xs
xsm
sm
md
lg

สงฆ์สาวกของตถาคต : ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยศีลและวรรณะ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า สงฆ์ หมายถึงจำนวนของภิกษุหรือภิกษุณี 4 รูปขึ้นไป ซึ่งมาประชุมกันเพื่อทำสังฆกรรมตามพระวินัยบัญญัติเช่น กฐินกรรม เป็นต้น

คำว่า สาวก หมายถึงผู้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วนำไปปฏิบัติตาม

คำว่า ตถาคต หมายถึงพระนามของพระพุทธเจ้า เนื่องจากพระพุทธองค์มีคุณลักษณะพิเศษ 4 ประการดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 อิติวุตตกะ เช่น ตถาคตพูดอย่างใด ทำได้อย่างนั้น ทำได้อย่างใด พูดได้อย่างนั้น เพราะเหตุที่พูดได้ตามที่ทำ ทำได้ตามที่พูด ฉะนั้นจึงเรียกว่า ตถาคต เป็นต้น

สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคือ

1. สมมติสงฆ์ หมายถึงภิกษุและภิกษุณีผู้ที่ยังมิได้บรรลุโลกุตรธรรม แต่ถึงพร้อมด้วยศีลและจรณะคือมีศีลครบถ้วน และมีความประพฤติสมควรแก่เพศภาวะของนักบวช

2. อริยสงฆ์ หมายถึงภิกษุและภิกษุณีผู้มีศีลสมบูรณ์ และมีความประพฤติอันควรแก่เพศและภาวะ ทั้งยังได้บรรลุโลกุตรธรรมอันใดอันหนึ่งใน 9 ประการ เริ่มตั้งแต่โสดาปัตติมรรค เป็นต้น

สงฆ์ทั้ง 2 ประเภทนี้มีอยู่ในสมัยพุทธกาล แต่ในปัจจุบันจะยังคงมีครบถ้วนทั้ง 2 ประเภทหรือไม่ และมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอริยสงฆ์จะยังคงมีครบถ้วน 4 คู่แปดบุคคล ดังที่ปรากฏในบทสวดสังฆคุณ 9 ประการหรือไม่ ไม่มีใครยืนยันได้ ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัย 3 ประการดังนี้

1. การบรรลุธรรมขั้นโลกุตระเป็นเรื่องจำเพาะตน (ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญญหิ)

2. ผู้ที่จะรู้ว่าใครบรรลุขั้นใด จะต้องเป็นผู้บรรลุธรรมในระดับเดียวกันหรือสูงกว่าเท่านั้น จึงจะรู้ได้

3. มีพระวินัยห้ามมิให้ภิกษุอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตนถึงขั้นปรับอาบัติปาราชิก และถึงแม้มีอยู่ก็ห้ามบอกกล่าวแก่อนุปสัมบันคือ ผู้ที่ได้เป็นภิกษุหรือภิกษุณีด้วยกัน

จากปัจจัย 3 ประการนี้เองทำให้ไม่มีการประกาศตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรมอย่างเปิดเผย และเป็นที่รับรู้กันเป็นการทั่วไป

แต่ถ้ามองในแง่ของพฤติกรรม ภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันพออนุมานได้ว่าอริยสงฆ์ไม่มีหรือมีอยู่น้อยกว่าสมมติสงฆ์แน่นอน ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. มีข่าวปรากฏทางสื่อบ่อยๆ ว่าภิกษุจากวัดนั้น สามเณรจากวัดนี้มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมแก่เพศและภาวะของนักบวชในพุทธศาสนา เช่น แต่งกายเป็นคฤหัสถ์ออกเที่ยวสถานบันเทิง เสพยาเสพติด และในบางรายถึงขั้นเสพกามกับสีกา เป็นต้น

2. มีพฤติกรรมบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ทั้งในด้านวัตถุและชื่อเสียง

3. มีการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้มาซึ่งสมณศักดิ์และตำแหน่งบริหาร ในทำนองเดียวกันกับคฤหัสถ์ที่วิ่งเต้นหาตำแหน่งเพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาลาภสักการะ

จากพฤติกรรม 3 ประการนี้ เป็นเครื่องบ่งบอกและยืนยันถึงความเป็นปุถุชนคนหนาด้วยกิเลสของสงฆ์แน่นอน และด้วยเหตุนี้ สงฆ์สาวกของพระพุทธองค์เป็นสมมติสงฆ์ ส่วนใหญ่นี้เองกระมังจึงต้องมีการออกกฎหมายปกครองสงฆ์ออกมาบังคับใช้เพื่อเกื้อกูลพระวินัยให้มีความเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพในการปกครองสังฆมณฑลให้มีความเรียบร้อย ควรแก่การกราบไหว้บูชาของพุทธศาสนิกชนเท่าที่ควรจะเป็น จะเห็นได้จากมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันที่ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชโดยไม่ขัดแย้งกับกฎหมายพระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม

จากนัยแห่งเนื้อหาในมาตรานี้ จะเห็นได้ว่ากฎหมายจะต้องไปในทางเดียวกันกับพระธรรมวินัย และถ้าจะให้ชัดเจนก็น่าจะอนุมานได้ว่า จะต้องนำพระธรรมวินัยมาเป็นหลักในการออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากพระธรรมวินัยเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในการปกครองสงฆ์ ตามนัยแห่งพุทธพจน์ที่ตรัสแก่พระอานนท์ที่ว่า ดูก่อนอานนท์ พระธรรมและพระวินัยอันใด ซึ่งเราตถาคตได้แสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย พระธรรม พระวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป

จากนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้น การนำกฎหมายมาบังคับใช้จะต้องเป็นไปทางเดียวกันกับพระวินัย ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ก็อยู่ในข่ายไม่เคารพในพระศาสดา

แต่วันนี้และเวลานี้กำลังจะมีปัญหาในการนำกฎหมายมาบังคับใช้ในกรณีของการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ใหม่ ตามนัยแห่งมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลงให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

ถ้าพิจารณาในแง่ของกฎหมายมาตรานี้ สมเด็จผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ในขณะนี้ก็คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ จะต้องได้รับการเสนอนามขึ้นทูลเกล้าฯ

แต่ก็มีปัญหาในทางสังคมเกิดขึ้น เนื่องจากมีกระแสต่อต้านอันเนื่องมาจากมีข้อกังขาทั้งในทางพระวินัย ในทำนองมีศีลวิบัติในข้อหาการเป็นอุปัชฌาย์บวชให้แก่พระธัมมชโย ในกรณีมีข่าวว่าเป็นคนเบี่ยงเบนทางเพศ หรือเป็นบัณเฑาะก์ให้อุปสมบทไม่ได้ เนื่องจากขาดปุริสบัติข้อที่ว่า ไม่เป็นชายตามนัยแห่งการถามอันตรายิกธรรมข้อที่ว่า ปุริโสสิคือเจ้าเป็นชายไหม และข้อหาว่าอาจารวิบัติคือ มีการสะสมรถโบราณอันไม่ควรแก่เพศและภาวะของนักบวช ซึ่งควรจะเป็นนักบวชและสันโดษ

ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะให้ปัญหานี้หมดไปควรจะได้ดำเนินการระงับอนุวาทาธิกรณ์คือ การโจทย์ฟ้องด้วยศีลวิบัติ และอาจารวิบัติตามนัยแห่งพระวินัยบัญญัติ ถ้ามีการระงับแล้วปรากฏเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็จะได้ดำเนินการเสนอแต่งตั้งตามขั้นตอนต่อไป

โดยผู้ที่คัดค้านก็จะต้องยอมรับ ในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่ดำเนินการแต่เฉพาะแต่งตั้ง ก็เท่ากับว่าปล่อยให้ข้อกังขายังคงอยู่ ผู้ต่อต้านก็มีความชอบธรรมในฐานะพุทธบริษัท 4 ที่จะลุกขึ้นป้องกันพระศาสนาให้คงอยู่ และการต่อต้านก็จะพบกับกลุ่มผู้สนับสนุน ซึ่งจะก่อให้เกิดความแตกแยกไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติ และพุทธศาสนาโดยรวมแต่ประการใด
กำลังโหลดความคิดเห็น