xs
xsm
sm
md
lg

มนุษย์เงินเดือนเฮจ่อลดภาษีบุคคลธรรมดาขยับเพดานยกเว้น3หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมสรรพากรเล็งลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 35 เหลือ 30% พร้อมขยายเพดานที่ยกเว้นเป็น 3 หมื่นบาท ส่วนแผนดึงผู้ประกอบการSMEเข้าระบบ เปิดลงทะเบียน 15 ม.ค.59 ถึง 15 มี.ค.59 ลั่นไม่ใช่การนิรโทษ แต่เพื่อให้มีการจัดทำบัญชีและงบการเงินเพียงเล่มเดียว หวังผู้ประกอบการเข้าระบบ 30% หรือ 1 แสนราย

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยด้วยว่า กรมสรรพากรจะเสนอการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอให้ ครม. เห็นชอบภายในไตรมาสแรกปี 2559 จะมีผลบังคับใช้สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2560 ที่จะมีการยื่นแบบและเสียภาษีในปี 2561 โดยจะมีการเพิ่มการหักค่าลดหย่อนรายบุคคลให้ตรงกับความเป็นจริงและอาจจะขยับเพิ่มเพดานยกเว้นผู้มีรายได้

“คงไม่เกิน 3 หมื่นบาท ขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่ ต้องรอรายละเอียดอีกครั้ง ยืนยันว่าภาษีใหม่จะทำให้ทุกคนมีความสุข เพราะได้รับประโยชน์กันทุกคน การปรับอัตราทั้งหมด ไม่มีใครเสียมีแต่ได้” นายประสงค์กล่าว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับโครงสร้างภาษีในปี 2559 ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้มีขึ้นมีลง แต่การปรับทำให้ภาพรวมดีขึ้น ซึ่งจะมองแต่ระยะสั้นๆ ไม่ได้ ต้องมองระยะยาว

กรมสรรพากรระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 1 ม.ค.59 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศ พ.ร.ก.ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 และ พ.ร.ก.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 594) พ.ศ. 2558 โดยมีเนื้อหา สรุปดังนี้

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือก่อนวันที่ 31 ธ.ค.58 ไม่เกิน 500 ล้านบาท และจดแจ้งการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกบสภาพที่แท้จรริงของกิจการ (บัญชีเล่มเดียว) ต่อกรมสรรพากรจะได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง

กรมสรรพากรจะเปิดให้มีการจดแจ้งการใช้บัญชีเล่มเดียวผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.59 ถึง 15 มี.ค.59 กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดอยู่ระหว่างถุกการตรวจสอบภาษีอากร เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม หลีกเลี่ยงอากร หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินคดีก่อนวันที่ 1 ม.ค.59 บริษัทฯ ยังคงสามารถจดแจ้งการใช้บัญชีเล่มเดียวต่อกรมสรรพากรได้ โดยกรมสรรพากรจะดำเนินการเฉพาะกรณีนั้นๆต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ

สำหรับกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่แป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม( SMEs) ซึ่งมีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 58 และได้มีการจดแจ้งต่อกรมสรรพากรในการใช้บัญชีเล่มเดียวจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 รอบระยะเวลาบัญชี ดังนี้

- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 59
- ยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 60 ดังนี้
(1) สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และ
(2) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือ 10% ของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท
กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดไม่ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะถูกเพิกถอนจากการยกเว้นการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง และให้ถือว่าบริษัทฯ นั้นไม่เคยได้รับสิทธิใดๆ ตามพ.ร.ก.ฉบับนี้

ให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการเพื่อให้สถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับดุแลใช้บัญชีและงบการเงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 เป็นต้นไป

ผลของการดำเนินการตามมาตรการบัญชีเล่มเดียว และการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับ SMEs คาดว่าจะทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้จัดทำบัญชีและงบการเงินสอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินธุรกิจสร้างความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการ เป็นการสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืน สะท้อนสภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ และการทำธุรกรรมทางการเงินโดยรวม

การยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำบัญชีเล่มเดียวจะช่วยส่งเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยใช้เป็นเครื่องมือเพื่อวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินธุรกิจและสร้างความน่าเชื่อถือในการขยายกิจการ

หวังเอสเอ็มอีแสนรายเข้าระบบภาษี

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท คิดเป็น 98% ของนิติบุคคลที่อยู่ในระบบภาษี ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลที่เป็นกิจการ SMEs มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท อยู่ 81% หรือ ประมาณ 3.4 แสนราย ส่วนนิติบุคคลที่รายได้เกิน 500 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 8 หมื่นราย

“กรมสรรพากรคาดว่าจะมีนิติบุคคลมาเข้าร่วมโครงการไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังประมาณ 30% หรือกว่า 1 แสนราย” นายประสงค์กล่าวและว่า นิติบุคคลที่เป็น SMEs ที่เข้าโครงการยังได้สิทธิพิเศษ กำไรในปี 59 ไม่ต้องเสียภาษี และกำไรในปี 60 จะเสียภาษีเพียง 10% ส่วน SMEs ที่ไม่เข้าร่วมโครงการจะไม่ได้สิทธิพิเศษดังกล่าว ทั้งนี้ การไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังและการลดภาษีเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าโครงการ จะทำให้กรมสรรพากรเสียรายได้ 1 หมื่นล้านบาท แต่กรมสรรพากรจะเก็บภาษีทางจริงและทางอ้อมได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเสียภาษีทางตรงมีโอกาสที่จะปรับลดลงไปได้อีก

นอกจากนี้ ในปี 62 กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกำชับให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งอนุมัติสินจากหลักฐานทางบัญชีของผู้ประกอบการที่เป็นบัญชีเดียวกันกับที่ยื่นกรมสรรพากร

"พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ใช่การนิรโทษกรรมทางภาษี แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการยกเว้นการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือ สั่งให้เสียภาษีอากรและความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มาจดแจ้งต่อกรมสรรพากรในการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการเพียงเล่มเดียว" นายประสงค์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นิติบุคคลที่เข้าร่วมโครงการ หากมีการกระทำผิดเลี่ยงภาษีในภายหลังอีก กรมสรรพกรจะยกเลิกสิทธิที่ได้ตาม พ.ร.ก. ทั้งหมด และทำการตรวจสอบการเสียภาษีย้อนหลังได้ตามปกติ ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่เข้าร่วมโครงการ คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินการถูกต้องอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ไม่พร้อม ซึ่งหากบุคคลมีการทำธุรกรรมและไม่สามารถขอใบกำกับภาษีได้ ก็สามารถแจ้งให้กรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น