xs
xsm
sm
md
lg

นกกระจอก-การศึกษา-คน-พื้นที่

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

โดย...อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

เมื่อสองสามวันก่อน ผู้เขียนได้นั่งรับประทานอาหารกลางวัน ณ ปั๊มน้ำมันเส้นทางหลวงหมายเลข 403 เชื่อมต่อเส้นทางไปสามจังหวัดชายแดนใต้กับอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภายในร้านอาหารจอแจด้วยผู้คนหลากหลายต่างรออาหารตามสั่งและข้าวแกงตามสะดวกดาย ระหว่างที่นั่งรับประทานอาหารไป หันไปมองโต๊ะอาหารใกล้ๆ ที่มีจานอาหารวางรอเก็บจากแม่บ้าน เห็นนกกระจอกฝูงใหญ่บินโฉบลงมาจิกกินข้าวและอาหารที่เหลืออยู่ในจาน บางตัวก็รีบกินอย่างหวาดระแวง บางตัวก็จิกกินอย่างเชื่องช้า และบางตัวก็สอดส่ายสายตาดูจานอาหารที่ว่างเว้นจากผู้คนนั่งเฝ้าอยู่ เพื่อหาโอกาสไปทำมาหากินบนจานอาหารนั้นด้วยความหวังว่า จะได้มีอาหารเพื่อให้ตนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ ผู้เขียนนั่งตั้งใจเฝ้ามอง “นกกระจอก” ที่เปลี่ยนวิธีการ “ทำมาหากิน” ตามธรรมชาติ มาสู่วิถีชีวิตแบบคนเมืองผ่านกรรมวิธีปรับเปลี่ยน โดยการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกตัวเองว่า มนุษย์ หาโอกาสและรอคอยที่จะกินอาหารบนจานข้าวในร้านอาหาร ซึ่งการเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของนกกระจอกนี้ ผู้เขียนเองก็นึกขันว่า ไม่แน่ใจเราควร “จะวิจัย” เพื่อศึกษาการดำรงเผ่าพันธุ์หรือการดำรงชีวิตของนกกระจอกที่เปลี่ยนไปในแต่ละศตวรรษหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสรุปได้เบื้องต้น คือ วิถีชีวิตของนกกระจอกได้เปลี่ยนไปจากสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติเดิมแล้ว

หลังจากนั่ง “วิจัย” นกกระจอกอยู่ครู่หนึ่ง ผู้เขียนพลันนึกเชื่อมโยงไปถึงข้อความในหนังสือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ปอ.ปยุตโต) ซึ่งกล่าวไว้ว่า ปัญหาการศึกษาไทยประการหนึ่งคือ การศึกษาได้แยกคนออกจากพื้นที่ ขยายความว่า การจัดการศึกษาไทย ผนวกกับค่านิยมทางการศึกษาหรือคุณภาพการศึกษาที่ต่างกันทั้งทางต้นทุน เหตุปัจจัย สภาพแวดล้อมและค่านิยมต่างๆ ทำให้ผู้คนที่ใช้ชีวิตในสังคมธรรมชาติของสังคมชนบท ได้ส่งบุตรหลานมาเข้าเรียนในสังคมเมือง จนเยาวชนได้ซึมซับวิถีชีวิต วิธีคิดและอุปนิสัยของสังคมเมืองเข้าไว้ในตัว กลายเป็นผู้ได้รับความเคยชินกับสภาพของสังคมเมือง และอาจกลายเป็น “คนเมือง” ไปในที่สุด เมื่อระบบการศึกษาขยายตัว โดยมีเครื่องไม้เครื่องมือที่มีความพร้อมกว่าในสังคมชนบท จะเห็นได้ชัดในเวลาเช้า ว่า ผู้ปกครองส่งบุตรหลานขึ้นรถรับส่งตั้งแต่เช้ามืด เพื่อให้ลูกได้มาศึกษาเล่าเรียนในเมือง สภาพเช่นนี้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า เป็นปัญหาของระบบการศึกษาหรือไม่ เชื่อมโยงกับค่านิยมทางสังคมที่ให้น้ำหนักว่า สถานศึกษาในเมือง ดีกว่าในชนบท ทำให้เกิดสภาวการณ์ดังกล่าวขึ้น ฤาว่า การศึกษาได้แยกคนออกจากพื้นที่ไปแล้ว

ข้อสังเกตหนึ่งที่ผู้เขียนได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมเมืองกึ่งหนึ่ง สังคมชนบทกึ่งหนึ่งซึ่งได้พบเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้ จนเสมือนหนึ่งว่า เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ไม่มีอะไรผิดปกติ แต่เมื่อสำรวจข้อมูลจากสถานศึกษาในชนบทพบว่า มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีผู้เรียนลดลงตามลำดับทุกปี ทั้งๆ ที่คุณภาพครูผู้สอนไม่แตกต่างกันนัก ขาดเหลือเพียงแต่เครื่องไม้เครื่องมือและสื่ออุปกรณ์การเรียนเท่านั้น ที่จะต้องหาโอกาสในการพัฒนาหรือหยิบยื่นให้โรงเรียนและผู้เรียนตามอัตภาพ อนึ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดต่างๆ เช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างโอเน็ต (O-net) ของสถานศึกษาในชนบท โดยเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดสงขลา เป็นต้น พบว่า โรงเรียนในชนบทหลายแห่ง มีผลการสอบ O-net อยู่ในระดับสูงกว่าสถานศึกษาในเมืองเสียด้วยซ้ำ แต่เหตุไฉนความนิยมในการส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในพื้นที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร

ผู้เขียนเห็นว่า ปรากฏการณ์ทางการศึกษากับการแยกคนในพื้นที่ ยังผูกพันไปถึงความรู้สึกที่เจือจางในค่านิยมเพื่อการรับรู้และรู้จักสืบสานวัฒนธรรมชุมชน เพราะเมื่อเยาวชนเข้ามาใช้ชีวิตในสังคมเมือง ได้รับการซึมซับวัฒนธรรมเมือง จนมีอิทธิพลต่อเขา นั่นสามารถทำให้เขามีโอกาสรู้สึก “ไม่เข้มข้น” และซาบซึ้งในวัฒนธรรมของพื้นที่ในชุมชนน้อยลงตามเวลาที่ถูกจัดสรรไป ทั้งนี้การศึกษา ที่แปลกแยกคนในพื้นที่ออกไปยังส่งผลต่อการทำงานในอนาคตด้วย เพราะปัจจุบันเห็นได้ว่า คนในสังคมชนบท หลั่งไหลเข้าสู่สังคมเมืองได้ทิ้งวิถีชีวิตแบบเดิมไป ก่อให้เกิดวิกฤตแรงงานและทรัพยากรบุคคลในพื้นที่ ด้วยเมื่อคนในสังคมชนบทได้เสพติดชีวิตสังคมเมืองไปด้วยการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย ทำให้เขาไม่อยากกลับไปอยู่ในสังคมชนบท จนกลายเป็นเมืองที่แออัดไปด้วยผู้คน จึงเป็นที่มาของคำถามว่า ทำอย่างไร ให้มีการกระจายคนสู่ชนบทและคืนคนสู่พื้นที่

อนึ่งผู้เขียนได้เฝ้ามองดูความเปลี่ยนไปของสังคมไทย ในภาพรวมพบว่า เมื่อวิถีสังคมเปลี่ยน และวิถีโลกเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคไร้พรมแดน เช่นครั้งแต่ก่อน คนในชนบทมาทำงานในเมือง พยายามสร้างรายได้แล้วส่งกลับคืนบ้านในสังคมชนบท แต่ปัจจุบันกลับตรงกันข้าม โดยที่คนในชนบท ส่งลูกหลานหรือญาติพี่น้องมาทำงานในเมืองแล้ว แต่ยังต้องส่งรายได้หรือข้าวปลาอาหาร มาเจือจุนคนที่อยู่ในสังคมเมืองด้วย จนไม่แน่ใจว่า ใครได้ช่วยเหลือใคร

บทความนี้ ผู้เขียนเพียงสะท้อนชีวิตของ “นกกระจอก” ที่เปลี่ยนไป เชื่อมโยงกับการศึกษาไทยที่ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ ร่วมกันหาวิธีการในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ค่านิยมบางอย่าง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในสังคมชนบทและสังคมเมือง “ที่ไม่ต้องใช้ฐานวัตถุนิยม” ในการเปรียบเทียบกัน เพราะการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ตัวชี้วัดความสุขและคุณภาพชีวิตของสังคมที่ต่างกันอย่างแท้จริง ที่กล่าวเช่นนี้เพราะความเป็นจริงในทางเศรษฐศาสตร์ ไม่มีคนยากจน และคนร่ำรวยอย่างแท้จริง มีแต่เพียงผู้มีรายได้ลดหลั่นแตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัยที่ต่างกัน และลึกๆ แล้วในใจผู้เขียนเพียงแค่อยากเห็น “นกกระจอก” ได้มีพื้นที่หากินตามธรรมชาติ โดยรู้จักพึ่งพาตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น