xs
xsm
sm
md
lg

นศ.มจร.แจงพระเรียนศาสตร์สมัยใหม่เพื่อเข้าใจโลก โต้ “ไพบูลย์” พระไม่ได้เรียนฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) - ภาพจากแฟ้ม
นักศึกษา มจร. โต้ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” แจงพระเรียนศาสตร์สมัยใหม่ควบคู่พระธรรมวินัยเพื่อให้สงฆ์เข้าใจโลก จบออกไปทำคุณประโยชน์ให้สังคม ยันไม่ได้เรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี แต่ต้องเสียค่าเทอม ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่ากิจกรรมอื่นๆ อีกมาก

พระอาจารย์มหาณัฐพงษ์ นาคถ้ำ วัดชำนิหัตถการ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากรณีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในรายการจับตาเส้นทางปฏิรูป ในหัวข้อพิมพ์เขียวปฏิรูปพระพุทธศาสนา เสนอว่า “ปัจจุบัน การศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์คือปัญหาของสังคมไทย พระสงฆ์มุ่งเรียนทางโลกมากเกินไป เรียนพระธรรมวินัยน้อย จึงสมควรปฏิรูปการศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยเห็นว่า บุคคลที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้มุ่งหวังที่จะเข้าเรียนใน มจร. (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) เพื่อให้ได้ปริญญาตรี โท และ เอก มากกว่าที่จะศึกษาพระธรรมวินัยเพื่อให้หลุดพ้น และบุคคลที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ดังกล่าวนั้น อยู่ฟรี กินฟรี และเรียนฟรี ซึ่งถือว่าเป็นการเอาเปรียบชาวบ้าน ควรเรียนพระธรรมวินัยอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ควรเรียนทางโลก ส่วนสาเหตุที่ตนเสนอเรื่องนี้ก็ด้วยสืบเนื่องจากสำนักปลัดกระทรวงกลาโหมได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สรุปเป็นประเด็นให้สปช.พิจารณา เมื่อ สปช.เห็นชอบแล้วก็เสนอให้รัฐบาลเป็นผู้จัดทำร่างออกมาเป็นกฎหมาย และเรื่องนี้รัฐบาลกำลังพิจารณาและดำเนินการอยู่”

หลังจากเรื่องนี้เผยแผ่ออกไป มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่นายไพบูลย์กล่าวถึงยังไม่ได้ออกมาคัดค้านหรือเสนอความคิดเห็นแต่ประการใด มีเพียงการพูดคุยกันในกลุ่มเล็กๆ เช่น องค์การนิสิตบัณฑิตศึกษา มจร. ได้พูดคุยกันในโลกโซเซียลเน็ตเวิร์ก ว่า “การศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์เน้นพระธรรมวินัยควบคู่ไปกับศาสตร์สมัยใหม่เพื่อให้พระสงฆ์เข้าใจโลก และชาวโลกเข้าใจธรรม บุคคลที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์มีทั้งพระและฆราวาสการเรียนก็มิได้มุ่งหวังที่จะเอาปริญญาเพียงอย่างเดียว แต่มุ่งว่าเมื่อจบออกไปแล้วจะทำคุณประโยชน์ให้สังคมได้อย่างไร การศึกษาดังกล่าวกล่าวมุ่งที่พระธรรมวินัยเป็นหลักควบคู่ไปกับศาสตร์สมัยใหม่ อีกทั้งยังต้องเรียนกัมมัฏฐานอีก เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ไม่ผิดเพี้ยนไปจากพระธรรมวินัย และในขณะเดียวกันก็ยังสามารถนำไปสอนชาวบ้านอย่างถูกต้องด้วย มิใช่สอนแบบคาดเดาและยกเมฆ เท่าที่ผ่านมาพระสงฆ์ที่จบจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ได้สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างมากมาย เช่น พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) นายจำนงค์ ทองประเสริฐ เป็นต้น”

ส่วนประเด็นที่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า พระสงฆ์ที่เรียนมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้น สามารถอยู่ฟรี กินฟรี และเรียนฟรี ซึ่งถือว่าเป็นการเอาเปรียบชาวบ้านนั้น พระนิสิต มจร.หลายท่านออกมาปฏิเสธ ว่า ไม่เป็นความจริง พระสงฆ์ที่อาศัยอยู่แต่ละวัดนั้นยังต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าเรียนในมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้นไม่ได้ฟรี เพราะพระสงฆ์ที่มาเรียนนั้นยังต้องจ่ายค่าเทอม บางครั้งอาจแพงกว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วยซ้ำไป เพราะมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย พระสงฆ์ที่เรียนจบออกมาแล้วก็เป็นพระสงฆ์ที่มีคุณภาพ สามารถบริหารคณะสงฆ์อย่างมีประสิทธิภาพ บางท่านไม่มีบุญที่จะอยู่ในบวรพุทธศาสนาต่อไป ลาสิกขาบทไปเป็นฆราวาสก็เป็นบุคลากรที่ดีของสังคม ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม เพราะเคยเรียนพระธรรมวินัยมาก่อน และยังกล่าวทิ้งท้ายว่า “หากไม่ให้พระสงฆ์เรียนรู้ธรรมวินัยควบคู่ไปกับทางโลกแล้ว จะให้พระสงฆ์ไปเรียนรู้อะไร”

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ชาวพุทธควรจับตาดู ผู้นำของคณะสงฆ์และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะเห็นชอบ หรือคัดค้านนายไพบูลย์ นิติตะวันหรือไม่อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น