xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” เชื่อมาตรการเว้นเก็บภาษีดูด SMEs เข้าระบบแสนราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร (ภาพจากเว็บไซต์ กระทรวงการคลัง http://www.mof.go.th/)
“อธิบดีกรมสรรพากร” ยันกฎหมายเว้นตรวจภาษีย้อนหลังไม่ใช่การนิรโทษกรรมให้แก่เอสเอ็มอี แจงผู้อยู่ในขั้นตอนดำเนินคดีให้มีผลต่อเนื่อง เชื่อมาตรการเว้นภาษีปี 59 จะจูงใจให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบกว่าแสนราย

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เผยว่า สำหรับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดอัตราภาษีและยกเว้นภาษีมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 59 ที่ผ่านมา ด้วยการกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในรอบบัญชีก่อนสิ้นปี 58 มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง โดยจะเปิดให้จดแจ้งกับกรมสรรกาพร ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. - 15 มี.ค. 59 เพื่อได้รับสิทธิ์ดังกล่าว ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมให้แก่เอสเอ็มอี เนื่องจากผู้อยู่ระหว่างดำเนินคดี หลีกเลี่ยงภาษี ผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม การพิจารณาคดีในชั้นศาล ผู้อยู่ระหว่างการออกหมายเรียก ยังต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และหากผู้ประกอบการรายใดไม่จดแจ้งมายังกรมสรรพากรจะไม่ได้รับสิทธิ์การยกเว้นจากมาตรการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรยังต้องตรวจสอบภาษี เฉพาะการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีในแต่ละปี เพื่อพิจารณาการขอคืนภาษีให้กับเอกชนและบุคคลธรรมดาในแต่ละปี

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท ในรอบบัญชีปี 2558 หากมาจดแจ้งกับกรมสรรพากรจะได้รับการยกเว้นภาษีในปี 2559 จากนั้นในปี 2560 หากจัดทำบัญชีเล่มเดียว จัดเก็บภาษีเพียงร้อยละ 10 คาดว่าจะมีเอสเอ็มอีจดแจ้งเข้าในระบบกว่าแสนราย จากปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีรายได้ระหว่าง 30-500 ล้านบาทประมาณ 80,000 ราย

นายประสงค์เผยด้วยว่า แม้มาตรการดังกล่าวทำให้รายได้รัฐบาลสูญเสียไปนับหมื่นล้านบาท แต่จะมีภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมกลับเข้ามาภายหลัง รวมทั้งยังเตรียมร่วมกับ ธปท.ออกประกาศให้สถาบันการเงินพิจารณาการปล่อยสินเชื่อจากงบการเงินที่ยื่นแบบเสียภาษีเล่มเดียวกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังเดินหน้าปรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คาดว่าจะนำผลศึกษาเสนอ รมว.คลัง และนายสมคิด จากนั้นจะเสนอ ครม.ได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ ด้วยการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเพิ่มค่าค่าใช้จ่ายประจำปีต่อบุคคลจากเดิม 60,000 บาท เพิ่มเป็น 1.2 แสนบาทต่อปี และปรับอัตราภาษี จากปัจจุบันเพดานอยู่ที่ร้อยละ 35 แบบขั้นบันได 7 ขั้น เหลือร้อยละ 30 และทำให้คนมีรายได้ประจำ 20,000 บาทได้รับการยกเว้นภาษี เพิ่มเป็น 30,000 บาท จึงทำให้ผู้มีรายได้ประจำเดือนจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยืนยันว่าทุกคนจะมีความสุขจากโครงสร้างอัตราภาษีใหม่ สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราร้อยละ 20 ครม.ได้เห็นชอบกำหนดให้เป็นอัตราถาวรไปแล้ว เพราะถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำอันดับสองของกลุ่มอาเซียนรองจากสิงคโปร์กำหนดอัตราร้อยละ 16 เพื่อรองรับการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การดำเนินงานนี้จะเป็นการปฏิรูประบบภาษี ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันทางธุรกิจ จากปัจจุบันคนที่หนีภาษีได้เปรียบคนที่ทำดี ขณะเดียวกัน ช่วยให้ภาครัฐ มีฐานภาษีที่กว้างขึ้น ซึ่งหากมีผู้จดทะเบียนเข้าระบบภาษีเพิ่มขึ้นทุก 10% จะมีรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นปีละ 5,000 ล้านบาท ทำให้ในระยะยาวไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราภาษีในอนาคต และก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ นอกจากนั้น เมื่อเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น การให้สินเชื่อของทางธนาคารก็จะง่ายขึ้นเพราะตรวจสอบบัญชีได้ถูกต้อง มีบัญชีเดียว ในอนาคตจะเห็นภาพธนาคารแข่งกันให้สินเชื่อเอสเอ็มอีมากขึ้น และดอกเบี้ยจะต่ำลงด้วย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น