คำว่า “อามิสบูชา” กับ “ปฏิบัติบูชา” เป็นคำที่คุ้นเคยกันดีในหมู่พุทธศาสนิกชน แต่อาจจะยังไม่เข้าใจถ่องแท้ในความหมายที่ถูกต้อง
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในการบรรยายธรรม เรื่อง “ตามพระใหม่ไปเรียนธรรม” ซึ่งท่านได้บอกว่าบูชาอย่างไร เป็นการบูชาที่สูงสุด และเป็นการบูชาที่แท้จริง ดังต่อไปนี้
...ตัวแท้จริงของการบูชาก็อยู่ที่ใจ แต่คนก็ย่อมมีการแสดงออก เฉพาะอย่างยิ่งในทางสังคม ก็มีการจัดกันเป็นกิจกรรม และเมื่อนิยมทำกันจนเป็นแบบแผน ก็เกิดเป็นประเพณี เป็นวัฒนธรรมขึ้นมา
ในพระพุทธศาสนา การบูชาในขั้นแสดงออก หรือเป็นกิจกรรมทางสังคม ท่านก็ให้สบายๆ คือใช้วิธีปฏิบัติที่นิยมทำกันมาในสังคมนั้นเอง ซึ่งอาจจะมีมาแต่โบราณ ตามที่เขาบูชาอยู่แล้ว เช่น บูชาเทพเจ้า บูชาบรรพบุรุษ อันไหนที่ไม่ยุ่งยากวุ่นวาย เป็นสื่อเชื่อมโยงไปถึงใจ หรือช่วยโน้มนำใจให้ชื่นบานผ่องใส อิ่มใจ ปลื้มใจ นำให้เกิดกุศลธรรม แล้วก็ไม่มีการเบียดเบียน ก็ตกลงกันหรือปรับเปลี่ยนปรับปรุงเอามาใช้ได้
วิธีปฏิบัติที่ว่านั้น ก็ตั้งต้นแต่การยกมือไหว้ การกราบ แล้วเลยขึ้นไป ก็มีวัตถุสิ่งของมาแสดงออกให้มากยิ่งขึ้น เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน ซึ่งจัดเป็นของพื้นฐานที่สุด
อาหารก็เป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่ง ดังที่บางแห่งยังมีการถวายข้าวพระ แต่มาตอนหลังๆนี่ บางคนเข้าใจเป็นว่า จะถวายให้พระพุทธเจ้าเสวย ที่จริงไม่ใช่หรอก ถือมาแต่โบราณว่าอาหารเป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่ง ก็เหมือนบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนนี่แหละ คือ เราเคารพยกย่องใคร เราก็พยายามเอาสิ่งที่เราเห็นว่ามีค่า สำคัญสำหรับเรา เป็นของดีที่สุด เอาไปบูชาท่าน นำไปมอบให้ท่าน
บางทีคนเก่าๆได้อะไรดีๆน่าชื่นอกชื่นใจมา เช่น ได้ลูกจันมา ลูกก็กลมเกลี้ยง ผิวเปลือกก็เหลืองละมุนสะอาดอิ่ม กลิ่นก็หอมชื่นใจจัง นึกถึงพระ ก็เอาไปบูชาพระ ก็เลยบูชาไม่เฉพาะดอกไม้ แต่ผลไม้สวยๆงามๆดีๆที่น่าชื่นใจ อะไรที่ดีที่สุด ก็เอาไปบูชาพระ
การเอาสิ่งที่ดีไปให้ ไปถวายท่าน แสดงถึงความมีใจระลึกถึง และเป็นเครื่องหมายของการยกย่องเทิดทูนนั่นเอง รวมแล้วก็อย่างที่ว่า ไม่ให้เป็นของที่มีการเบียดเบียน ไม่ให้เกินไปจนเป็นการเซ่นไหว้ แล้วเดี๋ยวก็จะกลายเป็นการบูชายัญไปเสีย
การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของทั้งหมดนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่าเป็น “อามิสบูชา” คือ การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ
อย่างที่ว่าแล้ว อามิสบูชานี้ ปรากฏขึ้นและนิยมทำต่อกันมา โดยเป็นเรื่องของประเพณี มีความหมายทางสังคม เกิดเป็นวัฒนธรรมทางด้านรูปธรรม ซึ่งสื่อต่อไปถึงนามธรรม แต่ไม่แน่ว่าจะสื่อความหมายได้มากเท่าใด โดยขึ้นต่อการพัฒนาของจิตใจและปัญญา
ในเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า อามิสบูชานั้นยังไม่มีผลมาก การบูชาที่จะมีผลมากแท้ คือ ปฏิบัติบูชา แปลว่า การบูชาด้วยการปฏิบัติ
คำสอนให้ทำปฏิบัติบูชา เป็นการนำทาง หรือชี้ทางให้ก้าวสูงขึ้นไป ให้เข้าสู่ธรรมมากยิ่งขึ้น แม้แต่ในขั้นอามิสบูชา เวลาเราบูชาก็ต้องมีเจตนาออกมาจากจิตใจ ดังนั้น ถ้าจะให้ได้ผล ในจิตใจก็ต้องมีความตั้งใจด้วยความรู้สึกซาบซึ้ง และมีความเข้าใจซาบซึ้งถึงความหมาย พร้อมทั้งความมุ่งหมายว่า เราบูชาเพื่ออะไร
เราเห็นคุณค่าความดีของท่านแล้ว เราจึงเอาสิ่งของไปบูชา แค่นี้ก็ได้ขั้นหนึ่งแล้ว แต่เพื่อให้ได้ผลยิ่งขึ้น พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้มองเห็นว่า อามิสบูชา คือ บูชาด้วยวัตถุสิ่งของนี้ ยังไม่สำคัญจริง ยังไม่ประเสริฐแท้ จะมีคุณค่าจริง ต้องบูชาด้วยการปฏิบัติ คือ ตัวเรานี้ลงมือทำความดีเองเลย
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็เพราะทรงหวังดี ทรงคัดเลือกสิ่งที่ดีมาให้เรา โดยทรงต้องการให้เราประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลดีแก่ตัวเราเอง และแก่สังคมที่เราร่วมอยู่ร่วมอาศัย
ถ้าเราเคารพพระองค์จริง ก็จะไม่มองข้ามคำสอนของพระองค์ แต่จะนำไปปฏิบัติให้จริงจัง เมื่อเราปฏิบัติ ก็ถือว่าได้บูชาพระองค์ด้วยการบูชาที่สูงสุด
ถ้าเราทำอามิสบูชา เรานำเอาข้าวของไปถวายแด่พระพุทธเจ้า จะให้พระองค์ได้ข้าวของนั้น แต่พระองค์ตรัสกลับมาว่า เธอทำปฏิบัติบูชาโดยทำความดีงาม ประพฤติในทางที่เราบอกเราสอนให้ แล้วเกิดผลดีแก่เธอเองและแก่พวกเธอนั่นแหละ เป็นการบูชาอย่างแท้ ที่ดีเลิศประเสริฐกว่าทำอามิสบูชาแก่เรา นี่คือชัดว่าทรงปรารถนาดีต่อเรา และเมื่อเราทำให้ได้ให้จริง จึงจะแสดงว่าเราเคารพนับถือพระองค์จริง
เพราะฉะนั้น จึงมีการบูชา ๒ อย่าง คือ อามิสบูชา กับ ปฏิบัติบูชา
การบูชาอย่างแรก คือ แสดงความเคารพเชิดชูด้วยวัตถุสิ่งของ เป็นการแสดงออกให้เห็นในขั้นต้นเป็นพื้นฐานก่อน คนเรานี้จะให้เข้าถึงเรื่องที่ลึกลงไปเป็นนามธรรมเลยนั้น ออกจะยากสักหน่อย ก็เอาวัตถุเอารูปธรรมมาเป็นฐาน มาปูพื้นไว้ หรือเป็นสื่อให้ได้เข้ามาใกล้ชิดกันก่อน จะได้ถึงกันง่ายขึ้น
แต่สิ่งที่ต้องการแท้จริง ก็คือการบูชาด้วยการปฏิบัติ คือทำจริง พออามิสบูชาพามาใกล้ชิด มาพบกันแล้ว ก็ทักทายพูดจา แล้วก็พาต่อไป
พอไปถึงปฏิบัติบูชา ก็จะเกิดผลจริง คือเกิดผลดีแก่ชีวิตของเราผู้ทำผู้ปฏิบัติ แล้วธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน ก็เกิดผลตามที่พระองค์ทรงต้องการ คือตัวเราเจริญงอกงามในความดี ทำให้ความดีงามแผ่ขยายสืบต่อไปในสังคม
เมื่อใดสังคมเชิดชูมุ่งสู่ความดีนั้น “บูชาบูชนีย์” นั่นคือได้ผลที่หมาย พระพุทธเจ้าทรงต้องการผลนี้ มิใช่ทรงต้องการของถวาย
แล้วอามิสบูชานั้น ถ้าไม่มีปฏิบัติบูชามาต่อหรือมากำกับ ในระยะยาวมันก็ค่อยๆหมดความหมายไป ทำกันไปอย่างนั้นๆพอขอไปที หรือเพี้ยนไป อาจจะกลายเป็นความลุ่มหลงหรือเหลวไหล อย่างที่พอจะเห็นกัน ชาวบ้านอุตส่าห์หลั่งไหลมาทำอามิสบูชาถึงในวัด แต่พระไม่พูดจาพาต่อไปสู่ปฏิบัติบูชา ได้แต่วนเวียนหมกจมกันอยู่แค่นั้น หรือบางทีพาเฉออกไปทางอื่น อย่างนี้ก็จำเป็นต้องเสื่อม ไม่เร็วก็ช้า
แต่ถ้ามีปฏิบัติบูชามาต่อหรือกำกับอย่างที่ว่า ธรรมก็ปรากฏอยู่และเป็นไปในหมู่มนุษย์ คนยังเข้าหาธรรม ไปถึงความดีงาม แล้วอามิสบูชาก็พ่วงห้อยไปด้วยเอง
ที่ว่ามานี้เป็นหลักเกี่ยวกับการบูชา แต่ขอบอกแถมไว้เป็นความรู้ว่า ในพุทธพจน์ บทที่ตรัสเกี่ยวกับบูชา ๒ อย่างนี้ ที่จริงพระองค์ไม่ได้ทรงใช้คำว่า “ปฏิบัติบูชา” แต่ทรงใช้คำว่า “หนึ่ง อามิสบูชา สอง ธรรมบูชา” (องฺทุก.๒๐/๔๐๑/๑๑๗)
เพราะฉะนั้น คู่ที่แท้จึงเป็นอามิสบูชา กับ ธรรมบูชา คือการบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ กับบูชาด้วย(การปฏิบัติ)ธรรม แต่ความหมายก็โยงเป็นอันเดียวกัน บูชาด้วยธรรม ก็หมายถึงเอาธรรมมาปฏิบัติ
เป็นอันว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายแท้จริง ก็คือ ให้พุทธศาสนิกชนตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ คือเอาธรรมนั่นเองไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตของตนเอง อันเนื่องไปด้วยกันกับสังคม
เพราะแท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงต้องการวัตถุสิ่งของอะไรที่เราเอาไปบูชาด้วยซ้ำ มันเป็นการแสดงน้ำใจของเราเอง แล้วมองให้ลึกลงไป การแสดงน้ำใจอย่างจริงจังก็คือ ต้องคิดได้ว่า พระองค์ทรงหวังดีต่อเราแล้วนี่ จึงทรงสอนให้เราปฏิบัติ ให้เราทำความดีอันนั้นอันนี้ เราก็เอาความดีนั้นไปทำ นี่คือบูชาแท้จริง...
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 175 กรกฎาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)