xs
xsm
sm
md
lg

สุญญตาธรรม

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

โดย...ไพรัตน์ แย้มโกสุม

“ไม่ว่าคุณจะมีความรู้ทางปรัชญา (Philosophy) อันลึกซึ้งมากมายเพียงใด มันก็เหมือนกับเส้นผมเส้นหนึ่งที่วางอยู่ในพื้นที่อันไพศาล และไม่ว่าประสบการณ์ในสิ่งโลกๆ ของคุณ จะสำคัญเพียงใด มันก็เหมือนกับหยดน้ำเพียงหยดเดียว ที่ถูกสลัดลงไปในเหวอันลึกสุดหยั่งเท่านั้น”

โตกุซัน (ค.ศ. 780-865) เป็นนักศึกษาทางพุทธศาสนาที่มีความรอบรู้มากผู้หนึ่ง หลังจากที่เห็นแจ้งในธรรม เข้าถึงสัจจะแห่งเซนแล้ว ท่านได้นำบทอธิบายคัมภีร์วัชรเฉทิกะสูตรของท่านทั้งหมด และคิดว่ามีประโยชน์มหาศาล แต่เดี๋ยวนี้ท่านเผามันเสียแล้ว และประมวลสรรพตำราลงสู่ความไม่มีอะไรเลย แล้วได้ประกาศคาถาดังกล่าวข้างต้นออกมา

...(วิมุตติคาถา/บทบันทึกคำอุทยานของพระเซน เมื่อขณะบรรลุธรรม/ละเอียด ศิลาน้อย และธานินทร์ เหมบุตร-เรียบเรียง)

นั่นคือ เพลงปราโมทย์แห่งเซน ที่ได้อุทานออกมาอย่างปีติปราโมทย์ในทันที ที่ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรม หรือได้ตรัสรู้อมตะธรรมอันล้ำลึกนั้น เป็นการอุทานออกมาจากใจอันบริสุทธิ์แท้จริง ปราศจากการเสแสร้งและการปรุงแต่งใดๆ

สุญญตาธรรม

“สิ่งทั้งมวลล้วนเป็นธรรม”... “สิ่งทั้งมวลล้วนว่างเปล่า”... “ธมด” เป็น 3 คำธรรมดาในจำนวนหลายๆ คำที่ผมรู้สึกนึกถึงบ่อยๆ ดูเหมือนมันจะตอบทุกโจทย์ ทุกปัญหาได้พอ-ดี

คำว่า “สุญญตา” เป็นภาษาบาลี “สุญญ” แปลว่า ว่าง “ตา” แปลว่า ความ “สุญญตา” แปลว่า ความว่าง

ความว่างในภาษาคน ภาษาคนโง่ที่ไม่เห็นธรรม ไม่ถึงธรรมนั้น มีความหมายว่า ไม่มีอะไรเลย หรือสูญเปล่า ไม่ได้อะไรเลย ไม่เป็นประโยชน์อะไร

ความว่างในภาษาธรรม ทุกอย่างทุกประการ อะไรๆ ก็มี มีเท่าไหร่ๆ ก็ได้ เว้นแต่ความรู้สึกว่าตัวฉัน หรือของฉัน ตัวกู หรือของกู

คำว่า “ธรรม” เป็นคำสั้นๆ เพียงพยางค์เดียว แต่มีความหมายกว้างขวางลึกซึ้ง มหัศจรรย์อย่างยิ่ง

ในภาษาบาลีหรือภาษาพุทธศาสนา คำว่า “ธรรม” นั้น ใช้หมายถึงสิ่งทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นสิ่งใดเลย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดี สิ่งชั่ว หรือสิ่งไม่ดี ไม่ชั่ว ก็รวมอยู่ในคำว่า “ธรรม” ทั้งหมด ดังพระบาลีว่า...

“กุสลา ธัมมา อกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา” เป็นอาทิ

...(พจนานุกรมธรรม ของท่านพุทธทาส)

สุญญตาธรรม หมายถึง ธรรมคือสุญญตา หรือธรรมคือความว่าง ซึ่งเป็นสุดยอดแห่งธรรม

สุญญตาวิหาร คือการเป็นอยู่ด้วยความว่าง ด้วยจิตที่ว่างจากอุปาทานตลอดเวลา ชีวิตเช่นนั้นเรียกว่า สุญญตาวิหาร หรือสุญญตาวิหารธรรม ซึ่งมีความว่างเป็นเครื่องอยู่

- โศลกธรรม ของท่านเว่ยหล่าง...
“เมื่อไม่มีต้นโพธิ์
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด
เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว
ฝุ่นจะลงจับอะไร?”
- คำสอนของท่านฮวงโป...
“พระพุทธเจ้าทั้งปวง
และสัตว์โลกทั้งสิ้น
ไม่ได้เป็นอะไรเลย
นอกจากเพียง จิตหนึ่ง (One mind)
นอกจาก จิตหนึ่ง นี้แล้ว
มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย”
- คำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ...
“เมื่อใด จิตเห็นว่า
พระพุทธเจ้า ก็ไม่มี
สัตว์โลก ก็ไม่มี
เพราะความเป็นอนัตตา หรือสุญญตา
เมื่อนั้น จิตถึงความเป็นพุทธะเสียเองแล้ว
ความทุกข์และกิเลส ก็ไม่อาจจะมีด้วย
นี่คือ ยอดสุดของอภิธรรม!”

เพียง 3 คำสอน ก็ตอบโจทย์สุญญตาคืออะไร ธรรมคืออะไร ได้ชัดแจ้งแทงทะลุ ดั่งหงายของที่คว่ำอยู่ ปานนั้น

คือธรรมดา

เซน คือชีวิต เป็นชีวิต และการเข้าใจเซน ก็คือการเข้าใจชีวิตนั่นเอง

ปรัชญาของเซน ที่มีชื่อเสียงมากบทหนึ่ง ก็คือ...

“เมื่อหิวก็กิน เมื่อง่วงก็นอน”

นั่นก็น่าสนใจมาก เพราะแม้ว่าจะดูเป็นของง่ายๆ หากแต่พวกเราทำตามได้ยากเต็มที ทั้งๆ ที่รู้ดีว่า มันควรจะเป็นเช่นว่านี้!

เซน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ เซนมุ่งหมายให้เราเข้าใจชีวิตในแง่มุมที่ถูกต้อง และให้ใช้ชีวิตง่ายๆ ธรรมดาๆ ไม่ซับซ้อน

ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของอาจารย์เซนองค์หนึ่งว่า...

“แต่ก่อนนี้ เห็นภูเขาเป็นภูเขา เห็นแม่น้ำเป็นแม่น้ำ, เมื่อมาปฏิบัติเซน ภูเขาก็ไม่ใช่ภูเขา แม่น้ำก็ไม่ใช่แม่น้ำ, และเมื่อบรรลุธรรมแล้ว ภูเขาก็เป็นภูเขา แม่น้ำก็เป็นแม่น้ำ

นี่คือ เซน...นี่คือเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ตอนแรกก็เป็นเรื่องธรรมดาทั่วๆ ไป พอปฏิบัติธรรม เรื่องธรรมดาๆ เริ่มจะไม่ธรรมดาเสียแล้ว พอถึงขั้นบรรลุธรรม เรื่องที่ไม่ธรรมดา กลับไปเป็นเรื่องธรรมดาอีก แต่ก็ไม่ธรรมดา...

เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง มันว่างไปหมด ต่างจากธรรมดาในตอนแรกอย่างสิ้นเชิง (ธรรมดาตอนแรก-ยังยึดมั่นถือมั่น ธรรมดาตอนที่สาม-ไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะมันว่าง จะมีอะไรไปยึดอะไร)

ธรรมโดยไวพจน์ (คำที่ใช้เรียกแทนกันได้) ได้แก่...ธาตุ ธรรมชาติ ธรรมดา ธรรมธาตุ พระพุทธเจ้า (ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา) ปฏิจจสมุปบาท (ธรรมที่ตรัสว่า ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ก็คือ ธรรม) ธรรมกาย (ตัวแห่งธรรมซึ่งเป็นไวพจน์ของพระพุทธเจ้า)

ธรรมคือธรรมชาติ ได้แก่ ตัวธรรมชาติ (สภาวธรรม) กฎธรรมชาติ (สัจธรรม) หน้าที่ของสิ่งมีชีวิตตามกฎธรรมชาติ (ปฏิบัติธรรม) ผลที่ได้จากการทำหน้าที่ตามกฎธรรมชาติ (ปฏิเวธธรรม) ทั้ง 4 อย่างนี้เรียกว่า “ธรรม” คำเดียวกันหมด

ธรรมคือธรรมดา (ธมด) แม้ธรรมขั้นยอดสุดหลุดพ้น อย่างสุญญตาธรรม ก็...ธมด

ผมชอบใช้อักษรย่อ “ธมด” อุทานเบาๆ เมื่อรู้สึก และสัมผัสต่อสรรพสิ่ง แม้บางครั้งก็ตอบโจทย์แก่ผู้กังขาบ้าง ตามกาลเวลาอันเหมาะสม

มืดหรือเจิดจ้า

เรื่องพฤติกรรมของคนที่ปรากฏเป็น...ดำ-ขาว, ขี้โกง-โปร่งใส, บาป-บุญ, ชั่ว-ดี, อกุศล-กุศล, มืด-สว่าง หรือ มืด-เจิดจ้า ฯลฯ

อยู่ที่ตัวทำ!

แม้จะใช้ตัวแทนทำแทน วิบากกรรมก็ไม่มียกเว้น ผลกรรมต้องตกถึงผู้ทำและผู้สั่งให้ทำอยู่ดีหนีไม่พ้น ปานเงาติดตามตน

เกิดมาจากเหตุ

“เหตุทำให้เกิดผล”... “ผลเกิดมาจากเหตุ”... “เหตุอย่างใด-ผลอย่างนั้น”... “เหตุดี-ผลดี” “เหตุชั่ว-ผลชั่ว”... “มีเหตุก็มีผล”... “ไร้เหตุก็ไร้ผล”

“มืดหรือเจิดจ้า” ต่างๆ นานาล้วนเกิดมาจากเหตุทั้งนั้น นี่คือ...สัจธรรม-ธรรมดาที่เห็นตำตา-ตำใจอยู่ แต่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

ที่คนไม่รู้จักตน อยากจะฝืน จึงวิ่งหา กราบไหว้ อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หมอดูหมอเทวดา ทรงเจ้าเข้าผี ผู้มีเล่หกลวิเศษต่างๆ นานาให้ช่วยเหลือ แต่งแก้เสริมบารมี ตามกระแสอวิชชา

สมมติ...ถ้าคนไม่รู้จักตัวเองพวกนี้มาหาผมให้ช่วยเหลือ ผมก็จะอุทานเบาๆ ให้ฟังว่า...

“ธมดๆๆ เมื่อสิ่งนี้มี-สิ่งนี้จึงมี, เมื่อสิ่งนี้เกิด-สิ่งนี้จึงเกิด, เมื่อสิ่งนี้ไม่มี-สิ่งนี้จึงไม่มี, เมื่อสิ่งนี้ดับ-สิ่งนี้จึงดับ ธมดๆๆ”

“สุญญตาธรรม
คือธรรมดา
มืดหรือเจิดจ้า
เกิดมาจากเหตุ”

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างว่างเปล่า ก็ไม่มีอะไร จะไปอะไรกับอะไร ธมดๆๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น