xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่งออกต่ำสุดในรอบ 6 ปี ศก. “ยุคลูกเทพ” อ่วมหนัก หรือยังจะทู่ซี้ลากยาว??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตัวเลขส่งออกทั้งปี 2558 เผยออกมาแล้วว่าหนักที่สุดในรอบ 6 ปี โดยยอดรวมทั้งปีลดลงถึง 5.78% จากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาน้ำมันดิ่ง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรตกถ้วนหน้า ถึงกระนั้น กระทรวงพาณิชย์ ยังฝันหวานว่าปีนี้จะเข็ญเป้าให้เติบโตถึง 5% ทั้งที่ประเทศกำลังจะเผชิญหน้ากับวิกฤตภัยแล้ง สินค้าเกษตรยังมีอนาคตอันมืดมน น้ำมันยังผันผวนอย่างหนัก และที่สำคัญ ไอเอ็มเอฟปรับลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกเหลือเพียง 3.4% เท่านั้น

เศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณจะโงหัวขึ้น ขณะที่เงินอัดฉีดจากภาครัฐที่จะลงไปกระตุ้นทั้งโครงการน้อยใหญ่ก็ยังไม่เห็นหน้าเห็นหลัง ไม่ต้องพูดถึงเศรษฐกิจฐานรากของพี่น้องเกษตรกรที่ได้แต่เฝ้ารอเฝ้าหวังแต่ยังหน้าเหี่ยวแห้งอยู่เช่นเดิม หนำซ้ำปีนี้ยังมองเห็นเค้าลางหนักหนาสาหัสกว่าปีที่ผ่านมาจากอากาศวิปริตแปรปรวนและแล้งหนัก

แย่ไม่แย่ ผู้คนจะพากันแห่แหนไปแสวงหา “ตุ๊กตาลูกเทพ” มาบูชาเพื่อหวังร่ำหวังรวย เพื่อเสริมจิตใจให้ต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดกันขนาดนี้ หรอกหรือ

มาดูการแถลงตัวเลขส่งออกของทั้งปีที่ผ่านมาจากกระทรวงพาณิชย์กันก่อน เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยเดือน ธันวาคม 2558 มีมูลค่า 17,100.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 8.73% การนำเข้ามีมูลค่า 15,612.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.23% ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้าเดือน ธันวาคม มูลค่า 1,487 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกทั้งปี 2558 มีมูลค่า 214,375.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 5.78% การนำเข้ามีมูลค่า 202,654.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 11.02% โดยทั้งปีไทยยังเกินดุลการค้า มูลค่า 1.17 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

จากการตรวจสอบสถิติการส่งออก พบว่า การส่งออกเดือนธันวาคม 2558 ในด้านมูลค่าถือว่าทำได้ต่ำสุดในรอบ 8 เดือนนับจากเดือน เมษายน 2558 ที่ส่งออกได้ 16,895.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และอัตราการขยายตัวถือว่าติดลบมากสุดในรอบ 4 ปี 1 เดือน นับจากเดือน พฤศจิกายน 2554 ที่ติดลบ 11.59% และยอดรวมส่งออกทั้งปี ที่ลบ 5.78% เป็นการติดลบมากที่สุดในรอบ 6 ปี นับจากปี 2552 ที่ส่งออกติดลบ 14.3%

สาเหตุที่ทำให้การส่งออกเดือน ธันวาคม 2558 ลดลง มาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลดลง 9.8% เช่น ข้าว ลด 22.5% ยางพารา ลด 25.2% น้ำตาล ลดลง 8.5% ส่วนอาหาร เพิ่มขึ้น 5.5% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 6.7% เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ลดลง 6.4% ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลง 1.4% เครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลง 12.2% อัญมณีและเครื่องประดับ ลดลง 23.3% น้ำมันสำเร็จรูป ลดลง 40.8% เม็ดพลาสติก ลดลง 10%

ขณะที่ตลาดส่งออก พบว่า ตลาดหลักลดลง 5.2% ได้แก่ ญี่ปุ่น ลดลง 9.8% สหรัฐฯ ลด 7.2% ยกเว้นสหภาพยุโรป (อียู) เพิ่ม 2.3% ตลาดศักยภาพสูง ลด 8.5% เช่น อาเซียน ลด 6.3% โดยอาเซียนเดิม ลด 15.2% CLMV บวก 7.4% จีน ลด 6.1% อินเดีย ลด 13.4% ตลาดศักยภาพรอง ลด 11.3% เช่น ตะวันออกกลาง ลด 9.3% แอฟริกา ลด 32.3% กลุ่ม CIS และรัสเซีย ลด 42.8% เป็นต้น ตลาดอื่นๆ ลด 53%

ส่วนการนำเข้าในเดือน ธันวาคม 2558 พบว่า การนำเข้าสินค้าทุน ลดลง 7.96% วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลง 2.69% เชื้อเพลิง ลด 25.73% เป็นต้น

หากมองในภาพรวม สาเหตุที่ทำให้การส่งออกทั้งปี 2558 ลดลง เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะการนำเข้าเกือบทุกประเทศหดตัวลง โดยการนำเข้าช่วง 11 เดือนของ 2558 พบว่า ญี่ปุ่นนำเข้าลดลง 20.3% จีน ลด 18.8% เกาหลีใต้ ลด 16.7% สหรัฐฯ ลด 4.2% เป็นต้น และราคาน้ำมันดิบใน ตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันดิบ ตลาด ดูไบ ณ เดือน ธันวาคม 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 34.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงต่ำกว่าเดือน ธันวาคม 2557 ที่ราคาเฉลี่ย 60.39 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ การส่งออกที่ชะลอตัวลดลงยังเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง โดยปี 2558 ราคาข้าวลดลงถึง 10.9% ยางพารา ลดลง 20.3% น้ำตาลทราย ลด 7.2% ส่งผลให้ประเทศไทยแม้ว่าจะส่งออกสินค้าเกษตรในปริมาณที่ไม่ต่ำกว่าเดิม แต่มูลค่าที่ได้กลับลดลงมาก โดยเฉพาะการส่งออกข้าวปี 2558 ที่ส่งออกได้ปริมาณ 9.79 ล้านตัน ลดลง 10.7% เทียบกับการส่งออกข้าวปี 2557 มีปริมาณ 10.9 ล้านตัน แต่ในแง่มูลค่าลดลง 15.2% และยังมีการแข่งขันจากการลดค่าเงินของประเทศต่างๆ แต่ค่าเงินของไทยอ่อนค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้สินค้าไทยแพงกว่าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม นายสมเกียรติ กล่าวว่า การส่งออกในปี 2559 ที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5%

สำหรับปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่อการส่งออกในปี 2559 หากราคาน้ำมัน ปรับตัวสูงขึ้น ก็จะทำให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรก็จะปรับตัวดีขึ้น และหากเศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะทำให้กลุ่มยานยนต์ส่งออกได้เพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวดี โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเหลือ 3.4% จากเดิม 3.6% และเศรษฐกิจสหรัฐฯ เหลือ 2.6% จีน เหลือ 6.3% และราคาน้ำมันที่ยังมีความผันผวน หากยังลดลงจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่มีรายได้จากน้ำมันลดลง และมีการนำเข้าลดลง ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยด้วย

ตัวเลขการส่งออกที่ติดลบหนักสุดในรอบ 6 ปี เป็นภาพสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างดี ทำนองเดียวกันกับผลสำรวจความห่วงใยของประชาชนในเวลานี้ที่ต่างเป็นห่วงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาปากท้อง ข้าวของแพง เป็นอันดับหนึ่ง

ผลสำรวจของดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจเรื่องความเป็นห่วงของคนไทย เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,208 คน ระหว่างวันที่ 18-23 มกราคม 2559 ต่อกรณีความวิตกกังวลของคนไทยกับปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นการเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความแตกแยก การเร่งสร้างความปรองดอง ร่างรัฐธรรมนูญ และความขัดแย้งทางการเมือง ผลปรากฏว่า ประชาชนคนไทยห่วงปัญหาเศรษฐกิจเป็นอันดับแรกสุด

ผลสำรวจโดยสรุป พบว่า ณ วันนี้ เรื่องที่ประชาชนเป็นห่วงมากที่สุดคือเรื่องใด อันดับ 1 คือสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 89.60% อันดับ 2 ความสามัคคีปรองดอง คุณธรรมจริยธรรมและจิตสำนึกที่ดีของคนในชาติ 73.08% อันดับ 3 ปัญหาบ้านเมือง โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้งแตกแยก 71.27% อันดับ 4 การร่างรัฐธรรมนูญ การบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ในสังคม 68.76% และอันดับ 5 ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาชญากรรม 62.52%

ในเรื่องเศรษฐกิจที่ประชาชนห่วง อันดับ 1 คือ ข้าวของแพง สินค้าและบริการต่างๆ ขึ้นราคา 85.33% อันดับ 2 เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ไม่มีเงินหมุนเวียน การค้าการลงทุนหยุดชะงัก คนตกงาน ว่างงาน 82.18% อันดับ 3 ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ถูกเอาเปรียบ เสียดุลการค้า 70.67%

ต่อคำถามที่ว่า ณ วันนี้ ประชาชนมีความเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจมากขึ้นหรือน้อยลง ผลสำรวจพบว่า อันดับ 1 เป็นห่วงมากขึ้น 92.19% เพราะ สภาพเศรษฐกิจยังคงย่ำแย่ ซบเซา ค่าครองชีพสูง ส่งออก-นำเข้ามีปัญหา ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ฯลฯ อันดับ 2 เป็นห่วงน้อยลง 7.81% เพราะ รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพ ขึ้นเงินเดือน ควบคุมราคาสินค้า ลดราคาน้ำมัน ประชาชนรับสภาพและต้องปรับตัวให้ได้ ฯลฯ

จะว่าไปแล้ว รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้แต่การเปลี่ยนตัวขุนพลนำทัพจาก “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ มาเป็นนายสมคิด จารตุศรีพิทักษ์ เข้าคุมทีมเศรษฐกิจแทนก็ตาม แต่แรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่ดิ่งเหวลงอย่างหนักฉุดลากให้เศรษฐกิจของทั้งโลกซบเซาชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จะใช้การลงทุนภาครัฐเป็นยากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่การมุ่งเน้นลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทำให้เม็ดเงินกระจุกตัวอยู่ในมือนักลงทุนรายใหญ่ไม่กี่ราย ขณะที่เม็ดเงินที่กระจายลงสู่ประชาชนฐานรากผ่านโครงการต่างๆ ยังลงไปไม่ถึง หรือไม่ได้มีปริมาณมากพอที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อบวกกับสินค้าเกษตรราคาตกต่ำลงถ้วนหน้ายิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่ยิ่งขึ้นไปอีก

ความคาดหวังต่อโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเพิ่มปริมาณการลงทุนในระดับชุมชนผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 79,556 กองทุน ผ่านสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กองทุนละไม่เกิน 500,000 บาท ภายใต้วงเงินรวม 35,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559 ยังจะต้องรอดูผลงานกันต่อไป เพราะจะว่าไปแล้วหลายรัฐบาลที่ผ่านมาก็อัดฉีดเม็ดเงินลงช่องทางนี้ในโครงการที่ไม่แตกต่างกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้ก็เห็นๆ กันอยู่

การพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก ที่มาพร้อมกับเป้าหมายสลายสีสร้างความปรองดอง จะสำเร็จหรือไม่ ก็พอจะรู้ๆ คำตอบกันอยู่ เช่นนี้แล้วรัฐบาลยังจะทู่ซี้ชักแม่น้ำทั้งห้าลากยาวกันต่อไป ทำไมกัน ??


กำลังโหลดความคิดเห็น