xs
xsm
sm
md
lg

หนังเรื่อง “อาบัติ” : สะท้อนบุญบาปจริงหรือ?

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า อาบัติ หมายถึงการที่ภิกษุล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติสิกขาบทใดสิกขาบทหนึ่งใน 227 สิกขาบท และต้องรับโทษตามพระวินัยบัญญัติ ส่วนจะเป็นโทษหนักหรือเบาขึ้นอยู่กับลักษณะของล่วงละเมิดบทบัญญัตินั้นๆ

ดังนั้น โดยนัยแห่งคำว่าอาบัติจึงเป็นคำเฉพาะซึ่งใช้กับพระภิกษุและภิกษุณี ซึ่งเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนาเท่านั้น และผู้ที่จะนำคำนี้ไปใช้ในความหมายอื่นอันมิได้เกี่ยวข้องกับวินัยกรรม ผู้ใช้จะต้องมีความรู้ มีความเข้าใจเกี่ยวกับพระวินัยบัญญัติสิกขาบทนั้นๆ ในแง่ของความเป็นมาของสิกขาบท ลักษณะความผิดของแต่ละสิกขาบท รวมไปถึงการลงโทษทั้งในส่วนของครุกาบัติ และลหุกาบัติด้วยว่า อาบัติชนิดใดมีกระบวนการปลงอาบัติได้หรือไม่ และถ้าได้จะต้องมีพิธีกรรมอย่างไร

มิฉะนั้นแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดข้อกังขาในเจตนาของผู้นำคำนี้ไปใช้ ดังที่ได้เกิดขึ้นกับผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องอาบัติกับองค์กรทางพระพุทธศาสนาหลายๆ องค์กรจนกลายเป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มีพื้นความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนจึงใคร่ขอนำข่าวนี้มาเสนอโดยสรุปดังนี้

หนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันที่ 24 กันยายน 2558 ได้ลงข่าวพาดหัวในหน้า 1 ว่า โวยหนัง “อาบัติ” ส่อหมิ่นพุทธ โดยมีรายละเอียดสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา นายเสถียร วิพรมหา นายกสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) พร้อมด้วยองค์กรภาคีเครือข่ายชาวพุทธอีก 5 องค์กรได้แก่ สมาคมทางสายกลาง (ทสก.) เปรียญธรรมสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ป.ธ.ส.) องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนพิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ (อพช.) เครือข่ายสตรีพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (คสพท.) และศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย (ศพศ.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อให้ทบทวนการฉายภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” โดยมีนายอนันต์ ชูโชติ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้รับหนังสือแทน

2. นายเสถียร กล่าวว่า ตามที่บริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ได้สร้างภาพยนตร์เรื่องอาบัติ และได้เผยแพร่ต่อสื่อสาธารณะ กำหนดจะเข้าฉายในวันที่ 15 ตุลาคม ทางภาคีเครือข่ายเห็นร่วมกันว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความไม่เหมาะสมดังนี้ 1. เนื้อหาเป็นการดูหมิ่นไม่เคารพต่อพุทธศาสนา 2. ด้านคุณค่าไม่ก่อให้เกิดคุณค่าใดๆ ต่อสังคมไทยนอกจากความขัดแย้ง 3. ด้านศรัทธาผู้สร้างมีเจตนาทำลายศรัทธาต่อพุทธศาสนาใช่หรือไม่? และ 4. เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน

3. นายเสถียร กล่าวว่า สนพ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่า เนื้อหาของภาพยนตร์หมิ่นศาสนาพุทธ ถึงแม้ว่าเนื้อหาทั้งหมดสมาคมยังไม่เห็น แต่เท่าที่ดูจากตัวอย่างมีบางฉากสุ่มเสี่ยงต่อการทำลายพระพุทธศาสนา เช่น ฉากที่เณรจับแก้มสีกา และฉากที่พระสงฆ์ดึงสีกาเข้ากุฏิ เป็นต้น ดังนั้น การยื่นหนังสือต่อกระทรวงวัฒนธรรมเพื่อตรวจสอบภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อนเข้าฉาย ถือว่าเป็นการกันไว้ดีกว่าแก้

4. วันเดียวกัน นางสาวขนิษฐา ขวัญอยู่ หรือฝน ขนิษฐา ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “อาบัติ” ได้ให้สัมภาษณ์ถึงทีเซอร์หรือตัวอย่างภาพยนตร์ที่ถูกวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมต่างๆ ว่าได้ยินกระแสข่าวมาบ้าง และน้อมรับทุกความคิดเห็น ตนทำเรื่องนี้ด้วยเจตนาดี

“เหตุผลที่ทำให้คิดว่าหนังเรื่องนี้ล่อแหลม อาจมาจากหน้าหนังที่ยิงทีเซอร์ออกไป คนคิดว่าเณรจะอาบัติหรือเปล่า คือในคาแร็กเตอร์เณรถูกบังคับให้บวช เขาก็จะมีการทำอะไรไม่อยู่ในกรอบ แต่ทุกอย่างก็มีคำตอบอยู่ในหนังแล้ว แก่นของเรื่องนี้ตั้งใจจะเสนอเรื่องบุญบาป คนที่ทำดีเป็นอย่างไร แล้วทำชั่วผลสุดท้ายเป็นอย่างไร

จากเนื้อหาของข่าวจะเห็นได้ว่า ผู้ยื่นเรื่องคัดค้าน และผู้สร้างหนังมองต่างมุมกัน โดยที่ผู้คัดค้านมองจากสิ่งที่เกิดขึ้น และปรากฏต่อสายตาของคนทั่วไปว่า เมื่อได้เห็นเณรจับแก้มสีกา และเห็นพระสงฆ์ดึงสีกาเข้ากุฏิตามตัวอย่างที่ปรากฏทางสื่อ เป็นเรื่องไม่เหมาะสม

ส่วนทางผู้สร้างเน้นไปที่เจตนาในการนำเสนอเรื่องบุญบาป ซึ่งเป็นผลของการกระทำ

ดังนั้น จึงอนุมานได้ว่า ถ้าให้สองฝ่ายมาคุยกันเพื่อแก้ปัญหานี้ร่วมกัน คงจะยุติความขัดแย้งได้ยาก และบางทีอาจบานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นทำให้สังคมแตกแยกได้

ดังนั้น ทางที่ดีและน่าจะทำให้ความขัดแย้งจบลงได้ด้วยดีก็คือ ทางกระทรวงวัฒนธรรมควรจะได้นำหนังเรื่องนี้มาฉาย และเชิญผู้รู้ทางด้านพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านพระวินัยของสงฆ์มาดูเพื่อให้ความคิดเห็นในทางวิชาการ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้หนังเรื่องนี้ออกฉายให้คนทั่วไปชม รวมไปถึงการให้ทบทวนเนื้อหาโดยการตัดบางตอนที่ล่อแหลมออกไปก่อนนำออกฉาย

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนในฐานะสื่อมวลชน และเป็นคนนับถือพุทธ ทั้งเคยเรียนรู้พระพุทธศาสนามาบ้าง จึงพอจะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ว่า ไม่ใช่ว่าควรหรือไม่ควรอนุญาตให้นำออกฉาย หรือแม้กระทั่งให้มีการปรับปรุงเนื้อหาก่อนนำออกฉาย แต่ในทางที่ถูกที่ควรจะเป็นแล้ว ไม่ควรที่ใครๆ จะนำเรื่องของสงฆ์ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยากที่จะอธิบายขยายความให้ผู้ที่นับถือความศรัทธาเข้าใจได้ด้วยคำพูดเพียงว่า ทำด้วยเจตนาดี แต่ควรจะละเว้นจากการนำเรื่องลักษณะนี้มาเป็นสินค้าแสวงรายได้ในเชิงพาณิชย์ด้วยซ้ำไป

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างเสร็จ และพร้อมนำออกฉาย ครั้นจะห้ามฉายก็จะทำให้ผู้สร้างขาดทุน และในขณะเดียวกัน ครั้นจะอนุญาตให้นำออกฉายโดยที่ไม่มีการทบทวนแก้ไขใดๆ ทางผู้คัดค้านก็คงไม่ยอม จึงเป็นการเสี่ยงที่จะทำให้ผู้คนในสังคมขัดแย้งกัน

ดังนั้น ทางที่ดีกระทรวงวัฒนธรรมควรจะได้เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายยอมรับในเงื่อนไขที่ควรจะเป็น คือ นำหนังมาฉาย และให้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำในการปรับปรุงเนื้อหาดังกล่าวแล้ว

อีกประการหนึ่ง เนื้อหาทั้งเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มีการพูดถึงแนวทางการลงโทษตามพระวินัย และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2505 ในหมวด 4 ที่ว่าด้วยการลงโทษภิกษุผู้กระทำผิดหรือไม่

ถ้าไม่มีการพูดถึงแนวทางแก้ไข และป้องกันการล่วงละเมิดพระวินัย แต่พูดถึงการกระทำผิดเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำผิด อาบัติร้ายแรงอันได้แก่ปาราชิก ซึ่งผู้ล่วงละเมิดจะต้องขาดจากความเป็นภิกษุในทันที และบวชอีกไม่ได้ และอาบัติสังฆาทิเสสซึ่งผู้ล่วงละเมิดต้องอยู่กรรมจึงพ้นผิด

ถ้าไม่มีการพูดถึงประเด็นนี้ ถือได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่สมบูรณ์ และสุ่มเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาจากสังคมชาวพุทธว่า ทำลายศรัทธาค่อนข้างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น