xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นจีโอหญิงโวยมหาเถรสมาคมห้ามบวชภิกษุณี - “ไพบูลย์” เสนอพระยื่นบัญชีทรัพย์สิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. (ภาพจากแฟ้ม)
เครือข่ายศาสนา - เอ็นจีโอสตรี ร้อง สปช. เจอมติมหาเถรสมาคมห้ามบวชภิกษุณี ขัดมาตรา 4 รัฐธรรมนูญชั่วคราว ริดรอนสิทธิเสรีภาพหญิงไทย ละเมิดพันธกรณีรัฐภาคีระหว่างประเทศ ด้าน “ไพบูลย์” เสนอตรวจสอบบัญชีส่วนตัวพระ ชี้เถรวาทเคร่งครัดจริงต้องไม่รับเงินทองเป็นของส่วนตน

วันนี้ (15 ธ.ค.) น.ส.กาญจนา สุทธิกุล และ น.ส.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายคนไทยส่งเสริมและเติมเต็มพุทธบริษัทสี่ ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้า และขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือกับนายเนาวรัตน์​ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปวัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องและเสนอข้อห่วงใยการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้หญิงไทยในการเป็นนักบวชในพุทธศาสนา หลังมติมหาเถรสมาคมห้ามบวชภิกษุณีในประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา

น.ส.กาญจนา ระบุว่า การออกมติของมหาเถรสมาคมที่ต้องให้พระสงฆ์จากต่างประเทศจัดทำบรรพชาและอุปสมบทในประเทศไทย แจ้งให้มหาเถรสมาคมทราบและได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน รวมถึงการให้ภิกษุทั่วประเทศปฏิบัติตามประกาศของกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เรื่องห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต พ.ศ. 2471 ถือเป็นข้อน่าห่วงใยว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงชาวไทยในการบวชเป็นนักบวชในพุทธศาสนา และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 4

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เป็นพันธกรณีที่ไทยต้องส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ขจัดกฎเกณฑ์ กฎหมาย ประเพณี ขนบธรรมเนียม ค่านิยมต่างๆ ที่เลือกปฏิบัติต่อสตรี และไทยยังเข้าร่วมรัฐภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตั้งแต่ 2539 ไทยจึงต้องมีพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน ที่บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิในเสรีภาพทางความคิด มโนธรรม และศาสนา การถูกบีบให้เสื่อมเสียเสรีภาพในการมีหรือนับถือศาสนาจะทำไม่ได้ และเสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนาหรือความเชื่อของบุคคลอาจอยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดเฉพาะที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย สุขอนามัย หรือศีลธรรมของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของบุคคลอื่นเท่านั้น

“มติของมหาเถรสมาคมเป็นการรอนสิทธิของผู้หญิงไทยที่จะนับถือศาสนาและเป็นนักบวช ถูกบีบบังคับให้สูญเสียเสรีภาพในการนับถือศาสนา จึงขอให้ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยมฯและกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาดำเนินการและให้ความเป็นธรรมกับผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบต่อการออกมติดังกล่าว และทำให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องในการบวชภิกษุณีตามพระธรรมวินัย และนำไปสู่การยกมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้เกิดความเสมอภาคเป็นธรรมในสังคม ให้ผู้หญิงได้เข้าสู่ทางธรรม โดยไม่มีข้ออ้างที่เกิดจากความเชื่อและการตีความที่ขาดการพิจารณาข้อเท็จจริง และหลักพื้นฐานของพุทธบริษัทสี่คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา”

ด้าน นายเนาวรัตน์ กล่าวว่า จะนำข้อเสนอของเครือข่ายเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยมฯฯเพื่อมีมติต่อไป จากนั้นจะแจ้งให้เครือข่ายรับทราบ และส่งเรื่องไปยังคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอีกด้วย

นายไพบูลย์ กล่าวว่า มติของมหาเถรสมาคมขัดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และขัดต่อพุทธบัญญัติที่อนุญาตให้มีการบวชภิกษุณี นอกจากนี้ มหาเถรสมาคมควบคุมได้เฉพาะคณะสงฆ์ไทยเท่านั้น การบวชดังกล่าวดำเนินการโดยคณะสงฆ์จากศรีลังกา หากมหาเถรสมาคมเห็นว่าเป็นการดำเนินการตามฝ่ายเถรวาทอย่างเคร่งครัด ก็อยากให้มหาเถรสมาคมให้พระภิกษุที่มีเงินหรือทรัพย์สินส่วนตน ได้แสดงบัญชีทรัพย์สินออกมา เพราะพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่าเงินเป็นอสรพิษของภิกษุ จึงได้ห้ามการรับเงินรับทองหรือให้คนอื่นรับไว้เพื่อเป็นของส่วนตน

ขณะที่ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สปช. ให้ความเห็นว่า ไม่สบายใจและไม่เห็นด้วยกับมติของมหาเถรสมาคม เพราะเป็นขัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการนับถือศาสนา เป็นการปิดกั้นคนเข้าสู่ความดีงาม ที่ไม่ควรจะจำกัดไว้ที่ผู้ชายเท่านั้น และศาสนาพุทธเป็นศาสนาตามอัธยาศัย มีอยู่ได้ทุกที่ทุกเวลา


กำลังโหลดความคิดเห็น