xs
xsm
sm
md
lg

นานาสารธรรม : “ปฏาจารา” หญิงบ้าผู้บรรลุธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปฏาจารา” พระสาวิการูปหนึ่ง เป็นธิดาของเศรษฐีในกรุงสาวัตถี เป็นหญิงรูปร่างงดงามและได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ครั้นนางมีอายุได้ 16ปี ได้หลงรักชายคนใช้ในบ้านของตนเอง

ต่อมาบิดามารดาได้จัดเตรียมหาชายหนุ่มในชนชั้นเดียวกันมาแต่งงานด้วย นางจึงได้นัดแนะให้ชายคนใช้พาหนี แล้วไปสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยในชนบทอันทุรกันดารแห่งหนึ่ง ชีวิตเริ่มแรกของนางปฏาจารามีความสุขมาก เพราะได้อยู่ใกล้ชิดกับชายคนรัก

เวลาผ่านไปไม่นาน นางปฏาจาราตั้งครรภ์ ครั้นถึงเวลาใกล้คลอด นางมีความกังวลใจ เพราะไม่มีบิดามารดาและญาติอยู่ใกล้ชิด นางจึงขอร้องให้สามีพากลับไปหาบิดามารดา สามีปฏิเสธคำขอร้อง เพราะกลัวเกรงบิดามารดาของนางจะเอาโทษ

นางจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพียงลำพัง นางได้คลอดบุตรคนแรกในระหว่างทาง เมื่อสามีตามไปพบ เขาได้ชี้แจงเหตุผลต่างๆ จนพานางกลับบ้านสำเร็จ

เวลาต่อมา นางได้ตั้งครรภ์อีกเป็นครั้งที่สอง และได้ขอร้องสามีเหมือนครั้งก่อน แต่สามีปฏิเสธคำขอร้องเช่นนั้นอีก นางจึงพาบุตรน้อยผู้กำลังหัดเดินหนีออกจากบ้าน

ในระหว่างทางนางปวดท้องอย่างรุนแรง เพราะกำลังจะคลอดบุตร ฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก สามีตามไปพบนางดิ้นทุรนทุรายอยู่ท่ามกลางสายฝน จึงไปตัดไม้เพื่อนำมาทำที่กำบังฝนชั่วคราว แต่เขาถูกงูพิษกัดถึงแก่ความตาย

นางปฏาจาราคลอดบุตรด้วยความยากลำบาก แล้วนางอุ้มทารกและจูงบุตรน้อยตามไปพบศพของสามี จึงมีความเศร้าโศกเสียใจมาก นางตัดสินใจจะพาบุตรไปหาบิดามารดาในเมือง

เมื่อนางมาถึงลำธารใหญ่ที่น้ำกำลังไหลเชี่ยว นางไม่อาจจะพาบุตรข้ามน้ำพร้อมกันได้ จึงให้บุตรคนโตยืนรอที่ฝั่งข้างหนึ่ง แล้วอุ้มทารกแรกเกิดเดินข้ามน้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง แลtวางทารกน้อยไว้ที่อันเหมาะสม

ขณะเดินข้ามน้ำมาถึงกลางน้ำ เพื่อรับบุตรคนโต นางเห็นเหยี่ยวตัวหนึ่งกำลังบินโฉบลงเพื่อจิกทารก เพราะมันเข้าใจว่าเป็นก้อนเนื้อ นางจึงยกมือขึ้นไล่เหยี่ยว แต่ไม่อาจช่วยชีวิตทารกน้อยได้ เพราะเหยี่ยวมองไม่เห็นอาการของนางที่ขับไล่ จึงเฉี่ยวทารกน้อยของนางไป

บุตรคนโตมองเห็นนางยกมือขึ้นทั้งสองข้าง ก็เข้าใจว่ามารดาเรียกตน จึงก้าวลงสู่แม่น้ำอันเชี่ยวและถูกน้ำพัดพาหายไป

นางปฏาจาราได้สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในเวลาใกล้กัน แต่นางยังตั้งสติได้ นางเดินร้องไห้เข้าไปสู่เมืองสาวัตถี และได้ทราบข่าวจากชาวเมืองคนหนึ่งในระหว่างทางว่า ลมและฝนได้พัดเรือนบิดามารดาของนางพังทลาย และเจ้าของบ้านก็ตายไปด้วย

ครั้นเมื่อนางทราบช่าวเช่นนี้ ก็ไม่อาจตั้งสติได้ นางสลัดผ้านุ่งทิ้ง แล้ววิ่งบ่นเพ้อด้วยร่างกายอันเปลือยเปล่า เข้าไปวัดพระเชตวันมหาวิหาร ขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท ประชาชนเห็นนางแล้วร้องบอกกันว่าคนบ้าๆ อย่าให้เข้ามา

พระพุทธองค์ตรัสว่าปล่อยให้นางเข้ามาเถิด แล้วตรัสเรียกเตือนสติ นางกลับได้สติ เกิดความละอายนั่งลง ใครคนหนึ่งในที่ประชุมนั้นโยนผ้าให้นางนุ่งห่ม พระองค์ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดกับนางโดยย่อว่า ปิยชนมีบุตร เป็นต้น ไม่สามารถข้องกับคนที่ตายแล้วได้ ผู้รักษาศีลแล้วพึงชำระทางไปพระนิพพาน

นางฟังพระธรรมเทศนา อันแสดงถึงความไม่เที่ยงแท้ของสรรพสิ่ง พิจารณาไปตามพระธรรมเทศนานั้นแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล และทูลขออุปสมบท พระองค์จึงทรงอนุญาตให้นางบวชในสำนักนางภิกษุณี

ต่อมานางภิกษุณีปฏาจาราได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ว่า คนที่ไม่เห็นความเสื่อมสิ้นไปในเบญจขันธ์ แม้มีชีวิตอยู่ร้อยปี ก็ไม่ประเสริฐเท่าคนที่มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว แต่มองเห็นความเสื่อมสิ้นไปในเบญจขันธ์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา นางภิกษุณีปฏาจาราก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

พระปฏาจาราเถรีมีความชำนาญในพระวินัยมาก จนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายผู้ทรงพระวินัย และพระปฏาจาราเถรีได้เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พระปฏาจาราเถรีมีคุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง ดังนี้
1. เป็นผู้มีความตั้งใจจริง นิสัยตั้งใจจริง ต้องทำตามที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จนี้ ได้มีมาตั้งแต่พระปฏาจาราเถรียังเป็นเด็กสาว แต่เนื่องจากยังขาดประสบการณ์และขาดวิจารณญาณ จึงทำให้ผิดพลาดในชีวิต โดยสังเกตได้ว่า นางตั้งใจจะแต่งงานกับขายคนที่ตนรัก ไม่ต้องการแต่งงานกับคนที่บิดามารดาเลือกให้ ก็ต้องทำให้ได้

แต่เมื่อได้บวชเป็นนางภิกษุณีแล้ว นางได้สานต่อความตั้งใจนั้นในทางที่ถูกต้อง นั่นคือความตั้งใจศึกษาพระวินัยปิฎกให้เชี่ยวชาญ ก็ไม่ลดละความพยายาม นางได้ใช้วิริยะอุตสาหะเป็นอย่างมาก จนกระทั่งสำเร็จตามปรารถนา ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้า ให้เป็นผู้เลิศกว่านางภิกษุณีรูปอื่นในด้านผู้ทรงพระวินัย

2. เป็นผู้แนะแนวชีวิตที่ดี ชีวิตของนางปฏาจาราเถรี เป็นชีวิตที่มากด้วยประสบการณ์ ได้ผ่านมาทั้งความสุข ความสมหวัง และความทุกข์ ความผิดหวังอย่างสาหัสจนเกือบกลายเป็นคนบ้าเสียสติถาวร

เมื่อนางได้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตแห่งชีวิต เข้ามาสู่ร่มเงาแห่งพระพุทธศาสนาแล้ว ประสบการณ์เหล่านั้นกลับเป็นประโยชน์แก่นางและคนอื่น คือสตรีอื่นๆที่มีปัญหาชีวิต พากันมาขอคำแนะนำ นางได้ให้คำแนะนำที่ดี และช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาเหล่านั้น จนdระทั่งได้รับยกย่องว่า “เป็นครูยิ่งใหญ่” ของพวกเขา

• เสริมสาระ
สตรีอินเดียในสมัยโบราณนิยมคลอดบุตรที่บ้านสกุลเดิมของตน

ธรรมเนียมพราหมณ์อย่างหนึ่งมีว่า หญิงใดจะให้กำเนิดบุตร ต้องกลับไปคลอดที่บ้านสกุลเดิมของตน หาคลอดที่บ้านของสามีไม่ การเชื่อเช่นนี้อาจเนื่องมาจากเหตุผลบางอย่าง เพราะตามปกติหญิงที่กำลังจะให้กำเนิดบุตรนั้น มีความต้องการความอบอุ่นทางใจ ต้องการคนช่วยเหลือ และคอยเป็นห่วงเป็นใย ความอบอุ่นเช่นนี้อาจหาได้ยากจากญาติของฝ่ายสามี ตรงกันข้ามหญิงนั้นจะรู้สึกสบายใจและอบอุ่นใจมาก หากได้อยู่ใกล้ญาติพี่น้องของตนเอง ซึ่งรักและเข้าใจเธอมากกว่า

(ข้อมูลจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ โดย รศ.ดนัย ไชยโยธา)

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 172 เมษายน 2558 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น