xs
xsm
sm
md
lg

นานาสารธรรม : ความหมายของ “วันวิสาขบูชา” ในแง่ปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ ในประวัติแห่งมนุษยชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้เกิดขึ้นตรงกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ ทั้ง ๓ เหตุการณ์นี้ ถือว่าน่าอัศจรรย์ยิ่ง พุทธศาสนิกชนจึงได้ทำการบูชาใหญ่ในวันนี้ และเรียกการบูชานี้ว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า “การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ”

ในหนังสือ “มองวันวิสาขบูชา หยั่งถึงอารยธรรมโลก” โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม ได้อธิบายความหมายของวันวิสาขบูชา ในขั้นหลักการของพระพุทธศาสนา ไว้ว่า

...การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ก็คือการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา และในแง่นี้ การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา เป็นปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ที่มีลักษณะพิเศษ ถือได้ว่าเป็นการขึ้นสู่ยุคใหม่แห่งประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โดยที่การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า มีความหมายเชิงหลักการดังนี้

1. การประสูติของพระพุทธเจ้า คือการประกาศอิสรภาพของมนุษย์
การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ก็หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าด้วย เป็นความหมายที่โยงถึงกันอยู่ในตัว

การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ มีสัญลักษณ์อยู่ที่การทรงประกาศการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ด้วยพระดำรัสที่เรียกว่า “อาสภิวาจา” (วาจาอาจหาญ) ว่า

“อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏโฐหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏโฐหมสฺมิ โลกสฺส”
แปลว่า “เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก”


พระวาจานี้ทรงประกาศท่ามกลางสังคมมนุษย์ ที่มีอิทธิพลของการนับถือเทพเจ้าครอบคลุมและครอบงำไปทั่วทั้งหมด

คำว่า “เชฏฐ” เป็นต้นนั้น เป็นคำแสดงฐานะของพระพรหมผู้เป็นเทพเจ้าสูงสุด มนุษย์ยุคนั้นเชื่อว่าชีวิตและสังคมของตนจะดีร้ายเป็นไปอย่างไร ย่อมขึ้นต่ออำนาจของเทพเจ้า ที่จะลงโทษหรือโปรดปรานดลบันดาลให้เป็นอย่างไร สิ่งที่มนุษย์จะต้องทำเพื่อนำผลดีมาสู่ชีวิต ครอบครัว และสังคมของตน ก็คือการยอมสยบต่อเทวบัญชา และการอ้อนวอนบูชาขอผลที่ปรารถนา ด้วยการเซ่นสรวงสังเวยและการบูชายัญ

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์ได้ประกาศหลักการ ที่เป็นการปฏิวัติความคิด ความเชื่อ และวิถีชีวิตของมนุษย์ว่า มนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษ มีศักยภาพที่จะฝึกฝนพัฒนาให้ดีเลิศประเสริฐสูงสุดได้ เมื่อมนุษย์ฝึกฝนพัฒนาตนให้มีคุณความดีและมีปัญญาญาณสมบูรณ์แล้ว ก็จะเป็นบุคคลผู้ประเสริฐสูงสุด ที่เรียกว่า ”พุทธะ” ซึ่งเทพเจ้าทั้งหลาย ตลอดแม้กระทั่งพระพรหมก็จะน้อมนบบูชา

ฉะนั้น มนุษย์ที่ฝึกฝนพัฒนาตนสูงสุด คือ พุทธะนี้ต่างหาก ที่เป็น “อัคคะ” (ผู้เลิศ) เป็น “เชฏฐะ” (ผู้เป็นใหญ่) เป็น “เสฏฐะ” (ผู้ประเสริฐ) หาใช่เทพเจ้า แม้แต่พระพรหมผู้เป็นเจ้าไม่

ด้วยหลักการนี้ พระพุทธศาสนาได้กระตุ้น และกระตุกมนุษย์ให้หันมาใส่ใจ ในศักยภาพแห่งมนุษย์ที่มีอยู่ในตนเอง และเกิดความสำนึกในการที่จะฝึกฝน พัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ พฤติกรรม ภูมิธรรม ภูมิปัญญาของตน ด้วยความตระหนักรู้ว่า สันติสุข และอิสรภาพ แห่งชีวิตและสังคมของตนสัมฤทธิ์หรือไม่ และแค่ไหน เพียงใด อยู่ที่การฝึกฝนพัฒนาตัวของมนุษย์เอง หาใช่อยู่ที่การดลบันดาลของเทพเจ้าไม่

มนุษย์ไม่ควรจะมัวคิดหาทางพะเน้าพะนอ อ้อนวอน เอาอกเอาใจเทพเจ้า แต่ควรหันมาเพียรพยายามพัฒนาตนเอง ให้มีความสามารถที่จะสร้างสรรค์ความสำเร็จ ด้วยสติปัญญาของตน

การประสูติของพระพุทธเจ้า หรือการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา เป็นการปฏิวัติในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ ด้วยการประกาศว่า อำนาจสูงสุดที่กำหนดชะตากรรมของมนุษย์ ก็คือการฝึกฝนพัฒนาตน และการกระทำด้วยปัญญา ที่พัฒนาขึ้นมาให้รู้ความจริงของธรรมชาติ หาใช่การดลบันดาลของเทพเจ้าไม่

2. การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือการปรากฏแห่งธรรมขึ้นมาเป็นใหญ่สูงสุด

อิสรภาพของมนุษย์ที่ทรงประกาศในการประสูตินั้น จะบรรลุผลเป็นจริงก็เพราะมีการตรัสรู้ กล่าวคือ เมื่อมนุษย์รู้เข้าใจ มองเห็นความจริงของธรรมชาติ แล้วปฏิบัติการทั้งหลายได้ถูกต้องตามธรรม โดยฝึกฝนพัฒนาตนให้มีปัญญาญาณ จนตรัสรู้เข้าถึงธรรมแล้ว มนุษย์จึงเป็น “พุทธะ” ผู้ประเสริฐเลิศสูงสุด

การตรัสรู้ คือ การบรรจบประสานระหว่างปัญญาของมนุษย์กับธรรม คือความจริงของธรรมชาติ เมื่อตรัสรู้แล้วพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า

“ยทา หเว ปาตุภวนฺติ ธมฺมา” เป็นต้น

มีใจความว่า “เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่บุคคลประเสริฐ ผู้เพียรพยายามเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้นปวงความสงสัยย่อมมลายไป เพราะมารู้เข้าใจถึงธรรมพร้อมทั้งเหตุของมัน... เพราะได้รู้ถึงภาวะที่สิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย... ขจัดมารและเสนาเสียได้ ดังตะวันส่องฟ้าทอแสงจ้าอยู่ ฉะนั้น”

ธรรมคือความจริงของธรรมชาตินั่นแหละ ยิ่งใหญ่สูงสุด หาใช่เทพเจ้าหรืออำนาจดลบันดาลอันใดไม่ แม้แต่เทพทั้งหลายก็อยู่ใต้อำนาจของธรรม คือความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัยเป็นต้น ในธรรมชาตินั่นเอง ธรรมย่อมเหนือเทพ เทพจะเหนือธรรมะไปไม่ได้

เมื่อรู้เข้าใจอย่างนี้แล้ว มนุษย์ก็จะได้เพียรพยายามฝึกฝนพัฒนาตน ให้รู้เข้าใจ และปฏิบัติการทั้งหลายให้ถูกต้องตามธรรม เพราะมนุษย์มีปัญญาที่สามารถพัฒนาให้ลุถึงธรรมได้

เมื่อเข้าถึงธรรมแล้ว ก็มีความเป็นอิสระที่จะเป็นอยู่ และทำการอย่างประสานกับธรรม ด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจธรรมนั้น ซึ่งมีความเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่แน่นอน ไม่ต้องคอยเอาอกเอาใจ คอยรับคำสั่งบัญชาของเทพยดาพรหมเจ้า ที่ไม่รู้ว่าจะต้องประสงค์อย่างใด และจะขัดเคืองหรือโปรดปรานอย่างไหน เมื่อใด

3. การปรินิพพาน คือการเตือนจิตสำนึกในวิถีชีวิตแห่งความไม่ประมาท
ด้านหนึ่งของธรรมหรือความจริงแห่งกฎธรรมชาติ ก็คือความไม่เที่ยงแท้คงทน และความเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย ธรรมคือความจริงนี้มีอยู่ หรือกำกับอยู่กับชีวิตของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะการที่ชีวิตนั้นจะต้องสิ้นสุดลงด้วยความตาย

ในขณะที่ความเป็นจริงของธรรมบอกเราว่า เราจะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง ให้มีคุณสมบัติ มีความสามารถ และมีปัญญาที่จะรู้เข้าใจ และปฏิบัติการทั้งหลายให้ถูกต้องตามธรรมคือกฎธรรมชาติ ชีวิตของเราจะดีงามเลิศประเสริฐ บรรลุสันติสุขและอิสรภาพแท้จริง ก็ต่อเมื่อปัญญาเข้าถึงธรรม และสามารถทำชีวิตและสังคมมนุษย์ให้ดำเนินตามธรรม

แต่พร้อมกันนั้น ธรรมนั่นเองก็กำกับความจริงไว้ว่า ชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเราทุกอย่าง ไม่ยั่งยืนคงทนอยู่ตลอดไป จะต้องเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นเราจะนิ่งนอนใจประมาทอยู่ไม่ได้ เพราะถ้ามัวประมาทผัดเพี้ยนละเลย ชีวิตของเราอาจจะหมดโอกาสที่จะพัฒนา ให้เข้าถึงคุณค่าและประโยชน์ที่พึงได้จากธรรม

ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และประกาศแก่โลกแล้วนั้น มาปรากฏผลเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมของเรา และเพื่อให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปสู่ความดีงาม ความมีสันติสุข และอิสรภาพ อันพึงได้จากธรรมนั้น เราจึงจะต้องเป็นอยู่อย่างไม่ประมาท หรือดำเนินไปในวิถีชีวิตแห่งความไม่ประมาท

เพราะฉะนั้น เมื่อจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าจึงตรัสพระวาจาสุดท้าย ที่เรียกว่า “ปัจฉิมวาจา” อันถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายและความหมายแห่งการปรินิพพานว่า

“วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ”
แปลว่า “สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากปัจจัยปรุงประกอบขึ้น ล้วนมีอันจะต้องเสื่อมสลายไป เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 174 มิถุนายน 2558 โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)


กำลังโหลดความคิดเห็น