xs
xsm
sm
md
lg

เศร้าหมองผ่องใส

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ท่านสอนว่า... “จิตที่มีกิเลสเศร้าหมอง เมื่อละจากร่างไปสู่ภพภูมิใด ก็จะคงกิเลสนั้นอยู่ คงความเศร้าหมองนั้นอยู่ ภพภูมิที่ไปจึงเป็นทุคติ คติที่ไม่ดี มากน้อย หนักเบา ตามกิเลสความเศร้าหมองของจิต”

คำสอนดังกล่าวชัดที่สุด...ที่พวกเราพากันส่งจิตวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับแล้วไปสู่สุคติ หรือคติที่ดีนั้นคงจะเลื่อนลอย เพราะจิตวิญญาณใดจะไปคติไหน ทุคติ หรือสุคติเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรรมหรือการกระทำ ขณะยังมีชีวิตอยู่ของแต่ละคน ถ้ามีกิเลสหนา (ชั่ว) ก็ไปทุคติ กิเลสบาง (ดี) ก็ไปสวรรค์ ไม่มีกิเลสเลยก็ไปนิพพานประมาณนั้น

เศร้าหมองผ่องใส

จิตเศร้าหมองหรือจิตผ่องใส มีอยู่กับตัวเราทุกคน เพียงแต่มากน้อยต่างกัน สำหรับพระอรหันต์ จิตของท่านหมดเศร้าหมองโดยเด็ดขาด และจิตของท่านผ่องใสบริสุทธิ์ตลอดเวลา

สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมอง คือ กิเลส มีอยู่ 10 ตัวได้แก่...

1. โลภะ (ความอยากได้)

2. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)

3. โมหะ (ความหลง, ความไม่รู้, ความเขลา)

4. มานะ (ความถือตัว)

5. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด)

6. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย, ความเคลือบแคลง)
7. ถ้านะ (ความหดหู่, ความท้อแท้ถดถอย)

8. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)

9. อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อความชั่ว)

10. อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว)

นอกจากกิเลส 10 ตัวนี้แล้ว ยังมีอีก 16 ตัวที่เรียกว่า อุปกิเลส หรือจิตตอุปกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมอง หรือสิ่งที่ทำให้จิตขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก ดุจผ้าเประเปื้อนสกปรก ย้อมไม่ได้ดี ได้แก่...

1. อภิชฌาวิสมโลภะ (คิดเพ่งเล็งอยากให้โลภไม่สมควร, โลภกล้า จ้องจะเอา ไม่เลือก ควรไม่ควร)

2. พยาบาท (คิดร้ายเขา)

3. โกธะ (ความโกรธ)

4. อุปนาหะ (ความผูก โกรธ)

5. มักขะ (ความลบหลู่คุณท่าน, ความหลู่ความดีของผู้อื่น, การลบล้างปิดซ่อนคุณค่าความดีของผู้อื่น)

6. ปลาสะ (ความตีเสมอ, ยกตัวเทียมท่าน, เอาตัวขึ้นขวางไว้ ไม่ยอมยกให้ใครดีกว่าตน)

7. อิสสา (ความริษยา)

8. มัจฉริยะ (ความตระหนี่)

9. มายา (มารยา)

10. สาเถยยะ (ความโอ้อวดหลอกเขา, หลอกด้วยคำโอ้อวด)

11. ถัมภะ (ความหัวดื้อ, กระด้าง)

12. สารัมภะ (ความแข่งดี, ไม่ยอมลดละ มุ่งแต่จะเอาชนะกัน)

13. มานะ (ความถือตัว, ทะนงตน)

14. อติมานะ (ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา, ดูหมิ่นเขา)

15. มทะ (ความมัวเมา)

16. ปมาทะ (ความประมาท, ละเลย, เลินเล่อ)

กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดานที่เรียกว่า อนุสัย 7 หรือสังโยชน์ 7 ได้แก่...

1. กามราคะ (ความกำหนดในกาม, ความอยากได้ติดใจในกาม)

2. ปฏิฆะ (ความขัดใจ, ความหงุดหงิดขัดเคือง คือ โทสะ)

3. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด, การยึดถือความเห็น เอาความคิดเห็นเป็นความจริง)

4. วิจิกิจฉา (ความลังเล, ความสงสัย)

5. มานะ (ความถือตัว)

6. ภวราคะ (ควากำหนัดในภพ, ความอยากเป็น อยากยิ่งใหญ่ อยากยั่งยืน)

7. อวิชชา (ความไม่รู้จริง คือ โมหะ)

อือ...กิเลสเนี่ยมีมากจริงๆ บางชุดก็ซ้ำกัน มีทั้งหยาบ-กลาง-ละเอียด เกินที่จะบรรยาย ใครจะเลือกละเลิกอะไร ก็พิจารณาเองเถิด ชีวิตนี้ มีกิเลส และไม่มีกิเลสเท่านั้นแหละ

ผู้เขียน-ชอบเรียก จิตเศร้าหมองว่า จิตใหม่เทียม และจิตผ่องใสว่า จิตเดิมแท้ หรือเรียกจิตเศร้าหมองว่า หลับยืน และจิตผ่องใสว่า ตื่นรู้...ลองฟังปราชญ์ผู้รู้ดีกว่าครับ...

ท่านเว่ยหล่าง (ฮุ่ยเล้ง) พระสังฆปริณายกองค์ที่ 6 ของจีน กล่าวว่า...

“จิตเดิมแท้ของเรา เป็นของบริสุทธิ์โดยเด็ดขาด และถ้าเราได้รู้จักใจของเราเอง และรู้แจ้งชัดว่า ตัวธรรมชาติแท้ของเราคืออะไรแล้ว เราจะลุถึงพุทธภาวะได้ทุกๆ คน (ที่มีความรู้เช่นนั้น) ธรรมชาติที่แท้จริง (หรือจิตเดิมแท้) ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านเทศน์อย่างซาบซึ้งถึงใจ (จากหนังสือมุตโตทัย) ว่า...

“จิตเดิมเป็นธรรมชาติใสสว่าง แต่มืดมัวไปเพราะอุปกิเลส ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้เลื่อมประภัสสรแจ้งสว่างมาเดิม แต่อาศัยอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมอง เป็นอาคันตุกะ สัญจรมาปกคลุมหุ้มห่อ จึงทำให้จิตมิส่องแสงสว่างได้ ท่านเปรียบไว้ในบทกลอนหนึ่งว่า... “ไม้ชะงกหกพันง่า (กิ่ง) กะปอมก่า (กิ้งก่า) ขึ้นมื้อฮ้อย กะปอมน้อยขึ้นมื้อพัน ครั้นตัวมาบ่ทัน ขึ้นนำคู่มื้อๆ”

โดยอธิบายว่า คำว่า ไม้ชะงก 6,000 ง่านั้น เมื่อตัดศูนย์ 3 ศูนย์ออกเสียเหลือแต่ 6 คงได้ความว่า ทวารทั้ง 6 เป็นที่มาแห่งกะปอมก่าหรือของปลอม ไม่ใช่ของจริง กิเลสทั้งหลายไม่ใช่ของจริงเป็นสิ่งสัญจรเข้ามาในทวารทั้ง 6 นับร้อยนับพัน มิใช่แต่เท่านั้น กิเลสทั้งหลายที่ยังไม่เกิดมีขึ้น ก็จะทวียิ่งๆ ขึ้นทุกๆ วัน ในเมื่อไม่แสวงหาทางแก้

ธรรมชาติของจิตเป็นของผ่องใส ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด แต่อาศัยของปลอม กล่าวคือ อุปกิเลสที่สัญจรเข้ามาปกคลุม จึงทำให้หมดรัศมี ดุจพระอาทิตย์เมื่อเมฆบดบัง ฉะนั้น อย่าพึงเข้าใจว่า พระอาทิตย์เข้าไปหาเมฆ เมฆไหลมาบดบังพระอาทิตย์ต่างหาก

ฉะนั้น ผู้บำเพ็ญเพียรทั้งหลาย เมื่อรู้โดยปริยายนี้แล้ว พึงกำจัดของปลอมด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย (ตามที่อธิบายแล้ว ในอุบายแห่งวิปัสสนาข้อ 9) นั้นเถิด

เมื่อทำจิตให้ถึงขั้นฐีติจิตแล้ว ชื่อว่า ย่อมทำลายของปลอมได้หมดสิ้น หรือว่าของปลอมย่อมเข้าไม่ถึงฐีติจิต เพราะสะพานเชื่อมต่อถูกทำลายขาดสะบั้นลงแล้ว แม้ยังต้องเกี่ยวข้องกับอารมณ์ของโลกอยู่ ก็ย่อมเป็นดุจน้ำกลิ้งบนใบบัว ฉะนั้น”

โชติช่วง นาดอน (จากหนังสือ มือกระบี่กวีเซน) กล่าวว่า...

“คนเราตื่นรู้เป็น “พุทธะ” กันได้ เพราะธรรมชาติของจิตที่บริสุทธิ์ยังมีอยู่ เพียงแต่มันถูก “ความรอบรู้” ครอบงำ เสียจนยากแสนยากจะเปิดให้ จิตเดิมแท้ประภัสสรออกมา”

.....ฯลฯ.....

ท่านผู้รู้ต่างๆ ที่กล่าวมา คงจะเป็นกระจกเงาส่องความจริงตามที่มันเป็น ได้รู้เห็นกันบ้าง ตามสมควร

เมื่อรู้ว่า เศร้าหมองเกิดจากอะไร และแก้ไขอย่างไรแล้ว...และผ่องใส คืออะไร จะทำอย่างไร? จึงจะผ่องใส!

โจทย์นี้...คำตอบอยู่ในตัวแล้ว

ผ่องใส คือจิตเดิมแท้ มันมีอยู่แล้วกับเราทุกคน เอาสิ่งเศร้าหมองออกไปซะ มันก็จบ เหมือนพระอาทิตย์ก็ส่องแสงอยู่เป็นปกติ เพียงแต่เมฆหมอกอย่าไหลเข้าไปบดบังก็จบ

มีของดีอยู่กับตัวแท้ๆ ไม่รู้คุณค่า ไม่รู้รักษา เห่อตามกระแสมายาของหลอกของปลอม หยุดเห่อ หยุดโง่ กลับมาอยู่กับตัวเอง มันก็จบ

กิจกรรมต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าโลกนี้หรือโลกไหน หยุดและก็ดูมันจริงๆ ซิ ก็จะเห็นมายาสาไถยหลอกลวงด้วยเล่ห์กลร้อยแปดพันเก้า...นอกจากจะทุเรศแล้ว ยังขำกลิ้งด้วยกับกะปอมก่าทั้งมวล ที่ชูคอดีดดิ้นปลิ้นปล้อนไปวันๆ

จิตใจสองด้าน

จิตใจสองด้าน ด้านหนึ่งเศร้าหมอง อีกด้านผ่องใส แม้จะดูเป็นคู่ แต่ให้รู้ว่าเป็นหนึ่งเหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน

จิตใหม่เทียมยังมีอยู่ กะปอมก่ายังมีอยู่ ของปลอมยังมีอยู่ เรารู้เท่าทันมัน เห็นมัน แต่ไม่เป็นกับมัน ยืนอยู่ริมถนน เห็นรถวิ่งอยู่ในถนน แต่ไม่กระโดดลงไปในถนนให้รถทับ อะไรต่างๆ นานาประมาณนั้น

เราทั้งหลายถือว่ากิเลสเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อรู้ว่า กิเลสมันคือของปลอม ที่เป็นของจริงที่จะติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ ในทางไม่ดี คือทุคติ หรืออบายภูมิ มีนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย...เอาไหม?

ถ้ายังมีกิเลส ยังเพลินกับกิเลส ถึงไม่อยากเอา มันก็เป็นของเราอยู่แล้ว ดังนั้น ควรจะตื่นเสียที ด้านไหนควรจะลดละเลิก ด้านไหนควรจะเจริญเต็มที่ ขณะที่ยังมีลมหายใจอยู่ หมดลมเมื่อไหร่ก็จบเมื่อนั้น

ตื่นรู้เบิกบาน

“ตถตา” หมายถึง เป็นเช่นนั้นเอง ซึ่งเช่นนั้นที่ได้กล่าวถึงหมายถึง เช่น จิตเดิมแท้ ธรรมญาณ พุทธจิต ที่เราทุกคนต่างมีมาแต่เดิม ดังนั้น ตถตา จึงหมายถึงเป็นเช่นธรรมญาณที่เราทุกคนได้มีมาแต่เดิมนั่นเอง...(อมร ทองสุก)

“ตถาคต” หมายถึงพระผู้ไปแล้วอย่างนั้น เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกพระองค์เอง...(พจนานุกรมฯ)

“ตถาคต” หมายถึง ผู้ไปสู่ตถตาหรือก็คือ ผู้ไปสู่จิตเดิมแท้ หรือธรรมญาณที่ทุกคนล้วนมีมาแต่เดิม...(อมร ทองสุก)

“พุทธะ” แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราจะต้องรู้ว่า อะไรเป็นอะไร โดยเฉพาะเรื่องความดับทุกข์ เมื่อเรารู้แล้ว ก็เรียกว่า ตื่น คือตื่นจากหลับ หลับคือไม่รู้ หลับคือกิเลส พอเราตื่นแล้ว เราก็เบิกบานเหมือนกับดอกไม้ที่กำลังบานอยู่...(พจนานุกรมธรรม ของท่านพุทธทาส)

“จิตเดิมแท้” หมายถึง สิ่งที่ไม่มีอะไรปรุง เมื่อไม่มีอะไรปรุง คือไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ไม่มีอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นตัวเดียวกันกับปัญญา ว่างจากความยึดมั่น...(พุทธทาสภิกขุ)

“ธรรมชาติเดิมแท้” มีสภาวะที่บริสุทธิ์ และว่างอยู่แล้วตั้งแต่แรก มันจึงไม่มีความคลุมเครือ และไม่มีความจำเป็น ต้องฝึกจิตภาวนาแต่อย่างใด...(สเตฟาน โบเดียน ผู้เขียน ตื่นรู้สู่แสงสว่าง)

“ตื่นรู้พุทธะ ธรรมะความว่าง ทุกสิ่งปล่อยวาง สว่างนิรันดร์”...(กวีสี่แถว โดย บาหยุดหมุน)

ที่ยกคำลึกซึ้งมาพอประมาณ เพื่อให้ระมัดระวัง “กับดักคำลึกซึ้ง” หากไม่รู้ทัน ก็จะทำให้สับสนไม่เข้าใจตามนัย

คำลึกซึ้งต่างๆ นานา ส่วนมากเป็นไวพจน์ คือเป็นคำที่ใช้เรียกแทนกันได้ ทั้งคำบาลี และคำภาษาไทย เช่น จิตเดิมแท้ ธรรมญาณ พุทธจิต อมตธรรม ตถตา ตื่นรู้ เป็นต้น

เมื่อตื่นรู้... “สิ่งทั้งมวล-ล้วนว่างเปล่า” มันก็เบิกบาน ตถตา-เช่นนั้นเอง

ถึงบ้านแท้จริง

บ้านที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ เป็นบ้านชั่วคราวหรือบ้านเทียม ส่วนบ้านแท้จริง คืออะไร?

หลวงพ่อชา สุภัทโท บอกว่า... “บ้านที่แท้จริงของเรา คือความรู้สึกที่มันสงบ ความสงบนั่นแหละ คือบ้านที่แท้จริงของเรา”

นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ-สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี

ชีวิตคือการเดินทาง ออกจากบ้าน แล้วกลับบ้าน

บางคนกำลังออกจากบ้าน บางคนกำลังกลับบ้าน บางคนถึงบ้านแล้ว บางคนยังไม่ถึงบ้านเลย

บ้านคือตัวเรา บ้านเทียมก็ตัวเรา (โลกิยธรรม) บ้านแท้ก็ตัวเรา (โลกุตตรธรรม)

ใครที่ทำตัวให้สงบได้ ก็จะมีความสุข เพราะได้อยู่บ้านแท้ ใครสงบยังไม่ได้ ก็อยู่บ้านชั่วคราวไปก่อน ย่อมหาความสุขไม่ได้ เป็นเรื่องธรรมดา

ท่านพระอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แสดงปาฐกถาเรื่องความสงบคือพุทธธรรม ว่า...ความสงบเป็นสิ่งที่เราอาจหาพบได้ในทุกๆ สิ่ง ในทุกๆ สถานที่ ทุกๆ เวลา ถ้าหากว่าเรามองสิ่งนั้นๆ ในด้านใน

ความสงบที่เราพบได้ในสิ่งต่างๆ ทุกสิ่งนั้น นั่นเป็นเสมือนแก่นหรือโครง เป็นที่เกาะจับของโลกียธรรม หรือสังขารทั้งหลาย คือร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ต่างๆ เพราะเมื่อเพิกถอนโลกียธรรมหรือสังขารเหล่านั้น ที่กำลังไหลเวียนออกไปเสียให้หมดสิ้น สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือความสงบ

ฉะนั้น ถ้าหากใครยังอยากจะมีอัตตา หรือตัวตนของตน ก็จงมี ที่ความสงบ ที่ไม่รู้จักดับสูญนั้นเถิด อย่ามีในส่วนที่เป็นร่างกายหรือจิตใจ แต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย

เขาจะมีหวังที่จะพบหรือเข้าถึง หรืออย่างน้อยก็ได้ยินเสียงอันดังกึกก้อง “อัตตาใหญ่ของสากลจักรวาล” กล่าวคือความสงบอันแท้จริงนั้นได้โดยง่าย ดีกว่าที่จะมีตัวตนเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นหัวเป็นหูอย่างนั้นอย่างนี้ที่อื่น

การพบตัวความสงบเท่ากับเป็นการพบแก่นหรือแกนของทุกๆ สิ่ง รวมทั้งตัวเราเอง และสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรา ความวุ่นวายต่างๆ เป็นเพียงผิวเปลือกหรือกระพี้ ซึ่งหาความจริงอันใดไม่ได้ ไม่มีความแน่นอน

ทำไมข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ความสงบเป็นมหาอำนาจที่คุ้มครองสากลจักรวาล ก็ด้วยเหตุว่า ไม่มีอะไรทรงอำนาจมากเหมือนสิ่งนี้

สิ่งที่สิงซึมอยู่ในสิ่งทุกๆ สิ่ง สิ่งที่น้ำไหลท่วมไม่ได้ ไฟไหม้ไม่ได้ ลมพัดให้เหี่ยวแห้งไม่ได้ ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ไม่มีอะไรผ่าตัด หรือทำให้เปลี่ยนแปลงอย่างใดได้ เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องรับเอา ทุกคนต้องอาศัยเป็นสิ่งที่ดังก้องอยู่ในที่ทั่วไป ในอนันตจักรวาล เป็นสิ่งที่เมื่อทุกสิ่งแม้จะวุ่นวายยุ่งเหยิงเพียงใดก็ตาม ครั้นเข้าไปถึงแดนนั้น คือแดนของมหาอำนาจนั้นแล้ว จะต้องดับสนิทลง ในสมัยหนึ่ง สากลจักรวาล รวมทั้งพระเป็นเจ้าด้วย จะต้องดับไป แต่มหาอำนาจนั้นจะต้องยังอยู่ คือความสงบนั้นจะต้องเหลืออยู่ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่มีการเกิดขึ้น และการดับ ไม่มีการสร้างสิ่งใด และไม่ถูกสิ่งใดสร้างขึ้น จึงเป็นอนันตกาล หรืออนันตชีพ

ขอท่านทั้งหลาย จงอย่าถอยหลังจากความสงบ จงเปิดเครื่องรับของท่านขึ้น ฟังเสียงของความสงบ ซึ่งเป็นโน้ตเพลงอันไพเราะ ดังก้องอยู่ไม่ขาดระยะในที่ทั่วไป ท่านจงอาศัยเครื่องมือในการรับ ที่พระพุทธองค์ทรงประทานไว้ กล่าวคือ ศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นวิถีที่จะนำไปสู่ความสงบอันสูงสุด

...(ชุมนุมปาฐกถา ชุด พุทธธรรม โดย พุทธทาสภิกขุ)

“เศร้าหมองผ่องใส

จิตใจสองด้าน

ตื่นรู้เบิกบาน

ถึงบ้านแท้จริง”


เรื่องนี้-วันนี้ ขอจบด้วยคำสอนของ หลวงพ่อชา สุภัทโท ที่ว่า...

“ทุกอย่างมันต้องเห็นสองด้าน มีความสุขเกิดขึ้นมา ก็อย่าลืมทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นมา ก็อย่าลืมสุข มันเกี่ยวเนื่องซึ่งกันและกัน”

สาธุ สาธุ สาธุ

“สิ่งทั้งมวล-ล้วนเกี่ยวเนื่องกัน”... “บ้านแท้ของเรา-คือความสงบ”
กำลังโหลดความคิดเห็น