xs
xsm
sm
md
lg

การจำพรรษา : อยู่ประจำที่ 3 เดือนในฤดูฝน

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คำว่า พรรษา มาจากคำว่า วรษา ในภาษาสันสกฤตแปลว่า ฝน ตรงกับคำบาลีหรือมคธว่า วัสสา แปลว่า ฝนเช่นเดียวกัน คำว่า จำ เป็นคำไทยอยู่กับที่หรือเก็บไว้กับที่

ดังนั้น เมื่อนำเอาสองคำมารวมกันจึงมีความหมายว่าอยู่กับที่ในหน้าฝน

การจำพรรษาเป็นพุทธบัญญัติ ซึ่งมีที่มาปรากฏในวัสสูปนายิกา ขันธกะ พระไตรปิฎกเล่มที่ 4 มีเนื้อหาโดยสังเขปดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับ ณ เวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์

สมัยนั้นยังมิได้ทรงบัญญัติเรื่องการจำพรรษา ภิกษุทั้งหลายเที่ยวจาริกไปทุกฤดูกาล มีผู้ติเตียนว่าเที่ยวเหยียบต้นหญ้า และเหยียบสัตว์ตาย พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติพระวินัยให้ภิกษุจำพรรษา

โดยนัยแห่งพระวินัย วันจำพรรษามีอยู่ 2 วันคือ

1. วันจำพรรษาต้นเริ่มเมื่อดวงจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้ว 1 วัน ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8

2. วันจำพรรษาหลังเริ่มเมื่อดวงจันทร์เสวยฤกษ์ อาสาฬหะไปแล้ว 1 เดือนซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9

การที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้มีวันจำพรรษา 2 วัน มีการสันนิษฐานว่าทรงบัญญัติวันเข้าพรรษาต้นตามปีปกติ และวันจำพรรษาหลังตามปีที่มีการเพิ่มอธิกมาส (ปีที่มีเดือน 8 สองเดือนหรือแปดสองหน) ซึ่งเป็นไปตามที่พระเจ้าพิมพิสารทรงทูลขอให้เลื่อนจากแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นแรม 1 ค่ำ เดือน 9 ในปีที่มีอธิกมาส

ในการอยู่จำพรรษาตลอดฤดูฝน 3 เดือน พระภิกษุจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ ถ้าล่วงละเมิดปรับอาบัติทุกกฎ

แต่ถึงกระนั้น พระพุทธองค์ทรงมีข้อยกเว้นให้ภิกษุไปค้างแรมที่อื่นได้ แต่ต้องไปและกลับภายใน 7 วันเรียกว่า สัตตาหกรณียะซึ่งมีอยู่ 4 กรณีคือ

1. ทายกปรารถนาจะบำเพ็ญกุศล ส่งคนมานิมนต์ในกรณีเช่นนี้ทรงอนุญาตให้ไปได้เฉพาะที่เข้าส่งคำนิมนต์ ถ้าไม่ส่งคำนิมนต์มาไม่ให้ไป

2. เพื่อนสหธัมมิก คือผู้บวชร่วมกัน (ภิกษุ ภิกษุณี นางสิกขมานา สามเณร สามเณรี) เจ็บป่วยจะส่งคนมานิมนต์หรือไม่ก็ตาม ทรงอนุญาตให้ไปได้

นอกจากนี้ ยังทรงบัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับเพื่อนสหธัมมิกเพิ่มเติมว่า เมื่อเพื่อนสหธัมมิกเจ็บป่วย ภิกษุปรารภนาจะช่วยแสวงหาอาหาร ผู้พยาบาล ยารักษาโรคก็ไปได้ เมื่อเพื่อนสหธัมมิกไม่ยินดีเกิดความรังเกียจ หรือเกิดความเห็นผิดเพี้ยนขึ้นไปเพื่อระงับเหตุนั้นๆ หรือเมื่อเพื่อนสหธัมมิก (เฉพาะภิกษุ และภิกษุณี) ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ปรารถนาจะออกจากอาบัติขั้นใดๆ ก็ตาม หรือสงฆ์ปวารณาจะทำสังฆกรรมลงโทษภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุรูปที่จะถูกลงโทษต้องการให้ไปก็ไปได้ เพื่อไกล่เกลี่ยไม่ให้ต้องทำกรรมหรือให้ลงโทษเบาลงไป เพื่อให้ปฏิบัติโดยชอบด้วยพระวินัย เพื่อปลอบใจ เป็นต้น หรือเมื่อนางสิกขมานาหรือสามเณรปรารถนาจะบวชไปเพื่อช่วยเหลือในการนั้น

3. มารดา บิดา พี่น้อง ญาติ เจ็บป่วย ส่งคนมานิมนต์หรือไม่รู้เข้าไปได้

4. วิหารชำรุดไปเพื่อหาสิ่งของมาปฏิสังขรณ์ไปได้

ขาดพรรษาแต่ไม่ต้องอาบัติ

เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นไม่สามารถจำพรรษาในที่นั้นต่อไปได้ ทรงอนุญาตให้ไปได้โดยไม่ต้องอาบัติในกรณีดังต่อไปนี้

1. ถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น วิหารถูกไฟไหม้หรือถูกน้ำท่วม

2. ชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไปทรงอนุญาตให้ไปกับเขาได้

ในกรณีที่ชาวบ้านผู้อพยพแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ทรงอนุญาตให้ไปกับฝ่ายข้างมากได้ ถ้าฝ่ายข้างมากไม่มีศรัทธาเลื่อมใสก็ทรงอนุญาตให้ไปกับฝ่ายข้างน้อยที่มีศรัทธาเลื่อมใสได้

3. ขาดแคลนอาหารหรือยารักษาโรค หรือขาดผู้บำรุงได้รับความลำบาก ทรงอนุญาตให้ไปได้

4. มีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ทรงอนุญาตให้ไปให้พ้นได้

5. ภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกต่างกัน หรือมีผู้พยายามให้แตกกัน หรือทำให้แตกกันแล้วไปเพื่อหาทางระงับได้

อนึ่งในระหว่างที่อยู่จำพรรษา 3 เดือน พระพุทธเจ้าทรงห้ามมีข้อห้ามในการตั้งกติการ่วมกัน 2 ประการคือ

1. ห้ามตั้งกติกาที่ไม่ควร เช่น ไม่บวชสามเณรให้ (เป็นภิกษุ) ในพรรษา

2. ห้ามรับปากว่าจะจำพรรษาในที่ใดแล้วไม่จำพรรษาในที่นั้น

จากข้อห้าม 2 ประการนี้เอง เป็นที่มาของการตั้งใจจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งดีๆ ในโอกาสต่อมา ดังจะเห็นได้จากการตั้งใจงดดื่มเหล้าในฤดูเข้าพรรษาของชาวพุทธในประเทศไทยจนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติไปแล้วว่า เข้าพรรษาก็จะทำตั้งใจทำอะไร และไม่ทำอะไรอันเป็นพื้นฐานของการลด ละ และเลิกสิ่งที่เป็นอบายมุข และในทางตรงกันข้าม ท่านที่มิได้เป็นทาสแห่งอบายมุข ก็ถือโอกาสเข้าพรรษาทำสิ่งที่ดีมีประโยชน์ เช่น รักษาศีล 5 และศีล 8 ในทุกวันพระ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ การจำพรรษาของภิกษุในประเทศไทย จึงเป็นวันสำคัญและเป็นที่มาของประเพณีไทยหลายๆ ประการ แต่ที่สำคัญได้แก่ประเพณีแห่เทียนพรรษา อันเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว ทำเงินเข้าประเทศได้ทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นมูลเหตุจูงใจให้ชาวพุทธตั้งใจทำดีเพื่อตนเอง และสังคมรอบข้างด้วย

แต่ผู้เขียนอยากเห็นคนไทยในฐานะเป็นชาวพุทธ ทำอะไรที่มากกว่านี้ในวันฤดูเข้าพรรษา โดยเฉพาะนักการเมือง ข้าราชการประจำ และพ่อค้าที่เคยร่วมมือกันแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ ในลักษณะ 3 ประสานได้ตั้งจิตอธิษฐานงดร่วมมือกันโกงชาติบ้านเมืองในฤดูเข้าพรรษาด้วยก็จะดี และถ้าให้ดีกว่านี้ควรจะถือโอกาสนี้เริ่มต้นลด ละ และเลิกพฤติกรรมโกงในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น