สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายแท้จริง ก็คือ ให้พุทธศาสนิกชนตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ คือเอาธรรมนั่นเองไปปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตของตนเอง อันเนื่องไปด้วยกันกับสังคม เพราะแท้จริงแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงต้องการวัตถุสิ่งของอะไรที่เราเอาไปบูชาด้วยซ้ำ มันเป็นการแสดงน้ำใจของเราเอง แล้วมองให้ลึกลงไป การแสดงน้ำใจอย่างจริงจัง ก็คือ ต้องคิดได้ว่า พระองค์ทรงหวังดีต่อเราแล้วนี่ จึงทรงสอนให้เราปฏิบัติ ให้เราทำความดีอันนั้นอันนี้ เราก็เอาความดีนั้นไปทำ นี่คือบูชาแท้จริง
ทีนี้ เพื่อจะให้การบูชาด้วยอามิสนั้น มีความหมายขึ้น อย่างน้อยคนก็ทำอามิสบูชากันเรื่อย ท่านก็หาทางที่จะทำให้อามิสบูชานี้ไปเชื่อมกับปฏิบัติบูชาได้ง่ายขึ้น ก็เลยมีการให้ความหมายสำหรับเครื่องบูชาแต่ละอย่างๆนั้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ความหมายเหล่านี้ ให้ถือว่าเป็นมติของนักปราชญ์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องตายตัว ให้ถือว่าเป็นเพียงการหาความหมายให้แก่สิ่งเหล่านี้ เพื่อจะได้มีทางคิดเชื่อมอามิสต่อไปหาธรรม ที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติให้ได้
ทีนี้ เราบูชาด้วยธูป เทียน ดอกไม้ เป็นหลัก เมื่อเป็นอย่างนี้ก็มาดูความหมายของธูป เทียน ดอกไม้ กันหน่อย
มีมติหนึ่งท่านว่าไว้ดี น่าเอาไปใช้สื่อกัน คือ มติที่ว่า ธูป เทียน ดอกไม้ ที่ใช้เป็นเครื่องบูชา มี ๓ อย่าง ตรงกับพระรัตนตรัย ซึ่งก็มี ๓ อย่าง แล้วก็จัดได้ว่า
๑. ธูป ใช้บูชา พระพุทธเจ้า
๒. เทียน ใช้บูชา พระธรรม
๓. ดอกไม้ ใช้บูชา พระสงฆ์
แล้วก็ให้ความหมายต่อไป ที่ว่า ธูป ใช้บูชาพระพุทธเจ้านั้น ตรงกันเลย ธูปนั้นจะเห็นว่ามี ๓ ดอก แล้ว ๓ ดอกนั้น ก็ตรงกับพระคุณ ๓ ของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พุทธคุณ ๓ คือ
๑. พระปัญญาคุณ พระคุณ คือ พระปัญญา ที่ทำให้ตรัสรู้
๒. พระวิสุทธิคุณ พระคุณ คือ ความบริสุทธิ์ เมื่อตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ทรงบริสุทธิ์จากกิเลส เพราะปัญญาที่ตรัสรู้ ทำให้บริสุทธิ์สะอาดหมดจดจากกิเลส และหลุดพ้นจากความทุกข์
วิสุทธิคุณนี้ อันเดียวกับวิมุตติคุณ จะเรียกวิสุทธิคุณก็ได้ วิมุตติคุณก็ได้ คือ หลุดพ้นจากกิเลสและปวงทุกข์ เป็นพระคุณที่สอง
๓. พระมหากรุณาคุณ พระคุณ คือ มหากรุณา พระพุทธเจ้าทรงมีพระทัยมุ่งหมายใฝ่จะช่วยเหลือปวงสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ ข้อนี้เป็นพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้พระองค์ทรงออกประกาศพระศาสนา
พระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณมากมาย สรุปได้เป็น ๓ เมื่อเราบูชาพระพุทธเจ้า ก็คือบูชาพระคุณ ๓ ประการนี้
อีกด้านหนึ่ง จะเห็นว่า ธูปนี้มีกลิ่นส่งออกมาหอม กลิ่นหอมนั้นถือเป็นสัญลักษณ์ สื่อถึงการฟุ้งขจรแห่งคุณค่า และกิตติศัพท์ของความดี เรียกว่าเป็นกลิ่นของความดี โดยนิยมว่าคุณธรรมความดี เริ่มตั้งแต่พระพุทธคุณนี้มีกลิ่นหอม เหมือนกับว่า เมื่อเราได้ยินคุณความดีของคนผู้หนึ่ง ซึ่งคนพูดกันมาก ก็เรียกว่า คนนั้นหอม
แต่กลิ่นของความดี หรือความหอมของคุณธรรมและการทำความดีนี้ ประเสริฐยิ่งกว่ากลิ่นหอมของธูป เพราะว่ากลิ่นหอมของธูปนั้น ไปทวนลมไม่ได้ แต่กลิ่นหอมของความดี ไปทวนลมได้ ท่านจึงให้นึกต่อขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งว่า กลิ่นหอมของคุณธรรมความดีนั้น ประเสริ{ยิ่งกว่ากลิ่นหอมของวัตถุ มีธูป เป็นต้น
เอาเป็นสรุปว่า บูชาพระพุทธเจ้าด้วยธูป และ ๓ ดอกของธูปนั้น หมายถึง บูชาพระคุณ ๓ ประการ ได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ
ต่อไป เครื่องบูชาอย่างที่สอง เทียน เป็นเครื่องหมายของการบูชาพระธรรม จะเห็นว่า การบูชาด้วยเทียนนี้ ใช้เทียน ๒ เล่ม
ทำไมใช้เทียน ๒ เล่ม พระพุทธศาสนานั้นแยกเป็น ๒ ส่วน คือ ธรรม กับ วินัย เราเรียกว่า พระธรรมวินัย เป็นชื่อแท้ของพระพุทธศาสนา
ธรรม กับ วินัย รวมกันทำให้เป็นพระพุทธศาสนาอยู่ได้ ถ้ามีแต่ธรรม ไม่มีวินัย ธรรมก็ดำรงอยู่ไม่นาน มีแต่วินัย ไม่มีธรรม วินัยก็ไม่รู้จะสื่อไปถึงอะไร
วินัยเป็นเครื่องสื่อถึงธรรม ขยายความหน่อยว่า วินัยมาช่วยสื่อให้ถึงธรรม โดยเป็นเครื่องฝึกคน เพื่อจะนำคนให้ถึงธรรม เป็นเครื่องมือของธรรมในการจัดสรร และจัดการสังคมของมนุษย์ และธรรมจะปรากฏเป็นประโยชน์แก่หมู่มนุษย์ ถึงขั้นที่มนุษย์จัดการให้เป็นไปได้ ก็ด้วยอาศัยวินัย ที่เป็นสมมติ เป็นรูปแบบ
ธรรมเป็นของจริงในธรรมชาติ เป็นเนื้อหาสาระที่ต้องการ วินัยเป็นรูปแบบ เป็นการจัดตั้งวางระบบแบบแผนในสังคม ในหมู่ชน เพื่อให้มนุษย์เข้าถึงธรรม เป็นไปตามธรรมในทางที่จะได้ประโยชน์จากธรรม ทำให้ความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ปรากฏผลออกมาแก่หมู่มนุษย์
รวมแล้วก็เป็นองค์ประกอบสำคัญของพระพุทธศาสนา ๒ อย่าง คือ ธรรม กับ วินัย ด้วยเหตุนี้ เราจึงใช้เทียน ๒ เล่ม เป็นสัญลักษณ์ของ พระธรรม กับ พระวินัย
ทีนี้ เทียนนั้นจุดแล้วให้ความสว่าง ก็เหมือนกับธรรม รวมทั้งวินัย ที่เป็นเหมือนดวงประทีปส่องสว่าง ทำให้คนมองเห็น คือทำให้เกิดปัญญา มีความรู้เข้าใจ แล้วรู้จักดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง พัฒนาคุณความดีอะไรต่างๆ ตลอดจนลุถึงสัจธรรม นี้เป็นความหมายของเทียน ที่ใช้บูชาพระธรรม
ต่อไป ดอกไม้ ใช้บูชาพระสงฆ์ ทำไมใช้ดอกไม้บูชาพระสงฆ์ จะเห็นว่าดอกไม้ที่เรานำมาบูชานี่ มีสีสัน เป็นประเภทและชนิดต่างๆ เรียกว่านานาพันธุ์ คือ พันธุ์ต่างๆก็ได้ หรือนานาพรรณ หลากสีหลายประเภทก็ได้ ดอกไม้นี้สารพัด เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง รูปร่างแปลกๆผิดแผกกันไป
ทีนี้ ดอกไม้เหล่านั้น เวลานำมาบูชา จะเห็นว่ามิใช่เขาเอามาแล้ว ก็บูชาได้เลย แต่โดยมากเขาจะจัดก่อน ให้เป็นสัดส่วนงามตาน่าดู โดยทำเป็นพวงมาลามาลัยบ้าง จัดเป็นพุ่มพานบ้าง จัดใส่แจกันบ้าง ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ดอกไม้มากมายหลายเภทหลากพรรณ ที่จัดสรรอย่างดี มีสัดส่วนสีสันงามตานี้ มีความหมายโยงไปหาพระสงฆ์
พระสงฆ์นี้เป็นหมู่ เป็นชุมชน อันประกอบด้วยภิกษุทั้งหลาย ที่มาจากชาติตระกูลต่างๆ มีภูมิหลัง มีการศึกษาอบรมต่างๆกัน มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกอะไรๆ ต่างกันไปทั้งนั้น แต่ละบุคคลไม่เหมือนกันเลย
แต่พอเข้าสู่สังฆะ มารวมกันเป็นสงฆ์นี้ มีวินัยอันหนึ่งอันเดียวกัน ปฏิบัติเพื่อธรรม ตามแนวทางของธรรมอันเดียวกัน โดยเฉพาะมีวินัยเป็นเครื่องจัดตั้งวางระบบ ก็มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย งดงาม เหมือนดังดอกไม้ต่างสีต่างพันธุ์ ดอกเล็กดอกใหญ่มากมายนั้น ที่ช่างดอกไม้ได้จัดสรรให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม
เมื่อนึกถึงดอกไม้ ก็ทำให้นึกถึงพระสงฆ์ว่า อ๋อ...นี่แหละ คนทั้งหลายไม่ว่าจะแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ามาสู่พระธรรมวินัยแล้ว ก็มีระเบียบแบบแผนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วก็มีความเรียบร้อยสวยงามน่าชื่นชมบูชา
สังคมของเรานี้ ถ้าได้มีการจัดตั้งวางระบบให้ดีด้วยวินัย คือกฎเกณฑ์กติกาที่วางไว้ดีแล้ว ก็รวมเข้าอยู่ในหลักการคือธรรมอันเดียวกัน ก็จะเป็นชุมชน เป็นสังคมที่ดีงาม มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสง่าน่าชื่นชมเช่นอย่างนั้น ด้วยเหตุฉะนี้ เราจึงบูชาสังฆะ คือ พระสงฆ์ ด้วยดอกไม้
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ก็เป็นความหมายของเครื่องบูชา ๓ ประการ
เมื่อเรามองความหมายของเครื่องบูชาอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นทางปฏิบัติ โดยมีความรู้ความเข้าใจขยายกว้างออกไป แล้วจิตใจก็เปิดโล่งได้ ไม่ไปติดอยู่แค่วัตถุ มีสิ่งที่จะนำไปพิจารณาใคร่ครวญ นำทางชีวิตจิตใจให้ก้าวหน้าได้ และเป็นสิ่งที่จะพาความคิดคำนึงให้ลึกซึ้งต่อไป ในการศึกษาพระธรรมวินัยอีกด้วย
(ส่วนหนึ่งจากหนังสือตามพระใหม่ไปเรียนธรรม)
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 166 ตุลาคม 2557 โดย พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม)