ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เสกสรรหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กระเตื้องจนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวจะผุ แต่ผลที่ออกมายังเข้าทำนองหน้าชื่นอกตรม หลอกต้มตัวเองและประชาชนไปวันๆ ว่า เศรษฐกิจมีสัญญาณดีขึ้น และจะเห็นความรุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาลในปี 2559 อย่างแน่แท้ เพราะเครื่องยนต์ทุกตัวเดินหน้าเต็มสูบ ทั้งภาคส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และเศรษฐกิจฐานรากประชารัฐ ครบครันตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับรากฐาน
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ประชาชนทุกหย่อมหญ้าที่จ่อมจมอมทุกข์ก็คงอยากฟังข่าวดีจากหัวหน้าทีมเศรษฐกิจใหญ่ปลอบประโลมใจรับศักราชใหม่ และดูเหมือน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ จะเข้าถึงอารมณ์เช่นนี้ของชาวประชา เปิดหน้ามาสัปดาห์แรกของปีก็ออกงานตีปี๊บที่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดสัมมนาใหญ่ประจำปี โดยรองนายกฯ สมคิด ขึ้นเวทีแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559”
รองนายกฯ สมคิด โปรยยาหอมว่า ปีที่ผ่านมาได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยสามารถหยุดยั้งการ ทรุดตัวของเศรษฐกิจได้ และเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 58 จะขยายตัวได้ 2.9 - 3% ซึ่งเมื่อพิจารณาจากที่รองนายกฯ สมคิดว่า ดูๆ แล้วนับเป็นอัตราการเติบโตที่ไม่ได้ต่ำกว่าคาดการณ์ เอาไว้ตั้งแต่ต้นปีมากนัก
ทั้งนี้ รัฐบาลยอมรับว่า ยังมีปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจากปัญหาราคาน้ำมันปรับลดลง จึงต้องมุ่งให้การช่วยเหลือเกษตรกร แม้หลายคนมองว่าเศรษฐกิจปีนี้อาจไม่สดใส แต่รัฐบาลมองว่าเป็นความท้าทาย เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์จีดีพีขยายตัวร้อยละ 3.5 ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าจีดีพีขยายตัวร้อยละ 3-4 ส่วนไอเอ็มเอฟมองว่าขยายตัวร้อยละ 2.5 รัฐบาลจึงต้องผลักดันเครื่องยนต์ทุกตัวให้ทำงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งด้านการส่งออกที่ยังมีสัดส่วนร้อยละ 70 ของเศรษฐกิจประเทศ การท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักเข้าประเทศ การลงทุนภาครัฐเพื่อเป็นตัวนำการลงทุนของเอกชน และกระตุ้นการบริโภคของประชาชน
นายสมคิด ยังได้ประกาศแผนดำเนินงานปี 2559 ได้แก่ 1.การช่วยเหลือเกษตรกร ต้องเปลี่ยนการเพาะปลูกของเกษตรกรที่ใช้น้ำน้อย ปลูกพืชให้หลากหลายมากขึ้น เพิ่มมูลค่า หาตลาดรองรับในต่างประเทศ ยกระดับเป็นเกษตรกรเอสเอ็มอี ให้บีโอไอส่งเสริม โดยมีเอกชนสร้างฟาร์มต้นแบบในการปลูกพืชที่หลากหลายนำร่องเป็นตัวอย่างความสำเร็จก่อนขยายพื้นที่ออกไป
ขณะเดียวกัน ต้องการส่งเสริมให้กองทุนหมู่บ้านช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น เช่น การสร้างลานตากข้าว ฝายชะลอน้ำ โรงอบผลไม้ โดยวันที่ 20 มกราคมนี้ กองทุนจะเริ่มส่งแผนพัฒนาขึ้นมาให้พิจารณา ตลอดจนการเดินหน้าวางเครือข่าย Internet Broad Band เพื่อขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมหลายจังหวัด 10,000 จุด อบรมคนในชุมชนต้นแบบในการใช้อินเทอร์เน็ตทำการค้าขายแบบอี-คอมเมิร์ซ เพราะอนาคตต้องค้าขายผ่านออนไลน์มากขึ้นเน้นช่วยเหลือเศรษฐกิจระดับแนวนอนจากพื้นที่ เพราะการพัฒนาระดับแนวดิ่งจากส่วนราชการจากกระทรวงได้มีแผนงานกำหนดไว้แล้ว
2.การส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ Start Up ตั้งกิจการใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการสร้างกิจการแต่ไม่มีทุนดำเนินการ จึงมอบหมายให้ เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารออมสิน มหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมฝึกอบรมและนำเงินจากกองทุนวายุภักษ์มาใช้ประโยชน์ในการลงทุนกับกิจการขนาดเล็กที่มีศักยภาพ 3.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน 4.เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟฟ้าเส้นทางต่าง ๆ โดยปีนี้จะผลักดันการสร้างรถไฟฟ้าไทย-จีน ให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
และ 5. การขับเคลื่อนผ่านนโยบายการคลังโดยต้องเดินหน้าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเก็บรายได้จากทรัพย์สินมาพัฒนาประเทศ การปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้จัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ การผลักดัน Holding Company ในการถือหุ้นรัฐวิสาหกิจให้เกิดขึ้น การเดินหน้าโครงการบ้านประชารัฐ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมากต่อการหาที่อยู่อาศัยให้คนระดับปานกลางและรายย่อยให้มีบ้านอยู่
และที่นอนรออยู่ในแฟ้มรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็ววัน เพื่อเป็นยากระตุ้นเศรษฐกิจอีกขนานหนึ่งก็คือ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งกรมสรรพากรเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในไตรมาสแรกปี 2559 และจะมีผลบังคับใช้สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2560 ที่จะมีการยื่นแบบ และเสียภาษีในปี 2561
ถึงแม้รายละเอียดการปรับโครงสร้างจะยังไม่สรุปสุดท้าย แต่ที่แพลมๆ กันออกมาก็คือ สำหรับผู้ที่มีรายได้ 20,000บาทต่อเดือน แต่ไม่เกิน 30,000 บาท จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี และลดเพดานภาษีมนุษย์เงินเดือน จากอัตราสูงสุดที่ 35% ลงมาให้ใกล้เคียงภาษีนิติบุคคลที่ 20%
นอกจากนี้ จะเพิ่มการหักค่าใช้จ่ายเหมารวมที่ปัจจุบันได้ 60,000 บาท ค่าหักลดหย่อนในส่วนของบุตรจะไม่จำกัดจำนวนคน และการหักลดหย่อนอื่นๆ โดยจะมีเพดานกำหนดว่าหักลดหย่อนรวมได้ไม่เกินเท่าไร ซึ่งปัจจุบันมีบุคคลธรรมดายื่นแบบชำระภาษีจำนวน 10 ล้านคน มีผู้เสียภาษีจริงประมาณ 6-7 ล้าน
ขณะที่ทางด้านรายได้เข้ารัฐนั้น กรมสรรพากรายงานว่า ภาพรวมการเก็บภาษีในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันที่ผ่านมา แต่การเก็บภาษีมูลค่าจากการนำเข้าน้ำมัน และสินค้ายังต่ำกว่าเป้ามาก เนื่องจากราคาน้ำมันต่ำกว่าประมาณการ ไว้ มาก คาดจะทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากน้ำมันในปีนี้หายไปกว่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ การเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากในจำนวน 15% ก็ลดลงไปมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง
ขณะที่มาตรการภาษีชอปช่วยชาติ 15,000 บาท ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา คาดว่าทำให้กรมสรรพากรสูญเสียการจัดเก็บไม่เกิน 5,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า เพราะจากการสำรวจยอดขายสินค้าในช่วงมาตรการเพิ่มขึ้น 20-50%
มาตรการด้านภาษีอีกหนึ่งที่รัฐบาลออกมาเพื่อต้อนผู้ประกอบการรายย่อยเข้าระบบเพื่อการจัดเก็บเม็ดเงินภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยในระยะยาว ก็คือ การออก พ.ร.ก.ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 และ พ.ร.ก.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 594) พ.ศ. 2558
โดยสรุปคือ บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดใน หรือก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ไม่เกิน 500 ล้านบาท และจดแจ้งการจัดทำบัญชี และงบการเงินให้สอดคล้องต่อสภาพที่แท้จริงของกิจการ (บัญชีเล่มเดียว) ต่อกรมสรรพากรจะได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง
กรณีที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดอยู่ระหว่างถูกการตรวจสอบภาษีอากร เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม หลีกเลี่ยงอากร หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินคดีก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 บริษัทฯ ยังคงสามารถจดแจ้งการใช้บัญชีเล่มเดียวต่อกรมสรรพากรได้ โดยกรมสรรพากรจะดำเนินการเฉพาะกรณีนั้นๆ ต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ
กรณีบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้า และการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 58 และได้มีการจดแจ้งต่อกรมสรรพากรในการใช้บัญชีเล่มเดียวจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้น และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 รอบระยะเวลาบัญชี คือ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 59, ยกเว้น และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 60 ดังนี้ (1) สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (2) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือ 10% ของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท
ผลของการดำเนินการตามมาตรการบัญชีเล่มเดียว และการยกเว้น และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับ SMEs คาดว่าจะทำให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้จัดทำบัญชี และงบการเงินสอดคล้องต่อสภาพที่แท้จริงของกิจการ เป็นการสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืน
ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท คิดเป็น 98% ของนิติบุคคลที่อยู่ในระบบภาษี ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลที่เป็นกิจการ SMEs มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท อยู่ 81% หรือประมาณ 3.4 แสนราย ส่วนนิติบุคคลที่รายได้เกิน 500 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 80,000ราย ทั้งนี้ กรมสรรพากร คาดว่าจะมีนิติบุคคลมาเข้าร่วมโครงการไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังประมาณ 30% หรือกว่า 1 แสนราย ทั้งนี้ การไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง และการลดภาษีเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าโครงการ จะทำให้กรมสรรพากรเสียรายได้ 10,000 ล้านบาท แต่จะสามารถเก็บภาษีทางจริงและทางอ้อมได้เพิ่มมากขึ้น
ตีโป่ง ตีปี๊บรับศักราชใหม่กันขนาดนี้ ดูๆ ไปก็คล้ายเป็นภาพสะท้อนในมุมกลับ หรือว่าปีนี้จะเผาจริงและจะได้เห็นนรกบนดินกันถ้วนหน้า แต่อ้าปากพูดอะไรมากไม่ได้ ??