“คลัง” หวังเงินเพิ่มความเข้มแข็งกองทุนหมู่บ้านกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ดันจีดีพีขยายตัวได้อีก 0.15% มั่นใจเศรษฐกิจไทยปี 59 ขยายตัวขั้นต่ำ 3.5% แน่นอน พร้อมเตือนการใช้เงินห้ามลงทุนซ้ำโครงการเดิมตำบลละ 5 ล้านบาท ย้ำชุมชนต้องไม่ใช่ยัดเยียดการช่วยเหลือ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงการคลัง ดำเนินโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ด้วยการอัดฉีดเงินงบประมาณเพิ่มโดยตรงให้ทุกกองทุนหมู่บ้าน วงเงิน 35,000 ล้านบาท หมู่บ้านละ 500,000 บาท เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านนำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เช่น ยุ้งฉาง โรงสีชุมชน โรงตากพืชผลทางการเกษตร โรงงานผลิตปุ๋ยประจำชุมชน การจัดทำแหล่งน้ำชุมชน เครื่องจักรสำหรับแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และกิจกรรมอื่นที่เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมศักยภาพการประกอบอาชีพทางการเกษตร
กำหนดแผนการลงทุนภายในชุมชนในช่วง 6 เดือนข้างหน้า นับตั้งแต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ คาดว่าสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) จะเริ่มทยอยได้รับเงินในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นี้ เพื่อให้ทุกกองทุนหมู่บ้านพัฒนาชุมชนทั้งหมด 79,556 กองทุน จึงเร่งรัดให้เสนอโครงการลงทุนต่อ กทบ. เงินทุนดังกล่าวจะเกิดการลงทุนได้อย่างรวดเร็ว เพราะอนุมัติการใช้เงินผ่านคณะกรรมการ และติดตามดูแลจาก กทบ. ต่างจากเงินกู้กองทุนหมู่บ้านผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และออมสิน วงเงิน 60,000 ล้านบาท ปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ย และปลอดดอกเบี้ยในช่วงแรก แต่เงินก้อนดังกล่าวสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังกำชับให้กองทุนหมู่บ้านต้องไม่เสนอโครงการลงทุนขนาดเล็กซ้ำซ้อนกับโครงการลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาท เช่น เมื่อสร้างแหล่งน้ำตำบลละ 5 ล้านบาทแล้ว โครงการใหม่ต้องเสนอพัฒนาด้านอื่นเพื่อกระจายการลงทุนด้านอื่นเพิ่ม สำหรับการปล่อยกู้ให้แก่กองทุนหมู่บ้านระดับเอ และบีนั้น ขณะนี้แบงก์รัฐ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน อนุมัติสินเชื่อไปแล้วเกือบ 50,000 ล้านบาท นับว่าเม็ดเงินออกสู่ระบบคืบหน้ามากแล้ว
โดยในวันพรุ่งนี้ (28 ม.ค.) กระทรวงการคลัง เตรียมแถลงตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจประจำปี 2558 พร้อมปรับประมาณการปี 2559 เพิ่ม โดยพิจารณาจากปัจจัยที่มีผลกระทบจากด้านต่างๆ ทั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจโลก (จีดีพี) ลงร้อยละ 0.2 และราคาน้ำมันปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทผันผวน รวมถึงการส่งออกของประเทศชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม ปี 2559 ยังมีปัจจัยบวกจากการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ และเร่งรัดการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาล และการอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจฐานราก ล่าสุด คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จัดสรรงบประมาณให้ทุกหมู่บ้านเร่งรัดการใช้เงินภายใน 6 เดือน วงเงิน 35,000 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยกระตุ้นจีดีพีให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.15 จึงมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยปี 2559 ขยายตัวขั้นต่ำร้อยละ 3.5 แม้ว่าการส่งออกล่าสุดเดือนธันวาคม 2558 ติดลบมากกว่าประมาณการของกระทรวงการคลังติดลบร้อยละ 5.78 จากระดับคาดการณ์ร้อยละ 5.5 เช่นเดียวกัน
ส่วนจีดีพีปี 2558 ยอมรับว่าใกล้เคียงต่อการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ประกาศขยายตัวร้อยละ 2.9 ขณะที่ตัวเลขจีดีพีเดิมของกระทรวงการคลัง ประมาณการเอาไว้ว่าขยายตัวร้อยละ 2.8 เนื่องจากผลของมาตรการของภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ ซึ่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจำนวนมาก และภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี