xs
xsm
sm
md
lg

จับตาวันนี้ “สมคิด” เข้า ก.คลัง รับชุดปฏิรูปภาษี แจง 9 มาตรา พ.ร.ก.นิรโทษกรรมภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จับตาวันนี้ “สมคิด” จ่อเข้ากระทรวงคลัง รับชุดปฏิรูปมาตรการภาษี เผยเตรียมแจง 9 มาตรา พ.ร.ก.นิรโทษกรรมภาษีรอบบัญชีปี 58 นิติบุคคลรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท เฮ! จ่อดึงเข้าระบบ ให้อภัยโทษบริษัท “ไม่ตั้งใจผิด”

วันนี้ (4 ม.ค.) มีรายงานว่า ในวันนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมาตรวจการทำงานของกระทรวงการคลัง และจะมีการแถลงข่าวร่วมกับผู้บริหารกระทรวงการคลังถึงการออก (พ.ร.ก.) พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 นอกจากนั้น กระทรวงการคลัง จะเสนอการปฏิรูปภาษีทั้งระบบ และการเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีให้นายสมคิดเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

สำหรับพระราชกำหนดฉบับนี้ เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 พระราชกำหนด ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 ดังนี้

“ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘
เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการ เกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. ๒๕๕๘”

มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกำหนดนี้

“บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ

“ภาษีอากร” หมายความว่า ภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด ๔

ภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด ๕ และอากรแสตมป์ตามหมวด ๖ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร

มาตรา ๔ ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีรายได้ไม่เกินห้าร้อยล้านบาทที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาและมีกำหนดครบสิบสองเดือน โดยวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้นก่อนวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ หรือมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่กรณีดังต่อไปนี้

(๑) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรโดยมีหมายเรียกที่ออกก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

(๒) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ระหว่างการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมิน ตามมาตรา ๘๘/๓ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ดำเนินการก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

(๓) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอมหรือเป็นผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร โดยแสดงรายจ่ายอันเป็นเท็จต่อกรมสรรพากร

(๔) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอยู่ในระหว่างการดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวนชั้นพนักงานอัยการ หรือชั้นศาล

“รายได้” ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า รายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการ ซึ่งคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๕ แห่งประมวลรัษฎากรการได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง จะต้องปรากฏด้วยว่า เจ้าพนักงานประเมินยังไม่ได้เริ่มดำเนินการประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร หรือยังไม่ได้ดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับภาษีอากรนั้น ๆ

มาตรา ๕ ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา ๔ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวกับรายได้ มูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่ได้รับยกเว้น เพื่อประโยชน์ในการคืนภาษีอากร ให้เจ้าพนักงานประเมินซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากรมีอำนาจทำการตรวจสอบภาษีอากรที่ขอคืนหรือออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีอากรที่ขอคืน ไต่สวนประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร ทั้งนี้ ตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ แล้วแต่กรณี

มาตรา ๖ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับการยกเว้นตามมาตรา ๔ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(๑) ทำการจดแจ้งต่อกรมสรรพากร ว่าเป็นผู้ได้รับยกเว้นตามพระราชกำหนดนี้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และภายในเวลาที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

(๒) ยื่นรายการในการคำนวณภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล พร้อมชำระภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาในการยื่นรายการ ในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคมพ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป

(๓) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ แล้วแต่กรณี ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้ พร้อมชำระภาษี ถ้ามี ทั้งนี้สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการที่ต้องกระทำในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป

(๔) ยื่นแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน สำหรับตราสารที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากร และต้องชำระเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป

(๕) มีการจัดทำ บัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป

(๖) ไม่กระทำการใด ๆ ที่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

มาตรา ๗ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๖ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามมาตรา ๔ ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเมื่อมีการเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่เคยได้รับยกเว้นการใด ๆ ตามพระราชกำหนดนี้ และให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจในการตรวจสอบไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และดำเนินความผิดอาญาเกี่ยวกับรายได้ มูลค่าของฐานภาษีรายรับ หรือการกระทำตราสารตามที่กำหนดในมาตรา ๔ ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร

มาตรา ๘ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร ให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการที่จำเป็น เพื่อให้สถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับดูแล ใช้บัญชีและงบการเงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและการขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นต้นไป

มาตรา ๙ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่มีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้ระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการสนับสนุนให้มีการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริงของกิจการ ซึ่งหากไม่ดำเนินการโดยเร่งด่วน จะส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีอันจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยภาษีอากรที่ต้องพิจารณาโดยด่วนและลับ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

เว็บไซต์อิศรารายงานว่า นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ยังไม่ขอชี้แจงรายละเอียดอะไรเรื่องนี้ เนื่องจากมีรายละเอียดที่เยอะมาก และในวันที่ 4 ม.ค. นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ จะแถลงข่าวชี้แจงเรื่องนี้เอง

"ยืนยันว่าเรื่องนี้มิใช่การนิรโทษกรรม แต่เป็นการก้าวเดินไปข้างหน้า ซึ่งในไทยบริษัทที่มีรายได้ต่ำกว่า 500 ล้านบาท คิดเป็น 95% ของบริษัทที่จดทะเบียนทั้งหมด" อธิบดีกรมสรรพากรระบุ

อีกฉบับ ราชกิจจานุเบกษา ยงเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๙๕) พ.ศ. ๒๕๕๘

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล บางกรณีอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๓ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๙๕) พ.ศ. ๒๕๕๘”

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้

“ขาย” หมายความว่า จำหน่าย จ่าย หรือโอนสินค้า โดยมีหรือไม่มีประโยชน์หรือค่าตอบแทนและให้หมายความรวมถึงสัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว และการส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร

“สินค้า” หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น

“บริการ” หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า

มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งจัดตั้งขึ้นก่อนวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ และมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิดังต่อไปนี้

(๑) กำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙แต่ไม่เกินวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

(๒) กำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกินสามแสนบาทแรก สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐ แต่ไม่เกินวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

มาตรา ๕ ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (๒) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔ (๒) และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละสิบของกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่เกินสามแสนบาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐แต่ไม่เกินวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

มาตรา ๖ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิในการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) ไม่มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินห้าล้านบาทและไม่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีใดเกินสามสิบล้านบาท

(๒) ได้จดแจ้งเป็นผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

(๓) ไม่ถูกเพิกถอนการได้รับยกเว้นตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี”

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่รัฐบาลมีนโยบายในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้มีการจัดทำบัญชีและงบการเงินที่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์และวางแผนการดำเนินธุรกิจและสร้างความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการหรือธุรกิจอันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ อีกทั้งจะเป็นสิ่งสะท้อนสภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง สมควรลดอัตราและยกเว้นภาษีอากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีตามที่กำหนด เพื่อเป็นการจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการดังกล่าวในการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้


กำลังโหลดความคิดเห็น