xs
xsm
sm
md
lg

ตีฆ้องร้องป่าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธรรมะทำให้จิตใจสงบ

ถึงพี่ๆทีมงานธรรมลีลาทุกท่าน

สวัสดีครับพี่ๆ ผมชื่อแตนครับ ผมได้มีโอกาสอ่านนิตยสารธรรมลีลาของทีมงาน ฉบับที่ 164 ประจำเดือนสิงหาคม 2557 ที่เรือนจำกลางนครปฐม(แดน 8 สถานพยาบาล) เพราะมีผู้ช่วยเหลือผู้ป่วยอ่านอยู่ ผมจึงขอยืมมาอ่าน พอผมได้อ่านแล้ว ผมเห็นว่ามีเนื้อหาสาระมากมาย จึงสนใจอยากอ่านต่อทุกฉบับ

แต่เนื่องจากตัวผมอยู่ในเรือนจำและเป็นผู้ป่วยที่สนใจในเรื่องธรรมะ เพราะทำให้จิตใจผมสงบ ไม่รู้สึกเครียดเหมือนก่อน เพื่อนๆที่เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในสถานพยาบาลที่ได้อ่าน ก็บอกว่านิตยสารธรรมลีลามีสาระดี น่าอ่าน ผมจึงเขียนมาขอความเมตตาพี่ๆกองบรรณาธิการธรรมลีลา ช่วยหาผู้มีจิตศรัทธาอุปถัมภ์นิตยสารธรรมลีลาให้ผมและเพื่อนๆผู้ป่วยในเรือนจำได้อ่านบ้างนะครับ

ท้ายนี้ ผมและเพื่อนๆขอขอบพระคุณพี่ๆทีมงานไว้ ณ โอกาสนี้ รวมทั้งผู้อุปถัมภ์ จงพบแต่ความสุข ความเจริญ คิดสิ่งใด หวังสิ่งใด ขอให้สมปรารถนาทุกประการ

น.ช.แตน แดน 8
เรือนจำกลางนครปฐม


เรียนคุณแตน ผู้มีจิตศรัทธาอุปถัมภ์นิตยสารธรรมลีลาให้คุณและเพื่อนๆผู้ป่วยในเรือนจำ คือ คุณมนตรี ลักษณ์สุวงศ์ จากกรุงเทพฯ หวังว่าคุณคงได้รับประโยชน์ตามสมควร

ขอฝากข้อคิดของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต) วัดญาณเวศกวัน ให้กับคุณและเพื่อนๆที่เป็นผู้ป่วยไว้ว่า

...เมื่อร่างกายไม่สบาย จิตใจก็พลอยไม่สบายไปด้วย หรือเมื่อจิตใจไม่สบาย มีความทุกข์ มีความหวาดระแวง มีความกลัว มีความกังวลใจ มีห่วงหน้าพะวงหลังต่างๆ มีความไม่สมปรารถนา ผิดหวัง ท้อแท้ใจต่างๆ ก็ทำให้แสดงออกมาทางร่างกาย เช่น หน้าตาไม่สดชื่น ผิวพรรณไม่ผ่องใส ยิ้มไม่ออก ตลอดจนกระทั่งว่า เบื่อหน่ายอาหาร เป็นต้น ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีกำลังใจ เพราะว่าใจไม่มีกำลัง เมื่อไม่มีกำลังใจแล้ว ร่างกายก็พลอยไม่มีกำลังไปด้วย

ภาษาพระท่านบอกว่า ถ้ากายไม่สบาย เจ็บไข้แล้ว จิตใจไม่สบายไปด้วย ก็เรียกว่า กายป่วย ทำให้ใจป่วยไปด้วย พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนว่า ให้ทำในใจ ตั้งใจไว้ว่า “ถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราจะไม่ป่วยไปด้วย” การตั้งใจอย่างนี้เรียกว่ามีสติ ทำให้จิตใจไม่ตกอยู่ในอำนาจครอบงำของความปรวนแปรทางร่างกาย เมื่อมีสติอยู่ก็รักษาใจไว้ได้

การรักษาใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ในยามเจ็บไข้ได้ป่วยนี้ กายเป็นหน้าที่ของแพทย์ แพทย์ก็รักษาไป แต่ใจนั้นเป็นของเราเอง เราจะต้องรักษาใจของตนเองไว้ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

เพราะถ้ารักษาใจไว้ได้อย่างเดียวแล้ว ก็เป็นการรักษาแก่นของชีวืตไว้ได้...


พระธรรมจาริกขาดกุฏิ

เจริญพรบรรณาธิการนิตยสารธรรมลีลา

ด้วยทางอาศรมพระธรรมจาริกบ้านบวกจั่น ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นวัดชาวเขา ยากจน ทุรกันดาร ไม่มีกุฏิจำวัด ต้องอาศัยศาลาเอนกประสงค์ของหมู่บ้านจำวัด เพราะกุฏิเดิมพัง ชำรุด ไม่สามารถจำวัดได้

ขณะนี้ชาวบ้านพร้อมด้วยผู้มีจิตศรัทธาจากเชียงใหม่และทั่วไป ช่วยกันก่อสร้างตามภาพถ่ายที่ส่งมานี้ ทางวัดขอความอนุเคราะห์ท่านบอกบุญ และประชาสัมพันธ์แก่ผู้ใจบุญร่วมกันสร้าง โดยงบประมาณในการก่อสร้าง 200,000 บาท ทางวัดขออนุโมทนาบุญมา ณ โอกาสนี้ เจริญพร

พระสมุห์ปัญญา ปญฺญาธโร
พระธรรมจาริกประจำอาศรม


เรียนท่านผู้อ่าน กุฏิสงฆ์เดิมที่ชำรุดผุพังตามที่พระคุณเจ้าบอกมานั้น สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2530 ท่านใดประสงค์จะร่วมทำบุญ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ก็ติดต่อไปได้ที่อาศรมบ้านบวกจั่น โทร. 08-1951-3960

สำหรับประวัติสั้นๆ ของอาศรมแห่งนี้ มีที่มาจากชาวเขาเผ่าม้ง ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ราว พ.ศ. 2475 ชุมชนนี้เดิมชื่อว่า “ป๋างจั่น” เพราะเดิมเป็นหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยตัวจั๊กจั่น ต่อมาเพี้ยนเป็นคำว่า “บวกจั่น”

ชาวม้งที่นี่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ว่าขาดศาสนสถานและพระสงฆ์ ซึ่งเป็นที่พึ่งทางจิตใจ ดังนั้น พระครูวิรุฬห์ ธรรมโกวิท รองเจ้าคณะอำเภอแม่ริม วัดเจดียสถาน ในขณะนั้น และพระปัญญา ปญญาธโร(ปัจจุบันคือพระสมุห์ปัญญา ปญฺญาธโร) รวมทั้งกำนันตำบลโป่งแยง และผู้ใหญ่บ้านบ้านบวกจั่น จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกับชาวบ้าน ก่อตั้ง“อาศรมบ้านบวกจั่น” ขึ้นมา เพื่อให้ชาวเขาเผ่าม้งบ้านบวกจั่น มีสถานที่ทำบุญและประกอบกิจกรรม

ปัจจุบัน อาศรมแห่งนี้สังกัดศูนย์อบรมศีลธรรมและส่งเสริมพระพุทธศาสนา โครงการพระธรรมจาริกส่วนภูมิภาค วัดศรีโสดา จ.เชียงใหม่ และเมื่อ พ.ศ. 2555 อาศรมแห่งนี้เป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้มหาวิชชาลัยธรรมะบ้านบวกจั่น


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย กองบรรณาธิการ)
พระพุทธรูปประจำอาศรม ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้าน
กุฏิสงฆ์กำลังก่อสร้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น