xs
xsm
sm
md
lg

สัจธรรมที่งดงามที่สุด

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ สิริรัตนจิตต์

โดย...อภินันท์ สิริรัตนจิตต์
คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

ชีวิตประจำวันของเรา ต่างอยู่ในวงจรของหน้าที่-การงานที่แตกต่างกันไป ตามสถานภาพ บทบาท วัยและความจำเป็น หลายครั้งหลายหนที่เราต่างวางท่าทีชีวิตต่อโชคชะตาหรือฟ้าลิขิต ว่า มีอิทธิพลดลบันดาลต่อชีวิตเรา ให้มีความเหลื่อมล้ำระหว่างกัน ทั้งหน้าที่ ตำแหน่ง อาชีพ รายได้ แม้กระทั่งความเป็นอยู่

ความเป็นจริงของชีวิต เป็นสิ่งที่เราจะต้องทำการเรียนรู้-ศึกษา ว่า หน้าที่ของแต่ละคน แต่ละฝ่าย แต่ละงาน แต่ละอาชีพ มีความแตกต่างกัน เพื่อช่วยกันหล่อเลี้ยง ประคับประคองทุกคนให้ดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันไปได้ เพราะต่างเกื้อหนุนกัน ในเมื่อทุกคนไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างที่คิดได้ การช่วยเหลือ การแลกเปลี่ยน และการปฏิสัมพันธ์จึงเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน

เป็นความยากลำบากในการขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านวัตถุ ที่รัฐหรือใครก็ตามพยายามทำให้ทุกคนรู้สึกว่ามีความเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ดังนั้น ความยุติธรรมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเปรียบเทียบกันโดยมิได้พิจารณาคุณสมบัติ และปัจจัยพื้นฐาน ย่อมก่อให้เกิดปัญหาทางความรู้สึกนึกคิดที่เจือด้วยความรู้สึกลำเอียง คือ อคติที่เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ อันเป็นธรรมชาติของความต้องการ

ท่านพุทธทาสภิกขุ กล่าวว่า ธรรมะคือหน้าที่ ในความหมายหนึ่ง นั่นหมายความว่า ใครมีหน้าที่อะไร ก็ทำไปตามหน้าที่ ในหน้าที่ก็มีการงาน การงานที่ทำก็จะหล่อเลี้ยงชีวิต และต้องเป็นสัมมาอาชีวะ คือ การทำงานที่สุจริตชอบธรรม และหลักการพื้นฐานนี้ คือ ตัวชี้วัดเรื่องความโปร่งใส ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักธรรมาภิบาลที่พยายามจะขับเคลื่อนกันอยู่

ผู้เขียนเคยได้ฟังธรรมะบรรยายจากท่านพุทธทาสภิกขุ ที่กล่าวถึงหน้าที่ ว่า ทุกคนเกิดมามีหน้าที่อย่างน้อย 5 ประการ คือ หน้าที่ในการเป็นลูกที่ดี เป็นศิษย์ที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี และเป็นศาสนิกชนที่ดีของศาสนา แม้จะไม่ขยายความธรรมะบรรยายถึงหลักการ 5 ดี สู่ความเป็นคนดี ก็พอจะเห็นประเด็นสำคัญว่า ในหน้าที่มีการงาน ในการงานมีภาระและเนื้อหาของงาน โดยนัยแห่งหน้าที่-การงานนี้ ทุกอาชีพ ต่างมีภาระงานและเนื้อหาของงาน ต่างแต่ผลผลิตของสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการทำงาน

ในหน้าที่-การงานที่ต่างกัน ย่อมแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ที่มีความถนัดและความสนใจต่างกัน แต่ทุกสัมมาชีพที่เป็นอยู่ ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศในสังคมมนุษย์ที่เกื้อหนุนกัน เพราะไม่มีใครทำสิ่งใด โดยไม่ต้องอาศัยอะไรเลย ดังนั้น ความสำเร็จของแต่ละคน ย่อมมีปัจจัยแวดล้อม สนับสนุนให้บรรลุเป้าหมาย

นกต้องพึ่งฟ้า ปลาต้องพึ่งน้ำ คนต้องพึ่งพากัน ใครคิดว่า ตนเองเป็นหนึ่ง เก่ง ไม่ต้องพึ่งใคร คงเป็นผู้เดียวดายที่สุดเท่าที่โลกได้สร้างสรรค์สรรพสิ่งขึ้นมา เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างอาศัยกัน ดังว่า สิ่งหนึ่งมี เพราะอีกสิ่งหนึ่งทำให้มี นี่คือ สัจธรรมที่งดงามที่สุด หากมนุษย์เข้าใจกฎธรรมชาตินี้
กำลังโหลดความคิดเห็น