ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค. 58 ขึ้นยกแผง ดีขึ้น 3 เดือนติดและสูงสุดในรอบ 7 เดือน หลังได้อานิสงส์ชอปช่วยชาติเป็นแรงหนุน จีดีพีปี 58 โต 2.8% และราคาน้ำมันลดลง คาดปีนี้เศรษฐกิจฟื้นตัว แต่ต้องจับตาผลกระทบภัยแล้ง ราคาเกษตรตก ความขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจจีนชะลอตัว
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนธ.ค. 2558 ว่า ดัชนีได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเท่ากับ 76.1 เพิ่มขึ้นจาก 74.6 ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันเท่ากับ 55.8 เพิ่มจาก 54.5 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตเท่ากับ 84.3 เพิ่มจาก 82.6 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 65.1 เพิ่มจาก 63.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 70.9 เพิ่มจาก 69.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 92.4 เพิ่มจาก 90.8
ปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น มาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล “ชอปช่วยชาติ” ที่ให้ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2558 จาก 2.7% เป็น 2.8% และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศลดลง โดยดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 20.59 บาท
ส่วนปัจจัยลบมาจากการที่ ธปท.ปรับลดจีดีพีปี 2559 เหลือ 3.5% จาก 3.7% จากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว การส่งออกเดือน พ.ย. 2558 ลดลง 7.42% และตัวเลข 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ลดลง 5.51% ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ ทั้งยางพารา ข้าว และปศุสัตว์ SET Index เดือน ธ.ค. 2558 ปรับตัวลดลง 71.68 จุด เงินบาทอ่อนค่าเป็น 36.014 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ผู้บริโภคกังวลค่าครองชีพ และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น มาจากมาตรการลดหย่อนภาษีในช่วงก่อนปีใหม่ที่ได้กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย โดยมีเงินสะพัดจากมาตรการนี้ 17,587 ล้านบาท ส่งผลให้มีเงินสะพัดในระบบเพิ่มขึ้น 5 เท่า ช่วยกระตุ้นจีดีพีได้ 0.1% ถือว่าคุ้มค่า แม้รัฐจะสูญรายได้ 3,188 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประเมินว่าจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2558 จะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และไตรมาส 1 และ 2 ปี 2559 จีดีพีจะโตได้ 3-3.5% ส่วนไตรมาส 3 จะได้แรงส่งจากการลงทุนภาครัฐ ไตรมาส 4 คาดว่าการส่งออกจะฟื้นตัว ทำให้จีดีพี 2 ไตรมาสหลังจะโตได้ 3.5-4% ทำให้จีดีพีทั้งปี 2559 โต 3.5% ตามคาดการณ์
อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะผลกระทบจากภัยแล้งที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง 5-7 หมื่นล้านบาท ทำให้จีดีพีลดลง 0.3-0.5% เมื่อรวมกับราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะลดลงอีก 5-10% จะทำให้เศรษฐกิจเสียเม็ดเงินไป 1-2 แสนล้านบาท ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย ตุรกี และรัสเซีย หากไม่รุนแรงก็ไม่กระทบเศรษฐกิจโลก และปัญหาเศรษฐกิจจีนชะลอตัว แต่เชื่อว่าจีนจะแก้ปัญหาและดีขึ้นในช่วงกลางปี
ส่วนราคาน้ำมันที่ลดลง แม้จะกระทบต่อเนื่องถึงการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน แต่ก็ช่วยให้ไทยประหยัดรายจ่ายการนำเข้าได้ 2.5-3 หมื่นล้านบาท ช่วยให้จีดีพีเพิ่ม 0.1-0.2% ซึ่งจะชดเชยจีดีพีภาคเกษตรที่ลดลงได้ แต่ไม่หมด
สำหรับการสำรวจภาวะการใช้จ่าย พบว่าดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่เดือน ธ.ค. 2558 เท่ากับ 92.2 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. 2558 ซึ่งอยู่ที่ 88.1 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ เท่ากับ 69.5 เพิ่มขึ้นจาก 63.5 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเท่ากับ 70.3 เพิ่มขึ้นจาก 63.4 ดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจ (SMEs) เท่ากับ 50.2 เพิ่มขึ้นจาก 45.3