สศค.แจงข่าวดีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งสินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน สินเชื่อ Soft Loan SMEs ขยายเกณฑ์ค้ำสินเชื่อ บสย. เริ่มผลิดอกออกผล ดันจีดีพี Q4 โตร้อยละ 3 และช่วยให้ทั้งปีถึงเป้าที่โตร้อยละ 2.9
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง และนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง ร่วมแถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลัง โดยเปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา เช่น สินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้านโดยไม่คิดดอกเบี้ย มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ระยะเร่งด่วนผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (Soft Loan SMEs) ขยายเงื่อนไขค้ำประกันสินเชื่อเอสเอสเอ็มอี ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นต้น
มาตรการดังกล่าวเหล่านี้เริ่มมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง จากจีดีพีขยายตัวไตรมาส 1 ร้อยละ 3, ไตรมาส 2 ร้อยละ 2.8, ไตรมาส 3 ร้อยละ 2.9 และคาดว่าไตรมาส 4 จะขยายตัวเกินร้อยละ 3 และทำให้ทั้งปีนี้ (2558) จีดีพีเติบโตร้อยละ 2.9 ตามเป้าหมาย
สำหรับรายละเอียดความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย สินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้านโดยไม่คิดดอกเบี้ย วงเงินสินเชื่อ 60,000 ล้านบาท ล่าสุดธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อแล้ว 22,450 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้าน 22,492 แห่ง และกองทุนหมู่บ้านให้สินเชื่อแก่ผู้มีรายได้น้อยแล้ว 1.28 ล้านราย เป็นเงิน 19,158 ล้านบาท ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อนุมัติสินเชื่อแล้ว 20,226 ล้านบาท ให้กองทุนหมู่บ้าน 20,739 แห่ง และกองทุนหมู่บ้านให้สินเชื่อผู้มีรายได้น้อยแล้ว 1.26 ล้านราย เป็นเงิน 20,226 ล้านบาท
มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล เงินลงทุนตำบลละไม่เกิน 5 ล้านบาท วงเงิน 37,913 ล้านบาท ล่าสุดสำนักงบประมาณทยอยพิจารณาอนุมัติรายละเอียดโครงการและค่าใช้จ่ายประกอบการจัดสรรงบประมาณแล้ว 100,958 โครงการ วงเงินรวม 30,893 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 81.5 ของวงเงินรวม รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล ลงทุนหน่วยงานละไม่เกิน 1 ล้านบาท กรอบวงเงิน 24,000 ล้านบาท ขณะนี้อนุมัติวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 23,343.4 ล้านบาท ได้รับการจัดสรรแล้ว 55,233 โครงการ วงเงินจัดสรร 22,731 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,035 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.6 ของวงเงินจัดสรร
และมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ระยะเร่งด่วนผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (Soft Loan SMEs) ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ระยะเวลา 7 ปี วงเงินสินเชื่อ 100,000 ล้านบาท ล่าสุดธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อแล้ว 68,665 ล้านบาท ให้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอี 8,036 ราย และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 ค้ำประกันไม่เกินร้อยละ 30 ต่อพอร์ต วงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท ล่าสุดบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อแล้ว 21,243 ล้านบาท ให้แก่เอสเอ็มอี 5,360 ราย
และยังมีมาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ผู้มีรายได้น้อยผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีผู้ยื่นขอสินเชื่อ 11,552 ราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 15,298 ล้านบาท ธอส.อนุมัติสินเชื่อแล้ว 903 ราย วงเงินอนุมัติ 1,070 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีงบลงทุนของรัฐบาลในงบประมาณปี 2559 วงเงิน 540,000 ล้านบาท รวมทั้งเงินลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ปี 2558 วงเงิน 3.4 ล้านล้านบาท และปี 2559 อีก 3.77 ล้านล้านบาท
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *