xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการเศรษฐกิจ กระตุ้น!...กระตุก?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดศักราช “ภาพเศรษฐกิจ” ปี 2559 เมื่อวันที่ 4 มกราคมมาเหมือนจะไม่ “สดใส” เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจจีนดูไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว ฉุดภาพรวมตลาดทุนทั่วโลกดิ่งลงกันทั่วหน้า ไม่เว้นแม้ตลาดหุ้นไทยที่ร่วงกว่า 20 จุด

ตั้งแต่ปลายปี 2558 ทีมเศรษฐกิจชุด “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายชุด โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือเกษตรกร ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) การกระตุ้นการลงทุนทั้งโครงการขนาดเล็ก และโครงการภาครัฐ รวมถึงการใช้มาตรทางการภาษี เช่น นำวงเงินซื้อสินค้ามาลดภาษี มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทั้งหมดนี้ เบื้องต้นหวังประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดลงกว่าเดิม

รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ตอกย้ำว่า การแก้ปัญหาฐานรากเศรษฐกิจต้องปฏิรูปเศรษฐกิจพร้อมกัน 4 ด้าน คือ

1.ปรับโครงสร้างการเติบโตในประเทศให้สมดุลมากขึ้น เน้นการเติบโตจากภายในมากขึ้น

2.ปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศ เน้นผลิตสินค้านวัตกรรมแทนการรับจ้างผลิตสินค้า เลิกให้การสนับสนุนผู้ผลิตที่ไม่มีการพัฒนานวัตกรรม

3.เน้นการลงทุนคลัสเตอร์ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในส่วนของภาคบริการ การท่องเที่ยว รีเทล การเงิน สร้างความเชื่อมโยงเพื่อเป็นฮับรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC

4.ปฏิรูประบบการเงินการคลัง เน้นการลงทุนแบบที่ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม หรือโครงการร่วมทุน PPP เพื่อลดภาระการจัดหางบประมาณของรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ก็ต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้เป็นระบบ ลดการจ่ายเงินงบประมาณที่ซ้ำซ้อน โดยแบ่งเป็นงบประเภทรายจ่ายประจำของแต่ละกระทรวง กับงบรวมสำหรับโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ ควบคู่กับการปฏิรูประบบตลาดเงินตลาดทุน ให้มีต้นทุนต่ำ และมีประสิทธิภาพเพียงพอ รองรับการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคต

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. คาดว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP จะขยายตัวที่ 3.5% แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจของจีน ราคาน้ำมัน แนวโน้มการส่งออก ความเชื่อมั่นของการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการใช้จ่ายของภาครัฐที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ และส่งผลต่อภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท
ทีมเศรษฐกิจผู้จัดการ 360 รวบรวมความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีแรกของรัฐบาลจะเห็นได้ว่าพยายามดำเนินงาน 2 แนวทางควบคู่กัน แนวทางการสร้างงาน 5 มาตรการ และแนวทางการเพิ่มรายได้อีก 1 มาตรการ ด้วยวงเงินกว่า 1.3 แสนกว่าล้านบาท

ภารกิจกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณส่วนใหญ่ไปเมื่อช่วงปลายปี 2558 ทั้งเร่งการลงทุนโครงการขนาดเล็กวงเงิน 1.36 แสนล้านบาท มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ มาตรการภาษีท่องเที่ยว มาตรการสินเชื่อซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท และมาตรการภาษีชอปช่วยชาติ ซึ่งหลายหน่วยงานออกมาประเมินว่า ทำให้เงินสะพัดในเศรษฐกิจเมื่อปลายปี ส่งผลให้เศรษฐกิจเดือนมกราคมขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่น้อย แต่ก็ยังไม่พอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกให้ขยายตัวตามเป้าหมาย รัฐบาลยังต้องหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด รอเม็ดเงินก้อนใหญ่ของรัฐบาลที่จะลงทุนผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั่วประเทศ

ขณะนี้อยู่ระหว่าง “การพิจารณา” จะออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวรอบใหม่ หลังจากรอบเดิมที่ให้นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 หมื่นบาท สิ้นสุดลงเมื่อปีภาษี 2558 ซึ่งมาตรการรอบใหม่นี้กระทรวงการคลังอาจพิจารณาให้นำมาหักลดหย่อนได้มากถึง 3 หมื่นบาท ตามที่เอกชนเสนอมา เพราะมาตรการนี้ช่วยให้กระตุ้นการบริโภคในประเทศได้ดี และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังรอจังหวะออกมาตรการชอปช่วยชาติรอบสอง รวมถึงพิจารณาต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์

นอกจากมาตรการภาษีแล้วรัฐบาลยังพยายามใช้แบงก์รัฐอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ล่าสุด ให้ทั้ง 2 แห่งปล่อยกู้ไม่คิดดอกเบี้ยให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ไปซื้อยางโดยตรงจากเกษตรกร

การใช้มาตรการทางภาษีสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนได้เป็นอย่างมาก และส่งเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วก็จริง แต่ผลข้างเคียงที่จะตามมา คือ 1.รัฐบาลสูญเสียรายได้ จนต้องออกมาตรการภาษีทั้งภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีสุรา ภาษีร้านค้าออนไลน์ ฯลฯ 2.กระตุ้นสัดส่วนหนี้ต่อ GDP สูงขึ้นจากยอดเดิมที่สูงอยู่แล้วทั้งหนี้ภาคครัวเรือน และหนี้รัฐบาล

ทีมเศรษฐกิจที่มี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นหัวหน้าทีมต้องพยายามเร่งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ “เฟส 2” เช่น สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ SME อย่างเป็นรูปธรรม การช่วยเหลือฟื้นฟู SME ด้วยการปรับแผนธุรกิจ และการส่งเสริมกลุ่มผู้ประกอบการที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ (สตาร์ทอัป) ตั้งเป้าให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ปีละ 10,000 ราย กระทั่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการจากรายเล็กไปสู่ขนาดกลาง และจากขนาดกลางไปสู่ขนาดใหญ่

กระทรวงคมนาคม ต้องเร่งหาแหล่งเงินทุนระยะเร่งด่วนปี 2558-2560 รวม 19 โครงการ วงเงินรวม 1.77 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศตามนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ แนวทางหาแหล่งเงินทุนจะมาจาก 5 แหล่งทุน ประกอบด้วย

1.งบประมาณ 220,329 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.43%

2.แผนบริหารหนี้สาธารณะ 1.14 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.76%

3.เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน 336,721 ล้านบาท คิดเป็น 19%

4.เงินรายได้จากรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 53,372 ล้านบาท คิดเป็น 3 %

5.เงินกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง 14,200 ล้านบาท คิดเป็น 0.80%

สำหรับโครงการลงทุน 19 โครงการ ซึ่งที่ผ่านมาได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว โดยคาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในปีนี้ 7 โครงการ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น วงเงิน 26,004 ล้านบาท มอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด 32 กม. วงเงิน 20,200 ล้านบาท และอยู่ระหว่างรอการประกวดราคาในปี 59-60 จำนวน 12 โครงการ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตร 3 โครงการ คือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ วงเงิน 29,853 ล้านบาท ช่วงนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 20,036 ล้านบาท เป็นต้น

งานอีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลพยายาม “ปลดล็อก” คือ ความพยายามแก้ไขกฎหมายเช่าที่ดิน รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุ รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้กรมธนารักษ์เร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อยุติการแก้ไขกฎหมายเช่าที่ดินได้ยาว 99 ปี เนื่องจากระยะเวลาการเช่า 50 ปี ยังเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ไม่จูงใจการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีระยะเวลาการคืนทุนที่ยาวนาน ส่งผลให้นักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศไม่กล้าตัดสินใจลงทุน แต่หากแก้สัญญาให้นักลงทุนเข้ามาบริหารดูแลโครงการถึง 99 ปี จะจูงใจนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

ขณะที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจทุกวิธี ประชาชน นักวิชาการ และภาคเอกชนต่างจับตา โดยเฉพาะภาคเอกชนที่ยังไม่มีท่าทีขยับตัวลงทุนตามรัฐบาล ด้วยความกลัวที่ว่าหากกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีแรกไม่ขึ้น การลงทุนครึ่งปีหลังไม่เกิดขึ้นตามกำหนดการ ภัยแล้งรุนแรงกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ส่งผลต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือนโดยตรง

ปัจจัยภายนอกก็ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นอย่างมีเสถียรภาพ ความขัดแย้งในต่างประเทศที่ทวีความรุนแรงนำไปสู่ภาวะสงคราม หรือเกิดวิกฤตเศรษฐกิจระลอกใหม่ ราคาน้ำมันที่ผันผวนอย่างหนัก จะส่งผลสะท้อนกลับเศรษฐกิจปีลิงสะดุดลง เมื่อนั้นมีปัญหา และสะดุดในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น