xs
xsm
sm
md
lg

สมมติหลุดพ้น

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

ผู้รู้ทั้งหลาย แม้จะมีความเห็นต่าง แต่ในต่างความเห็นนั้น ก็มีความเหมือน และวัตรปฏิบัติตรงกันอยู่อย่างหนึ่งคือ... “อยู่กับความเป็นจริง”

ความเป็นจริงนั้น เป็นเช่นไร?

ความเป็นจริง คือ...สมมติและวิมุตติหรือหลุดพ้น เป็นสองด้านของชีวิต เหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน

สมมติหลุดพ้น

เรื่องความจริง หรือสัจจะนี้ มีสองอย่าง

1. สมมติสัจจะ (ความจริงโดยสมมติ) คือความจริงที่ขึ้นต่อการยอมรับของคน หรือความจริงที่ถือตามกำหนดหมายตกลงกันไว้ของชาวโลก เช่น คน สัตว์ โต๊ะ หนังสือ เป็นต้น

2. ปรมัตถสัจจะ (ความจริงโดยปรมัตถ์) คือความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยไม่ขึ้นต่อการยอมรับของคน หรือความจริงตามความหมายขั้นสุดท้าย ที่ตรงตามสภาวะ และเท่าที่จะกล่าวถึงได้ เช่น รูป นาม เวทนา จิต เจตสิก เป็นต้น

ส่วนเรื่องหลุดพ้น หรือวิมุตตินั้น มีหลายอย่างหลายประการ อย่างแรกที่ขาดไม่ได้ เพราะเป็นหลักเป็นฐาน คือ...

วิมุตติ 2 (ความหลุดพ้น) ได้แก่...

1. เจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นแห่งจิต) คือความหลุดพ้นด้วยอำนาจการฝึกจิต หรือความหลุดพ้นแห่งจิตจากราคะ ด้วยกำลังแห่งสมาธิ

2. ปัญญาวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยปัญญา) คือความหลุดพ้นด้วยอำนาจการเจริญปัญญา หรือความหลุดพ้นแห่งจิตจากอวิชชา ด้วยปัญญาที่รู้เห็นตามเป็นจริง

นอกจากวิมุตติ 2 แล้ว ก็ยังมี นิโรธ 5 วิโมกข์ 3 วิโมกข์ 8 เป็นต้น

ในที่นี้ จะกล่าวสักสองหัวข้อ คือ วิโมกข์ 3 และนิโรธ 5 พอสังเขป

วิโมกข์ 3 คือความหลุดพ้น, ประเภทของความหลุดพ้น จัดตามลักษณะการเห็นไตรลักษณ์ ข้อที่ให้ถึงความหลุดพ้น

1. สุญญตวิโมกข์ คือหลุดพ้นด้วยเห็นความว่าง หมดความยึดมั่น ได้แก่ความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญา พิจารณาเห็นนามรูป โดยความเป็นอนัตตา คือหลุดพ้นด้วยเหตุอนัตตา แล้วถอนความยึดมั่นเสียได้ = อาศัยอนัตตานุปัสสนา ถอนอัตตาภินิเวส

2. อนิมิตตวิโมกข์ คือหลุดพ้นด้วยไม่ถือนิมิต ได้แก่ ความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญา พิจารณาเห็นนามรูปโดยความเป็นอนิจจัง คือหลุดพ้นด้วยเห็นอนิจจตา แล้วถอนนิมิตเสียได้ = อาศัยอนิจจตานุปัสสนา ถอนวิปัลลาสนิมิต

3. อัปปณิหิตวิโมกข์ คือหลุดพ้นด้วยไม่ทำความปรารถนา ได้แก่ ความหลุดพ้นที่เกิดจากปัญญา พิจารณาเห็นนามรูป โดยความเป็นทุกข์ คือหลุดพ้นด้วยเห็นทุกขตา แล้วถอนความปรารถนาเสียได้ = อาศัยทุกขานุปัสสนา ถอนตัณหาปณิธิ

นิโรธ 5 คือความดับกิเลส หรือภาวะไร้กิเลส และไม่มีทุกข์เกิดขึ้น ได้แก่...

1. วิกขัมภนนิโรธ (ดับด้วยข่มไว้) คือการดับกิเลสของท่านผู้บำเพ็ญฌาน ถึงปฐมฌาน ย่อมข่มนิวรณ์ไว้ได้ ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น

2. ตทังคนิโรธ (ดับด้วยองค์นั้นๆ) คือดับกิเลสด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ หรือธรรมที่ตรงข้าม เช่น ดับสักกายทิฏฐิ ด้วยความรู้ที่กำหนดแยกนามรูปออกได้ เป็นการดับชั่วคราว ในกรณีนั้นๆ

3. สมุจเฉทนิโรธ (ดับด้วยตัดขาด) คือดับกิเลสเสร็จสิ้น เด็ดขาด ด้วยโลกุตตรมรรค ในขณะแห่งมรรคนั้น ชื่อสมุจเฉทนิโรธ

4. ปฏิปัสสัทธินิโรธ (ดับด้วยสงบระงับ) คืออาศัยโลกุตตรมรรค ดับกิเลสเด็ดขาดไปแล้ว บรรลุโลกุตตรผล กิเลสเป็นอันสงบระงับไปหมดแล้ว ไม่ต้องขวนขวายเพื่อดับอีก ในขณะแห่งผลนั้น ชื่อ ปฏิปัสสัทธินิโรธ

5. นิสสรณนิโรธ (ดับด้วยสลัดออกได้ หรือดับด้วยปลอดโปร่งไป) คือดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ดำรงอยู่ในภาวะที่กิเลสดับแล้วนั้นยั่งยืนตลอดไป ภาวะนั้นชื่อ นิสสรณนิโรธ ได้แก่ อมตธาตุ คือ นิพพาน

ปทาน 5 (การละกิเลส) วิมุตติ 5 (ความหลุดพ้น) วิเวก 5 (ความสงัด, ความปลีกออก) วิราคะ 5 (ความคลายกำหนัด, ความสำรอกออกได้) โวสสัคคะ 5 (ความสละ, ความปล่อย) ก็อย่างเดียวกันนี้ทั้งหมด

...(พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม, พระพรหมคุณาภรณ์-ป.อ.ปยุตฺโต)

เรื่องสมมติและหลุดพ้นนี้ เป็นสองด้านของชีวิตที่อยู่ด้วยกัน เหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน ใครจะให้ความสำคัญด้านใด มากน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับภูมิธรรมภูมิปัญญาของแต่ละบุคคล

หนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” ของ “หลวงปู่ดูลย์ อตุโล” ยิ่งดูยิ่งแจ้ง ปานหงายของที่คว่ำอยู่...

ก่อนเข้าพรรษา พ.ศ. 2496 หลวงพ่อเถาะ ซึ่งเป็นญาติของหลวงปู่ และบวชเมื่อวัยชราแล้ว ได้ออกธุดงค์ติดตามท่านอาจารย์เทสก์ ท่านอาจารย์สาม ไปอยู่จังหวัดพังงาหลายปี กลับมาเยี่ยมนมัสการหลวงปู่ เพื่อศึกษาข้อปฏิบัติทางกัมมัฏฐานต่อไปอีก จนเป็นที่พอใจแล้ว หลวงพ่อเถาะ พูดตามประสาความคุ้นเคยว่า...

“หลวงปู่สร้างโบสถ์ ศาลา ได้ใหญ่โตสวยงามอย่างนี้ คงได้บุญได้กุศลอย่างใหญ่โตทีเดียว”

หลวงปู่กล่าวว่า...

“ที่เราสร้างนี่ ก็สร้างเพื่อส่วนรวม ประโยชน์สำหรับโลก สำหรับวัดวาศาสนาเท่านั้นแหละ ถ้าพูดถึงเอาบุญ เราจะมาเอาบุญอะไรอย่างนี้”

คำพูดของหลวงปู่ ชัดแจ้งแทงทะลุเลย บุญของชาวบ้านชาวโลกก็แค่สมมติ บุญของผู้ตื่นรู้จึงอยู่กับปรมัตถ์ ความจริงขั้นสูงสุดหลุดพ้น เป็นคนเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน ก็อยู่ตรงจุดนี้แล

ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้รู้ทั้งหลาย จึงแนะนำเพื่อนมนุษย์ให้ “ดูจิต” ตัวเอง ว่าในแต่ละปัจจุบันขณะ อะไรมันขึ้นสูง อะไรมันลงต่ำ ระหว่าง “สมมติ” กับ “หลุดพ้น” ก็ปรับก็เปลี่ยนเอาเองเถิด ตามจิตตามใจของแต่ละคน

รู้ตนสองด้าน

“รู้ใดไหนเล่า จะเท่ารู้ตน” พระพุทธเจ้าตรัสว่า... “ผู้ใดเห็นธรรม-ผู้นั้นเห็นเรา” หรือ “ผู้ใดเห็นเรา-ผู้นั้นเห็นธรรม”

คำว่า “เห็นธรรม” หรือ “เห็นเรา” ก็คือ... “เห็นตน-รู้ตน” นั่นเอง

“รู้ตน” ก็จะทำให้ “เป็นตัวของตัวเอง” คนที่เป็นตัวของตัวเอง ก็คือคนที่พึ่งตนเองได้ และคนที่พึ่งตนเองได้แล้ว ก็จะเป็นที่พึ่งของคนอื่น หรือสังคมประเทศชาติได้

คนที่พึ่งตนเองยังไม่ได้ แต่อาจหาญชาญปาก จะช่วยเหลือคนอื่นอย่างนั้น ช่วยเหลือสังคมอย่างนี้ คงเป็นเพราะอยู่ในอาการละเมอเพ้อเจ้อมากกว่า

คนที่รู้จักตัวเอง จนพึ่งตัวเองได้ และเป็นที่พึ่งของสังคมได้ เนื่องเพราะ เขามีที่พึ่งอันแท้จริง คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งสอนให้เรารู้จักพึ่งตนเอง ดังพุทธภาษิตที่ว่า... “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ-ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน”

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า...ธรรมสร้างที่พึ่ง หรือคุณธรรมที่ทำให้ตนเป็นที่พึ่งของตนได้ เรียกว่า นาถกรณธรรมมี 10 ประการ ได้แก่...

1. ศีล คือความประพฤติดีงาม สุจริต รักษาระเบียบวินัย มีอาชีวะบริสุทธิ์

2. พาหุสจฺจ คือความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีความรู้ความเข้าใจลึกซึ้ง

3. กลฺยาณมิตฺตตา คือความมีกัลยาณมิตร การคบคนดี ได้ที่ปรึกษา และผู้แนะนำสั่งสอนที่ดี

4. โสวจสฺสตา คือความเป็นผู้ว่าง่าย สอนง่าย รับฟังเหตุผล

5. กิงฺกรณีเยสุ ทุกฺขตา คือความเอาใจใส่ ช่วยขวนขวายในกิจใหญ่น้อย ทุกอย่างของเพื่อนร่วมหมู่คณะ รู้จักพิจารณาไตร่ตรอง สามารถจัดทำให้สำเร็จเรียบร้อย

6. ธมฺมกามตา คือความเป็นผู้ใคร่ธรรม คือรักธรรม ใฝ่ความรู้ ใฝ่ความจริง รู้จักพูด รู้จักรับฟัง ทำให้เกิดความพอใจ น่าร่วมปรึกษา สนทนา ชอบศึกษา ยินดีปรีดาในหลักธรรมหลักวินัย ที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป

7. วิริยารมฺภ คือความขยันหมั่นเพียร คือเพียรละความชั่ว ประกอบความดี มีใจแกล้วกล้า บากบั่น ก้าวหน้า ไม่ย่อท้อ ไม่ทอดทิ้งธุรกิจ

8. สนฺตุฏฐี คือความสันโดษ คือยินดี มีความสุขความพอใจด้วยปัจจัย 4 ที่หามาได้ด้วยความเพียรอันชอบธรรมของตน

9. สติ คือความมีสติ รู้จักกำหนดจดจำ ระลึกการที่ทำ คำที่พูดไว้ได้ เป็นอยู่อย่างไม่ประมาท

10. ปญฺญา คือความมีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้จักคิดพิจารณา เข้าใจภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง

(นาถกรณธรรมนี้ ท่านเรียกว่าเป็นพหุการธรรม หรือธรรมมีอุปการะมาก เพราะเป็นกำลังหนุนในการบำเพ็ญคุณความดีทั้งหลาย ยังประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางไพบูลย์)

ธรรมอันกระทำที่พึ่ง หรือนาถกรณธรรมนี้ เพียงข้อสุดท้ายข้อเดียว ก็ครอบคลุมทั้งหมด คือปัญญา หยั่งรู้เหตุและผล

ถ้ามีเหตุอย่างนี้ ก็มองเห็นผลที่จะเกิดขึ้นเลย ว่าผลจะเป็นอย่างไร เหตุชั่ว ก็ย่อมมีผลชั่ว เหตุดี ก็ย่อมมีผลดี เป็นต้น

รู้จักคิดพิจารณา พระพุทธเจ้า ทรงสอนว่า... “นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน-ปัญญา ไม่มี แก่ผู้ไม่พินิจ”... “นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส-ความพินิจ ไม่มี แก่คนไร้ปัญญา”

การพินิจพิจารณา วิพากษ์วิจารณ์ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะเป็นแสงสว่าง หรือดวงตะเกียงในโลก” ดังพุทธวจนะที่ว่า... “ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต-ปัญญาเป็นดวงชวาลาในโลก”

เข้าใจภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย ก็คือ สมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ หรือวิมุตติหลุดพ้น นั่นเอง

สิ่งสมมติ ก็ทำตามสมมติ ตามหน้าที่-ที่สมมติกัน ชั่วก็ให้ละให้เลิก ดีก็ทำยิ่งๆ ขึ้นไป ใครทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ก็ต้องถูกลงโทษ กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก

รัตนสองด้าน ก็อยู่ตรงนี้ ตรงสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ หรือวิมุตติหลุดพ้น นี่เอง

ดูตนรู้ตน ก็คือดูจิตรู้จิต ว่าจิตของเรา มันเป็นอย่างไร อะไรขึ้น อะไรลง ระหว่างสมมติกับปรมัตถ์หรือหลุดพ้น และเราจะเอาอย่างไร เราคงไม่เอาทุกข์ เราต้องเอาสุข อะไรมันคือเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรคือเหตุให้เกิดสุข

ก็พินิจพิจารณาดู ถ้ามีปัญญาก็จะเห็นแจ่มแจ้งแทงตลอด

รู้ตน คือรู้สองด้าน สมมติและหลุดพ้นของตนเอง ถ้าเห็นชัดแล้ว คือเห็นโทษเห็นคุณของสองด้าน ก็ง่ายต่อการตัดสินใจ

ทุกสิ่งตระการ

“ตระการ” คือหลากหลาย งดงาม และประหลาด หรืออะเมซิ่งนั่นเอง

“สิ่งทั้งมวลล้วนตระการ” คำพูดเยี่ยงนี้ คงมีเสียงย้อนแย้งมามากมาย ก็จริง

ไม่ว่าจะ “ตระการ” หรือ “น่าเกลียด” มันก็ล้วนเป็นความคิดปรุงแต่งในมิติของสมมติสัจจะ ที่จิตของเราจะต้องบันทึกสะสมไว้ใต้จิตสำนึก ทั้งหมดโดยเท่าเทียมกัน

โง่หรือฉลาด ที่จะสั่งสมสิ่งไม่ดี ไว้ในจิต

โง่ หรือฉลาดที่จะสั่งสมสิ่งที่ดี ไว้ในจิต
ไม่ว่าดี หรือไม่ดี มันคือจิตวิญญาณ ที่จะนำเราไปทุกภพทุกชาติ ตราบใดที่เรายังไม่หมดกิเลสโดยเด็ดขาด!

ในชั่วก็มีดี ในดีก็มีชั่ว ก็จงมองหาสิ่งดีๆ เถิด สั่งสมไว้เถิด เพราะมันคือ อริยทรัพย์ที่ติดตัวเราตลอดไป ไม่มีอะไรแย่งชิงไปได้

บรรสานหนึ่งเดียว

“สิ่งทั้งมวลล้วนบรรสานกัน”... “สิ่งทั้งมวลล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน” ข้อความดังกล่าว มองเผินๆ ก็จะย้อนแย้ง...หากมองลึกซึ้ง ก็จะเข้าใจ และเข้าถึง

เจดีย์ คือสิ่งก่อสร้างรูปคล้ายลอมฟาง มียอดแหลม บรรจุสิ่งที่บุคคลนับถือ

เจดีย์ มองได้หลายมิติ ฐานกว้างใหญ่ เปรียบเหมือนคนสามัญธรรม ยึดมั่นถือมั่นในสมมติสัจจะ ปลายแหลม เปรียบเหมือนยอดคนซึ่งมีอยู่จำนวนน้อย รู้-เห็นทั้งสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ หรือวิมุตติหลุดพ้น ปลายแหลมชี้ขึ้นไปบนเวหาอันไร้ขอบเขต เปรียบเหมือนยอดคนที่คอยบอกคอยสอนเพื่อนมนุษย์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน ให้รู้จักความจริงสูงสุดหลุดพ้น คือความว่าง

นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ-สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี

นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ-นิพพานคือสุขอย่างยิ่ง

นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ-นิพพานคือว่างอย่างยิ่ง

พุทธวจนะสามคาถา คือมรรคาสู่สุขที่ทุกคนควรดู ก็จะรู้จะเห็น และเป็นสุขด้วยตัวของตัวเอง

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ-ตนแลเป็นที่พึ่งของตน

นี่คือความสวยงามตระการตา ไม่ว่าจะเป็นด้านสมมติ หรือหลุดพ้น ไม่ว่าจะเป็นคนพื้นฐานของเจดีย์ หรือยอดแหลมของเจดีย์ จะต่างคิดต่างฝันอย่างไร ก็เป็นคนเหมือนกัน เหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน ขาดด้านใดด้านหนึ่งก็ไม่เป็นเหรียญ ขาดด้านใดด้านหนึ่งก็ไม่เป็นคน แต่ก็ต้องตระหนักรู้ว่า ด้านใดควรลด ด้านใดควรเพิ่ม

“สมมติหลุดพ้น

รู้ตนสองด้าน

ทุกสิ่งตระการ

บรรสารหนึ่งเดียว”


ความว่างมีก่อนสิ่งสมมติ สิ่งสมมติมีหลังความว่าง การรู้ทันทั้งสมมติและความว่าง หรือวิมุตติหลุดพ้นนั้น นั่นคือ...การดำรงคงอยู่กับความเป็นจริง จึงมีความสงบ และมีความสุข หรือพ้นทุกข์อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น