xs
xsm
sm
md
lg

แค่รู้ก็ตื่น

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

โดย...ไพรัตน์ แย้มโกสุม

คำบริกรรมหรือคำภาวนามีมากหลาย และที่นิยมใช้กันก็มีมากมาย เช่น “ยุบหนอ-พองหนอ” “พุท-โธ” เป็นต้น จุดประสงค์ก็เพื่อให้จิตตั้งมั่นอยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง ดังนั้น เราจะกำหนดอะไรก็ได้ ตามจริตหรืออุปนิสัยของตน

แค่รู้ก็ตื่น

ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบใช้ “พุท-โธ”

ทำไมจึงชอบพุทโธ?

มิใช่ชอบ เพียงให้ประโยชน์ในการบริกรรมเท่านั้น ที่ผมชอบเพราะมองไปถึง “พุทธคุณ” หรือคุณของพระพุทธเจ้า เช่น...

พุทธคุณ 9 ได้แก่

1. อรหํ เป็นพระอรหันต์ คือเป็นผู้บริสุทธิ์ ไกลจากกิเลส ทำลายกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ควรได้รับความเคารพบูชา เป็นต้น

2. สมฺมาสมฺพุทฺโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง

3. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา คือความรู้ และจรณะ คือความประพฤติ

4. สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว คือ ทรงดำเนินพระพุทธจริยาให้เป็นไปโดยสำเร็จผลด้วยดี พระองค์เองก็ได้ตรัสรู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพุทธกิจก็สำเร็จประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ชนทั้งหลายในที่เสด็จไป และได้ประดิษฐานพระศาสนาไว้ แม้ปรินิพพานแล้วก็เป็นประโยชน์แก่มหาชนสืบมา

5. โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลก คือทรงรู้สภาวะอันเป็นคติธรรมดาแห่งโลกคือสังขารทั้งหลาย ทรงหยั่งทราบอัธยาศัยสันดานแห่งสัตวโลกทั้งปวง ผู้เป็นไปตามอำนาจแห่งคติธรรมดาโดยถ่องแท้ เป็นเหตุให้ทรงดำเนินพระองค์เป็นอิสระ พ้นจากอำนาจครอบงำแห่งคติธรรมดานั้น และทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลายผู้ยังจมอยู่ในกระแสโลกได้

6. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ฝึกได้ ไม่มีใครยิ่งไปกว่า คือทรงเป็นผู้ฝึกคนได้ดีเยี่ยม ไม่มีผู้ใดเทียบเท่า

7. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

8. พุทฺโธ เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว คือทรงตื่นเองจากความเชื่อถือและข้อปฏิบัติทั้งหลายที่ถือกันมาผิดๆ ด้วย ทรงปลุกผู้อื่นให้พ้นจากความหลงงมงายด้วย อนึ่ง เพราะไม่ติด ไม่หลง ไม่ห่วงกังวลในสิ่งใดๆ มีการคำนึงประโยชน์ส่วนตน เป็นต้น จึงมีพระทัยเบิกบาน บำเพ็ญพุทธกิจได้ถูกต้องบริบูรณ์ โดยถือธรรมเป็นประมาณ การที่ทรงพระคุณสมบูรณ์เช่นนี้ และทรงบำเพ็ญพุทธกิจได้เรียบร้อยบริบูรณ์เช่นนี้ ย่อมอาศัยเหตุคือความเป็นผู้อื่น และย่อมให้เกิดผล คือทำให้ทรงเบิกบานด้วย

9. ภควา ทรงเป็นผู้มีโชค คือจะทรงทำการใด ก็ลุล่วงปลอดภัยทุกประการ หรือเป็นผู้จำแนกแจกธรรม

พุทธคุณ 3 ได้แก่...

1. ปัญญาคุณ พระคุณคือพระปัญญา

2. วิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์

3. กรุณาคุณ พระคุณคือพระมหากรุณา

(ในพุทธคุณ 3 นี้ ข้อที่เป็นหลักและกล่าวถึงทั่วไปในคัมภีร์ต่างๆ มี 2 คือปัญญา และกรุณา ส่วนวิสุทธิ์ เป็นพระคุณเนื่องอยู่ในพระปัญญาอยู่แล้ว เพราะเป็นผลเกิดเองจากการตรัสรู้ คัมภีร์ทั้งหลายจึงไม่แยกไว้เป็นข้อหนึ่งต่างหาก)

พุทธคุณ 2 ได้แก่...

1.อัตตหิตสมบัติ ความถึงพร้อมแห่งประโยชน์ตน คือทรงบำเพ็ญประโยชน์ส่วนพระองค์เองเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว พระคุณข้อนี้มุ่งเอาพระปัญญาเป็นหลัก เพราะเป็นเครื่องให้สำเร็จพุทธภาวะ คือความเป็นพระพุทธเจ้า และความเป็นอัตตนาถะ คือพึ่งตนเองได้

2. ปรหิตปฏิบัติ การปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น คือทรงบำเพ็ญพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น พระคุณข้อนี้มุ่งเอาพระกรุณาเป็นหลัก เพราะเป็นเครื่องให้สำเร็จพุทธกิจ คือหน้าที่ของพระพุทธเจ้า และความเป็นโลกนาถ คือเป็นที่พึ่งของชาวโลกได้

(พุทธคุณ 9 ย่อลงแล้วเป็นสองอย่างคือ ข้อ 1, 2, 3, 5 เป็นส่วนอัตตหิตสมบัติ ข้อ 6, 7 เป็นส่วนปรหิตปฏิบัติ ข้อ 4, 8, 9 เป็นทั้งอัตตหิตสมบัติ และปรหิตปฏิบัติ)

นอกจากพุทธคุณดังกล่าวแล้ว เราควรรู้ “ธรรมคุณ 6” และ “สังฆคุณ 9” ด้วย จึงจะรู้ครบองค์พระรัตนตรัย แก้วอันประเสริญ หรือสิ่งล้ำค่า 3 ประการ ที่พุทธศาสนิกชนพึงเคารพบูชาสูงสุด คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

รู้อย่างนี้ ถึงอย่างนี้ ไม่มีหลับใหล ตื่นแน่นอน

แค่ตื่นก็สุข

คำว่า “รู้” หมายถึงเข้าใจ, ทราบ และคำว่า “รู้จัก” ก็คือ จำได้, คุ้นเคย เพียงรู้แค่นี้คงไม่พอที่จะทำให้ “ตื่น” ได้หรอก ต้องพัฒนารู้ให้ถึงระดับ “รู้แจ้งเห็นจริง” คือรู้ทะลุประโปร่ง หรือรู้อย่างชัดเจน รู้ระดับนี้ หายจากหลับใหล จึงตื่นรู้ได้นั่นเอง

ดังนั้น จำเป็นต้องรู้แจ้งเห็นจริงระดับ ญาณ คือ ความหยั่งรู้ หรือปรีชาหยั่งรู้

ญาณ 3 ประเภทที่ 1 ได้แก่

1. อตีตังสญาณ (ญาณหยั่งรู้ส่วนอดีต) คือรู้อดีตและสาวหาเหตุปัจจัยอันต่อเนื่องมาได้

2. อนาคตังสญาณ (ญาณหยั่งรู้ส่วนอนาคต) คือรู้อนาคต หยั่งผลที่จะเกิดสืบต่อไปได้

3. ปัจจุปปันนังสญาณ (ญาณหยั่งรู้ส่วนปัจจุบัน) คือรู้ปัจจุบัน กำหนดได้ถึงองค์ประกอบและเหตุปัจจัยของเรื่องที่เป็นไปอยู่

ญาณ 3 ประเภทที่ 2 ได้แก่...

1. สัจจญาณ (หยั่งรู้สัจจะ) คือความหยั่งรู้อริยสัจ 4 แต่ละอย่างตามที่เป็นว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

2. กิจจญาณ (หยั่งรู้กิจ) คือความหยั่งรู้กิจอันจะต้องทำในอริยสัจ 4 แต่ละอย่างว่า ทุกข์ควร กำหนดรู้ ทุกขสมุทัยควรละเสีย เป็นต้น

3. กตญาณ (หยั่งรู้การอันทำแล้ว) คือความหยั่งรู้ว่ากิจอันจะต้องทำในอริยสัจ 4 แต่ละอย่างนั้นได้ทำเสร็จแล้ว

ญาณ 3 ในหมวดนี้ เนื่องด้วยอริยสัจ 4 โดยเฉพาะ เรียกชื่อเต็มตามที่มาว่า ญาณ-ทัสสนะ อันมีปริวัฏฏ์ 3 (ญาณทัสสนะมีรอบ 3 หรือความหยั่งรู้หยั่งเห็นครบ 3 รอบ หรือปริวัฏฏ์ 3 แห่งญาณทัสสนะ)

ปริวัฏฏ์ หรือวนรอบ 3 นี้ เป็นไปในอริยสัจทั้ง 4 ครบวนรอบ 3 มีอาการ 12 อย่างนี้แล้ว จึงปฏิญาณพระองค์ได้ว่า ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว

นอกจาก “ญาณ 3” แล้ว ควรจะรู้แจ้งเห็นจริงใน “วิชชา 3” และ “วิชชา 8” ซึ่งเป็นความรู้แจ้ง หรือความรู้พิเศษด้วย ดังนี้...

วิชชา 3 ได้แก่...

1. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนได้ หรือระลึกชาติได้

2. จุตูปปาตญาณ คือญาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม หรือเห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลาย เรียกอีกอย่างว่า ทิพพจักขุญาณ

3. อาสวักขยญาณ คือญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย หรือความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ หรือความตรัสรู้

(วิชชา 3 นี้เรียกสั้นๆ ว่า ญาณ 3)
วิชชา 8 ได้แก่...

1. วิปัสสนาญาณ (ญาณในวิปัสสนา, ญาณที่เป็นวิปัสสนา) คือปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขารคือนามรูปโดยไตรลักษณ์ มีต่างกันออกไปเป็นชั้นๆ ต่อเนื่องกัน

2. มโนมยิทธิ (ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ, ฤทธิ์ทางใจ) คือนิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ ดุจชักไส้จากหญ้าปล้อง ชักดาบจากฝัก หรอชักงูออกจากคราบ

3. อิทธิวิธา หรืออิทธิวิธิ (แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้)

4. ทิพพโสต (หูทิพย์)

5. เจโตปริยญาณ (ความรู้ที่กำหนดใจผู้อื่นได้)

6. ปุพเพนิวาสานุสสติ (ระลึกชาติได้)

7. ทิพพจักขุ (ตาทิพย์)

8. อาสวักขยญาณ (ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ)

(ข้อที่ 2 โดยมากจัดเข้าในข้อที่ 3 ด้วย ข้อที่ 3 ถึง 8 (6 ข้อท้าย) ตรงกับอภิญญา 6)

...(พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตฺโต)

คนเรา...เมื่อว่าอะไรเป็นอะไร รู้ว่าอะไรชั่วอะไรดี รู้ว่าอะไรบาปอะไรบุญ รู้ว่าอะไรเหนือชั่วเหนือดี รู้ว่าอะไรทุกข์อะไรสุข ก็ย่อมเลิกละและเจริญ เมื่อเปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยนจาก...หลับยืน (หลับใหล) เป็นตื่นรู้

แค่รู้ก็ตื่น แค่ตื่นก็สุข ก็จะกลายเป็นความจริง ด้วยตัวของเราเอง

แค่ดับเหตุทุกข์

พุทธวจนะบทหนึ่ง เป็นยาชูใจอย่างดี นั่นคือ...

“ทุกข์เท่านั้น เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้น ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้น ดับไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ”

และอีกบทหนึ่ง...

“สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา”

บางสิ่งเกิดเร็วดับเร็ว บางสิ่งเกิดแล้วดับช้า เราไม่อยากให้มันตั้งอยู่ ดำรงอยู่ จะแก้ปัญหาอย่างไร? พระพุทธเจ้าบอกวิธีแก้ให้แล้ว นั่นคือ อริยสัจ 4 ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ทำให้คนพ้นทุกข์ ทำให้คนมีความสุข ทำให้คนเป็นอริยะ ทุกข์คือปัญหาต่างๆ ควรกำหนดรู้ สมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์ ควรละ นิโรธคือความดับทุกข์ ควรทำให้แจ้ง มรรคคือวิธีดับทุกข์ ควรเจริญ เป็นกิจเป็นหน้าที่ของอริยสัจที่ต้องทำจึงจะดับ จึงจะเจริญ

ง่ายๆ...แค่ดับเหตุแห่งทุกข์ก็จบ ที่มันไม่จบ เพราะคนส่วนมาก ไม่ค่อยรู้จักทุกข์ เห็นความทุกข์เป็นความสุข เห็นการสร้างหนี้ จนมีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นความเก่ง เป็นความสุข แทนที่จะดับเหตุแห่งทุกข์ กลับเพิ่มเหตุแห่งทุกข์

คนไม่รู้จักทุกข์ เห็นความทุกข์เป็นความสุข คือคนประเภท “หาเหาใส่หัว” หาเรื่องใส่ตัว ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้อะไรดีอะไรชั่ว ไม่รู้อะไรควรอะไรไม่ควร

ผู้ที่หวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ หวังดีต่อสังคมประเทศชาติ เจอจุดนี้เข้า ก็รู้จักอุเบกขาบ้าง จึงจะไม่หลงทาง และไม่เสียธรรม

ก็สุขทุกทำ

การคิดการทำอะไรทุกอย่าง ถ้ามีสติรู้เท่าทัน เมื่อเห็นอะไรเป็นเหตุแห่งทุกข์ ก็จะไม่ทำ เมื่อไม่ทำ มันก็ไม่เกิด หรือดับนั่นเอง

ถ้ารู้ว่า สิ่งที่คิด ที่จะทำ มันไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์ ก็ทำด้วยความสบายใจ มีความสุขขณะทำ หรือมีความสุขทุกการกระทำ

เราไม่ควรระลึกถึงอดีต ไม่ควรวาดหวังอนาคต อดีตก็ผ่านไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึง ถ้าเราทำปัจจุบันให้ดี อนาคตก็จะดีเอง อดีตก็จะมีเรื่องดีๆ บันทึกไว้ คอยเตือนจิตเตือนใจ

ปัจจุบันขณะ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ หรือทุกการกระทำ จึงมีความสำคัญมาก

ความรู้สึกดี เกิดขึ้นได้ในปัจจุบันขณะทุกการกระทำ ความรู้สึกดีๆ ไม่อาจเกิดขึ้นได้ สัมผัสได้ในอดีต และในอนาคต

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ พระสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว สอนว่า...

“อดีตเป็นธรรมเมา อนาคตเป็นธรรมเมา จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ในปัจจุบัน ตัดตัณหา ตัดกิเลส ตัดมานะทิฏฐิ ตัดความยึดมั่นถือมั่นของตนให้เสร็จสิ้นลง ก็สงบได้”

“นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี”

หยุดหลับหยุดเมาได้แล้ว มาอยู่กับความจริง คือ ตื่นรู้ในปัจจุบันขณะ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้ ทุกสิ่งจะดีเองเป็นธรรมชาติ

“แค่รู้ก็ตื่น
แค่ตื่นก็สุข
แค่ดับเหตุทุกข์
ก็สุขทุกทำ”

พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม อะไรๆ ก็ต้องด้วยธรรม จึงจะมีความสุขความเจริญ ถ้าด้วยอธรรมแล้ว ต่อให้คิดเก่ง พูดเก่ง ทำเก่ง ใช้งบแสนล้าน ถึงล้านล้าน ปานใดก็ตาม ก็สร้างความสุขไม่ได้หรอก นอกจากมหันตทุกข์จะท่วมตัวทั่วแผ่นดินเท่านั้นแล
กำลังโหลดความคิดเห็น