ฉะเชิงเทรา - ชาวบ้านรอบวัดโสธร แฉหลังเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเข้ามาอยู่ได้เพียงไม่กี่ปี สั่งทุบทำลายแหลกศาสนสถานรอบวัด ทั้งเมรุที่ก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยเจ้าอาวาสองค์เก่าที่ยังใช้งานได้ดี รวมทั้งโรงครัว นอกจากนี้ยังเคยเตรียมทุบทิ้งโรงเจด้วยแต่รถประจำตำแหน่งประสบอุบัติเหตุเสียก่อนจึงรอดพ้นมาได้ ล่าสุดมีแผนที่จะสั่งทุบโรงลิเกเพิ่มอีกหนึ่งหลังพร้อมห้องน้ำหน้าวัด จนสุดท้ายยังได้มาทุบทำลายกำแพงแก้วพระอารามหลวงที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงออกแบบอีกด้วย
วันนี้ (1 ต.ค.57) เวลา 14.30 น. นางเฉลา อินทรโฆษิต อายุ 77 ปี อยู่บ้านเลขที่ 33 ถนนศรีโสธร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ตนอาศัยอยู่ที่ตลาดสดโสธรแห่งนี้มานานตั้งแต่เกิด จึงมีความผูกพันกับทางวัดโสธรวราราม อย่างมาก เมื่อเห็นเจ้าอาวาสปัจจุบัน ซึ่งเป็นพระที่มาจากที่อื่นมาทุบทำลายศาสนสถานของหลวงพ่อพระพุทธโสธร ตนจึงทนไม่ได้
"เจ้าอาวาสมาทำแบบนี้จะใช้ได้เหรอ..? รั้วเขายังดีๆ ลูกกงเขายังสวยๆ อยู่ แต่กลับจะมาเปลี่ยนทำเป็นกำแพงคุกขังหลวงพ่อ อย่างนี้มันใช้ได้ที่ไหน อย่างนี้หากมีใครเข้าไปทำอะไรไม่ดี ใครจะมองเห็นได้ ชาวบ้านจึงต้องการอยากได้กำแพงแบบเดิมกลับคืนมา จึงทำให้ชาวบ้านไม่พอใจออกไปเคลื่อนไหวกันในวันนี้" นางเฉลา อินทรโฆษิต กล่าว
นางเฉลา อินทรโฆษิต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่าเจ้าอาวาสองค์นี้กำลังจะเตรียมการทุบโรงลิเก และห้องน้ำที่สำรองไว้บริการคนมาทำบุญที่ฝั่งตรงข้ามวัดทิ้งอีกด้วย โดยที่ผ่านมาได้มีการทุบเมรุ ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่เมื่อสมัยเจ้าอาวาสองค์ก่อน คือพระพรหมคุณาภรณ์ (ด.เจียม กุลละวณิชย์) ซึ่งยังเป็นเมรุที่ยังใช้งานได้ดี แต่ก็ไปสร้างเมรุแห่งใหม่ทดแทนที่ด้านทิศตะวันตกของโรงเรียนพุทธโสธร พร้อมทั้งปิดป้ายแสดงราคาค่าใช้จ่าย หรือค่าบริการไว้สูงมาก จนเวลานี้คนจนเข้าไปเผาศพในวัดนี้ไม่ได้แล้ว ลูกหลานญาติมิตรต้องไปนำศพไปเผายังที่วัดอื่น เพราะไม่มีเงินจะเข้าไปใช้บริการ
อีกทั้งการสวดศพนั้น ดอกไม้ประดับหน้าพิธีก็ไม่ให้วางหน้าศพ โดยระบุว่ารกเกะกะ นอกจากนี้ ยังมีทั้งค่าเช่าเก้าอี้ สำหรับสำรองไว้ให้แขกเหรื่อผู้มาร่วมฟังพิธีสวดศพนั่ง ก็ยังต้องเสียเงินเช่า พวงหรีดก็ไม่ให้แขวนในงาน โดยค่าใช้จ่ายต่างๆ จะมีการปิดป้ายแสดงราคาค่าใช้จ่ายไว้ในแต่ละจุดว่าจะต้องใส่ซองถวายพระสวดศพเท่าไหร่ ค่าบริการเมรุเท่าไหร่ ฯลฯ
"นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังเคยมีโครงการที่จะทุบโรงเจซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดทิ้ง แต่ขณะนั้นรถประจำตำแหน่งของเจ้าอาวาสประสบอุบัติเหตุ จนได้รับบาดเจ็บเสียก่อน จึงยังไม่ได้ทุบ แต่ขณะนี้โรงครัวของทางวัดนั้น ได้ถูกทุบทิ้งไปก่อนหน้าแล้ว ขณะที่งานนมัสการหลวงพ่อพุทธโสธร ช่วงกลางเดือน 12 นั้นไฟแสงสีก็ไม่ยอมติดประดับตกแต่งงานให้หลวงพ่อ ตามที่เคยทำกันมาต่อเนื่อง" นางเฉลา กล่าว
ด้านนางนวลจันทร์ สีใส อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 96/3 หมู่ 1 ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา แม่ค้ารถเข็นขายขนมจากหน้าวัด กล่าวว่า ตนทำการค้าขายขนมจากหน้าวัดมาตั้งแต่รุ่นแม่มาจนถึงยังรุ่นลูกแล้ว อยู่กันมาตรงนี้นานแล้ว เมื่อครั้งเจ้าอาวาสรูปก่อนๆ ไม่เคยมีใครมายุ่งเกี่ยวกับแม่ค้าเลย เนื่องจากท่านเหล่านั้นมีเมตรา ส่วนเจ้าอาวาสรูปนี้ในความคิดของตน คิดว่าท่านไม่มีเมตรา และถือว่าเป็นผู้เฒ่าที่ดื้อรั้น
"ส่วนความคิดเห็นในการรื้อทุบกำแพงนั้นตนคิดว่ากำแพงนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชุมารี พระองค์ท่านเป็นผู้ดูแลแปลนออกแบบการสร้าง ซึ่งมีความสวยงามมากอยู่แล้วยังจะมารื้อทิ้ง จึงคิดว่าไม่สมควรเพราะฉันคิดว่าท่านวางแปลนมาอย่างถูกต้องแล้ว เราจึงจะรวมพลังกันที่จะสู้ต่อไปจนถึงที่สุด เพราะคิดว่าหลวงพ่อท่านคงไม่อยากให้ลูกหลานที่เคยอยู่ที่นี่ ทำกินที่นี่มาอย่างนมนานไปจากที่นี่หรอก เพราะเราไม่ได้ทำอะไรให้ทางวัดเสียหาย หรือเดือดร้อน" นางนวลจันทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมาได้เคยพยายามติดต่อประสานขอเข้าพบพระเทพสิทธิญาณรังษี (ประยงค์) เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร อย่างต่อเนื่องหลายครั้ง เพื่อที่จะสอบถามปัญหา ข้อเท็จจริง หรือข้อข้องใจในด้านต่างๆ ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจถึงการดำเนินงานบริหารจัดการภายในวัด มาอย่างต่อเนื่องหลายครั้งแล้ว แต่กลับได้รับการปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ ถึงเรื่องดังกล่าวทุกครั้ง อีกทั้งผู้สื่อข่าวยังถูกกันตัวออกมาจากกุฏิ โดยบรรดาเหล่าลูกศิษย์คนสนิทของทางเจ้าอาวาส เพื่อไม่ให้ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสได้ซักถามถึงเรื่องราวใดๆ อีกด้วย
ส่วนการชุมนุมของกลุ่มแม่ค้า และชาวบ้านรอบวัดเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมานั้น ได้ยุติลงเมื่อเวลา 13.00 น.ที่ ผ่านมา หลังจากกลุ่มผู้เดินขบวนชุมนุมได้พากันเดินถือแผ่นป้ายข้อความต่างๆ เดินวนไปโดยรอบตลาดเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราแล้ว จึงได้มาหยุดชุมนุมอยู่ที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัด ก่อนที่จะพากันเดินขบวนมาชุมนุมต่อยังที่บริเวณด้านหน้าตลาดสดโสธร จุดที่ถูกทุบรื้อกำแพง และเคลื่อนขบวนต่อไปยังที่บริเวณด้านหน้ากุฏิของเจ้าอาวาสวัด แต่ไม่พบตัวของพระเทพสิทธิญาณรังษี เจ้าอาวาสแต่อย่างใด กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้พากันสลายตัวแยกย้ายกันไปในที่สุด