที่เป็นพระเอกได้ตลอดกาล อย่าหลงตัวเองว่าเป็นพระเอกนางเอก คนที่เข้ามาดูหนังดูลิเก มิใช่เขาจะมาดูพระเอกนางเอกอย่างเดียว เขาอาจจะมาเพราะเหตุอื่นก็มี โดยเฉพาะการตั้งเวทีปราศรัยทางการเมือง คนที่มาฟังเขามีเป้าหมายของเขา ไม่ใช่หลงรักพระเอกนางเอก แบบแม่ยกพ่อยกลิเก

บางคนได้เป็นแกนนำกลุ่มเข้าหน่อย คิดว่าตนเองเป็นผู้บังคับบัญชาคนทั้งประเทศ ระรานเขาทุกคนที่มีข่าวว่าเขามีชื่อในสมาชิก สปท.กล่าวหาเขาถึงขนาดว่าเขาทำร้ายประชาชนทีเดียว ประชาธิปไตยย่อมมีความเห็นต่างได้ เผด็จการเท่านั้นที่จะบังคับให้คนเห็นเช่นเดียวกับตนเอง ถ้าแน่จริงออกมาประกาศซิครับว่า "ถ้ารัฐธรรมนูญที่คณะนี้หรือจะมีคณะไหนอีก ถ้าไม่ได้มาจากประชาชน เราจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือไม่รับตำแหน่งใดๆ ทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญนี้" กลัวจะไม่แน่ครับ เพราะเห็นมาแล้วเมื่อสมัยรัฐธรรมนูญ ปี 50 ก็แบบนี้แหละ แต่พอเลือกตั้งในปีนั้นก็เห็นเข้ามากันเป็นแถว

ห่วง คสช.แก้ รธน.ตัดทิ้งประชามติ

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่เงื่อนไขของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ในการหารือกับนายกฯ เป็นการส่วนตัว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อาจะทำให้นายกฯไม่กล้าตัดสินใจคนเดียว จึงต้องนำเข้าที่ประชุมคสช.ในวันนี้ (5ต.ค.) ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเงื่อนไขของนายมีชัย จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนโรดแมปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จนอาจต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เป็นครั้งที่สอง

โดยเฉพาะประเด็นการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่แน่ใจว่าจะยังคงไว้หรือไม่ โดยส่วนตัวคิดว่าต้องไม่ถูกตัดออก เพราะความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหา และที่มาอย่างเดียวแต่อยู่ที่ขั้นตอนสุดท้ายด้วยว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือไม่

ทั้งนี้ หากนายมีชัย รับตำแหน่งประธานกรธ.จริง ก็อาจมีคำถามว่า กรธ.จะมีความเป็นตัวของตัวเอง มีความอิสระมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นเพียงมือกฎหมายคสช.เท่านั้น เพราะนายมีชัย ดำรงตำแหน่งกรรมการคสช. อยู่อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย แม้จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่คสช.ก็ต้องเตรียมคำอธิบาย เพราะจะถูกคนบางกลุ่มนำไปเป็นประเด็นโจมตีได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดอีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นเรื่องดี ที่คสช. กับกรธ. แนบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน จะไม่ได้มีปัญหาในภายหลังเหมือนเมื่อครั้งคณะกรรมาธิการยกร่างหมดสถานะไปก่อนหน้านี้

มาถึงวันนี้ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานกรธ. ก็ยังจะถูกประเมินจากสังคมว่า จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นำไปสู่การปฏิรูปได้จริงหรือไม่ ซึ่งคสช.จะต้องกางโรดแมปปฏิรูปอย่างเป็นเรื่องเป็นราวไม่จำเป็นต้องรอรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง เพราะจะทำให้ 2 ปีจากนี้ไปก่อนเลือกตั้งสูญเปล่า และยังไม่สามารถนับหนึ่งได้อย่างจริงจัง

ปชช.สนใจเนื้อหามากกว่าคนร่าง รธน.

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้ประชาชนหันมาจับตา และสนใจในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ มากกว่าใส่ใจในตัวบุคคลที่จะมาเป็นประธาน และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพราะไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ร่าง ก็ต้องร่างตามแนวทางที่มีการวางหมากกันไว้ นายมีชัย จะเป็นประธาน กรธ.หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นหลัก และหน้าตาคงไม่ต่างจากพิมพ์เขียวที่มีอยู่ในชุดความคิดหลักของผู้มีอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เหมือนเส้นทางของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกมธ.ยกร่างฯ ที่เดินมาก่อน

นายอนุสรณ์ ยังกล่าวถึงกรณี ที่คสช.ทาบทามสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วน ให้ไปร่วมเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่า วันนี้ประชาชนรับรู้ถึงจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศจุดยืนชัดเจนตลอดมาว่าจะไม่ส่งสมาชิกพรรคเพื่อไทยไปเป็น สปท. ผ่านทั้งแถลงการณ์ ทั้งคำยืนยันจากแกนนำพรรค ถือว่าเป็นจุดยืนที่แข็งแกร่งมาก แต่หากยังจะมีสมาชิกคนใดจะไปเป็นสปท. นอกเหนือจากการต้องลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคแล้ว ต้องพร้อมรับผิดชอบต่ออนาคตทางการเมืองของตนเอง

วันนี้ประชาชนทั้งประเทศมองดูอยู่ อย่าใจเร็วด่วนได้ เดินออกไปจากพรรคในวันนี้ด้วยการไปเป็น สปท.อนาคตน่าจะกลับเข้ามาลำบาก รวมถึงหากมีการประกาศรายชื่ออกมาแล้ว มีการอ้างว่ามาจากพรรคเพื่อไทย ก็ขอให้สังคมช่วยให้ความเป็นธรรมกับพรรคเพื่อไทยด้วย เพราะหลายคนที่มีชื่อในข่าวและอ้างว่าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย บางคนไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค และไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นไม่ควรมาฉวยโอกาสแอบอ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น