xs
xsm
sm
md
lg

คาด SME ขานรับ กม.ดึงเข้าระบบภาษี หวั่น ศก.โลกกดดันฉุดส่งออกไทยโต 2%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาคเอกชนขานรับมาตรการดึงเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบภาษีโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบย้อนหลัง พร้อมอ้อนรัฐออกมาตรการชอปช่วยชาติต่อเนื่อง หลังกระตุ้นยอดขายพุ่ง ลุ้นปีนี้ส่งออกโตกว่า 2% ด้านกรมสรรพากรยอมรับทำรายได้การเก็บภาษีลดลง 1 หมื่นล้านบาท แต่ช่วยดึงเอ็สเอ็มอีเข้าสู่ระบบฐานภาษีที่ถูกต้อง

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุม กกร. วันที่ 5 ม.ค. 2559 ว่า ที่ประชุมได้หารือกับอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 เชื่อว่าภาคเอกชนจะให้การตอบรับที่ดีโดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)ที่มีอยู่ 3.4 แสนราย และขยายผลไปสู่ผู้ประกอบการทั่วประเทศที่จะเข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และควบคุมค่าใช้จ่ายข่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ส่วนมาตรการลดภาษีช็อปช่วยชาติ ระหว่างวันที่ 25-31 ธ.ค. 2558 นั้น ทางสมาคมผู้ค้าปลีกแห่งประเทศไทยแจ้งว่า มาตรการดังกล่าวช่วยเพิ่มยอดขายโตขึ้น 15-20% คิดเป็นมูลค่า 1 หมื่นกว่าล้านบาท ทางภาคเอกชนต้องการให้รัฐมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และยืดระยะเวลาให้นานกว่านี้

นายอิสระคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559 ว่า การส่งออกในปีนี้คงไม่ง่าย เนื่องจากจีนที่เป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นตัวฉุดการส่งออกไทยโดยประเมินว่าจีนมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ไม่ถึง 7% แต่ตลาดอาเซียนยังโตอยู่ 10-15% ทำให้มั่นใจว่าปีนี้การส่งออกไทยโตไม่ต่ำกว่า 2% จากปีก่อนที่ติดลบ 5% และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยโต 3-3.5% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายของภาครัฐ เนื่องจากมีปัจจัยภัยแล้งในปีนี้ทำให้ปริมาณพืชผลการเกษตรลดลงตามไปด้วยแม้ว่าราคาพืชผลการเกษตรจะขยับขึ้นมาบ้างก็ตาม

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 ไม่ใช่การนิรโทษกรรมภาษี แต่จะยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลังให้กับนิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท คิดเป็น 98% ของนิติบุคคลที่จตทะเบียนในไทย ที่ไม่ได้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องให้สามารถเสียภาษีได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องกังวัลว่าจะถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง โดยให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ (บัญชีเล่มเดียว) ต่อกรมสรรพากร จะได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง

ดังนั้น หากเอสเอ็มอีทั้ง 3.4 แสนรายเข้าสู่ระบบจะทำให้รัฐเสียรายได้ภาษีเงินได้ประจำปีประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่จะช่วยให้มีภาษีทางอ้อมกลับคืนมา เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 โดยกรมสรรพากรเห็นว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวจะช่วยวางรากฐานภาษีให้กับเอสเอ็มอีไทย นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป หากเอกชนที่ขอสินเชื่อจะต้องยื่นงบการเงินแบบเดียวกับที่ยื่นชำระภาษีต่อกรมสรรพากรเท่านั้น จึงจะอนุมัติสินเชื่อให้ ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนอยากให้รัฐมีนโยบายชอปช่วยชาติต่อเนื่องนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐและจังหวะด้วย

ด้านนายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า มาตรการดึงภาคเอกชนเข้าสู่ระบบภาษีครั้งนี้เป็นจุดหักเหสำคัญของประเทศ และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดีขึ้น เพราะช่วยทำให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ในระบบ รัฐมีฐานระบบผู้เสียภาษี ขณะเดียวกันทำให้เอสเอ็มอีมีข้อมูลครบถ้วนสามารถพัฒนาตนเองได้และช่วยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น