คำว่า “ทักษิณานุประทาน” เป็นคำที่พุทธศาสนิกชนคุ้นหูกันดี แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริง และสิ่งที่ได้รับจากการประกอบพิธีกรรมนี้
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ได้อธิบายความหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างลึกซึ้ง น่าสนใจ ในหนังสือ “ชีวิตหนึ่งเท่านี้ สร้างความดีได้อนันต์” ดังต่อไปนี้
การบำเพ็ญกุศลแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว ตามคติทางพระศาสนาเรียกว่า เป็นการบำเพ็ญ “ทักษิณานุประทาน” แปลว่า การเพิ่มให้ทักษิณา หมายความว่า การที่เราทำทักษิณานุประทานนี้ ก็มีการบำเพ็ญกุศลต่อเนื่องกันไป บำเพ็ญกุศลครั้งหนึ่งก็ให้ทักษิณาครั้งหนึ่ง เป็นการให้เพิ่มไปเรื่อยๆ จึงเรียกว่าทักษิณานุประทาน
ทักษิณา แปลตามหลักวิชาว่า ทานที่ถวายแก่พระสงฆ์เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ ด้วยความเชื่อหรือศรัทธาในกรรมและผลของกรรม...
• ทำบุญงานศพทำไม
วัตถุประสงค์หรือเหตุผลในการที่เรามีพิธีบำเพ็ญทักษิณานุประทาน เมื่อว่าตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เองก็พอสรุปได้ว่า การบำเพ็ญทักษิณานุประทานนั้น มีวัตถุประสงค์ ๕ ประการด้วยกัน
ประการที่ ๑ ข้อนี้ชัดอยู่แล้วและเราก็พูดอยู่เสมอ เป็นความมุ่งหมายเบื้องต้น หรือขั้นพื้นฐาน คือ การอุทิศส่วนกุศลให้แก่ท่านผู้วายชนม์ คือผู้ล่วงลับไปแล้ว
ประการที่ ๒ เป็นการแสดงออกซึ่งญาติธรรม ญาติธรรมคือธรรมของญาติหรือหน้าที่ของญาติ ญาติมีหน้าที่ต่อกันคือเคารพนับถือและปฏิบัติต่อกันตามฐานะ เช่น ถ้าเป็นญาติในฐานะบุตรธิดาก็จะต้องแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวที
ประการที่ ๓ เป็นการบูชาคุณงามความดีของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว คือยกย่องเทิดทูนความดีของท่าน ประกาศคุณงามความดีของท่านให้ปรากฏ
ตามธรรมดาคนที่จะมีผู้มาแสดงออกขวนขวายจัดแจงอะไรต่างๆ บำเพ็ญกุศลให้นั้น จะต้องเคยมีคุณความดี เคยมีอุปการคุณหรือทำประโยชน์อะไรไว้ คนที่อยู่เบื้องหลังเมื่อเห็นว่า ท่านผู้นั้นล่วงลับไปแล้ว ก็จึงต้องมาจัดแจงอะไรต่างๆ ที่เรียกว่าเป็นการแสดงน้ำใจ
การกระทำอย่างนี้เรียกว่า เป็นการบูชาคุณของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นการประกาศให้เห็นว่า ท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นผู้มีคุณความดี อย่างน้อยก็เคยมีอุปการคุณที่ได้กระทำไว้แล้ว และแสดงความยกย่องเชิดชูคุณความดีนั้น
ประการที่ ๔ การบำเพ็ญทักษิณานุประทานั้น ก็บอกอยู่แล้วว่า มีการถวายทานแด่พระสงฆ์ ข้อนี้ก็คือการถวายกำลังแก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ทำหน้าที่สืบต่ออายุพระศาสนา หมายความว่า ถวายกำลังให้ท่านสามารถปฏิบัติศาสนกิจ ทำงานพระศาสนา จะเป็นการศึกษาคือเล่าเรียนและประพฤติปฏิบัติธรรมวินัยก็ตาม การเผยแผ่ธรรมก็ตาม เพื่อให้พระศาสนาดำรงอยู่ได้ยั่งยืนยาวนาน เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนสืบต่อไป
ประการที่ ๕ เมื่อบำเพ็ญกุศลไปๆ ในที่สุดก็มาถึงศูนย์กลางคือตัวเราแต่ละคนนี่เอง ที่เป็นผู้ทำบุญ ไม่ว่าจะกระทำถวายแก่พระสงฆ์ หรือกระทำให้แก่ผู้ล่วงลับอะไรก็ตาม ที่แท้นั้นก็ต้องไปจากตัวเรา คือตัวเราเป็นผู้กระทำความดีนั้น หรือเป็นผู้บำเพ็ญทักษิณานั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัตถุประสงค์ทั้ง ๕ นี้ จะชัดเจนอยู่แล้ว แต่มีอยู่ ๒ ข้อ ที่ควรขยายความเป็นพิเศษ เพราะมีแง่ความหมายที่ลึกซึ้ง ซึ่งอาจจะถูกมองข้ามไป ได้แก่ วัตถุประสงค์ข้อที่ ๓ ที่ว่าบูชาความดีของท่านผู้ล่วงลับ และประการสุดท้ายข้อที่ ๕ ที่ว่าเป็นการกระทำบุญของตัวเจ้าภาพเอง
• คุณค่าทางสังคมของการทำบุญงานศพ
ข้อที่ ๓ คือ การบูชาคุณของผู้ล่วงลับ
การยกย่องคุณงามความดีของคนในสังคมนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คนในครอบครัวก็ต้องยกย่องคุณงามความดีของกันและกัน ลูกก็ต้องบูชาคุณความดีของพ่อแม่
ทีนี้ขยายออกไปในสังคม ถ้ามีใครก็ตามที่ทำความดี บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคม คนในสังคมที่เป็นสมาชิกของสังคมนั้นทุกคน ก็ควรจะแสดงออก ช่วยกันเชิดชูยกย่องคุณความดีนั้น และยกย่องให้เกียรติแก่คนที่ทำความดี
การกระทำอย่างนี้เป็นผลดีแก่สังคมนั้นเอง ในการที่จะดำรงรักษาสังคมนั้นให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น ทำให้สังคมมีกำลังที่จะรักษาสิ่งที่ดีงาม มีความสงบสุข มีความสามัคคี เป็นสังคมซึ่งมีหลักการที่จะยึดเหนี่ยวให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทำให้วัฒนธรรมอันดีเกิดขึ้นด้วย…
การบูชาคุณความดีของผู้ล่วงลับไปแล้ว เป็นกิจกรรมของสังคมทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ส่วนย่อยคือครอบครัว ขยายออกไปจนถึงสังคมประเทศชาติทั้งหมด เราทำกิจกรรมนี้ก็เพื่อให้สังคมมีการถ่ายทอดความดีงาม และดำรงอยู่ด้วยความสามัคคี มีการสืบต่อและเสริมเติมสิ่งที่เรียกว่า เป็นมรดกของสังคมนั้น ตลอดจนทำให้สังคมมีเอกลักษณ์
ในการบูชาคุณความดีของผู้ล่วงลับนี้ เราตัองจัดทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นเรื่องเป็นราว จึงทำให้ขนบธรรมเนียมประเพณีเจริญงอกงามขึ้นมา เป็นแบบแผนของชุมชน หรือสังคมนั้นๆ
อันนี้ก็กลายเป็นวัฒนธรรม และวัฒนธรรมนี้ก็จะรักษาหมู่ชนนั้นไว้ให้มีความเรียบร้อยงดงาม และดำรงอยู่ได้เป็นปึกแผ่นมั่นคง ชาติใด สังคมใด สามารถรักษาวัฒนธรรมประเพณีของตนไว้ได้ด้วยดี ชาตินั้น สังคมนั้น ก็มีความมั่นคงยืนนาน ดำรงอยู่ได้สถาพร โดยมีความงดงามและคุณสมบัติประจำตัวที่จะอยู่กับคนอื่น หรือชนหมู่อื่นได้ด้วยความมั่นใจและภาคภูมิใจ
นอกจากนั้น การที่เรายกย่องคุณความดีและนิยมเชิดชูคนดีนี้ ก็เป็นตัวอย่างในทางสังคมที่จะช่วยให้คนทั้งหลายมีค่านิยมในทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น เราจะต้องช่วยกันเชิดชูคนที่ทำความดีงามไว้ เพื่อคนรุ่นหลังจะได้ถือเป็นแบบอย่าง
พระพุทธเจ้าทรงเน้นความสำคัญของการยกย่องเชิดชูความดี และบูชาคนมีความดี ไว้เป็นอย่างมาก มีพุทธพจน์ในธรรมบทแห่งหนึ่ง ตรัสไว้เป็นข้อความว่า
มาเส มาเส สหสฺเสนโย ยเชถ สตํ สมํ
เอกญฺจ ภาวิตตฺตานํมุหุตฺตมปิ ปูชเย
สาเยว ปูชนา เสยฺโยยญฺเจ วสฺสสตํ หุตํ (๒๕/๑๘)
แปลว่า ถึงแม้จะไปประกอบพิธีเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้าอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ด้วยทรัพย์จำนวนครั้งละพัน ติดต่อกันเป็นเวลาถึงหนึ่งร้อยปี ก็สู้มาช่วยกันยกย่องคนที่พัฒนาตัวเอง แล้วมีคุณความดีอย่างแท้จริง สักครั้งเดียวไม่ได้
พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญไว้อย่างนี้ นี่คือหลักการที่จะให้สังคมดำรงอยู่ได้ด้วยดี เมื่อเราช่วยกันยกย่องคนที่มีคุณงามความดี ที่ได้ทำประโยชน์ไว้แก่สังคม ก็จะเป็นหลักของสังคม ที่จะทำให้สังคมนั้น มีความสงบสุขรุ่งเรืองต่อไป
เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน ในแง่ของการบูชาคุณความดีของท่านผู้ล่วงลับไปแล้วนี้ จึงเป็นวัตถุประสงค์ในทางสังคมที่สำคัญ
บางทีเราไม่ได้สังเกตว่า ในการมาบำเพ็ญกุศลกันนี้ เราได้มาช่วยกันสืบทอดวัฒนธรรมไว้ ทำให้อนุชนรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึมซาบรับเอาวัฒนธรรมจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย และรุ่นพ่อแม่ของตนเองเอาไว้ แล้วเขาก็จะรักษาสืบต่อไป ทำให้สังคมยืนยงต่อไปอีก โดยมีเอกลักษณ์ของตนเอง มีแกนที่จะยึดเหนี่ยวให้สังคมนั้นอยู่ได้ยั่งยืนสืบต่อไป
• คุณค่าแก่ตัวบุคคล
ทีนี้มาดูข้อสุดท้าย เป็นข้อตรงข้าม ในข้อสุดท้ายนี้ ผู้บำเพ็ญกุศลได้ทำบุญให้แก่ตนเอง คือทำความดี แต่ละคนที่มาร่วมพิธี ตั้งแต่เจ้าภาพเป็นต้นไป ต่างคนก็ได้ทำบุญด้วยกันทั้งสิ้น
ในแง่นี้ ถ้ามองอย่างง่ายๆก็เห็นชัด โดยเฉพาะเจ้าภาพนั้น เห็นกันอยู่จะแจ้งว่า ได้ทำบุญกันทุกคน ตั้งแต่เริ่มพิธีในวันแรกมาเลย ก็ได้ถวายทานแก่พระสงฆ์ นิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรม จบแล้วก็มีการถวายสิ่งของ ที่เราเรียกว่าไทยธรรม อันนี้เรียกกันมาตามประเพณีว่าเป็นการทำบุญ ถ้าว่าตามหลักศาสนาเรียกว่าถวายทาน เป็นการทำบุญอย่างที่ ๑
นอกจากได้ถวายทานแล้ว เราได้ทำบุญอะไรอีก ก็ได้รักษาศีล พอเริ่มประกอบพิธี ก็มีการสมาทานศีล คือ เราขอศีล เรียกว่า อาราธนาศีล พระสงฆ์ท่านให้ศีลมา เราก็รับศีล เรียกว่า สมาทานศีล อันนี้เป็นกิจกรรมที่แสดงออกอย่างเป็นทางการว่า จะรักษาศีล
แต่ที่จริงนั้น นอกจากสมาทานศีลตามแบบแผนของพิธีกรรมแล้ว ในเวลาที่อยู่ในพิธีกรรมนี้ เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีมาอยู่ในบรรยากาศที่ต้องทำกิจกรรม และรักษาความประพฤติ กาย วาจา ให้ดีงามสุจริต ในระหว่างนี้ทุกคนจึงต้องงดเว้นจากสิ่งไม่ดีไม่งาม และตั้งตนอยู่ในระเบียบวินัย นี่คือการได้รักษาศีล เป็นการทำบุญอย่างที่ ๒
การทำบุญอย่างที่ ๓ ทางพระเรียกว่า “ภาวนา” แปลว่า การพัฒนา หมายถึง พัฒนาจิตใจ และปัญญา แยกเป็น ๒ ส่วน
ส่วนแรก คือ การฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ เมื่อเราเข้ามาในพิธีนี้ โดยเฉพาะเจ้าภาพที่เป็นลูกหลาน ถ้าปฏิบัติถูกต้องก็ทำจิตใจของตนให้สงบ โดยระลึกถึงคุณความดีของบุพการี นึกถึงท่านแล้วทำใจของเราให้สงบ ให้เป็นใจที่นึกอยู่ในเรื่องของความดีงาม
การที่ทำจิตใจให้ระลึกอยู่ในคุณธรรมความดีงามอย่างนี้ ท่านเรียกว่า “จิตตภาวนา” คือ การเจริญจิตใจ หรือทำจิตใจให้งอกงาม
อีกส่วนหนึ่ง ก็คือการฝึกอบรมเจริญปัญญา เมื่อมาในพิธีนี้ และได้ฟังพระสงฆ์กล่าวธรรมแล้ว เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมที่ท่านอธิบาย และรู้หลักการ รู้วัตถุประสงค์ของการทำพิธีในแง่ต่างๆเหล่านี้ว่า เราทำพิธีกันไปทำไม เป็นต้น ความรู้ความเข้าใจเกิดขึ้นคือปัญญาเจริญขึ้น อันนี้เรียกว่าเจริญปัญญา
ที่ว่ามานี้ คือการทำบุญให้แก่ตัวเองด้วยการพัฒนาตนในด้าน ทาน ศีล ภาวนา ทานศีลภาวนาก็เจริญงอกงามขึ้น แต่การทำบุญยังไม่หมดเท่านั้นหรอก นี่เป็นทาน ศีล ภาวนา ในเบื้องต้น หรือขั้นพื้นฐานสามัญเท่านั้น
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 167 พฤศจิกายน 2557 โดย กองบรรณาธิการ)